วิจัยใหม่ชี้ ทำงานระยะไกลส่งผลดีต่อกำไรบริษัท ลดความเสี่ยงสูญเสียลูกค้า

วิจัยใหม่ชี้ ทำงานระยะไกลส่งผลดีต่อกำไรบริษัท ลดความเสี่ยงสูญเสียลูกค้า

รูปแบบการทำงานระยะไกลส่งผลดีต่อกำไรบริษัท ขณะที่หากบริษัทไหนไม่ยืดหยุ่นในการทำงาน ก็อาจยิ่งแย่! วิจัยใหม่ล่าสุดเผย ผู้บริโภค 73% ลดการซื้อสินค้ากับธุรกิจหรือแบรนด์ที่บังคับพนักงานกลับเข้าออฟฟิศเต็มเวลา

KEY

POINTS

  • วิจัยใหม่จาก Bospar บริษัทด้านการประชาสัมพันธ์และมาร์เก็ตติ้งระดับโลก เผย การทำงานระยะไกลเป็นวิธีที่ดีที่สุดต่อผลกำไรของธุรกิจ เนื่องจากมันได้กลายเป็น “ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภคและชื่อเสียงของแบรนด์” 
  • โดยผู้บริโภคชาวอเมริกันจำนวนมากพร้อมที่จะใช้อำนาจเงินในมือ มาต่อต้านธุรกิจที่บังคับให้พนักงานกลับเข้าทำงานโดยขัดต่อความต้องการของพนักงาน (ไม่ซื้อสินค้ากับแบรนด์หรือธุรกิจที่บังคับใช้คำสั่ง RTO)
  • ผลวิจัยนี้บ่งชี้ว่า การทำงานจากระยะไกลไม่ใช่แค่ความต้องการของพนักงานเท่านั้น แต่ยังกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ ในแง่ของการเพิ่มพูนผลกำไรอีกด้วย

สวนทางนโยบายของหลายบริษัทระดับโลก รวมถึงนโยบายของทรัมป์ 2.0 ที่มีคำสั่ง RTO หรือบังคับให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศแบบเต็มเวลา เมื่อผลวิจัยใหม่ล่าสุดค้นพบว่า หากธุรกิจหรือบริษัทไม่มีนโยบายทำงานระยะไกล (Work From Home, Work from anywhere) หรือไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน จะมีผลกระทบต่อผลกำไรบริษัทอย่างมาก

ผู้เชี่ยวชาญก็ยืนกรานว่า ในปี 2025 “การทำงาน Work From Anywhere จะไม่หายไปไหน” เนื่องจากเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพนักงานและยังช่วยเพิ่มผลกำไรของบริษัทอีกด้วย การทำงานจากระยะไกลจะทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น เพราะสามารถมีชีวิตนอกเวลาทำงานได้มากกว่า นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากวิทยาศาสตร์ยังระบุว่า รูปแบบการทำงานระยะไกลช่วยให้บริษัทได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือได้ผลกำไรมากขึ้น

วิจัยชี้ชัด การทำงานระยะไกลช่วยเพิ่มกำไรบริษัทได้!

การศึกษาวิจัยใหม่จาก Bospar บริษัทด้านการประชาสัมพันธ์และมาร์เก็ตติ้งระดับโลก ร่วมกับ Reputation Leaders และ Propeller Insights ได้ค้นพบว่า การทำงานระยะไกลเป็นวิธีที่ดีที่สุดต่อผลกำไรของธุรกิจ โดยเป็นผลจากการสำรวจผลกระทบของรูปแบบการทำงานระยะไกลของพนักงานที่มีต่อองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ทำการสำรวจกับพนักงานชาวอเมริกันจำนวน 1,051 คนในเดือนธันวาคม 2024

ผลการสำรวจเผยให้เห็นถึงประสิทธิผลการทำงานและข้อได้เปรียบทางธุรกิจที่สำคัญของการทำงานจากระยะไกล กล่าวคือ การทำงานในรูปแบบ Work From Home , Work From Anywhere นั้นให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เหนือกว่า ในขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อโลกและปรับปรุงสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงานด้วย

ลอเรนซ์ อีแวนส์ (Laurence Evans) ซีอีโอของ Reputation Leaders อธิบายว่า บริษัทต่างๆ ที่ใช้คำสั่งบังคับพนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศเต็มเวลา ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้งต่อประสิทธิภาพของพนักงานและผลกำไรของบริษัทอย่างชัดเจน เนื่องจากความยืดหยุ่นในสถานที่ทำงานได้กลายเป็น “ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภคและชื่อเสียงของแบรนด์” โดยผู้บริโภคชาวอเมริกันจำนวนมากพร้อมที่จะใช้อำนาจเงินในมือ มาต่อต้านธุรกิจที่บังคับให้พนักงานกลับเข้าทำงานโดยขัดต่อความต้องการของพนักงาน (ไม่ซื้อสินค้ากับแบรนด์หรือธุรกิจที่บังคับใช้คำสั่ง RTO)

ขณะที่ เคอร์ติส สปาเรอร์ (Curtis Sparrer) ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Bospar สะท้อนความเห็นที่สอดคล้องกันว่า การทำงานจากที่บ้านได้ผลดีกว่าในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผลกำไรของบริษัท นายจ้างสามารถปรับขนาดพนักงานและพื้นที่ทำงานได้อย่างง่ายดาย โดยเน้นการลงทุนกับผู้คน ไม่ใช่กับอาคาร

เขาบอกอีกว่าการทำงานจากระยะไกลช่วยลดการหยุดงานประท้วงทั้งออฟฟิศ (สไตรค์) ได้ อีกทั้งผลวิจัยชิ้นนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพนักงาน 95% ที่ทำงานจากที่บ้าน สามารถรักษาประสิทธิภาพงานได้ดีเหมือนเดิม หรือบางครั้งทำผลงานได้เกินระดับมาตรฐานมากกว่าตอนทำงานในออฟฟิศด้วย ขณะที่พนักงาน 61% บอกว่าพวกเขารู้สึกมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นเมื่อทำงานระยะไกล

ผู้บริโภค 73% ลดการซื้อสินค้าจากบริษัทที่บังคับใช้ RTO กับพนักงาน

ไม่เพียงเท่านั้น บุคลากรที่มีความสามารถมาก (Talent) ไม่ต้องการถูกจำกัดอยู่ในออฟฟิศ พวกเขาต้องการกำหนดเงื่อนไขการทำงานของตัวเอง โดยพนักงาน 63% เผยว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะไม่สมัครงานกับบริษัทที่ไม่มีนโยบายทำงานระยะไกล ในขณะที่พนักงาน 81.4% รายงานว่าตนเองมีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้นเมื่อได้ทำงานระยะไกล ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจจะสัมพันธ์กับ “อัตราการคงอยู่ของพนักงานที่สูงขึ้น” และ”ภาวะหมดไฟในการทำงานที่ลดลง” อีกด้วย

ผู้บริหาร Bospar ได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าบริษัทต่างๆ จะเสี่ยงต่อการสูญเสียลูกค้า หากบังคับให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา โดยผลสำรวจพบว่าผู้บริโภค 73% มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าลดลง กับบริษัทที่บังคับให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศแบบเต็มเวลา ( เช่น Amazon แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ และ ASDA ร้านค้าปลีกใหญ่ในสหรัฐ) นอกจากนี้ลูกค้าถึง 60% ก็ให้ความสำคัญกับบริษัทที่สนับสนุนการทำงานจากระยะไกลด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม 

“ท้ายที่สุดแล้ว ผลการวิจัยนี้บ่งชี้ว่าการทำงานจากระยะไกลไม่ใช่แค่ความต้องการของพนักงานเท่านั้น แต่ยังกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ ในแง่ของการเพิ่มพูนผลกำไรอีกด้วย” สปาเรอร์ สรุปข้อมูลผลวิจัยให้ชัดเจน

ไม่ใช่แค่วิจัยชิ้นนี้เท่านั้นที่แสดงผลแบบนี้ แต่ในรายงาน State of Hybrid Work ประจำปี 2024 ของ Owl Labs (สำรวจพนักงานประจำ 2,000 คนในสหรัฐอเมริกา) ก็พบข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า สิ่งที่บริษัทควรให้ความสำคัญในปี 2025 คือการรับฟังความต้องการของพนักงาน ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่บอกว่าการมี “หัวหน้าที่เป็นผู้นำที่ดี” มีความสำคัญเทียบเท่ากับเงินเดือนของพวกเขา อีกทั้งพนักงานกว่า 2 ใน 3 บอกว่า นโยบายการทำงานแบบไฮบริดของบริษัทไม่ตรงกับความต้องการของพวกเขา

Spotify กรณีศึกษาสนับสนุนงานระยะไกล ที่ให้ผลดีต่อองค์กร

ในขณะที่หลายๆ บริษัททั่วโลกเริ่มนำนโยบาย RTO มาใช้ แต่สำหรับ แคทารินา เบิร์ก (Katarina Berg) หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Spotify กลับสนับสนุนแนวทางที่ตรงกันข้าม โดยยืนยันว่าพนักงานของพวกเขาไม่ใช่เด็กๆ ที่ต้องบังคับให้เข้าออฟฟิศ ความมุ่งมั่นของ Spotify ที่มีต่อนโยบายทำงานจากทุกที่ เน้นย้ำถึงแนวทางความยืดหยุ่นในสถานที่ทำงาน

ขณะที่ กาย ธอร์นตัน (Guy Thornton) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประสิทธิภาพส่วนบุคคล และผู้ก่อตั้ง Practice Aptitude Tests ให้ความเห็นว่า รูปแบบการทำงานแบบผสมผสานถูกนำมาใช้ในออฟฟิศทั่วโลก หลังยุคโควิดระบาด ถือเป็นทางสายกลางของรูปแบบการทำงานระหว่าง การทำงานที่บ้านกับการทำงานที่ออฟฟิศแบบดั้งเดิม”

เขายกตัวอย่างการศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า รูปแบบการทำงานแบบไฮบริดช่วยเพิ่มผลผลิตในสถานที่ทำงานได้ 48.8% นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจและเพิ่มการรักษาพนักงานไว้ได้อีกด้วย เขาตั้งคำถามว่าเหตุใดนายจ้างจึงเลือกที่จะกลับไปใช้รูปแบบการทำงานดั้งเดิมเหมือนตอนก่อนเกิดโรคระบาด? 

ขณะที่ในมุมของพนักงาน เมื่อเจอคำสั่ง RTO แบบไม่สมเหตุสมผล มันทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีคนคอยจับตามองตลอดเวลา ความไว้วางใจระหว่างพวกเขากับนายจ้างก็อาจลดน้อยลงได้ การขาดความไว้วางใจอาจส่งผลให้พนักงานไม่ทุ่มเททำงาน แรงจูงใจลดลง และขวัญกำลังใจโดยรวมลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพงานตามมาได้ และอาจส่งผลให้เกิด “วัฒนธรรมที่เน้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบ” มากกว่าจะเน้นความสำเร็จสำหรับตนเองและบริษัท

ดังนั้น เขาเชื่อว่าการใช้คำสั่ง RTO แบบเต็มเวลา จะยิ่งทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าน้อยลง และเพิ่มอัตราการลาออกของพนักงานให้สูงขึ้น โดยสถิติแสดงให้เห็นว่า 69% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เคยถูกควบคุมอย่างเข้มงวดกล่าวว่าสิ่งนี้ทำให้พวกเขาพิจารณาเปลี่ยนงาน ดังนั้น บริษัทที่อยากรักษาลูกค้าเอาไว้ รักษาผลกำไรเอาไว้ ก็ควรพิจารณาการบังคับใช้คำสั่งให้กลับเข้าออฟฟิศแบบเต็มเวลาอีกครั้ง เพื่อผลประโยชน์ของตัวบริษัทเอง

 

อ้างอิง: Forbes, Reputation Leaders, YahooFinance