สิ้นยุค ‘ผู้จัดการทีม’ ทำไมฟุตบอลอังกฤษถึงเปลี่ยนมาเรียก ‘เฮดโค้ช’ แทน?

สิ้นยุค ‘ผู้จัดการทีม’ ทำไมฟุตบอลอังกฤษถึงเปลี่ยนมาเรียก ‘เฮดโค้ช’ แทน?

ในข่าวการแต่งตั้ง อาร์เน สล็อต ขึ้นเป็นนายใหญ่คนใหม่ของทีม “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีคนเริ่มสังเกตว่าชื่อตำแหน่งของกุนซือชาวดัตช์นั้นไม่ได้ถูกเรียกว่าเป็น “Manager” หรือ “ผู้จัดการทีม” เหมือนอย่างทุกที

KEY

POINTS

KEYPOINTS

  • ในอังกฤษ ผู้จัดการทีมไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่คุมทีมฝึกซ้อมเท่านั้นแต่ยังมีหน้าที่ในการบริหารทีมให้ดีด้วย ซึ่งจะมีงานส่วนอื่นๆเช่น การติดต่อซื้อขายผู้เล่นกับสโมสรอื่นๆ การเจรจาต่อสัญญากับผู้เล่น และงานจุกจิกจิปาถะที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าผู้ฝึกสอนทั่วไป
  • สิ่งที่น่าสนใจในวงการฟุตบอลอังกฤษปัจจุบันคือใน 20 สโมสรพรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่ 2024-25 ที่จะเริ่มต้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ ชื่อตำแหน่งคนมีหน้าที่คุมทีมนั้นมี “ผู้จัดการทีม” น้อยกว่า “เฮดโค้ช” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • สำหรับคนใหม่อย่างอาร์เน สล็อต เขาจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของผู้เล่น มากที่สุดคือได้หารือร่วมกัน แสดงความคิดเห็น แต่จะไม่มีสิทธิ์ “เคาะ” หรือ “ทุบโต๊ะ” ว่าจะเอาแบบนี้หรือแบบไหนอีก เรียกได้ว่าเป็นการ “คอนโทรล”​ สโมสรเอาไว้ให้อยู่ใต้การทำงานของฝ่ายบริหาร

ชื่อตำแหน่งของสล็อตนั้นกลับถูกเรียกว่า “Head coach” หรือ “หัวหน้าโค้ช” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของลิเวอร์พูลเลยที่จะไม่มีตำแหน่งผู้จัดการทีมอีกต่อไป หรือเท่ากับ เยอร์เกน คล็อปป์ บอสเก่าคือผู้จัดการทีมคนสุดท้ายแห่งแอนฟิลด์

แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถึงกับเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใดสำหรับวงการฟุตบอลอังกฤษแต่อย่างใด เพราะเทรนด์ในเวลานี้เกินกว่าครึ่งในพรีเมียร์ลีกเรียกตำแหน่งผู้ที่มีหน้าที่ในการควบคุมทีมว่าเฮดโค้ชทั้งนั้น

เรื่องนี้มีที่มาที่ไป และไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อเรียกเฉยๆแน่นอน

ระหว่างผู้จัดการทีมกับเฮดโค้ช

ชื่อตำแหน่ง “ผู้จัดการทีม” (Manager) นั้นเป็นชื่อที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคนที่ติดตามฟุตบอลอังกฤษมาตลอด เพราะในอังกฤษ หรือสหราชอาณาจักร (United Kingdom) จะเรียกคนที่มีหน้าที่ในการคุมทีมว่าผู้จัดการทีม

แตกต่างจากในประเทศอื่นๆในยุโรปที่จะเรียกว่า “โค้ช” “เฮดโค้ช” หรือ “เทรนเนอร์” ที่มีความหมายถึงผู้ฝึกสอน

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อเรียกที่แตกต่างกันเท่านั้น เพราะโดยเนื้องานแล้วก็มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร

ในอังกฤษ ผู้จัดการทีมไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่คุมทีมฝึกซ้อมเท่านั้นแต่ยังมีหน้าที่ในการบริหารทีมให้ดีด้วย ซึ่งจะมีงานส่วนอื่นๆเช่น การติดต่อซื้อขายผู้เล่นกับสโมสรอื่นๆ การเจรจาต่อสัญญากับผู้เล่น และงานจุกจิกจิปาถะที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าผู้ฝึกสอนทั่วไป

เพราะโดยโครงสร้างของสโมสรฟุตบอลอังกฤษแล้ว จะไม่ซับซ้อนนัก จากชั้นบนสุดคือเจ้าของสโมสรหรือประธานสโมสร จะมาถึงบอร์ดบริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจ แล้วเป็นซีอีโอที่จะมีหน้าที่บริหารสโมสรในภาพรวมซึ่งรวมถึงด้านการหารายได้ แล้วจึงเป็นผู้จัดการทีมที่มีหน้าที่ครบวงจรในการดูแลทีม (ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เรียกว่า “ผู้จัดการ”)

ส่วนงานของเฮดโค้ชนั้นก็ตรงตามตัวคือมีหน้าที่ในการคุมทีมฝึกซ้อม ฝึกสอนทีมให้ทำหน้าที่ในสนามให้ดีที่สุด โดยที่งานส่วนอื่นๆ เช่น การเจรจาซื้อขายผู้เล่น จะเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการสโมสรที่เป็นตัวเชื่อมประสานให้ระหว่างเฮดโค้ชกับฝ่ายบริหารของสโมสร ที่จะมีการหารือพูดคุยร่วมกันเกี่ยวกับนักเตะที่ต้องการเสริมทีมหรือต้องการปล่อยออกจากทีม

ที่เหลือไม่ว่าจะได้ใครมาหรือปล่อยใครไป เหลือทรัพยากรบุคคลในทีมเท่าไรเฮดโค้ชก็ต้องทำทีมให้มีผลงานที่ดีที่สุดให้ได้

เทรนด์ใหม่ไปที่เฮดโค้ช

สิ่งที่น่าสนใจในวงการฟุตบอลอังกฤษปัจจุบันคือใน 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก ฤดูกาลใหม่ 2024-25 ที่จะเริ่มต้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ ชื่อตำแหน่งคนมีหน้าที่คุมทีมนั้นมี “ผู้จัดการทีม” น้อยกว่า “เฮดโค้ช” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้จัดการทีมเหลือเพียง 8 สโมสรด้วยกัน ได้แก่

  1. อาร์เซนอล
  2. คริสตัล พาเลซ
  3. เอฟเวอร์ตัน
  4. แมนฯ ซิตี
  5. แมนฯ ยูไนเต็ด
  6. เลสเตอร์ ซิตี
  7. อิปสวิช ทาวน์
  8. เซาแธมป์ตัน

โดยที่ตัวเลขอาจจะลดน้อยลงไปอีกด้วยเพราะสโมสรอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคนคุมทีมจากเอริค เทน ฮาก เป็นคนอื่นซึ่งคนใหม่อาจจะไม่ได้ใช้ชื่อตำแหน่งผู้จัดการทีมแล้ว เช่นเดียวกับเลสเตอร์ ที่กำลังมองหาคนมาแทนที่เอ็นโซ มาเรสกา ผู้จัดการทีมที่พาสโมสรเลื่อนชั้นกลับมาพรีเมียร์ลีกได้ในเวลาแค่ปีเดียว ก็อาจจะไม่ได้เป็นตำแหน่งผู้จัดการทีมเช่นกัน

ทำไมสโมสรจึงแต่งตั้งคนคุมทีมว่าเป็น “เฮดโค้ช” มากกว่า?

เรื่องนี้เป็นผลมาจากการปรับตัวของสโมสรฟุตบอลอังกฤษ ที่เริ่มมองเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างการบริหารใหม่ เกือบทุกสโมสรในเวลานี้จะมีตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสร (Football director, Director of football หรือจะเรียกอะไรก็ตาม) เป็นคีย์แมนคนสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของสโมสร

ทิศทางนั้นเริ่มตั้งแต่การกำหนดอัตลักษณ์ตัวตน ไปจนถึงแนวทาง แผนการเล่น ว่าจะใช้ระบบการเล่นแบบใด อยากจะเป็นทีมแบบไหน เล่นเกมรุกบุกแหลกหรือเล่มเกมรับเหนียวแน่น ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นต่อไปคือการเฟ้นหาคนที่จะตอบโจทย์ต่อการเล่นแบบนั้น

คนที่ผู้อำนวยการสโมสรมองหาไม่ได้มีเพียงแค่นักเตะที่จะลงไปทำหน้าที่ในสนาม แต่รวมถึงคนที่จะมาทำหน้าที่ในการคุมทีมด้วย

สิ้นยุคผู้จัดการทีม

ยกตัวอย่างสโมสรอย่างลิเวอร์พูล ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่กลุ่ม Fenway Sports Group (FSG) เข้ามาบริหารจัดการสโมสร ใช้ Data-driven นำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องของผู้เล่นแต่รวมถึงการแต่งตั้งคนคุมทีมอย่างเยอร์เกน คล็อปป์ด้วย เพียงแต่ในยุคนั้นยังใช้ชื่อเรียกตำแหน่งว่าเป็นผู้จัดการทีมอยู่ เพราะกุนซือชาวเยอรมันยังมี “อำนาจ” ร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ

แต่สำหรับคนใหม่อย่างอาร์เน สล็อต เขาจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของผู้เล่น มากที่สุดคือได้หารือร่วมกัน แสดงความคิดเห็น แต่จะไม่มีสิทธิ์ “เคาะ” หรือ “ทุบโต๊ะ” ว่าจะเอาแบบนี้หรือแบบไหนอีก

เรียกได้ว่าเป็นการ “คอนโทรล”​ สโมสรเอาไว้ให้อยู่ใต้การทำงานของฝ่ายบริหาร มากกว่าจะให้น้ำหนักกับผู้จัดการทีมที่เคยเป็น ‘หน้าตา’ ของสโมสรเหมือนในอดีต

การเปลี่ยนแปลงที่ลิเวอร์พูลถือว่าเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพราะนี่คือสโมสรอนุรักษ์นิยมที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของตัวเองมานาน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นสโมสรสมัยใหม่ อยู่ใต้การบริหารของไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส อดีตผู้อำนวยการสโมสรที่กลับมาบริหารทีมในบทซีอีโอของ FSG

สโมสรอย่างลิเวอร์พูลยังปรับเปลี่ยนแล้ว ก็เชื่อได้ว่าอีกหลายสโมสรอาจจะปรับตัวตามมาด้วยเช่นกัน เพราะอย่างที่บอกโดยโครงสร้างการบริหารแล้ว ฟุตบอลอังกฤษเปลี่ยนแปลงไปจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมอีกต่อไป

โดยที่แฟนฟุตบอลเองไม่ได้มีการต่อต้านอะไรในเรื่องนี้ด้วย อาจเพราะเริ่มชินกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นจนไม่รู้สึกแปลกอีกต่อไป

อย่างไรก็ดีสื่อมวลชนหลายแห่งหรือแม้แต่พรีเมียร์ลีกเองก็ยังคงเรียกคนคุมทีมเหล่านี้ว่า Manager เหมือนเดิมด้วยความเคยชิน เช่น รางวัล Manager of the Month ไม่ได้เรียกว่า Head coach of the Month อะไร

ดังนั้นในความรู้สึกของแฟนๆที่ติดตาม มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรมากมายนัก ก็แค่ชื่อเรียกที่เปลี่ยนไป

แต่ในเชิงของคนทำงานแล้วนี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สำคัญ เป็นทิศทางที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของวงการฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการเปลี่ยนแปลงของทุนหรือเจ้าของสโมสร

จากเดิมที่เป็นเศรษฐีคนมีเงินที่อาจจะเป็นแฟนบอลอยู่เดิม หรือเป็นคนท้องถิ่น ก็กลายเป็นกลุ่มทุนจากต่างชาติที่เข้ามาพร้อมกับวิธีการทำงานที่แตกต่าง มีเรื่องของโครงสร้าง มีความเป็นมืออาชีพ มีการแยกบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้น

การหายไปของตำแหน่ง “ผู้จัดการทีม” จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

โดยที่สักวันในอนาคตข้างหน้า คำว่า Manager อาจจะถูกหลงลืมไปจากคนยุคสมัยถัดไป และกลายเป็นเรื่องเล่าในนิทานลูกหนังแทน

กาลครั้งหนึ่งเราเคยมีสุดยอดผู้จัดการทีมอย่างเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน,​ อาร์แซน เวนเกอร์, โชเซ มูรินโญ, เป๊ป กวาร์ดิโอลา และเยอร์เกน คล็อปป์

 

อ้างอิง