รับมือพิษร้ายในที่ทำงาน | วรรณา แก้วพวง

รับมือพิษร้ายในที่ทำงาน | วรรณา แก้วพวง

ข้อมูลงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พบว่าพนักงานไทย 55% เคยทำงานในองค์กรเป็นพิษ และ 25% เคยถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน (การกลั่นแกล้งในที่ทำงาน : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดและสุขภาพจิตของพนักงาน)

ที่ทำงานเป็นพิษ คือสภาวะสังคมและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต (Toxic workplace) ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และความสัมพันธ์ของพนักงานในองค์กรเสื่อมถอยลง อาจมีต้นเหตุจากหลายปัจจัยทั้งหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี

ข้อมูลจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า

ปัญหาสภาพหรือบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษในองค์กร ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงาน สถิติ Mental Health จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าคนในโลกนี้ทุกๆ 8 คนจะมี 1 คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งในจำนวนนี้อาจจะเกิดได้จากที่ทำงาน

หัวหน้างาน เป็นที่มาสำคัญของพิษร้ายในองค์กร เพราะบทบาทของหัวหน้าส่งผลกระทบต่อการทำงานของพนักงานอย่างมาก เช่น หัวหน้างานที่ขาดทักษะการเป็นผู้นำ หรือขึ้นมาเป็นหัวหน้าโดยไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม หัวหน้าที่ไม่มีเหตุผล เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ไม่รับฟังเสียงคนอื่น ชอบโยนภาระให้ลูกน้อง

เมื่อเกิดปัญหาแล้วพึ่งพาอะไรไม่ได้ และไม่เคยช่วยเหลือในเวลาที่ลูกน้องต้องการ จะทำให้พนักงานรู้สึกแย่และสับสน รวมไปถึงหัวหน้างานที่ชอบกลั่นแกล้งและข่มขู่ พฤติกรรมเหล่านี้สร้างพิษในองค์กรและสร้างความกดดันให้พนักงาน

ที่สำคัญพฤติกรรมของผู้นำหรือหัวหน้างานยังนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมแบบเป็นพิษในองค์กรอีกด้วย พฤติกรรมที่เป็นพิษและเกิดซ้ำๆ ต่อเนื่องยาวนานโดยไม่ได้รับการแก้ไข จะสั่งสมจนกลายเป็นวัฒนธรรมและจะหยั่งรากลึกจนยากจะเยียวยา

พิษในองค์กรอาจมาจากเพื่อนร่วมงานที่ชอบนินทาลับหลัง ชอบล้อเลียน เพื่อนร่วมงานประเภทที่เอางานของคนอื่นมาเป็นเครดิตของตัว ไม่รับผิดชอบ ไม่เคารพหรือรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น นำไปสู่การขาดความไว้วางใจ การขัดแข้งขัดขา รวมทั้งการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ปราศจากความร่วมมือ

สังคมสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่สร้างพิษในองค์กร บรรยากาศที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย งานหนักเกินไป

ในขณะที่พนักงานไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอย่างเพียงพอ ขาดสมดุลของชีวิตกับงาน พนักงานไม่รู้สึกถึงความเติบโตก้าวหน้า เผชิญการเลือกปฏิบัติ สถานที่ทำงานไม่ปลอดภัย

รวมถึงการควบคุมที่เคร่งครัดเกินไป ล้วนสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษทั้งสิ้นที่จะส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตของพนักงาน ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เกิดสภาวะหมดไฟในการทำงาน ทำให้พนักงานลาออก

แม้ว่าการลาออกของพนักงานจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่ออัตราการลาออกของพนักงานสูงผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าที่ทำงานเริ่มมีปัญหาบางอย่าง องค์กรควรตระหนักและให้ความสำคัญกับพนักงานด้วยการสร้างวัฒธรรมองค์กรที่ดี เช่น การไม่กลั่นแกล้งกัน มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์

และมีการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้งานราบรื่น หัวหน้างานและผู้บริหารต้องแสดงบทบาทสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เพราะจะทำให้พนักงานรู้สึกมั่นใจและมีความสุขในการทำงาน

ทำอย่างไรเมื่อต้องเจอสถานการณ์พิษในที่ทำงาน เมื่อต้องเจอสถานการณ์พิษในองค์กรจากหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน มีวิธีรับมือคือ

1.ตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ ไม่แสดงออกถึงอารมณ์โกรธหรือโมโห เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง ฝึกสติ ปล่อยวาง และปรับความคิดของตัวเองยอมรับว่าพิษในที่ทำงานเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด

2.หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หากเป็นไปได้ หาทางเลี่ยงการอยู่ใกล้หรือการพูดคุยกับบุคคลที่เป็นพิษ

3.สื่อสารอย่างสุภาพ พูดคุยอย่างสุภาพ ตรงประเด็น เลี่ยงการพูดจาประชดประชัน

4.เก็บหลักฐาน เป็นวิธีการป้องกันตัวเอง หากพฤติกรรมที่เป็นพิษของหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานนั้นส่งผลเสียต่อการทำงานหรือสร้างความเสียหาย ทำให้เราเสื่อมเสียชื่อเสียง ควรเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินการต่อไป

5.ปรึกษารุ่นพี่หรือหัวหน้างาน หรือระดับผู้บริหาร กรณีเผชิญความเป็นพิษจากเพื่อนร่วมงาน หากเราไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ด้วยตัวเองได้ ต้องไม่ลืมว่ายังมีเพื่อนร่วมงานอื่นที่ไว้ใจได้และสามารถช่วยหาทางออก หรือผู้บริหารที่ให้คำแนะนำ หาแนวทางแก้ไขปัญหาได้

6.ดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย หรือสิ่งที่เราชอบและมีความสุข ด้วยการใส่ใจเรื่องสุขภาพ ทั้งเรื่องอาหารและออกกำลังกาย ให้ความสำคัญกับคนในครอบครัวที่เรารัก นี่คือเราสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง

7.หางานใหม่ ซึ่งเป็นทางออกสุดท้าย หลังจากทุกทางไม่ได้ผล

หากต้องเผชิญกับบุคคลที่เป็นพิษในที่ทำงาน โปรดอย่าลืมดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างน้อยต้องคิดว่าไม่ได้มีเราคนเดียวที่เผชิญปัญหานี้ในโลก มีคนอีกเป็นจำนวนมากที่เผชิญกับพิษในองค์กร

ในเวลาเดียวกันก็มีคนรอบข้างอีกมากที่พร้อมช่วยเหลือ หากเราต้องการออกจากสภาพพิษในองค์กร เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งด่วนถอดใจ