ฮาวทูเป็น 'หัวหน้า' ในอุดมคติ ผู้เชี่ยวชาญชี้ ต้องฝึก 3 ทักษะทางอารมณ์

ฮาวทูเป็น 'หัวหน้า' ในอุดมคติ ผู้เชี่ยวชาญชี้ ต้องฝึก 3 ทักษะทางอารมณ์

จริงใจ สื่อสารเป็น เห็นอกเห็นใจ คือลักษณะ "ผู้นำ" ที่ลูกน้องชื่นชมและต้องการมากที่สุด พร้อมเปิด 3 คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ฮาวทูการเป็นหัวหน้าในอุดมคติ

KEY

POINTS

  • จริงใจ สื่อสารเป็น เห็นอกเห็นใจ คือลักษณะ "ผู้นำ" ที่ได้ใจลูกน้องมากที่สุด พร้อมเปิด 3 ฮาวทูสู่การเป็นหัวหน้าในอุดมคติ
  • หนึ่งในวิธีฝึกฝนตนเองให้เป็นหัวหน้าในอุดมคติ ก็คือ การมี ทักษะทางอารมณ์ อาจเริ่มด้วยการมีอารมณ์ขัน แต่เฉพาะในกรณีที่ตลกจริงๆ อย่าฝืนตัวเอง
  • ผู้นำที่ดีและเป็นที่ยอมรับของลูกน้องนั้น จะสละเวลาของตนในการลงมาดูแลทีมเสมอ พยายามเสนอแนวคิดในการประชุมทีม ช่วยให้ทีมผ่านงานยากๆ ให้สำเร็จไปได้อย่างลุล่วง

จริงใจ สื่อสารเป็น เห็นอกเห็นใจ คือลักษณะ "ผู้นำ" ที่ลูกน้องชื่นชมและต้องการมากที่สุด พร้อมเปิด 3 คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ฮาวทูการเป็นหัวหน้าในอุดมคติ

โดยทั่วไปแล้ว “หัวหน้า” หรือ “ผู้นำ” ที่ถูกมองว่าเป็น “หัวหน้าที่ดี” นั้น ส่วนใหญ่มักจะมีทักษะในด้านต่างๆ อย่างเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารเวลา การวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะการแก้ปัญหาที่สามารถช่วยเหลือทีมให้ผ่านงานยุ่งยากในแต่ละวันไปได้ 

แต่ยังมีผู้นำอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เป็น “หัวหน้าที่ดี” เท่านั้น แต่ยังมีลักษณะของ “ผู้เป็นเลิศแห่งผู้นำ (A people person)” ซึ่งถูกยอมรับว่าเป็นลักษณะของหัวหน้าที่ลูกน้องชื่นชมและต้องการมากที่สุด 

ทอม กิมเบล ซีอีโอของ LaSalle Network บริษัทจัดหางานในชิคาโก อธิบายถึงประเด็นนี้ผ่าน CNBC ไว้ว่า ผู้นำที่เป็น A people person นั้น มักจะมีลักษณะพิเศษคือ มีทักษะทางอารมณ์ที่ดีเลิศ เช่น การสื่อสาร ความเห็นอกเห็นใจ และอยากช่วยเหลือผู้อื่นให้ผ่านอุปสรรคยากๆ ไปได้ พวกเขาจะมีวิธีที่ดีในการกระชับสายสัมพันธ์กับพนักงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมในที่ทำงานที่ทำให้ผู้คนต้องการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจริงๆ 

“ยิ่งคุณมีความจริงใจมากเท่าไร ผู้คนก็จะเชื่อมโยงกับคุณและเพลิดเพลินกับการทำงานให้บริษัทของคุณมากขึ้นเท่านั้น” กิมเบล กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหางาน มีคำแนะนำถึง “ผู้นำองค์กร” ต่างๆ เกี่ยวกับวิธีฝึกทักษะทางอารมณ์ให้แข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำแบบ A people person ในที่ทำงานที่ลูกน้องต่างต้องการและให้การยอมรับ โดยยกตัวอย่างมา 3 ข้อ ได้แก่

1. จงเป็นคนตลก แต่เฉพาะในกรณีที่คุณตลกจริงๆ อย่าฝืน!

กิมเบล บอกว่า บางคนใช้อารมณ์ขันเพื่อเชื่อมโยงกับผู้อื่น แต่กุญแจสำคัญในการเป็นคนตลกในที่ทำงาน คือ อย่าฝืนมัน! แม้อารมณ์ขันจะเป็นตัวเชื่อมโยงที่ดีเยี่ยมระหว่างผู้คนจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน แต่ศิลปะของการเป็นคนตลกในโลกการทำงานอาจเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากกว่าที่เคยเป็นมา แต่หากทำอย่างถูกต้องและทำได้ดี ก็จะสามารถหลอมรวมวัฒนธรรมในที่ทำงานได้เป็นอย่างดี

บางครั้งการพูดตลกแบบฝืนๆ หรือเล่นมุกตลกสุดล้ำแต่ผิดที่ผิดทาง แทนที่จะมันสนุกเฮฮา แต่กลับทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกไม่สบายใจ ดังนั้น หากคุณไม่ได้เป็นคนมีมุกตลดโดยธรรมชาติ ก็อาจจะเพิ่มความมีชีวิตชีวาในที่ทำงานด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การเล่าเรื่องที่เข้าถึงได้ พูดเรื่องตลกทั่วๆ ไปแบบเบาสมองที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น แชร์ลายเซ็นอีเมลที่น่าหัวเราะ ให้คนในทีมดู เป็นต้น 

“ตัวตนที่แท้จริง (Authentic) คือกุญแจสำคัญจริงๆ เพราะอารมณ์ขันมักจะมาจากสถานการณ์ในชีวิตจริง ดังนั้น ไม่ต้องแต่งเรื่องตลกขึ้นมาหรอก เพียงแค่เล่าเรื่องรถเสียระหว่างทาง และเมื่อคุณออกไปเปลี่ยนยาง คุณถูกน้ำหรืออะไรกระเด็นใส่ นั่นก็เป็นเรื่องตลกได้แล้ว” กิมเบลกล่าว และยังบอกด้วยว่า การแบ่งปันเรื่องราวกับคนรอบตัวคุณแสดงให้เห็นว่าคุณต้องการสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา และเตือนพวกเขาว่าพวกเขาสามารถ “หัวเราะได้นิดหน่อยและสนุกกับงานของเรา” 

2. แสดงตัว (Show up) แม้ในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นก็ตาม

บอนนี โลว์-คราเมน ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมในที่ทำงาน อธิบายว่า แค่การที่ “หัวหน้า” ปรากฏตัวอยู่ข้างทีมเสมอ ก็สามารถแสดงถึงความใส่ใจได้ดังกว่าคำพูด ทั้งนี้ พนักงานมักจะชื่นชมผู้นำที่พยายามทำงานอยู่กับทีมโดยไม่ปลีกตัวแยกออกไป 

ผู้นำที่ดีและเป็นที่ยอมรับของลูกน้องนั้น ส่วนใหญ่พวกเขาจะสละเวลาของตนในการลงมาดูแลทีมเสมอ ทักษะนี้ฝึกได้โดยการที่ “คนเป็นหัวหน้า” ต้องพยายามเสนอแนวคิดในการประชุมทีม ช่วยให้ทีมผ่านงานยากๆ หรืองานที่ไม่ชอบไปให้ได้อย่างสำเร็จลุล่วง หรือจัดกิจกรรมสนทนากาแฟเล็กๆ สักครั้ง เพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องในทีมของคุณ หรือแม้แต่การเอ่ยช่วยเหลืองานบางอย่างของทีม เมื่อทีมได้รับมอบหมายงานมาจากส่วนนโยบายหลัก เป็นต้น 

“การปรากฏตัวของหัวหน้าในระหว่างการทำงานต่างๆ จะทำให้ลูกน้องในทีมรู้ว่าคุณใส่ใจพวกเขามากพอและพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลืออยู่ตลอด แม้ในเวลาที่ไม่จำเป็นต้องทำก็ตาม กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันเป็นองค์ประกอบของผู้นำแบบ A people person ซึ่งมันแสดงให้เห็นตัวตนจริงๆ ว่าพวกเขาเป็นคนแบบไหน” โลว์-คราเมนกล่าว

3. เอาใจเขามาใส่ใจเรา และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 

เพื่อนร่วมงานและลูกน้องจะพบว่าคุณน่าเชื่อถือและเข้าถึงได้มากขึ้น เมื่อคุณใจดีและเห็นอกเห็นใจพวกเขา นั่นเป็นเรื่องจริง ทั้งนี้มีข้อมูลจากการสำรวจของ Gallup ปี 2020 พบว่า พนักงานมี “ความต้องการสากล 4 ประการ” เมื่อพูดถึงหัวหน้างาน ได้แก่ ความไว้วางใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความมั่นคง และความหวัง

ดังนั้น ในฐานะ “ผู้นำ” หากคุณกำลังจะมีการสนทนาหรือการประชุมครั้งต่อไปกับเพื่อนร่วมงานในทีม แนะนำให้ถามความคิดเห็นหรือถามคำถามปลายเปิดกับทีม เช่น “วันหยุดของคุณเป็นอย่างไรบ้าง” หรือ “ช่วงนี้คุณกำลังทำโปรเจ็กต์ที่น่าตื่นเต้นอยู่หรือเปล่า?” จากนั้นให้ความสนใจกับคำตอบของพวกเขาอย่างจริงใจ 

แดเนียล โกเลแมน นักจิตวิทยา ผู้ซึ่งเคยแชร์ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในโพสต์ LinkedIn เมื่อปี 2017 โดยระบุว่า ผู้นำจงฟังทั้งคำพูดและความรู้สึกเบื้องหลังของลูกน้อง แล้วตอบสนองพวกเขาด้วยความเข้าอกเข้าใจ หรือเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ให้แก่พวกเขา 

ขณะที่ ทอม กิมเบล กล่าวเสริมด้วยว่า เมื่อเวลาผ่านไป การใช้ความอยากรู้อยากเห็นเพื่อรับฟังคนในทีมอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้ผู้นำรับรู้ได้อย่างแม่นยำมากขึ้นว่าผู้อื่นคิดและรู้สึกอย่างไรกับตนเอง เพื่อนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์กับทีมได้อย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทักษะทางอารมณ์ไม่ได้เป็นทักษะที่ใช้ได้เฉพาะแต่กับ “ผู้นำ” เท่านั้น แต่วัยทำงานทุกคนก็สามารถฝึกทักษะเหล่านี้ได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน ปรับปรุงการทำงานเป็นทีม และเพิ่มขวัญกำลังใจในที่ทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถช่วยให้พนักงานไต่เต้าสู่ความก้าวหน้าในอาชีพการงานได้