มอง "บุญนิยม" ในบริบทเศรษฐกิจและชุมชนอามิชในอเมริกา

มอง "บุญนิยม" ในบริบทเศรษฐกิจและชุมชนอามิชในอเมริกา

การละสังขารของสมณะโพธิรักษ์ เริ่มนำไปสู่การวิเคราะห์และวิพากษ์จากหลากมุมมอง  ด้านเศรษฐกิจ ท่านเสนอแนวคิดชื่อ “บุญนิยม” ซึ่งมองได้ว่าอยู่ในกรอบของระบบตลาดเสรี แต่มีข้อแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ เน้นการแบ่งปันมากกว่าการแสวงหากำไรพร้อมกับใช้การกสิกรรมนำหน้า

กำเนิดของบุญนิยมซึ่งมีการกสิกรรมแนวธรรมชาติปราศจากสารเคมีที่ “หมู่บ้านราชธานีอโศก” เป็นตัวอย่างมองกว้าง ๆ ไม่ต่างกับการเกิดระบบที่ชุมชนอามิชในอเมริกายึดปฏิบัติ กล่าวคือ เริ่มจากการเห็นต่างในด้านการตีความคำสอนและแนวปฏิบัติของศาสนา 

ย้อนเวลาไปกว่า 300 ปี ชุมชนอามิชเป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งแยกออกจากศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่เกิดในยุโรปก่อนหน้ามาเกือบ 200 ปีเนื่องจากเห็นต่างกับนิกายโรมันคาธอลิก

ชุมชนอามิชปฏิบัติตามแนวคิดของตนได้เพียงจำกัดจนกระทั่งอพยพไปอยู่ในอเมริกาจึงสามารถทำได้เต็มที่ เช่น ได้รับการยกเว้นภาษีบางด้านและมีอิสระที่จะจัดการศึกษาซึ่งให้เยาวชนเรียนแค่ชั้นมัธยมต้น 

ชุมชนอามิชใช้ระบบตลาดเสรีที่เน้นการพึ่งพาอาศัยกันภายในชุมชน ใช้เกษตรกรรมนำหน้า แต่ไม่ใช้เทคโนโลยีที่เกิดใหม่ตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม เลี้ยงสัตว์เพื่อใช้งาน เพื่อการบริโภคและเพื่อขาย  แต่ไม่ใช้เครื่องจักร ไฟฟ้าและโทรศัพท์ในบ้าน  (รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือชื่อ “อเมริกาที่ยังใช้ม้าเทียมไถ” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.bannareader.com)    

“บุญนิยมวิวัฒน์” มาจากแนวปฏิบัติใหม่ในนิกายเถรวาทของศาสนาพุทธ ยึดการเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ใช้การแบ่งปันเป็นองค์ประกอบสำคัญ และใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยในการดำเนินชีวิต 

จากมุมมองของชุมชนอามิช บุญนิยมเป็นเสมือนเด็กแบเบาะ  เมื่อผู้ให้กำเนิดไม่อยู่ดูแล ระบบจะพัฒนาต่อไป หรือตายจึงเป็นประเด็นนำ 

ในการมองประเด็นนี้ มีข้อสังเกตน่าสนใจยิ่งของ "สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ" หรือ “ท่านจันทร์” ผู้เน้นการนำหลักคิดหลักปฏิบัติใหม่ออกไปเผยแพร่ด้วยตนเองมาเป็นเวลานาน  ท่านเขียนไว้ในสื่อสังคมเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 15 เมษายน ดังนี้

“หลังจากพ่อท่านจากไป เราชาวอโศกจะต้องพัฒนาตนไปสู่คนจนอย่างแท้จริง  เท่าที่ผ่านมาด้วยบารมีของพ่อท่านทำให้ชาวอโศกยังไม่เป็นคนจนอย่างแท้จริง  หลายคนยังมีลักษณะมือห่างตีนห่าง ฟุ่มเฟือย ใช้ของแบบไม่ดูแลส่วนกลาง ค่าน้ำค่าไฟสิ้นเปลืองมาก 

ด้วยบารมีของพ่อท่านจึงทำให้มีคนถวายเงินเข้ามาสนับสนุนมาก  บางคนถึงกับพูดว่า “เราพ่อรวย”  จึงทำให้ไม่รู้จักประมาณในการกินการใช้ของส่วนกลาง ไม่รู้ว่าอะไรควรซื้อไม่ควรซื้อ ใช้เงินส่วนกลางสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ 

พ่อท่านจากไป เงินบริจาคก็จะลดลงและลดลงมาก ย่อมเป็นโอกาสแห่งการเจียมเนื้อเจียมตัวของพวกเราชาวอโศก  น่าจะนำไปสู่การฝึกฝนตนเป็คนจน (วรรณะ ๙) อย่างแท้จริง”

ข้อความนี้ชี้ชัดว่า การทำกสิกรรมและกิจการตามแนวคิดบุญนิยมที่พัฒนามาถึงจุดนี้ยังไม่มีศักยภาพพอเอื้อให้ชุมชนอโศกอยู่ได้ ยังต้องอาศัยการบริจาค 

ณ วันนี้ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ว่า สมณะโพธิรักษ์ได้วางแนวทางสำหรับการพัฒนาชุมชนอโศกกับระบบบุญนิยมไว้อย่างไร หรือไม่ และชุมชนอโศกจะทำอะไรต่อไป  การวิเคราะห์การอยู่รอดของระบบจึงต้องรอข้อมูลด้านนี้

การเป็นอยู่แบบเรียบง่าย หรือการเป็นคนจนตามข้อความของท่านจันทร์และการทำกสิกรรมธรรมชาติปราศจากสารเคมีย่อมมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยกว่าระบบทุนนิยมที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นหัวจักรขับเคลื่อน 

ระบบบุญนิยมจึงเหมาะสมกับสภาวะของโลกปัจจุบันกว่าระบบทุนนิยม  แต่การทำกสิกกรมแบบนั้นพร้อมกับกิจการที่มีการแบ่งปันนำหน้าแทนการแสวงหากำไรเป็นหัวจักรขับเคลื่อนคงยากที่จะก่อให้เกิดรายได้มากพอสำหรับใช้จ่ายโดยเฉพาะเพื่อซื้อหาเทคโนโลยีใหม่ที่มักมีราคาสูง  

ฉะนั้น การเป็นคนจนจะต้องจนขนาดไหนในด้านการบริโภคและการทำกสิกรรมธรรมชาติกับกิจการด้านอื่นจะต้องทำมากสักเท่าไรในด้านการผลิตจึงเป็นโจทย์ที่ระบบบุญนิยมของชุมชนอโศกจะต้องตอบให้ได้เพื่อพัฒนาต่อไปสู่ความยั่งยืนตามแนวชุมชนอามิช.