สยบยอมความกลัวในใจเด็กๆ ด้วยความเมตตา

สยบยอมความกลัวในใจเด็กๆ ด้วยความเมตตา

อะไรทำให้เด็กเกิดความกลัว ไม่กล้าทำอะไรหลายอย่างในชีวิต กลายเป็นปมในใจ บทความสั้นๆ เรื่องนี้อยากชวนผู้ใหญ่หันกลับมามองบางเรื่องราว...

น่าตั้งคำถามว่า ใครสร้างความกลัวในใจเด็กๆ และใครที่มีส่วนในการปกป้องเด็กๆ ...

คงไม่ใช่อื่นไกล นอกจากพ่อ แม่ และคนรอบข้าง (ญาติพี่น้อง ครู และสังคม) บางทีเป็นเพราะความหวังดี และคิดว่า นั่นถูกต้องแล้ว จึงไม่ได้อธิบายเหตุผลให้เด็กเข้าใจง่ายๆ 

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเรื่องที่สังคมรับรู้ในวงกว้าง ทั้งกรณีพ่อแม่รังแกฉัน และพ่อแม่ปกป้องฉัน หลายคนคงจำกันได้ กรณีเยาวชนอายุ 14 กราดยิงในพารากอน จะด้วยความรู้สึกเก็บกด หรือมีความกลัวเรื่องใดก็ตาม เป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาต้องประเมินเอง 

 

ส่วนอีกเรื่อง กรณีผู้ปกครองไม่เห็นด้วยที่ครูให้เด็ก 4 ขวบทำกิจกรรมแข่งขันใส่เสื้อผ้า โดยเด็กผู้หญิงต้องถอดเสื้อผ้าออกเหลือแค่กางเกงในก่อน และเมื่อผู้ปกครองแสดงความคิดเห็นออกไป กลับกลายเป็นว่าเขาใจไม่กว้างพอ

กระทั่งหมอสุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ให้ความเห็นว่า กิจกรรมแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก

มีหลายกรณีที่เด็กๆ ไม่ได้ถูกปกป้อง หรือพ่อแม่ไม่รู้เลยว่า ลูกสะสมความกลัวเรื่องใดไว้บ้าง และบ่อยครั้งพ่อแม่นั่นแหละที่สร้างความกลัวในใจเด็กๆ

เรื่องเหล่านี้เป็นเส้นบางๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมบ่อยครั้ง  

นั่นทำให้ผู้เขียนนึกถึงกิจกรรมเชื่อมโยงกายและจิตให้เป็นหนึ่งเดียวในเวิร์คชอป แผนที่เมตตา โดย ดร.บาร์บารา ไรท์(Barbara Wright) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เธอเคยทำงานเพื่อช่วยบำบัดจิตเด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาการพูด เธอศึกษาทั้งจิตวิทยาและแนวพุทธ เพื่อนำมาใช้กับชีวิต โดยทำเป็นแผนที่เมตตา

เธอแบ่งแผนที่เมตตาออกเป็น 3 ฐาน คือ 1.สมอง 2.ใจ และ 3.สิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นองค์ประกอบเพื่อทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

แผนที่เมตตา เป็นกิจกรรมที่ใช้หลักเหตุและผล และเปิดพื้นที่การเรียนรู้คำว่า“เมตตา” หลักการง่ายๆ คือ เราต้องออกห่างจากความเคยชิน ละวางจากความกลัว เปลี่ยนมุมมองและวิธีคิด แล้วผลจะออกมาอีกแบบ 

เมื่อใดที่เราเกิดความกลัว เราก็จะไม่เป็นอิสระ ความกลัวมีอยู่ในทุกกฎของการดำเนินชีวิต แต่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีอะไรแน่นอน มันคือ อนิจจัง

เพื่อให้เกิดความเข้าใจ บาร์บารา ยกตัวอย่าง แม่ลูกคู่หนึ่ง หากลูกวัย 16 ปีอยากเป็นซุปเปอร์แมน และกำลังจะกระโดดลงจากหลังคา แม่จะพูดว่าอย่างไร

หลายคนบอกว่า แม่ต้องพูดว่า อย่ากระโดด...

เธอตั้งคำถามต่อว่า ในห้วงเวลานั้น เด็กผู้ชายคนนั้นจะรู้สึกอย่างไร

มีคำตอบว่า “กลัว ร้องไห้ หรือไม่ก็หนีไปเลย”

บาร์บารา แก้โจทย์เรื่องนี้ว่า ถ้าแม่ใช้วิธีแรก นั่นเป็นการกระทำแบบไม่เข้าใจ หากใช้วิธีที่สอง โดยพูดว่า 

“ฉันเข้าใจนะ ฉันเองก็อยากบินเหมือนกัน ฉันบินในความฝัน ฉันอยากให้เธอปลอดภัยไว้ก่อน เพราะฉันรักเธอ ถ้าเธอจะบินลองเปลี่ยนวิธีไหม กระโดดลงในบ่อ แล้วมีห่วงยาง หรือไปสวนสนุก”

ถ้าแม่ใช้วิธีที่สอง มีข้อสรุปว่า ลูกกับแม่ยังคุยกันต่อได้ 

ในมุมมองผู้เขียน มองว่า นี่คือเส้นหนาๆ ที่เรียกว่า ความเมตตา อาจมาช่วยสยบเส้นบางๆ ที่เรียกว่า ความกลัว เพื่อให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถพูดคุยตกลงกันได้

เพราะเมื่อใดก็ตามเด็กๆ เกิดความสงสัยและความกลัว เขาจะปิดกั้นตัวเองและถอยห่าง แต่ความเมตตาจะทำให้เด็กๆ เชื่อใจ และมีประสบการณ์ที่ดีในชีวิต