งานยุ่งเกินไป ทำร้ายสมองได้! ส่งผล Productivity ลดลง และกระทบกำไรบริษัท

งานยุ่งเกินไป ทำร้ายสมองได้! ส่งผล Productivity ลดลง และกระทบกำไรบริษัท

“งานยุ่ง” มากเกินไปนำไปสู่ภาวะ “Time Famine” ทำร้ายสมองได้ ส่งผลให้ Productivity ลดลง และอาจทำให้กำไรของบริษัทลดลงตามไปด้วย

KEY

POINTS

  • “Time Famine” หรือ “ความอดอยากด้านเวลา” เป็นความรู้สึกที่ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำทุกอย่างที่คุณต้องการ และการมีเวลาว่างลดลงก็เชื่อมโยงกับความเครียดที่เพิ่มขึ้น 
  • หากวัยทำงานเผชิญภาวะ Time Famine บ่อยๆ ก็จะนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่แย่ลง และกระทบต่อผลกำไรของบริษัทที่ลดลงตามไปด้วย
  • องค์กรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อผลกำไรมาก่อนพนักงาน แต่พวกเขากำลังทำกำไรจากการให้ความสำคัญกับพนักงานของพวกเขา

“งานยุ่ง” มากเกินไปนำไปสู่ภาวะ “Time Famine” ทำร้ายสมองได้ ส่งผลให้ Productivity ลดลง และอาจทำให้กำไรของบริษัทลดลงตามไปด้วย

มนุษย์ออฟฟิศอาจเคยรู้สึกขยาดหรือกลัว “วันทำงาน” บางวันที่มักมีงานหลายอย่างรออยู่ ทั้งงานเร่ง งานด่วน งานแทรก ประชุมหลายรอบ และต้องทำทุกอย่างภายในเวลาอันจำกัด จนวิ่งวุ่นไปมาทั้งวัน รู้หรือไม่? การรู้สึกว่างานยุ่งเกินไปอยู่ตลอดเวลานั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตมากกว่าที่คิด 

วัยทำงานรู้สึกยุ่งตลอดเวลา นำไปสู่ภาวะ Time Famine ส่งผลให้ประสิทธิภาพงานแย่ลง

ลอรี ซานโตส ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเยล อธิบายว่า การที่พนักงานรู้สึกงานยุ่งเกินไปตลอดเวลา จะนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า “Time Famine” หรือ “ความอดอยากด้านเวลา” ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำทุกอย่างที่คุณต้องการ และการมีเวลาว่างลดลงก็เชื่อมโยงกับความเครียดที่เพิ่มขึ้น หากวัยทำงานเผชิญภาวะ Time Famine บ่อยๆ ก็จะนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่แย่ลง ประสิทธิผล (Productivity) โดยรวมลดลง มีความสุขน้อยลง เครียดสูง เกิดอาการเบิร์นเอาท์ตามมา 

“บางคนมักจะรู้สึกว่าตนเองมีเวลาจำกัด ในการทำงานหลายๆ อย่างให้เสร็จอยู่ตลอดเวลา เพราะคิดว่าการทำงานยุ่งหรือทำงานมากๆ เท่าที่จะทำได้นั้น เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะบรรลุเป้าหมายบางอย่างในชีวิต แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป” ศาสตราจารย์ลอรี อธิบาย

แต่ในทางตรงกันข้าม หากพนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข ก็จะทำให้การงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น แถมยังเป็นประโยชน์กับผลประกอบการขององค์กรด้วย  ยืนยันจากการสำรวจของ Indeed ในปี 2023 ที่ชี้ว่า บริษัทที่สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน จะสามารถทำกำไรได้มากกว่า 

พนักงานอาจเป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ เมื่อพนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดี บริษัทก็มีผลประกอบการดีตามไปด้วย

Indeed ได้ร่วมกับนักวิจัยของ Oxford ทำการสำรวจและศึกษาถึงความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานว่าเชื่อมโยงกับการประเมินมูลค่าที่ดีขึ้น ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และผลกำไรที่ดีขึ้นของบริษัทหรือไม่? โดยผลสำรวจพบว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ไม่ได้ให้ความสำคัญของผลกำไรมาก่อนพนักงาน แต่พวกเขากำลังทำกำไรจากการให้ความสำคัญกับพนักงานของพวกเขา

ผลการศึกษาครั้งนี้ได้พิสูจน์ว่า พนักงานอาจเป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบริษัทจริงๆ โดยเฉพาะในหมวดหมู่ที่ครอบคลุมการประเมินมูลค่า ผลกำไร และแม้กระทั่งประสิทธิภาพของหุ้น ทั้งนี้ พบว่าตัวชี้วัดประสิทธิภาพหลักทั้งหมด มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับความเป็นอยู่ที่ดีในการทำงานของพนักงาน 

ผลวิจัยยังบอกด้วยว่า บริษัทที่มีการจัดอันดับความเป็นอยู่ที่ดี มักจะมีประสิทธิภาพเหนือกว่าตลาด โดยเหนือกว่าเกณฑ์มาตรฐานหลักๆ เช่น S&P 500 และ Dow Jones ยกตัวอย่างเช่น หากคุณลงทุน 1,000 ดอลลาร์ในบริษัทด้านความเป็นอยู่ที่ดี 100 อันดับแรกในเดือนมกราคม 2021 ต่อมาในในเดือนมีนาคม 2023 คุณจะมีเงินงอกเงยเป็น 1,300 ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่คุณจะทำได้ใน S&P 500 ถึง 20%

งานยุ่งเกินไป ทำร้ายสมองได้! ส่งผล Productivity ลดลง และกระทบกำไรบริษัท

จุดที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยนี้ก็คือ ระดับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เป็นตัวทำนายที่แข็งแกร่งถึงผลการดำเนินงานขององค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคต กล่าวคือ เมื่อพนักงานในบริษัทมีความเป็นอยู่ที่ดี ก็จะนำมาซึ่งประสิทธิภาพการผลิตที่ดี ความสัมพันธ์ในทีมงานที่ดี ความคิดสร้างสรรค์ที่ดี สุขภาพดี มีการสรรหาบุคลากรได้ดี และสามารถรักษาคนเก่งไว้ในองค์กรได้นาน ซึ่งเหล่านี้ก็จะเชื่อมโยงไปถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่สูงขึ้นตามมาด้วยนั่นเอง

3 วิธีบริหารเวลาเพื่อ "ลดงานยุ่ง" เพิ่มความสุขและประสิทธิภาพงานได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ ลอรี ซานโตส ก็มีคำแนะนำถึงพนักงานด้วยว่า หากช่วงไหนรู้สึกว่ามีงานยุ่งเหยิงเต็มไปหมดจนเกิดภาวะ Time Famine จะต้องปรับการบริหารเวลาใหม่ อาจลองใช้เคล็ดลับเหล่านี้ เพื่อช่วยผ่อนคลายความยุ่งเหยิงของงานต่างๆ ให้น้อยลง และทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น

1. จำกัดเวลาการทำงานแต่ละชิ้น ไม่ให้กินเวลาอย่างอื่นของชีวิต

เขียนและจัดเรียงงานที่ต้องทำ (To-do List) ไว้บนปฏิทินส่วนตัวที่โต๊ะทำงาน วางกรอบงานแต่ละอย่างว่าจะให้เวลาทำนานแค่ไหน ถ้างานชิ้นใหญ่ก็ให้แบ่งเป็นพาร์ทเล็กๆ แล้วกำหนดว่าแต่ละพาร์ทจะต้องทำเสร็จในกี่นาที เป็นต้น และอย่ากำหนดระยะเวลาที่ตึงจนเกินไป ที่สำคัญ อย่าลืมจัดเวลาพักกลางวัน และเวลาสำหรับการพักเบรกเล็กๆ ระหว่างวัน ด้วย 

อีกทั้งไม่ควรให้งานในลิสต์มากินพื้นที่การวางแผนชีวิตอื่นๆ ของคุณ เช่น ตอนเย็นจะไปออกกำลังกาย ก็ต้องได้ออกกำลังกาย เป็นต้น แบบนี้จะช่วยให้งานไม่เข้ามารบกวนชีวิตส่วนอื่นๆ มากเกินไป แถมยังสามารถทำงานได้เสร็จเป็นอย่างๆ ไป จะทำให้คุณรู้สึกยุ่งน้อยลง เครียดน้อยลง และมีประสิทธิผลมากขึ้น

2. เฉลิมฉลองเวลาว่างเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างวันทำงาน

สมมติว่าคุณเลิกประชุมเร็วก่อนเวลา หรือทำงานใดงานหนึ่งเสร็จก่อนเวลา 5-10 นาที จำไว้ว่า ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งทำงานชิ้นถัดไปต่อจากนั้นในทันที แต่ให้เฉลิมฉลองให้กับเวลาว่างเหล่านั้นด้วยสิ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น เช่น เดินเล่น นั่งสมาธิ บริหารยืดเหยียด หรือพูดคุยเรื่องสัตว์เลี้ยงกับเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ เหมือนพักเบรกไปในตัว แล้วจากนั้นค่อยเริ่มทำงานชิ้นถัดไป วิธีนี้จะช่วยให้รู้สึกว่าไม่ยุ่งอยู่ตลอดเวลา และเพิ่มความสุขได้มากขึ้น

3. ใช้เงินเมื่อจำเป็นเพื่อให้ได้เวลาว่างกลับคืนมา

การทำงานหนักตลอดเวลา ทำให้วัยทำงานเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ วิธีที่ดีที่สุดในการพักผ่อน เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ก็คือ การให้รางวัลตัวเองเป็นการชดเชย เช่น ถ้าวันไหนต้องทำงานล่วงเวลา กลับบ้านช้ากว่าปกติ อย่ารู้สึกผิดที่จะสั่งอาหารมากิน (แทนที่จะทำอาหารกินเองเหมือนทุกวัน อาจจ่ายแพงกว่าแต่ก็สะดวกและประหยัดเวลามากกว่า) หรือ นั่งแท็กซี่กลับบ้านแทนรถประจำทาง (แม้จะแพงกว่าแต่ก็ซื้อเวลาให้เดินทางถึงบ้านเร็วขึ้น ได้พักผ่อนเร็วขึ้น) เป็นต้น 

นอกจากนี้ อาจจะลองฝึกให้ตนเองรู้จักปฏิเสธคำขอช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ได้ โดยเฉพาะงานอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตงานของตนเอง เพื่อทวงคืนเวลาว่างของคุณกลับมา การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ควรทำเมื่อเราทำไหวจริงๆ ไม่ใช่ตอบรับให้การช่วยเหลือคนอื่นอยู่ตลอดเวลาจนงานตัวเองแทบจะไม่เสร็จตามกำหนด ดังนั้น วัยทำงานจึงต้องทบทวนและปรับสมดุลเรื่องนี้ให้ดี