บอลไทยไปบอลโลก "ฟุตบอลไทย" ความหวังที่ยังมีลุ้น

บอลไทยไปบอลโลก "ฟุตบอลไทย" ความหวังที่ยังมีลุ้น

การผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายเอเชียนคัพคราวนี้จุดประกายความหวังให้กับคนไทยอีกครั้ง นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้เห็นคนไทยตั้งหน้าตั้งตารอเพื่อร่วมส่งแรงใจไปเชียร์ทีมช้างศึก ถึงแม้คราวนี้เราไม่ได้ไปต่อถึงรอบ 8 ทีม แต่ทำได้แค่นี้ก็มาได้ไกลกว่าที่หวังไว้เยอะแล้ว

หากสรุปประเด็นสำคัญจากความเห็นของหลายฝ่าย เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาฟุตบอลไทย คงมีเรื่องสำคัญให้พูดถึงสัก 4 เรื่อง

เรื่องแรก โอกาสไปเล่นในลีกต่างประเทศช่วยยกระดับผู้เล่นได้จริง เป็นที่ทราบกันดีว่า  ลีกฟุตบอลชั้นนำของโลกมีการแข่งขันกันสูง  ถ้าทีมไหนไม่แน่จริง  ก็มีสิทธิโดนเขี่ยออกจากลีก  ส่วนทีมไหนที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้  สิ่งที่ได้รับก็คือผลตอบแทนมากมายมหาศาล 

การคัดเลือกนักฟุตบอลเข้าร่วมทีมจึงทำกันอย่างระมัดระวัง  การบริหารจัดการทีมทำกันแบบมืออาชีพ  ผลตอบแทนที่เสนอให้กับนักฟุตบอลฝีเท้าดีมีความสมน้ำสมเนื้อ  สามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เล่นคนนั้นให้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว  

เมื่อคนของเราได้ในอยู่กับ “ของจริง” ย่อมมีโอกาสได้สั่งสมประสบการณ์ ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดดได้ บางทีการผลักดันให้นักฟุตบอลไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของวงการฟุตบอลระดับโลกอาจต้องเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนกันในระดับรัฐบาลเลยทีเดียว มันมีแนวทางที่ทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง

เรื่องที่สอง การมีธรรมาภิบาล ใช้มาตรฐานมืออาชีพมาทำงาน ไม่ปล่อยให้วงการฟุตบอลเป็นการรวมตัวของคนที่ต้องการแสดงหาผลประโยชน์ เอะอะอะไรก็มีการเมืองเข้ามาแทรกอยู่ตลอด 

แค่คำว่า “เด็กฝาก” กับคำว่า “เอาหน้า” สองคำนี้ก็สรุปแทบทุกอย่างของความอ่อนแอของวงการฟุตบอลบ้านเราได้เกือบทั้งหมดแล้ว

ตามมาตรฐานสากล สมาคมหรือหน่วยงานที่เป็นผู้คอยกำกับดูแลลีกเหล่านี้มีควรสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารลีกที่ครอบคลุมในทุกมิติ รวมถึงมิติทางด้านการเงิน

เพื่อจำกัดขอบเขตของปัญหาปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทีมที่มีเงินหนาจึงไม่ได้เป็นทีมที่ชนะในทุกนัด การมีธรรมาภิบาลยังหมายถึงความโปร่งใสในการทำงาน และการรับผิดรับชอบของสมาคมฟุตบอล

ที่ผ่านมาผู้บริหารบางส่วนทำตัวเหนือปัญหาตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลไกการบริหารงานของสมาคมไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลได้จริง

ความกดดัน ความผิดพลาด ความไม่โปร่งใส และความข้องใจทั้งหลายของประชาชน จึงไม่สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นแรงกดดันให้กับสมาคมได้ ในทางเศรษฐศาสตร์ เหตุการณ์แบบนี้เรียกว่า จริยธรรมวิบัติ (Moral Hazard) ที่ไหนมีเรื่องนี้ ก็จะมีแต่ความวิบัติไม่ช้าก็เร็ว

ประการที่สาม ลีกในประเทศต้องสร้างฐานผู้ชมจนถึงจุดที่จะยกระดับในเชิงธุรกิจได้ การลงทุนในสโมสร การจ่ายค่าตอบแทนให้นักกีฬาและบุคลากรของสโมสร จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับกำไรที่เกิดขึ้น

การมีฐานผู้ชมที่เล็กเกิดไป รายได้ที่เกิดขึ้นย่อมไม่เพียงพอจะสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำพอจะไปเปลี่ยนโครงสร้างค่าตอบแทน และทิศทางการลงทุนของสโมสรเพื่อยกระดับคุณภาพของสโมสรให้สูงขึ้นได้ 

โจทย์นี้ต้องแก้ไขโดยด่วน บางทีเราอาจจะต้องตั้งคำถามยาก ๆ เกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการลีก เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น เงื่อนไขในการเข้ามาเล่นในลีกแต่ละลีก

การให้เงินสนับสนุนเพื่อให้สโมสรหน้าใหม่ได้มีโอกาสตั้งหลักเพื่อการเติบโต แนวทางการจัดสรรผลประโยชน์จากการโฆษณาและรายได้ส่วนอื่นให้กับสโมสรและนักกีฬาอย่างเหมาะสม รวมถึงมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อยกระดับลีกฟุตบอลทั้งระบบให้เหมาะสม 

ประการที่ 4 การทบทวนโมเดลธุรกิจของลีกและของสโมสร หากมองว่าลีกฟุตบอลและการทำงานของสโมสรฟุตบอลเป็นการทำงานในเชิงธุรกิจ การที่ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรมันเป็นสัญญาณที่บอกว่าโมเดลธุรกิจมีปัญหา ต้องทบทวนหรือยกเครื่องกันใหม่ทั้งหมด

แต่ที่ต้องระวังคือ การยกระดับโมเดลธุรกิจ ก็ต้องยกระดับด้วยการคิดแบบนักธุรกิจ ใครที่คิดด้วยมุมนี้ไม่ได้สมควรออกไปอยู่ในวงนอกก่อน ไม่งั้นจะรวนไปหมด 

ยกตัวอย่างเช่น โมเดลธุรกิจของสโมสรสามารถแตกต่างกันได้ บางสโมสรเน้นการเป็นแชมป์ บางสโมสรเน้นปั้นผู้เล่นเพื่อขายต่อ บางสโมสรเน้นการสร้างคอนเทนต์เพื่อให้อยู่ในกระแส จะได้มีสปอนเซอร์เข้ามา ประเด็นเหล่านี้แทบไม่เคยมีการนำมาพูดถึง ไม่มีการขับเคลื่อนกันอย่างจริงจังในวงการฟุตบอลไทย 

เส้นทางของฟุตบอลไทยยังอีกไกล แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็มีความหวังขึ้นมากกว่าเดิม ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ถ้าจะขอจากผู้ใหญ่ในวงการฟุตบอลตอนนี้

ผมขอแค่ อย่าไปล้วงลูก อย่าปล่อยให้ใครมาล้วงลูก และอย่าเอาหน้าคนเขาดูออกหมดว่าใครเป็นใคร ให้ทีมทำงานกันเต็มที่ ทำได้แค่นี้ขอบคุณมากแล้ว.