‘Pygmalion Effect’ พลังแห่งความเชื่อมั่น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีม

‘Pygmalion Effect’ พลังแห่งความเชื่อมั่น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีม

รู้จักทฤษฎี “Pygmalion Effect” หรือ “ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง” ที่ใช้ความเชื่อมั่นและความฝันเป็นตัวขับเคลื่อนให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับประสิทธิภาพของทีมได้ โดยหัวหน้าจะต้องสร้างความเชื่อมั่น ส่งพลังเชิงบวกให้แก่ลูกทีม

ความฝัน” เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตคนเรา ช่วยให้เรามีแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิต ยิ่งถ้าเรามี “ความเชื่อมั่น” มาเป็นแรงผลักดันว่าเราจะเป็นไปตามที่ฝันไว้ด้วยแล้ว เราก็จะยิ่งพยายามทำตามแรงปรารถนานั้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในปัจจุบัน เพื่อให้ความฝันเป็นจริง จนในที่สุดสิ่งที่เราหวังก็กลายเป็นความจริง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อทำความฝันเป็นจริง เรียกว่า “ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง” หรือ “Pygmalion Effect

 

  • พลังแห่งความเชื่อมั่น

ในตำนานปกรณัมกรีก มีเรื่องเล่าว่า “พิกเมเลียน” ช่างแกะสลักตกหลุมรัก “กาลาเทอา” รูปแกะสลักหญิงสาวจากงาช้าง ซึ่งเป็นผลงานของเขาเอง เขาได้แต่เฝ้ากอดจูบรูปแกะสลักอยู่ทุกวัน พร้อมทำเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับมาสวมใส่ให้ เขาได้ขอพรกับเทพีอโฟรไดท์ เทพแห่งความรักให้กาลาเทอากลายเป็นคนจริง ๆ 

ด้วยความสงสารและประทับใจในความรักของพิกเมเลียน เทพีอโฟรไดท์ จึงได้เสกให้กาลาเทอากลายเป็นคน ทำให้ทั้งสองคนจึงครองรักกันอย่างมีความสุข

เรื่องเล่าปรัมปรานี้ นำมาสู่การตั้งคำถามของ “โรเบิร์ต โรเซนธาล” และ “เลนอร์ จาคอบสัน” นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ว่า แรงปรารถนา ความฝัน และความเชื่อจะมี “พลัง” มากพอให้มนุษย์สมหวังได้มากน้อยเพียงใด ?

  • ความคาดหวังและความเชื่อมีอิทธิพลต่อศักยภาพ

ปี 1968 โรเซนธาลและจาคอบสันทำการทดลองที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ด้วยการให้นักเรียนทำแบบทดสอบไอคิว จากนั้นแบ่งนักเรียนจากการสุ่มเป็นห้องเด็กเก่ง และเด็กปรกติ โดยไม่ได้แจ้งครูล่วงหน้า ให้ทุกคนเข้าใจว่านักเรียนที่อยู่ในห้องเด็กเก่งคือเด็กที่ได้คะแนนสูงจริง ๆ 

หลังจากนั้น 8 เดือน ทั้งสองคนกลับไปที่โรงเรียนเดิมและทำแบบทดสอบอีกครั้ง พบว่า เด็กกลุ่มที่ถูกสุ่มว่าเป็นเด็กเก่ง ทำคะแนนเพิ่มขึ้น 12.22 คะแนน และมีพฤติกรรมทางการเรียนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างน่าตกใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนที่เข้าใจว่าตนเองเป็นเด็กเก่งมาจาก “ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง” (Self-fulfilling prophecy) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “Pygmalion Effect” ซึ่งได้ชื่อมาจากเรื่องเล่าเทพปรกณัมนั่นเอง 

ดังนั้น Pygmalion Effect จึงเป็นทฤษฎีที่ว่าความคาดหวังเชิงบวกสามารถมีอิทธิพลต่อบุคคลหรือกลุ่มให้มีการปฏิบัติงานเชิงบวกได้ ขณะเดียวกันความคาดหวังเชิงลบนั้นสามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพเชิงลบได้เช่นกัน ซึ่งการทำความเข้าใจและการยอมรับแนวคิดนี้ในฐานะหัวหน้างานและผู้นำ ก็สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประสิทธิภาพขององค์กร

  • เพิ่มประสิทธิภาพของทีมด้วย Pygmalion Effect

เจ. สเตอร์ลิง ลิฟวิงสตัน ตีพิมพ์บทความ Pygmalion in Management ใน Harvard Business Review ในปี 1988 โดยมุ่งเน้นไปที่ความคาดหวังด้านการบริหารจัดการ โดยอ้างอิงข้อมูลจากยอดขายและประสิทธิภาพของทีม มาจัดกลุ่มพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูง กลาง และต่ำ เมื่อนำพนักงานศักยภาพมารวมตัวกัน พวกเขาก็กลายเป็นทีมที่ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม แม้แต่พนักงานใหม่ที่พึ่งเข้ามาทำงาน ก็ยังมีผลงานที่ดีกว่าสมาชิกในกลุ่มประสิทธิภาพปานกลางและต่ำ 

ยิ่งไปกว่านั้น ผลงานโดยรวมของกลุ่มที่มีประสิทธิภาพต่ำลดลงกว่าเดิมและมีเกณฑ์ออกจากงานสูง ขณะที่กลุ่มปานกลางกลับมีการเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากหัวหน้าทีมปานกลางไม่เชื่อว่าตนเองและทีมของเธอมีความสามารถน้อยกว่ากลุ่มศักยภาพสูง เธอจึงพยายามพิสูจน์ตนเองและสื่อสารความรู้สึกนี้กับทีมอยู่เสมอ 

ด้วยความมั่นใจในตนเอง ความเอาใจใส่ และภาวะผู้นำของหัวหน้าทีม อีกครั้งความเชื่อมั่นในลูกทีมจึงทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีประสิทธิภาพขั้นสูงภายในทีม และแสดงออกมาเป็นผลงานที่ดีของทีม

 

  • หัวหน้าทีมกำหนดความเชื่อมั่นของทีม

ในประวัติศาสตร์มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมายว่า ความคิด ทัศนคติและการตัดสินใจของหัวหน้าส่งผลต่อความสำเร็จของทีม แม้ว่าคนในทีมจะแทบไม่เหลือความหวังแล้วก็ตาม เช่น ปาฏิหาริย์บนน้ำแข็ง (Miracle on Ice) ที่ทีมฮอกกี้สหรัฐเอาชนะทีมสหภาพโซเวียตในการแข่งขันโอลิมปกปี 1980 ที่เป็นการสะท้อนถึงผลแห่งความพยายาม การทำงานเป็นทีม ความทุ่มเท และความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง จนคว้าชัยชนะได้ในที่สุด

เช่นเดียวกับชัยชนะของจูเลียส ซีซาร์ ในสงครามที่อลีเซีย ที่กองทัพโรมันเอาชนะชาวกอลมาได้ แม้จะมีกำลังพลน้อยกว่า 4 เท่า ดังนั้นผู้นำที่ดีจะเรียกขวัญและกำลังใจของลูกทีมออกมา จนสามารถแสดงศักยภาพที่ดีที่สุดของตนเองและทีมได้ แม้จะต้องเจอกับอุปสรรคหรือความท้าทายมากมายก็ตาม

การทำความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ Pygmalion Effect กับองค์กรและทีม ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความได้เปรียบที่สำคัญกับผู้นำในทุกระดับ

การใช้ประโยชน์จาก Pygmalion Effect มีความหมายมากกว่าแค่การเชื่อมั่นในพนักงานของคุณ ผู้นำต้องแสดงออกถึงความมั่นใจในทีมและบุคคลภายนอก และต้องเชื่อว่าพวกเขาสามารถบรรลุความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ 

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ผลงานไม่ดีในอดีตของพนักงานจะทำลายความมั่นใจและทำให้ขาดกำลังใจ แพททริค ดามิโก ซีอีโอของ About-Face Development, LLC บริษัทที่ปรึกษาด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพทำงาน จึงแนะนำว่าหัวหน้าไม่ควรคิดไปล่วงหน้าก่อนว่าทีมจะทำไม่ได้ รวมถึงอาจจะต้องใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาของหัวหน้าเป็นตัวช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นและแรงขับเคลื่อนในการทำงาน เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง


ที่มา: EntrepreneurForbesHarvard Business ReviewThe People