‘หลวงพระบาง’ เสี่ยงหลุด ‘เมืองมรดกโลก’ หลังนักท่องเที่ยวทะลัก

‘หลวงพระบาง’ เสี่ยงหลุด ‘เมืองมรดกโลก’ หลังนักท่องเที่ยวทะลัก

จำนวนนักท่องเที่ยวในหลวงพระบางเพิ่มขึ้น 10 เท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และพุ่งเกือบ 800,000 คน ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2566

ประเทศลาว ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน ดังนั้นหลวงพระบาง สถานที่ที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก จึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่แสนงดงาม โดยมีความสวยงามทางธรรมชาติล้อมรอบ พร้อมด้วยสถาปัตยกรรมลาว-ฝรั่งเศสอันทรงเสน่ห์

หากไปเมืองหลวงแห่งนี้เราจะสามารถเห็นพระห่มจีวรสีส้มสดเดินผ่านแนวเสาหินปูนขาวในเมือง พร้อมด้วยวิวเรือหางยาวแล่นไปตามน้ำระหว่างเนินเขาป่าไม่เขตร้อน แต่ภายใต้บรรยากาศเมืองเก่าที่แสนเรียบง่ายนี้ ก็สร้างความตื่นตระหนกและเกิดคำถามในหมู่คนท้องถิ่นมากมาย

รายงานของยูเนสโกล่าสุด ได้เผยแพร่รายชื่อพื้นที่ที่น่ากังวลหลายแห่ง ซึ่งหลวงพระบางเป็นหนึ่งในนั้น หากไม่ได้รับการแก้ไข เมืองเก่าแห่งนี้อาจสูญเสียสถานะเมืองแห่งมรดกโลก เหมือนกับเมืองเดรสเดิน ในเยอรมนี และเมืองลิเวอร์พูลในอังกฤษที่ถูกถอดเพราะการพัฒนาได้คุกคามพื้นที่คุ้มครองและสถาปัตยกรรมของเมือง

ความกังวลว่าหลวงพระบางจะถูกถอดออกจากรายชื่อมรดกโลกมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ เกิดการพัฒนาใหม่ ๆ ในย่านเมืองเก่าที่ได้รับการคุ้มครอง ส่งผลให้สูญเสียอาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างแบบดั้งเดิม รวมถึงการท่องเที่ยวล้นและสร้างความเสียหายทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

สิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ การสร้างสะพานในแม่น้ำคานที่อาจมาแทนที่สะพานไผ่ที่ทำนุบำรุงทุก ๆ ฤดูแล้ง และอาจสร้างผลกระทบเชิงลบด้านทิวทัศน์ต่อเมืองเก่าของลาว รายงานยูเนสโกย้ำด้วยว่า การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบาง 25 กิโลเมตร จากการร่วมทุนระหว่างไทย-ลาว ซึ่งถือเป็นเขื่อนแห่งที่สองของเมือง อาจเปลี่ยนเมืองริมน้ำแห่งประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเพียงเมืองริมทะเลสาบแห่งหนึ่ง

“มินจา หยาง” อดีตรองผู้อำนวยการยูเนสโก ตอบกลับสำนักข่าวนิกเคอิเอเชียผ่านอีเมลว่า “ถ้าเขื่อนแห่งที่สองนี้สร้างขึ้นจริง ๆ ฉันเชื่อว่าหลวงพระบางอาจถูกถอดถอนออกจากเมืองมรดกโลก และเหตุผลสำคัญที่ทำให้เมืองได้ขึ้นเป็นมรดกจะเป็นโมฆะ” ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นก็กลัวว่าหลวงพระบางจะเสียตำแหน่งเมืองมรดกโลกไปเช่นกัน

“หลวงพระบาง” ตั้งชื่อตาม “พระบาง” พระพุทธรูปสีทองที่พระเจ้าแผ่นดินเขมรพระราชทานให้กับกระเจ้าฟ้างุ้มในศตวรรษที่ 14 และเมืองแห่งนี้เป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของลาว มีประวัติยาวนานนับพันปี ทั้งยังเป็นเมืองหลวงและเมืองแห่งศาสนามาตลอด จนกระทั่งหลังการประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 2496 เมืองหลวงจึงเปลี่ยนเป็นกรุงเวียงจันทน์

นับแต่นั้น หลวงพระบางยังคงรักษาสถาปัตยกรรมเก่า ๆ ไว้ แต่เป็นในเชิงละเลยมากกว่าทำนุบำรุงจริงจัง ประกอบกับเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำ จึงทำให้หลวงพระบางได้ขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกในปี 2538

ปัจจุบัน อาคารบ้านเรือนกว่า 600 หลัง และบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ 183 แห่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อตกลงของยูเนสโก ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น และเมืองเหมือนฟื้นคืนชีพเมื่อคนหนุ่มสาวกลับมาทำงานในพื้นที่ที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังเติบโต

แต่ผลประโยชน์ที่ได้มานั้นมีราคาต้องจ่าย เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวในหลวงพระบางเพิ่มขึ้น 10 เท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และพุ่งเกือบ 800,000 คน ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2566

ด้วยราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูง ทำให้คนท้องถิ่นจำนวนมากเลือกขายหรือปล่อยเช่าบ้านและออกไปอยู่นอกเมืองแทน และทุกวันนี้เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ในหลวงพระบางเริ่มมีชาวเวียดนามหรือชาวจีนด้วยแล้ว และเมื่อคนท้องถิ่นเหลือน้อย วัดในเมืองจึงน้อยลง พิธีตักบาตรที่มีชื่อเสียงของเมืองกลายเป็นปรากฏการณ์ด้านท่องเที่ยวไปแล้ว ขณะที่งานตักบาตรเมื่อไม่นานมานี้ก็มีชาวต่างชาติเข้าร่วมมากกว่าคนท้องถิ่น ส่วนพ่อค้าหาบเร่ก็ได้ประโยชน์จากการขายข้าวเหนียวราคาแพงให้นักท่องเที่ยว

แม้คนท้องถิ่นมีความสุขกับการได้รับตำแหน่งเมืองมรดกโลกจากยูเนสโก แต่สิ่งนี้ก็ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเช่นกัน

คำวิจารณ์ส่วนใหญ่ มีตั้งแต่ไม่พอใจที่ค่าครองชีพสูงขึ้น, ข้อจำกัดที่ป้องกันไม่ให้เจ้าของอสังหาฯปรับปรุงอาคารบ้านเรือนของตน และขาดเงินสนับสนุนเพื่อรักษาโครงสร้างเก่า ๆ ไว้ อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สินนั้น ๆ มีทั้งที่สามารถปรับปรุงได้เล็กน้อยหรือห้ามปรับปรุงเลย ส่วนการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานมรดกโลก

ผู้ประกอบการท้องถิ่นรายหนึ่งตั้งคำถามว่า “ถ้าผู้คนอยากทุบบ้านและสร้างบ้านทันสมัยสักหลัง ทำไมพวกเขาไม่ควรทำ”

นอกจากนี้  ยังมีเรื่องน่ากังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากเขื่อนหลวงพระบาง ที่ทำให้นึกถึงภัยพิบัติจากเขื่อนแตกในปี 2561 คร่าชีวิตผู้คนและที่อยู่อาศัยไปกับน้ำ รวมถึงสร้างความเสียหายทางธรรมชาติต่อริมฝั่งแม่น้ำโขง

แม้ยูเนสโกดูเอาแต่ใจไปบ้าง แต่คนท้องถิ่นหลายคนต่างกังวลเกี่ยวกับผลที่ตามมาหากเกิดการเพิกถอนเมืองมรดกโลก เพราะขณะนี้จีนเข้าไปลงทุนในลาวอย่างหนัก ตั้งแต่ร้านค้าเล็ก ๆ ไปจนถึงโรงแรมขนาดใหญ่ ทั้งยังเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีนเมื่อปีก่อน

ขณะที่คนท้องถิ่นบางคนมองว่า ข้อจำกัดที่กำหนดโดยยูเนสโกเป็นเหมือนป้อมปราการปกป้องการรุกรานของมหาอำนาจในภูมิภาค

เจ้าของธุรกิจท้องถิ่นคนหนึ่งเผย “เรากังวลเกี่ยวกับทางรถไฟ เพราะชาวจีนจะเข้ามาจำนวนมากและซื้ออสังหาฯกับที่ดินไป พวกเขามีเงินหนา ในกรุงเวียงจันทน์พวกเขาสร้างอาคารใหญ่มากมาย แต่พวกเราไม่อยากได้”

ทั้งนี้ คณะกรรมการมรดกโลกเตรียมพิจารณาเมืองพลวงพระบางอีกครั้งในเดือน ก.ค. และเมืองเก่าอาจถูกจัดอยู่ในรายชื่อมรดกโลกที่ตกอยู่ใน “อันตราย”