‘Doppelganger’ จากเรื่องสยองขวัญ สู่คำถามโลกมีคนหน้าเหมือนกันจริงหรือ?

‘Doppelganger’ จากเรื่องสยองขวัญ สู่คำถามโลกมีคนหน้าเหมือนกันจริงหรือ?

ไขปริศนา “Doppelganger” หรือ “แฝดคนละฝา” คนหน้าเหมือนกันแต่ไม่ได้เป็นญาติกัน มีอยู่จริง นักวิทยาศาสตร์เผย เป็นเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นได้ เพราะลำดับ DNA มีลักษณะคล้ายกัน

Key Point:

  • Doppelgänger เป็นตำนานพื้นบ้านของเยอรมนี เล่าถึงการพบเจอคนหน้าเหมือน ในช่วงเวลาเดียวกันแต่คนละสถานที่ ซึ่งถือเป็นลางร้ายและกลายเป็นพล็อตหนังผีและเรื่องเล่าสยองขวัญ
  • ปัจจุบัน Doppelgänger ถูกนำมาใช้หมาายถึงคนหน้าเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นญาติหรือมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด
  • นักวิทยาศาสตร์เผย การที่จะมีคนหน้าเหมือนกัน ถือเป็นเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นได้ เพราะลำดับ DNA มีลักษณะคล้ายกัน

 

ในโลกที่มีประชากรถึงแปดพันล้านคน จะเป็นได้หรือไม่ ที่จะมีใครสักคน (หรืออย่างน้อย 7 คน) ที่หน้าตาเหมือนกับเราทุกกระเบียดนิ้ว ซุกซ่อนตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้?

Doppelgänger” กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากมีคนไปเล่าเรื่องผีในรายการ “The Ghost Radio” จนกลายเป็นไวรัล และผู้คนต่างแชร์ประสบการณ์ของตนเองและคนรอบข้างเผชิญหน้ากับ “แฝดปีศาจ” ที่เหมือนกับตนเองอย่างกับแกะ และพิสูจน์ไม่ได้ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร

แต่ก็มีอีกหลายคนที่เจอกับ “แฝดคนละฝา” หรือคนหน้าเหมือนของตนเองแบบตัวเป็น ๆ พิสูจน์ได้ว่าเป็นคน ไม่ใช่ “เรื่องลึกลับ” โดยที่ทั้งสองคนไม่ได้เป็นพี่น้องกัน และไม่รู้จักกันมาก่อน

  • Doppelgänger แฝดปีศาจในตำนาน

เดิมที Doppelganger หรือ Doppelgänger (ดอปเพลเกงเกอร์) มาจากตำนานพื้นบ้านของเยอรมัน หมายถึงเป็นปรากฏการณ์ที่มีการพบเห็นคนคนเดียวกัน ในเวลาเดียวกันแต่คนละสถานที่ โดยคำนี้เกิดจากการรวมกันของคำสองคำ คือ doppel แปลได้ว่า “ซ้ำสอง” (double) และ gänger หมายถึง แฝดปีศาจ (goer) 

ส่วนมากแล้วร่างที่สอง หรือ Doppelgänger จะมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างจากร่างต้น ถ้าตัวจริงเป็นคนดีร่างแยกก็จะเป็นคนไม่ดี แต่ถ้าตัวจริงเป็นคนเลว ร่างแยกก็จะเป็นคนดี เชื่อกันว่าการเห็น Doppelgänger ถือเป็นลางร้าย ถ้าญาติหรือคนรู้จักของร่างต้นเจอแฝดปีศาจ คนนั้นจะเผชิญกับความเจ็บป่วยหรืออันตรายต่าง ๆ แต่ถ้าเจ้าตัวเจอร่างแฝดของตน อาจนำมาซึ่งความตายได้

ด้วยเหตุนี้ Doppelgänger จึงถูกนำไปใช้เป็นพล็อตวรรณกรรมและภาพยนตร์สยองขวัญมากนักต่อนักขณะเดียวกันตำนานเรื่องเล่าผีฝาแฝดปีศาจก็มีอยู่ในทุกวัฒนธรรม และมีการพบเห็น “คนหน้าเหมือน” ของตัวเองหรือคนใกล้ชิดอยู่เรื่อย ๆ

  • คนหน้าเหมือนกันที่อยู่กันคนละมุมโลก

ในปัจจุบัน Doppelgänger ไม่ได้หมายถึงแค่ในเรื่องผีเท่านั้น แต่คำนี้ถูกนำมาใช้แทนคนที่มีหน้าตาคล้ายกัน จนเป็นเหมือนฝาแฝด ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นญาติหรือมีความใกล้ชิดกันทางพันธุกรรม และอยู่กันคนละมุมโลก หรือในไทยเรียกว่า “แฝดคนละฝา” 

มีดารานักแสดงหลายคนที่หน้าตาคล้ายกัน จนหลายคนคิดว่าเป็นพี่น้องกัน เช่น “มาร์โก ร็อบบี” นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง “Barbie” ที่มีหน้าตาเหมือนกับ “เอ็มม่า แม็คคีย์” นางเอกซีรีส์ “Sex Education” ขณะที่คีอานู รีฟส์ นักแสดงขวัญใจคนทั้งโลกมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับ ปอล โมเนต์ นักแสดงชาวฝรั่งเศสที่มีชีวิตในศตวรรษที่ 1900 จนทำให้ชาวเน็ตแซวกันว่า หรือที่จริงแล้วรีฟส์เป็นแวมไพร์ มีชีวิตเป็นอมตะ

ด้วยเหตุนี้จึงมีทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมาว่าในโลกใบนี้จะมีคนที่มีหน้าตาเหมือนกับเราถึง 7 คนด้วยกัน ทำให้หลายคนก็พยายามตามหาคู่แฝดของเองอย่างจริงจัง จนกลายเป็นโครงการ “Twin Strangers” และสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาให้อัปโหลดภาพตัวเองเพื่อตามหาคู่แฝดของตน ในปัจจุบันมีคนอัปโหลดรูปภาพเข้าไปแล้วกว่า 11 ล้านภาพ อีกทั้งมีคนบินไปพบหาคู่แฝดของตัวเอง แม้จะอยู่กันคนละซีกโลกก็ตามหลายคู่ก็หน้าเหมือนกันจริง จนซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าก็แยกพวกเขาไม่ออก

‘Doppelganger’ จากเรื่องสยองขวัญ สู่คำถามโลกมีคนหน้าเหมือนกันจริงหรือ? (ซ้าย) “มาร์โก ร็อบบี”  (ขวา) “เอ็มม่า แม็คคีย์” 

 

  • หน้าเหมือนกันแต่ไม่ใช่คนเดียวกัน

ในทางวิทยาศาสตร์ก็มีการศึกษาเรื่องแฝดคนละฝาอยู่เรื่อย ๆ เพราะสงสัยว่าทำไมถึงเกิด Doppelgänger ขึ้นได้ทั้งที่พวกเขาไม่ได้รู้จักกันเลย โดยการศึกษาของนักวิจัยชาวสเปนระบุว่า แฝดคนละฝามีลักษณะลำดับพันธุกรรมที่คล้ายกัน หลายคนมีน้ำหนักใกล้เคียงกัน ปัจจัยการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกัน และพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน เช่น การสูบบุหรี่และระดับการศึกษา นั่นอาจหมายความว่าความแปรปรวนทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับลักษณะทางกายภาพและอาจส่งผลต่อนิสัยและพฤติกรรมบางอย่างด้วย

ดร. มาเนล เอสเตลเลอร์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว Josep Carreras ในสเปนเจ้าของวิจัยนี้ ได้ทำการวิจัยแฝดคนละฝาจำนวน 32 คนที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการของ ฟรองซัวส์บรูเนล ศิลปินชาวแคนาดา โดยให้พวกเขากรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ตรวจดีเอ็นเอ และใช้โปรแกรมจดจำใบหน้า 3 โปรแกรม

แม้ว่าสายตาของมนุษย์จะเห็นว่าพวกเขามีหน้าตาที่เหมือนกัน แต่ดูเหมือนว่าระบบเอไอไม่ได้คิดเช่นนั้นเพราะมีเพียงแค่ 8 คู่เท่านั้นที่เอไอระบุว่าพวกเขามีใบหน้าคล้ายกันจนเหมือนฝาแฝด และเมื่อไปดูผลดีเอ็นเอก็พบว่า Doppelgänger ทั้ง 8 คู่นี้มีสนิป (SNP) หรือ ซิงเกิลนิวคลีโอไทด์โพลีมอร์ฟิซึม การแปรผันของลำดับดีเอ็นเอที่คล้ายกันมากกว่าอีก 8 คู่ที่เหลือ 

“พวกเขาคล้ายคลึงกัน เพราะมีตัวแปรทางพันธุกรรมหลายอย่างร่วมกัน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเขาจะมีลักษณะของจมูก ตา ปาก ริมฝีปาก และแม้แต่โครงสร้างกระดูกคล้ายกัน”

อย่างไรก็ตาม เอสเตลเลอร์กล่าวว่าในโลกใบนี้มีคนจำนวนมากที่มีลำดับดีเอ็นเอที่คล้ายคลึงกัน และอินเทอร์เน็ตก็ทำให้เราพบคนที่มีหน้าตาคล้ายกันได้ง่ายขึ้น 

ถึงแม้แต่แฝดคนละฝาจะมีหน้าตาและพฤติกรรมบางอย่างจะคล้ายกัน แต่เมื่อทำการศึกษาลงไปถึง เอพิจิโนม ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือพันธุกรรม โดยเซลล์ของแต่ละบุคคลจะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง และถูกกำหนดชาติเกิดเอาไว้ ก็พบว่าแต่ละคนมีเอพิจิโนมเป็นของตนเองไม่ได้คล้ายคลึงกัน

อีกทั้งคู่ Doppelgänger ที่เหมือนกันที่สุดยังมีไมโครไบโอม จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนผิวหนังแตกต่างกันออกไปอีกด้วย 

 

  • เจอแฝดคนละฝาส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตัวเอง

สำหรับในทางจิตวิทยาแล้ว การเผชิญหน้ากับแฝดคนละฝาสามารถส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อจิตใจและอารมณ์ได้ เพราะสามารถสั่นคลอนความเชื่อมั่น อัตลักษณ์และความรู้สึกของตนเอง ตามแนวคิดของหุบเขาลึกลับ (Uncanny Valley) ซึ่งเป็นความรู้สึกไม่สบายใจที่เห็นบางอย่างที่มีลักษณะที่เหมือนกับมนุษย์แต่กลับไม่ใช่ ส่งผลให้แต่ละคนเกิดปฏิกิริยาที่แตกต่างกันออกไป บางคนรู้สึกอยากรู้อยากเห็นและสนใจ แต่บางคนรู้สึกไม่สบายใจหรือหวาดกลัว

นั่นเป็นเพราะตั้งแต่เกิดมาเหล่า Doppelgänger ไม่เคยเจอคนที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับตนเองมาก่อนไม่เหมือน “ฝาแฝด” มีประสบการณ์นี้มาตั้งแต่เกิด การเจอกันครั้งแรกของแฝดคนละฝาจึงถือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ไม่มั่นคงนั่นเอง

การเผชิญหน้ากับร่างแฝด มักจะทำให้เราคิดถึงการดำรงชีวิตในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับบทบาทของเราในโลก ความจริงแท้ การให้ความหมายตัวตน ผ่านการตั้งคำถาม เช่น ฉันเป็นใครอะไรสร้างให้ฉันเป็นคนแบบนี้ เป็นต้น

ยังไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ว่าทฤษฎีมีคนหน้าเหมือนกัน 7 คนเป็นจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ยืนยันได้คือ พวกเขาไม่ได้เหมือนกันมากขนาดนั้น แม้หลายคู่จะมีหน้าตาที่เหมือนกัน มีลักษณะนิสัยบางอย่างที่เหมือนกัน แต่อีกหลายคู่ก็เหมือนกันแค่หน้า นอกนั้นไม่ได้มีอะไรเหมือนกันเลย ดังนั้นความคล้ายคลึงที่เหมือนราวกับเป็นคนเดียวกันจึงเป็นแค่ “เรื่องบังเอิญ” ที่เกิดขึ้นได้ เพราะแม้แต่ฝาแฝดที่คลานตามกันมา ยังเติบโตมาไม่เหมือนกัน แล้วนับประสาอะไรกับคนที่มีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่แตกต่างกัน

ที่มา: BiblioCBCCNNPsychologs