ยิ่งกดดัน เหงื่อยิ่งออก กลิ่นแรงกว่าปกติ แก้ได้ด้วยการจัดการความเครียด

ยิ่งกดดัน เหงื่อยิ่งออก กลิ่นแรงกว่าปกติ แก้ได้ด้วยการจัดการความเครียด

“ความเครียด” ตัวการที่ทำให้เกิด “เหงื่อ” ตามกลไกการตอบสนองของร่างกาย แต่เหงื่อชนิดนี้มีกลิ่นแรงกว่าปกติ เพราะมีองค์ประกอบที่ต่างออกไปและสะสมแบคทีเรียนานกว่า พร้อมหาวิธีคลายเครียดเพื่อป้องกัน “เหงื่อโง่” จากความเครียด

เหงื่อโง่” เป็นหนึ่งในคำที่ถูกพูดบ่อยๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะใช้กันมากในแวดวงการแพทย์ เมื่อพูดถึงอาการประหม่าเวลาต้องตอบคำถาม หรือทำอะไรต่อหน้าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะกลัวว่าจะทำอะไรผิดพลาด หรือโดนเช็กความรู้ โดยระบุว่าช่วงเวลาแบบนั้นจะมี “เหงื่อโง่” ไหลออกมาเสมอ 

 

  • เหงื่อโง่ไหลออกมาเมื่อรู้สึกถูกกดดัน

เหงื่อ” เป็นวิธีระบายความร้อนของร่างกายเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงเกินไป ดังนั้นเหงื่อจะออกมากในช่วงหลังการออกกำลังกายเสร็จ วิ่งขึ้นบันได หรือขณะนั่งอยู่ในห้องที่ร้อนจัด หรือทำกิจกรรมกลางแดดจ้า แต่บางครั้ง “เหงื่อออก” ในเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความเครียด

เมื่อเราถูกหัวหน้าเรียกเข้าพบ ออกเดตครั้งแรก ต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน หรืออยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอันตราย ตื่นเต้น และประหม่า ร่างกายของเราจะผลิตเหงื่อออกมา ซึ่งเหงื่อประเภทนี้เรียกว่า เหงื่อความเครียด หรือ “เหงื่อโง่” เพราะเป็นหนึ่งในการตอบสนองแบบสู้หรือหนี (Fight-or-flight Response) เป็นปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าเป็นอันตราย เสี่ยงต่อถูกทำร้าย หรือเสี่ยงต่อชีวิต ร่วมกับการหลั่งสารอะดรีนาลีนและคอร์ติซอล อีกทั้งยังมีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้น และความดันเลือดพุ่งสูง

การตอบสนองนี้เกิดขึ้นในสมองและร่างกายแบบทันทีทันใด เมื่อมีความเครียดเฉียบพลันทางร่างกายหรือจิตใจ นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ กระตุ้นให้สามารถทำงานภายในสภาวะกดดันได้ดี (หรือหนีได้ดีขึ้น)

  • เหงื่อโง่กลิ่นแรง?

เหงื่อจากความเครียด หรือเหงื่อโง่จะเหนอะหนะกว่าเหงื่อปกติซึ่งจะทำให้มีกลิ่นตัวแรงขึ้นด้วย โดยดร.ซานาม ฮาฟีซ นักประสาทวิทยาในนิวยอร์กกล่าวว่า เหงื่อชนิดนี้เป็นการตอบสนองจากสมองว่ากำลังอยู่ในภาวะวิตกกังวลหรือความกลัวอยู่ในจิตใจ และส่งสัญญาณเตือนคนในบริเวณนั้นว่ากำลังสิ่งที่น่ากลัวเกิดขึ้น ซึ่งไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์นั้น

เหงื่อที่ปล่อยออกมาเพราะร้อนหรือออกแรงมากเกินไป ส่วนใหญ่ประกอบด้วยโพแทสเซียม เกลือ และน้ำ ซึ่งออกมาจากต่อมเหงื่อเอคครีน (Eccrine) ที่มีอยู่ทั่วร่างกายและพบหนาแน่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หน้าผาก และรักแร้ 

ขณะที่เหงื่อโง่เกิดจากต่อมเหงื่ออะโพไครน์ (Apocrine) ที่เป็นต่อมเหงื่อขนาดใหญ่ ซึ่งปรากฏขึ้นอยู่ภายใต้ผิวหนังและอยู่ใกล้กับรูขุมขน รวมถึงบริเวณรักแร้ ขาหนีบ และหนังศีรษะ โดยจะทำงานเมื่อออกกำลังกายหรือมีอารมณ์ที่แปรปรวน มีกรดไขมัน โปรตีน และสเตียรอยด์ เป็นส่วนประกอบ 

อีกทั้งเหงื่อโง่มีความเข้มข้นกว่า จึงใช้เวลานานกว่าจะระเหยออกจากผิวหนัง ทำให้มีเวลาผสมกับแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนังมากขึ้น จนเกิดเป็นกลิ่นตัวที่ชัดเจนกว่าเหงื่อปกติ และยิ่งรู้สึกเครียดมากเท่าใด เหงื่อก็จะยิ่งออกมากขึ้นเท่านั้น

กลิ่นเหงื่อจากความเครียด สามารถแยกแยะอารมณ์ได้ด้วย จากการศึกษาของผศ. ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ พญ.ภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า สารเคมีในกลิ่นเหงื่อบ่งบอกภาวะความเครียดสูงและซึมเศร้าได้ โดยผลทดสอบมีความแม่นยำถึง 90%

“โดยหลักการ ผู้ที่เป็นโรคเดียวกันมักจะมีสารเคมีหรือกลุ่มสารเคมีที่เหมือนกันอยู่ คล้ายกันกับกรณีนี้ หากตรวจพบว่าใครที่มีสารเคมีกลุ่มนี้ในปริมาณที่เกินเกณฑ์หรือต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งหมดก็น่าจะสามารถระบุได้ว่าคน ๆ นั้นมีความเครียดสูงหรืออาจเป็นซึมเศร้าได้ โดยความแม่นยำในการระบุผลจากกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 90%” ผศ.ดร.ชฎิล กล่าว

 

  • ทริกคลายเครียดแก้เหงื่อโง่

เนื่องจากเหงื่อโง่จะเกิดขึ้นเวลาที่รู้สึกกังวล มีความเครียด หรืออยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน ฮาฟีซแนะนำให้หาทางจัดการกับความกังวลเหล่านั้น ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องที่ทำยาก แต่ฮาฟีซกล่าวว่า แค่ลองค้นหาว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้กังวลหรือเครียด และอะไรทำให้คุณเหงื่อออก เท่านี้ก็ถือว่าเป็นขั้นแรกในการก้าวข้ามความวิตกกังวลแล้ว เพราะถ้าคุณรู้ว่าเหงื่อโง่เกิดจากอะไร ในครั้งต่อไปที่คุณพบว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกัน ร่างกายจะปรับตัวและตอบสนองต่อความไม่สบายใจนั้นไม่มากเท่าเดิม

WebMD เว็บไซต์สุขภาพออนไลน์ แนะนำวิธีลดความเครียดในชีวิตลงได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ประหม่า กดดัน จนเหงื่อโง่แทบจะไหลเป็นน้ำตกก็ตาม

1. หายใจเข้าลึก ๆ การหายใจอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ช่วยให้ผ่อนคลายได้จริง ด้วยการหายใจเข้าช้า ๆ ให้ลมเข้าไปในท้อง จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกอย่างช้า ๆ โดยฝึกหายใจลึก 10-20 นาทีเป็นประจำทุกวัน

2. การคลายกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นทีละส่วน (Progressive Muscle Relaxation) มีรูปแบบคล้ายกับโยคะ โดยเริ่มจากเกร็งจิกเท้าให้เต็มที่ก่อนจนทนไม่ไหวแล้วจึงปล่อยให้ผ่อนคลาย ต่อมาก็ทำเช่นเดียวกันที่ขาโดยให้เกร็งเหยียดเข่าแล้วปล่อยให้ผ่อนคลาย ทำเช่นนี้ขึ้นมาเรื่อยๆที่ตะโพก ช่องท้อง อก แขน ไหล่ คอ จนถึงใบหน้า 

3. เขียนระบาย บางครั้งวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับความรู้สึกเครียดคือการจดมันลงบนกระดาษ เริ่มจดบันทึกประจำวัน เขียนเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเครียดในระหว่างวัน เมื่อคุณเริ่มเข้าใจสิ่งกระตุ้นความเครียดแล้ว คุณก็สามารถเริ่มควบคุมมันได้

4. หาเสียงหัวเราะให้ชีวิต มีการศึกษาพบว่าการหัวเราะสุดเสียงเพียงแค่ครั้งเดียวก็เพียงพอที่จะลดระดับความเครียดได้แล้ว และทำให้คุณรู้สึกสงบมากยิ่งขึ้น แถมยังช่วยให้การไหลเวียนโลหิตและออกซิเจนในร่างกายดีขึ้นอีกด้วย 

5. เปิดเพลงผ่อนคลาย การฟังเพลงช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต และทำให้หายใจช้าลง ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและสงบยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฮาฟีซแนะนำให้ไปพบแพทย์ หากคุณมีเหงื่อออกมากในเวลากลางคืน หรือหากเริ่มเกิดขึ้นบ่อยขึ้นหรือในเวลาที่ไม่คาดคิด โดยไม่ได้มีอะไรมากระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล เพราะการมีเหงื่อออกมากอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจและหัวใจวายได้

 

ที่มา: CNETHealth LineQuartzroWebMD