คอนเสิร์ตจบ แต่มูฟออนไม่ได้ ระวังเป็น ‘ซึมเศร้าหลังคอนเสิร์ต’ 

คอนเสิร์ตจบ แต่มูฟออนไม่ได้ ระวังเป็น ‘ซึมเศร้าหลังคอนเสิร์ต’ 

รู้จักอาการ “ซึมเศร้าหลังคอนเสิร์ต” หรือ PCD (Post-Concert Depression) ที่เกิดขึ้นหลังจากไปดู “คอนเสิร์ต” พร้อมหาวิธีรับมือและบรรเทาอาการดังกล่าว

เคยเป็นหรือไม่? ดู “คอนเสิร์ต”​ จบแล้ว แต่ยังมูฟออนจากบรรยากาศความสนุกและความน่ารักของศิลปินคนโปรดไม่ได้ กลับมาเปิดเพลงฟังซ้ำ ๆ หาคลิปในคอนเสิร์ตดูอยู่ร่ำไป เข้าโซเชียลอ่านความเห็น ดูภาพความน่ารักของศิลปินที่แฟนคลับคนอื่นแชร์ได้ไม่รู้จักเบื่อ หรือรู้สึก “เสพติด” การดูคอนเสิร์ต อยากไปคอนเสิร์ตอยู่เรื่อย ๆ ถ้าคุณมีอาการทั้งหมดนี้ คุณอาจกำลังอยู่ในภาวะ  “ซึมเศร้าหลังคอนเสิร์ต” หรือ PCD (Post-Concert Depression

  • คอนเสิร์ตจบ แต่ยังมูฟออนไม่ได้

การจะไปคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง ไม่ใช่แค่ไปวันคอนเสิร์ตแล้วจบ แต่ผู้ชมจะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเดือน ตั้งแต่ “วันกดบัตร” ที่ถือว่าเป็นสงครามขนาดย่อม ๆ ต้องแย่งชิงที่นั่งกับคนเรือนหมื่นเรือนแสนเพื่อให้ได้ไปร่วมสร้างความทรงจำดี ๆ กับศิลปินอันเป็นที่รัก ไหนจะต้องฝึกซ้อมร้องเพลง (และแฟนชานท์ ซึ่งโค้ดคำหรือประโยคเชียร์ศิลปิน K-POP ระหว่างร้องเพลง) ให้ขึ้นใจ เพื่อให้ศิลปินประทับใจและมีอารมณ์ร่วมยิ่งขึ้น แถมต้องจัดหาเครื่องแต่งกายที่โดดเด่นเตะตาศิลปิน ยังไม่รวมถึงต้องวางแผนการเดินทางไปคอนเสิร์ตอีก

แต่เมื่อเทียบกับประสบการณ์และความสนุกที่ได้รับกับการไปคอนเสิร์ตแล้ว สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย เพราะการได้ชมการแสดงที่สนุกสุดเหวี่ยงจากศิลปินที่รัก ได้เห็นเสน่ห์และลูกอ้อนของพวกเขา ท่ามกลางผู้คนนับพันนับหมื่นคนที่เป็นแฟนคลับเหมือนกัน ถือเป็นช่วงเวลาที่มีค่า และไม่ใช่โอกาสที่หาได้บ่อย ๆ นานทีปีหนพวกเขาจะวนมาจัดคอนเสิร์ตในบ้านเราเสียที 

ดร. คริสตัล เบอร์เวลล์ นักจิตบำบัดกล่าวว่า ผู้ชมได้รับความสุขความสนุกอย่างเต็มที่จากการชมคอนเสิร์ต ทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข โดปามีนในปริมาณสูง ซึ่งเมื่อจบคอนเสิร์ตแล้วสารเหล่านี้หยุดหลั่งและร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ เหมือนกับว่าความสุขได้มลายหายวับไปในพริบตา 

“เมื่อร่างกายหยุดหลั่งสารโดปามีน ทำให้เรารู้สึกเศร้าและหดหู่ ร่างกายย่อมโหยหากิจกรรมใด ๆ ก็ทำตามที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้นอีก ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตหรืออะไรก็ตาม” เบอร์เวลล์กล่าว

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในวันรุ่งขึ้นหลังคอนเสิร์ตจบ หลายคนจะรู้สึกซึมเศร้าหงอยเหงา ไม่มีสมาธิ ขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต มีความตื่นเต้นลดลง รู้สึกอยากกลับไปคอนเสิร์ตอีก โดยจะเรียกอาการเหล่านี้ว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังคอนเสิร์ต” หรือ PCD (Post-Concert Depression

ช่วงเวลาหลังจากคอนเสิร์ตจบลงสามารถสร้างความเจ็บปวดทางอารมณ์ได้กับทุกคน เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่รุนแรงระหว่างและหลังคอนเสิร์ต 

ดร.เซธ ฟิวเออร์สตีน ศาสตราจารย์จิตเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยเยลเปิดเผยกับสำนักข่าว USA Today ว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับกลุ่มนักกีฬาเมื่อการแข่งขันนัดสำคัญได้สิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน

“นักกีฬาโอลิมปิก หรือนักกีฬาที่แข่งซูเปอร์โบว์ล ต่างพูดตรงกันว่าช่วงเวลาหลังจากจบเกมเป็นอะไรที่ท้าทายที่สุดสำหรับพวกเขา ทั้งที่ปรกติแล้วคนเหล่านี้มีน้ำใจนักกีฬาและมีทักษะล้มแล้วลุกได้อย่างรวดเร็ว” ฟิวเออร์สตีนกล่าว

  • ความคาดหวังขับเคลื่อนความสุข

ถึงใคร ๆ จะเป็น PCD ได้ แต่อาการ PCD ในหมู่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะรู้สึกเจ็บปวดและยาวนานกว่ามาก ดร. ดักลาส เมนนิน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า การจบลงของเหตุการณ์ที่ผู้คนคาดหวังไว้สูง อย่างเช่นการชมคอนเสิร์ต จะทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้ารู้สึกแย่กว่าเดิม

“มันเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่กลับไปมีความสุขได้อีก เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าความสุขเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้อีกแล้ว และไม่มีทางกลับไปทำแบบนั้นได้อีกแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคนเป็นซึมเศร้าจะไม่สามารถมีความสุขเลย เมนนินกล่าวว่า พวกเขายังคงมีความสุขได้เหมือนเดิม เพียงแต่ความสุขที่เกิดขึ้นความคาดหวังต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ อาจทำงานแตกต่างออกไปสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงความผันผวนทางอารมณ์ เช่น ภาวะสิ้นยินดี ความวิตกกังวล และดำดิ่งไปสู่อารมณ์ด้านลมอย่างรวดเร็วเมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ สิ้นสุดลง

ทั้งนี้ ฟิวเออร์สตีนยังคงแนะนำว่า ถ้าหากผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้ว่ากิจกรรมอะไรที่ทำให้พวกเขามีความสุขได้ แม้จะไม่ได้มีความสุขเต็มมาก พวกเขาก็ควรทำกิจกรรมเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับความสุขไว้

 

  • คอนเสิร์ตไม่ใช่กิจกรรมเดียวที่ทำให้เกิดความสุข

ดร. เคลลี เกรโค นักจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจมีกระบวนการคิดที่แตกต่างออกไป พวกเขาโน้มน้าวตัวเองว่ากิจกรรมอย่างคอนเสิร์ต จะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาให้มีความสุขมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะจะทำให้พวกเขายึดมั่นถือมั่นว่า คอนเสิร์ตนั้นยอดเยี่ยม จะต้องดีที่สุดและไม่มีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น ซึ่งถ้าไม่เป็นไปตามที่หวังจะยิ่งทำให้พวกเขาผิดหวังมากขึ้น และถึงแม้จะเป็นไปตามที่หวัง เมื่อจบจากคอนเสิร์ตพวกเขาอาจจะมี PCD ที่รุนแรง

ขณะที่เบอร์เวลล์กล่าวว่าถึงคอนเสิร์ตจะช่วยให้เกิดความสุขอย่างมาก แต่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เหมือนกับตั้งหน้าตั้งตารอแต่วันหยุดยาวหรือลาพักร้อน ซึ่งไม่ใช่วิธีการใช้ชีวิตที่ดีนัก โดยเธอแนะนำให้ผู้ที่ภาวะซึมเศร้าที่ไม่มีกะจิตกะใจออกจากบ้านและเข้าสังคม ให้หากิจกรรมเล็ก ๆ น้อยที่ไม่เปลืองพลังงานชีวิตมากนักและสามารถทำได้ทุกวัน เช่น ออกไปซื้อกาแฟ ทำทดแทน

“การไปคอนเสิร์ตไม่ได้เป็นวิธีเดียวที่ทำให้ต้องออกจากบ้านและเข้าสังคม ที่จริงแล้วเรื่องง่าย ๆ อย่างการซื้อกาแฟ ทำเล็บ ทำผม ก็ถือเป็นการบังคับให้คนต้องออกจากบ้านไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยเช่นกัน”

 

  • วิธีรับมือ PCD

ปรกติแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปสักพักอาการ PCD จะทุเลาไปเองตามกาลเวลา ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญมีแนวทางที่ดีต่อสุขภาพจิต เพื่อบรรเทาอาการ PCD ให้เบาบางลง หลังจากคอนเสิร์ตจบ เพราะกรุงเทพฯ ยังคงเป็น “เมืองแห่งคอนเสิร์ต” ศิลปินทั้งไทยและเทศยังคงเดินทางมาจัดคอนเสิร์ตในไทยอย่างต่อเนื่อง และมีอีกหลายงานที่จ่อคิวประกาศและกดบัตรอีกหลายงาน

1. บันทึกความสุขในความทรงจำ เช่น การฟังและดูผลงานเพลงของศิลปินคนโปรด หาคลิปบรรยากาศคอนเสิร์ตในโซเชียลดู ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด และเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตอีกด้วย

2. ทำกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นสม่ำเสมอ การต้องรอเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนเพื่อสนุกกับชีวิตไม่ใช่เรื่องที่ดี เกรโคแนะนำให้หากิจกรรมที่สนุกสนานเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน ขณะที่เบอร์เวลล์แนะนำว่าให้ระลึกไว้เสมอว่าคอนเสิร์ตเป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างความสุขได้ อย่าฝากความสุขทั้งหมดไว้กับคอนเสิร์ตเพียงอย่างเดียว

3. อย่าอยู่คนเดียว เมื่อเกิด PCD ขึ้นไม่ควรอยู่ตามลำพัง เพราะจะยิ่งทำให้อารมณ์ด้านลบแย่ลง การอยู่ร่วมกับคนอื่นจะช่วยให้รับมืออาการดังกล่าวได้ดีกว่า

4. ยอมรับความผิดหวัง หลายครั้งคนเรามักจะใส่คาดหวังในทุกกิจกรรมที่ทำ และมักจะไม่ยอมทำกิจกรรมที่พวกเขาคิดว่า “ไม่สนุก” เมนนินแนะนำว่า อย่าเพิ่งรีบตัดสินว่ากิจกรรมต่าง ๆ จะไม่สนุก ลองเปลี่ยนความคิดว่าอาจจะสนุกก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้ทำกิจกรรมนั้น ๆ และทำไปโดยไม่คาดหวัง เมื่อลงมือทำจริง ๆ แล้วคุณอาจจะพบว่ากิจกรรมเหล่านี้สร้างความสุขให้คุณได้มากกว่าที่คาดคิดเอาไว้ก็เป็นได้


ที่มา: RAMA ChannelUSA Today