ปีใหม่ ชีวิตใหม่ อยู่อย่างไม่เคยอยู่ | บัณฑิต นิจถาวร

ปีใหม่ ชีวิตใหม่ อยู่อย่างไม่เคยอยู่ | บัณฑิต นิจถาวร

วันนี้จันทร์ที่ 1 มกราคม 2567 เป็นวันเเรกของปี ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ขออํานาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ ผู้อ่านทุกท่านและครอบครัว พบแต่ความสุขความเจริญตลอดไปเทอญ

บทความวันนี้หัวข้อเบา แต่สาระอาจไม่เบา เพราะพูดถึง ปีใหม่ ชีวิตใหม่ มุ่งไปเพื่อนร่วมวัยของผมโดยเฉพาะ คือวัยเลข 7 ที่ผมเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิก ว่าเราจะใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างไรให้เป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

และฝากข้อคิดของการอยู่แบบไม่เคยอยู่ให้ผู้อ่านพิจารณาในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ที่อาจทําให้ชีวิตเราจากนี้ไปมีเป้าชัดเจนขึ้นและมีความหมายมากขึ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

คนในวัย70 พูดได้ว่าชีวิตได้ผ่านมาแล้วกว่า 2ใน 3 ของเส้นทางเดิน ได้ทําอะไรต่ออะไรมามากมาย ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ทั้งที่สำเร็จและผิดหวัง

ซึ่งถึงวันนี้ทุกอย่างก็เป็นอดีตไม่สามารถแก้ไขหรือเรียกคืนกลับมาได้ มีแต่ข้างหน้าคือวันเวลาที่เหลืออยู่ ว่าเราจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตอย่างไร ซึ่งคงอีกไม่นาน นับเป็นอาทิตย์ได้ เช่น 10 ปี ก็ 520 อาทิตย์

ในวัยนี้คนส่วนใหญ่จะมองช่วงเวลาที่เหลืออยู่ว่า ควรเป็นเวลาของการพักผ่อน ดูแลสุขภาพ ท่องเที่ยวในที่ที่อยากไป ใช้เวลากับครอบครัว ญาติและเพื่อนสนิท ทําในสิ่งที่อยากทำ สนุกสนานกับชีวิตในวัยเกษียณ ซึ่งไม่มีอะไรผิด

และนี่ก็คือสิ่งที่คนในวัยเกษียณเกือบทุกคนทําหลังอายุหกสิบ หรือหลังหมดภาระจากงานประจำ

แต่เมื่อเราเกษียณมาแล้วสิบปี เข้าสู่วัย70 อะไรที่อยากทำหลังเกษียณคงได้ทําหมดแล้ว เปรียบเหมือนการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ของวัยเกษียณได้จบไปแล้ว ที่เหลืออยู่คือของจริง เป็นความจริงที่หนีไม่ได้

คือเราอายุ 70 แล้ว เราจะอยู่ต่ออย่างไร อยู่ได้ไหม จะรักษาสุขภาพอย่างไร มีเงินพอไหมที่จะอยู่ถ้าอายุยืน ควรปรับตัวปรับการใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่กับสิ่งที่สำคัญที่สุด และอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด นี่คือคําถาม

ปีใหม่ ชีวิตใหม่ อยู่อย่างไม่เคยอยู่ | บัณฑิต นิจถาวร

ผมเองก็ถามตัวเองด้วยคําถามเหล่านี้ และคิดว่าคำตอบของแต่ละคนคงต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าชีวิตในวัย70 ของแต่ละคนเป็นอย่างไร

บางคนต้องยอมรับว่าชีวิตยังลำบาก ไม่มีรายได้ยังต้องทํางานแม้อายุมากเพื่อให้มีเงินใช้จ่าย บางคนไม่เดือดร้อนมาก มีรายได้เช่นบำนาญ มีเงินเก็บ พอกินพอใช้ แต่ก็ต้องระวังเมื่อใช้จ่าย บางคนรวยหรือรวยมาก มีรายได้มีสมบัติ ไม่ห่วงเรื่องเงินใช้จ่าย มีชีวิตที่สบายหรูหรา แต่ก็ไม่สุขเพราะห่วงว่าจะแบ่งสมบัติให้ลูกหลานอย่างไร

แต่ภายใต้ความแตกต่างก็มีความเหมือนกัน คือคนในวัย 70 ไม่ว่าจนหรือรวยหลังใช้ชีวิตมามากก็ต้องการชีวิตในบั้นปลายที่คล้ายกัน เป็นจุดหมายเดียวกัน คือต้องการชีวิตที่สงบและมีความสุข เป็นเหมือนกันทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย

คําถามคือ เราจะใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างไร ซึ่งอาจนานเป็น 10ปี 20ปี ให้ชีวิตในช่วงที่เหลืออยู่เป็นชีวิตที่สงบ มีความสุข และมีความหมาย

ผมเองก็พยายามตอบคําถามนี้ และวันนี้ขอฝากข้อคิดของผมสามข้อในเรื่องนี้ให้เพื่อนร่วมวัย 70 ของผมพิจารณา ไม่ว่ารวยหรือจน ที่อาจช่วยให้เราใช้วันเวลาที่เหลืออยู่อย่างมีเป้าหมาย ไม่น่าเบื่อ และมีความหมาย

ปีใหม่ ชีวิตใหม่ อยู่อย่างไม่เคยอยู่ | บัณฑิต นิจถาวร

ข้อคิดแรก ให้เวลากับตนเองมากขึ้น หมายถึง เวลาที่เราให้กับตัวเอง เช่น อยู่เงียบๆคนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียว เดินทางคนเดียว อยู่กับคนที่เรารักเราชอบ ทําในสิ่งที่เราอยากทํา เป็นเวลาคุณภาพของเราที่เราให้ความสำคัญไม่ต้องอธิบาย

และสำคัญสุดคือให้เวลากับการดูแลสุขภาพ ทั้ง หาหมอ ตรวจร่างกาย ออกกำลังกาย ระวังเรื่องอาหาร ควบคุมนํ้าหนัก นั่งสมาธิ

ในวัย 70 สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าสุขภาพเราอ่อนแอ มีโรค ชีวิตก็หมดพลังทันที สุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่ซื้อไม่ได้ แม้มีเงินทองมากมาย ต้องสร้างด้วยตัวเองเหมือนการลงทุน เราอยากเป็นใครเมื่ออายุ 80 คนรวยมากที่สุขภาพไม่ดี ทําอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ กับคนจนที่สุขภาพดี ทําอะไรก็ได้

สอง ต้องตระหนักว่าความสุขกับความสบายไม่เหมือนกัน เป็นคนละเรื่อง ความสบายมาจากเรื่องภายนอกที่ทําให้ชีวิตเราสบาย คือมีพร้อมทุกอย่าง บ้านหรู อาหารรสเลิศ เดินทางชั้นหนึ่ง เป็นสิ่งนอกกายที่ทําให้ชีวิตเราสบาย

ต่างกับความสุขซึ่งเป็นเรื่องภายใน เกิดจากการมีชีวิตที่หมดห่วง ไม่มีทุกข์ ทําให้ชีวิตมีความสุข เราจึงเห็นคนที่มีชีวิตแสนสบายแต่ไม่มีความสุข ต่างกับบางคนที่ชีวิตดูขาดแคลน แต่มีความสุข เพราะไม่มีทุกข์

ปีใหม่ ชีวิตใหม่ อยู่อย่างไม่เคยอยู่ | บัณฑิต นิจถาวร

ดังนั้นในวัย 70 ความสุขไม่ได้มาจากการสะสมหรือแสวงหา แต่มาจากการลดทุกข์ ต้องหยุดแสวงหา ไม่ว่าตําแหน่ง ชื่อเสียง เงินทอง แต่เปลี่ยนมาเป็นการลดทุกข์ ลดสิ่งที่จะทําให้เกิดทุกข์ ลดความอยากไม่ให้มาสร้างทุกข์ให้กับเราตอนแก่

การประหยัด การมีชีวิตที่เรียบง่าย คือการลดทุกข์ แต่สำคัญสุดคือลดการคาดหวัง มองทุกอย่างตามความเป็นจริง ตรงไปตรงมา ไม่หลอกตัวเอง เพราะถ้าไม่ตรง นั้นคือบ่อเกิดของทุกข์

สาม เห็นอกเห็นใจผู้อื่นและช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น 70 ปีของชีวิตที่เราทําอะไรมามาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเราทําเพื่อตนเองเพื่อครอบครัว ละเลยหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ควรมีต่อชุมชนและสังคม

ในฐานะมนุษย์คนเราเมื่อเกิดมาไม่มีอะไรลํ้าค่าและมีความหมายมากเท่าการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นความจริงที่เป็นที่ยอมรับสําหรับผู้ที่แสวงหาความหมายของชีวิต

เริ่มจากสิ่งที่เราทําที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครและยื่นมือช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งแม้เล็กน้อยก็สร้างความแตกต่างได้ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นวิถีทางศีลธรรมที่จะลดทุกข์และสร้างความสุข เพราะความสุขซื้อไม่ได้ด้วยเงิน แต่มาจากการทำในสิ่งที่เราทำได้เพื่อคนอื่น

ประเทศเราขณะนี้มีปัญหามาก คนวัย70 แม้จะสร้างประเทศมามากแต่เราก็ทิ้งปัญหาและสร้างภาระให้กับคนรุ่นหลังมากเช่นกัน การทํามากขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและช่วยสังคมแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ตามวัยและความสามารถที่มี

เป็นการใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เหมือนปลูกต้นไม้ไว้ให้คนรุ่นหลังใช้บังแดดบังฝนเมื่อเราไม่อยู่ เป็นการลดทุกข์และสร้างความสุข

นี่คือข้อคิดที่อยากฝากไว้ ถ้าทําได้ผมคิดว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

สวัสดีปีใหม่

ปีใหม่ ชีวิตใหม่ อยู่อย่างไม่เคยอยู่ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]