"ความเครียด" ที่มากับ "วันหยุด" | บวร ปภัสราทร

"ความเครียด" ที่มากับ "วันหยุด" | บวร ปภัสราทร

ไม่น่าเชื่อที่คนเกือบครึ่งหนึ่งแทนที่จะได้ความสุขจากวันหยุด กลับได้ความเครียดเพิ่มขึ้นแทน มีหลักฐานยืนยันมาจากสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐ

พบว่ามีคนกว่า 40% จากตัวอย่างในการวิจัย บอกว่าเครียดมากขึ้นในช่วงวันหยุด โดยกว่าครึ่งหนึ่งบอกว่าที่มาของความเครียดมาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในระหว่างวันหยุด หรือเครียดกับการที่มีเงินไม่พอสำหรับจับจ่ายใช้สอยตามกิจกรรมวันหยุดที่ตั้งใจไว้ 

ที่มาของความเครียดนี้คงไม่ต่างไปจากบ้านเรา ถ้าไปเตรียมกิจกรรมวันหยุดไว้จนเกินกำลังทางเศรษฐกิจของตนเอง มีหวังได้ความเครียดวันหยุดมาแน่ๆ เราชอบท่องเที่ยววันหยุดยาว

แต่เทศกาลวันหยุดจะไปเที่ยวไหนต่อไหน ที่พักในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็ว่าตามหลักดีมานด์ซัพพลายกันเต็มที่ คือบวกทั้งค่าที่พัก ทั้งกิจกรรมพิเศษ ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายวันหยุดมากขึ้น 

ถ้าครอบครัวตั้งความคาดหวังไว้กับวันหยุดกันเต็มที่ หัวหน้าครอบครัวเลยแบกภาระเกินกว่าที่ควรจะเป็น “หาก็ยาก ได้ก็แพง” จึงแน่นอนว่าถ้าไม่ใช่ครอบครัวที่เศรษฐกิจแข็งแรงจริงๆ เรื่องเงินทองจึงกลายเป็นต้นเหตุลำดับต้นๆ ของความเครียดจากวันหยุดอย่างแน่นอน 

ถ้าคนในครอบครัวช่วยกันสักนิด ถอยหลัง หรือเดินหน้ากันสักหน่อย ไม่ต้องถึงขนาดว่าต้องตรงวันหยุดตามเทศกาลเท่านั้น ความเครียดทางเศรษฐกิจน่าจะลดลงไปได้บ้าง

การจับจ่ายเกินกำลังไปกับของขวัญ ของแจก เป็นอีกเหตุหนึ่งของความเครียด เงินทองก็ไม่พอ ของที่ให้ก็อยากหาที่ถูกอกถูกใจคนรับ เลยยากทั้งเงินทอง ยากทั้งเรี่ยวแรงที่ต้องค้นหาของขวัญถูกใจ ลองเปลี่ยนมาเป็นของขวัญทางจิตใจกันบ้างก็ได้ 

บัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์สวยๆ ทำเองได้จากแอปในสมาร์ตโฟนอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่ลดภาระเรื่องเงิน เรื่องการเดินทางไปร้านนั้นร้านนี้ แต่บางคนยังมีความสุขกับการได้ทำกิจกรรมเหล่านี้ด้วยตนเอง เพราะดัดแปลงทำได้ดั่งใจที่คิดไว้ด้วยตนเอง

อีกเหตุหนึ่งของความเครียดที่พบคือ เครียดจากการที่กำหนดกิจกรรมที่จะทำไว้มากเกินไป ไปเที่ยวกันแล้วยังต้องมีเลี้ยงฉลอง ตามมาด้วยไปพบเจอญาติสนิทมิตรสหาย ทั้งวันไม่เหลือเวลาให้ตนเองเลย

จะวางแผนกิจกรรมวันหยุดไว้มากแค่ไหน ขอให้ดูตนเองเป็นสำคัญ คือทำตามแผนนั้นแล้วต้องมั่นใจว่าตนเองมีความสุข และมีเรี่ยวแรงเพียงพอสำหรับกิจกรรมตามแผน อย่าเอาแค่คนรอบตัวเป็นสรณะ วันหยุดต้องเติมเต็มความสุขให้ตนเองไว้ด้วย ไม่ใช่มัวแต่ส่งมอบความสุขให้คนรอบตัว โดยตนเองเครียดกับการนั้น

1 ใน 3 คนเครียด เพราะให้ความสำคัญกับวันหยุดมากเกินไป เครียดเพราะมีความกดดันในการทำให้วันหยุดมีความสมบูรณ์แบบในทุกมิติสำหรับทุกคน 

ซึ่งถ้าทำได้ตามที่หวังคงดีแน่ๆ แต่อาจจะไม่ดีกับคนทำให้วันหยุดสมบูรณ์แบบ เพราะจะไปเพิ่มความกังวลกับเรื่องเล็กเรื่องน้อย 

ลองนึกดูว่าถ้าวันหยุดกลายเป็นวันที่ต้องมีแผนสำรองฉุกเฉิน ถ้าไม่ได้อย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ คนจัดการวันหยุดจะได้พักจากการงานประจำ แต่จะได้งานใหม่คือการจัดการวันหยุดมาแทน และถ้าใครทำท่าทางออกหน้าในเรื่องนี้ในทันทีที่กิจกรรมวันหยุดไม่ลื่นไหลไปตามที่คาดหวัง ทุกสายตาจะจ้องมาที่คนที่อาสาเป็นผู้จัดการวันหยุด 

ลองปล่อยให้วันหยุดเคลื่อนตัวไปตามสถานการณ์กันบ้าง อย่าจริงจังกับทุกเรื่องของวันหยุด มองอุปสรรคเป็นเรื่องท้าทาย มองปัญหาที่พบเจอในแง่บวกกันบ้าง ผจญภัยกันบ้าง หัวเราะกับความผิดพลาดบ้าง ผู้จัดการวันหยุดจะได้พบเจอความสุขบ้าง

1 ใน 5 คนเครียดกับความกังวลที่จะต้องพบเจอ พูดคุยกับคนที่พูดจาไม่เข้าหู เพื่อนฝูงญาติมิตรบางคนไม่ค่อยเข้าใจในประเด็นที่อ่อนไหวของเรา เจอกันทีไรก็ถามไถ่ พูดคุยเรื่องที่ไม่สบอารมณ์ของเราอยู่เป็นประจำ

การสังสรรค์เลยกลายเป็นเวทีแห่งความกระอักกระอ่วน ลองหาเรื่องอื่นๆ ที่เป็นความสนใจร่วมของทุกคนเตรียมไว้เยอะๆ จะได้ลดเวลาสนทนาเรื่องที่ไม่สบอารมณ์ลงไปได้บ้าง

วันหยุดต้องเป็นวันของตัวเรา อย่ามัวแต่คิดบริการคนรอบตัว จนกระทั่งวันหยุดกลายเป็นวันเครียด.

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร 

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

email. [email protected]