'เจน Z' กังวลพฤติกรรมเด็กยุคนี้ ติด 'มือถือ-iPad' เสี่ยงก้าวร้าวไปจนโต

'เจน Z' กังวลพฤติกรรมเด็กยุคนี้ ติด 'มือถือ-iPad' เสี่ยงก้าวร้าวไปจนโต

เมื่อคนเจน Z เตรียมจะเป็นพ่อแม่ในอนาคต กังวลถึงพฤติกรรมเด็กเจน Alpha หลายคนในยุคนี้ที่ติดมือถือและ iPad งอมแงม จนเสี่ยงมีพฤติกรรมก้าวร้าวติดตัวไปจนโต ด้านผู้เชี่ยวชาญแนะพ่อแม่ควรให้เวลากับลูกมากกว่าให้เล่น iPad ทั้งวัน

Key Points

  • 60% ของเด็กสามารถเข้าถึงมือถือก่อนอายุ 5 ขวบ และ 31% ของจำนวน 60% นี้เข้าถึงมือถือก่อนอายุ 2 ขวบ
  • เจน Alpha เติบโตมากับเทคโนโลยี สิ่งที่พวกเขาสัมผัสประจำไม่ใช่ก้อนหิน หรือจักรยาน แต่เป็นสมาร์ทโฟนที่เข้าถึงง่ายมาก
  • บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft ซึ่งผลิตเครื่องเล่นเกม Xbox เล่าว่า เขาได้ห้ามลูกตัวเองมีมือถือจนกว่าจะถึงอายุ 14 ปี


“เมื่อคุณลองเอา iPad ออกจากมือพวกเด็ก ๆ พวกเขาไม่ได้เพียงโวยวาย แต่จะเริ่มต่อยคุณด้วย” นี่คือคำพูดของสาวเจน Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2540-2555) ที่ทำอาชีพพี่เลี้ยงเด็กเจน Alpha (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2556-2568) ในรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐ ซึ่งเธอใช้ชื่อใน TikTok (ติ๊กต็อก) @hopeyoufindyourdad เล่าถึงพฤติกรรมเด็กเล็กยุคนี้ว่า ไม่ได้สนใจกิจกรรมสร้างสรรค์ หมกมุ่นเฉพาะ iPad และสมาร์ทโฟน โดยคลิปของเธอนี้มียอดชมมากกว่า 4.6 ล้านครั้ง

\'เจน Z\' กังวลพฤติกรรมเด็กยุคนี้ ติด \'มือถือ-iPad\' เสี่ยงก้าวร้าวไปจนโต

- คนเจน Z เล่าถึงเด็กเจน Alpha (เครดิต: @hopeyoufindyourdad) -

ทุกวันนี้ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตสามารถเข้าถึงมือเด็กที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ บางครอบครัว มีลูกอายุไม่ถึง 10 ขวบก็มี iPad เป็นของตัวเองแล้ว ยิ่งเกิดเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จึงมีบทบาทมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การไปโรงเรียนไม่ได้ หรือพ่อแม่บางคนเลือกปล่อยให้ลูกเล่น iPad เพลินทั้งวันเพื่อชดเชยช่วงที่ตัวเองไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก จนในที่สุดเด็กก็เกิดอาการติดอุปกรณ์เหล่านี้

\'เจน Z\' กังวลพฤติกรรมเด็กยุคนี้ ติด \'มือถือ-iPad\' เสี่ยงก้าวร้าวไปจนโต - iPad เข้าถึงเด็กง่ายขึ้นเรื่อย ๆ (เครดิต: Freepik) -

นับตั้งแต่ iPad ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2553 พ่อแม่หลายคนมอบสิ่งนี้ให้ลูกเล่นเพื่อความบันเทิง โดยผลการศึกษาปี 2563 ของ Pew Research Center สถาบันวิจัยด้านสังคมวิทยา พบว่า 60% ของเด็กสามารถเข้าถึงมือถือก่อนอายุ 5 ขวบ และ 31% ของจำนวน 60% นี้เข้าถึงมือถือก่อนอายุ 2 ขวบ ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจว่า เด็กที่อายุอ่อนมากก็สามารถเข้าถึงมือถือได้แล้ว

เมื่อเด็กเล็กเข้าถึงมือถือได้ง่ายจะเกิดผลกระทบอย่างไร รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนพ่อแม่ผู้ปกครองว่า การเลี้ยงเด็กด้วยจอมือถือ จอแท็บเล็ตเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่เลย สำหรับกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ ไม่มีข้อมูลเชิงบวกว่าจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้แย่ลง

ดังนั้น เด็กอายุแรกเกิด – 2 ปี “ต้องหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอทุกชนิด” เด็กอายุ 2 – 5 ปี ใช้หน้าจอกับพ่อแม่ด้วยสื่อคุณภาพไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง อีกทั้งจะต้องปิดหน้าจอ และทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันกับพ่อแม่แทน

ยิ่งไปกว่านั้น รศ.นพ.วีระศักดิ์เสริมอีกว่า การใช้จอเลี้ยงลูก จะทำให้เด็กก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมออทิสติก คือ ดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง สื่อสารกับคนอื่นน้อย และเมื่อขออุปกรณ์คืน เด็กจะไม่ยอม ดื้อรั้น แต่ถ้าลดการใช้สื่อผ่านหน้าจอของเด็กลง พฤติกรรมเด็กก็จะกลับมาปกติ

\'เจน Z\' กังวลพฤติกรรมเด็กยุคนี้ ติด \'มือถือ-iPad\' เสี่ยงก้าวร้าวไปจนโต - การเลี้ยงด้วย iPad อย่างเดียว อาจทำให้เด็กก้าวร้าว (เครดิต: Freepik) -

ขณะที่ เจนนิเฟอร์ ฮัฟฟ์แมน (Jennifer Huffman) นักศึกษาเจน Z ปี 4 สาขากระบวนการยุติธรรมทางอาญา ของมหาวิทยาลัยซีแอตเทิล สังเกตเห็นผลกระทบของ iPad ต่อเด็กเล็กเมื่อเทียบกับวัยเด็กของเธอว่า “ตอนที่ฉันเป็นเด็ก มักจะเล่นระบายสี ออกไปข้างนอก ขี่จักรยานในละแวกบ้าน และไม่ได้อยู่แต่กับหน้าจอมือถือ”

สิ่งที่น่าสนใจ คือ คนเจน Z เมื่อเตรียมตัวเป็นเป็นพ่อแม่คน พวกเขากังวลพฤติกรรมของเด็กยุคนี้ หรือเรียกว่า “เจน Alpha” เนื่องจากเป็นเจนที่เติบโตมากับเทคโนโลยีข้างกาย สิ่งที่พวกเขาสัมผัสประจำไม่ใช่การเล่นหมากเก็บ หรือขี่จักรยาน แต่เป็นสมาร์ทโฟนที่เข้าถึงง่ายมาก

เด็กเล็กที่ติด iPad พวกเขาจะกรีดร้องเมื่อถูกยึด iPad ไป ไม่สนใจจะพูดคุยกับคนอื่น และไม่สนใจของเล่น จนเกิดคำเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า “iPad Kid” หรือ “เจ้าเด็ก iPad

ขณะที่ผู้ใช้ TikTok ชื่อ @gabesco อายุ 21 ปี ซึ่งมีผู้ติดตาม 2.9 ล้านคน โพสต์วิดีโอในวันที่ 8 พ.ย. 2566 เล่าว่า “ผมต้องการให้ทุกคนในเจนผมให้สัญญาว่า พวกเราจะไม่เลี้ยงลูกด้วย iPad”

เขาเล่าต่อว่า การเลี้ยงลูกด้วย iPad ทำให้เด็กมีพฤติกรรมแย่และแปลกประหลาด และชี้ว่า เมื่อพ่อแม่ทิ้ง iPad ให้ลูกเพื่อทำให้พวกเขาเงียบ แทนที่จะให้เวลาส่วนตัวกับลูก ก็คล้ายกับการทำร้ายลูกทางอ้อม

โซฟี พูชูลู (Sophie Puchulu) โพสต์ผ่าน TikTok ชื่อ @squishiesophie2 ซึ่งมีผู้ติดตาม 1.5 ล้านคน ได้แชร์ประสบการณ์ว่า ตอนเธอยังเด็ก เคยเห็นเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ (Adult Content) มาแล้ว เพราะเธอเติบโตมาโดยที่พ่อแม่ไม่เคยควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต

“มีพวกหนุ่มผู้ใหญ่แชตมาหาฉัน ฉันก็ส่งรูปที่ไม่เหมาะสมกลับไปให้พวกเขา ซึ่งตอนนั้นฉันไม่รู้สึกว่าแปลก” พูชูลูเล่า “ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ คุณจำเป็นต้องตรวจมือถือเด็ก ไม่สำคัญว่าคุณจะเชื่อใจพวกเขามากขนาดไหน”

  • เด็กควรใช้เวลาอยู่กับหน้าจอนานเท่าไร

ขณะเดียวกัน มีการถกเถียงขึ้นในโลกออนไลน์ว่า พ่อแม่ควรให้เวลาลูกอยู่กับหน้าจอนานเท่าไร โดยเมื่อเหล่านักวิจัยย้อนดูงานศึกษามากกว่า 60 ชิ้นตั้งแต่ปี 2542 ถึง 2557 เกี่ยวกับผลกระทบของเวลาหน้าจอที่มีต่อเด็ก พบว่า 90% ของผลการศึกษาระบุว่า ระยะเวลาที่อยู่หน้าจอมากเกินไปสัมพันธ์กับคุณภาพการนอนที่แย่ลง

ขณะเดียวกัน ผลศึกษาปี 2562 โดยกุมารแพทย์ชาวแคนาดาที่ทำการสำรวจเด็กอายุ 2-3 ขวบมากกว่า 2,400 คน พบว่า เด็กที่ใช้เวลากับหน้าจอมากไป มีแนวโน้มว่าจะทำผลการประเมินพัฒนาการเด็กในช่วงเริ่มต้นได้แย่ลง

ส่วนสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) แนะนำให้เด็กหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ล่อแหลมและพ่อแม่ควรมีเวลาดูรายการต่าง ๆ ไปพร้อมกับลูก

  • เจ้าพ่อไอทีเลี้ยงลูกตัวเองอย่างไร

เมื่อดูการเลี้ยงลูกของเหล่าเจ้าพ่อไอที บิล เกตส์ (Bill Gates) ผู้ก่อตั้ง Microsoft ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐซึ่งผลิตเครื่องเล่นเกม Xbox เล่าว่า เขาไม่ให้ลูกมีมือถือเป็นของตัวเองจนกว่าจะถึงอายุ 14 ปี

ส่วนสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) แม้จะเป็นผู้คิดค้น iPad เองกับมือ แต่เขาก็ไม่อนุญาตให้ลูก ๆ ใช้ iPad ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ครั้งแรกในปี 2553 และก่อนที่เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนในปี 2554 ทุกช่วงเย็นหลังกลับถึงบ้าน จ็อบส์จะนั่งทานข้าวกับลูก ๆ บนโต๊ะยาวในห้องครัว พูดคุยกับลูกถึงเรื่องราวในหนังสือ ประวัติศาสตร์ และประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ

อ้างอิง: businesstiktokaecfberesfordpsychseachildyahooscholargoodtiktoki