เล่าเรื่องอย่างไรให้ทรงพลัง ในแบบ ‘National Geographic’

เล่าเรื่องอย่างไรให้ทรงพลัง ในแบบ ‘National Geographic’

แกะสูตรลับ “National Geographic” วิธีเล่าเรื่องให้ทรงพลัง ที่จะเปลี่ยนเนื้อหาอันหนักอึ้งและซับซ้อน ให้กลายเป็นเรื่องราวเข้าใจง่าย และชวนติดตาม

Key Points

  • สมองมนุษย์มักจดจำเรื่องต่าง ๆ ได้ดี ในรูปของเรื่องเล่า ไม่ว่าจะนิทาน เรื่องปรัมปรา มีพระเอก มีผู้ร้าย มีอุปสรรคและการผจญภัยต่าง ๆ
  • เรื่องราวที่ดีไม่ควรให้ความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ผู้อ่านซึมซับถึงคุณค่าด้วย ไม่ว่า จะเป็นการนำไปใช้ประโยชน์ เรื่องของความยุติธรรม เสรีภาพ หรือ การเคารพความแตกต่าง ฯลฯ
  • “รูปภาพ” เป็นอีกตัวเลือกที่ดีของเรื่องเล่า เพราะสมองมนุษย์ประมวลภาพได้เร็วกว่าตัวอักษร 60,000 เท่า


People forget facts, but they remember stories “ผู้คนมักหลงลืมข้อเท็จจริง แต่จะจดจำเรื่องเล่าแทน”

นี่คือคำกล่าวของโจเซฟ แคมป์เบล (Joseph Campbell) นักเขียนเชิงสังคม และประวัติศาสตร์ สัญชาติอเมริกัน ที่พูดถึงพลานุภาพของ “เรื่องเล่า” ที่ถือเป็นบทบันทึก ความรู้ หรือประวัติศาสตร์ของผู้คน ซึ่งถูกถ่ายทอดสืบต่อมาจนปัจจุบัน 

เรามักซึมซับความอัศจรรย์เหนือจินตนาการของรามายณะมากกว่าคติของชาวทมิฬจากอินเดียใต้ หรือประวัติศาสตร์ของชาวอารยันที่ขับไล่ชาวพื้นเมืองของอินเดียไปอยู่เกาะลังกา ที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้อย่างแนบเนียนระหว่างฉากรบของกองทัพลิงกับยักษ์ที่ปรากฏในรามเกียรติ์ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนผสมระหว่าง “เรื่องเล่า” และ “ข้อเท็จจริง” นั้น ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่ National Geographic องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ส่งเสริมด้านการศึกษา และการอนุรักษ์ ถ่ายทอดผ่านสารคดี ภาพถ่าย ตลอดจนคลิปวิดีโอ ติดตาตรึงใจคนอ่าน-คนดูทั่วโลกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  

มนต์เสน่ห์ รวมถึงเคล็ดลับของเรื่องเล่าเหล่านั้น ถูกนำมาแบ่งปัน ผ่านวงสนทนาในหัวข้อ เล่าเรื่องอย่างไรให้ทรงพลังแบบ National Geographic (National Geographic Impact Storytelling) ภายในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023) ที่มี เคทลิน ยาร์แนล (Kaitlin Yarnall) หัวหน้าฝ่ายนำเสนอเนื้อหาของ National Geographic และ อนันด์ วาร์มา (Anand Varma) ช่างภาพเชิงวิทยาศาสตร์ของ National Geographic มาร่วมพูดคุยถึงความลับของเรื่องเล่าทั้งหมด 

เล่าเรื่องอย่างไรให้ทรงพลัง ในแบบ ‘National Geographic’ - เคทลิน ยาร์แนล (เครดิต: Esri Events) -

  • “เล่าเรื่อง” ให้น่าจดจำ 

สำหรับ เคทลิน เรื่องเล่า ถือเป็นภาชนะชั้นยอดที่ใส่ข้อมูลต่างๆ กระทั่งตัวเลขเพื่อนำไปเสิร์ฟให้กับคนอ่าน เพราะแต่ไหนแต่ไรมา สมองมนุษย์มักจดจำเรื่องต่าง ๆ ได้ดี ในรูปของเรื่องเล่า ไม่ว่าจะนิทาน เรื่องปรัมปรา มีพระเอก มีผู้ร้าย มีอุปสรรค และการผจญภัยต่าง ๆ

เพื่อจะเสิร์ฟเรื่องเล่ารสอร่อย ต้องไม่ลืม เครื่องปรุง 4 อย่าง สำหรับการเล่าเรื่อง คือ 

1. ตัวละคร (Character) นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนเกิดอารมณ์ร่วม อย่าง โฟรโด แบ๊กกินส์ ฮอบบิทน้อยจากไชร์ ตัวเอกจากภาพยนตร์ “The Lord of the Ring” คนธรรมดาที่ต้องแบกรับภารกิจที่กุมชะตาของโลกเอาไว้  

2. อารมณ์ (Emotion) ตัวเร้าความรู้สึก นำไปสู่ความเพลิดเพลินกับเนื้อหา ซึ่งสามารถสอดแทรก มีตั้งแต่อารมณ์โกรธ (Anger), เศร้า (Sadness), กลัว (Fear), ตื่นเต้นยำเกรง (Awe), ภาคภูมิใจ (Pride), คาดหวัง (Hope), ความรักแบบพ่อแม่ (Parental Love), ฯลฯ

3. โครงสร้างของเรื่อง (Structure) ตัวกำหนดแนวทางของเรื่อง ทำให้เรื่องเล่านั้นมีระเบียบ และเข้าใจง่าย โดยทั่วไปจะถูกวางเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเปิด ช่วงดำเนินเรื่อง และปิดท้าย โดยมีความท้าทายอยู่ตรงที่ว่า จะเปิดเรื่องอย่างไรให้น่าดึงดูด เพลิดเพลินกับเนื้อหา มีปมปัญหา-อุปสรรค หรือ ความลับที่น่าติดตาม ก่อนจะไปถึงบทสรุปอันน่าประทับใจ

เคทลินย้ำว่า เส้นการดำเนินเรื่องไม่มีสูตรตายตัว เป็นศิลปะของการเล่าเรื่องที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

4. คุณค่า (Value) เรื่องราวที่ดีไม่ควรให้ความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว แต่ควรทำให้ผู้อ่านซึมซับถึงคุณค่าด้วย ไม่ว่าด้านประโยชน์การนำไปใช้ที่ได้รับจากเนื้อหา รวมถึงคุณค่าด้านต่าง ๆ เช่น ความยุติธรรม เสรีภาพ การเคารพความแตกต่าง ฯลฯ  

ที่สำคัญ เคทลิน ยังบอกว่า การเล่าเรื่องที่ดีควรเริ่มจากตั้งเป้าหมายว่า จะเล่าให้ใคร เพื่อสามารถปรับสารนั้นให้เหมาะสมกับผู้ฟังมากที่สุด

  • เพิ่มพลังการสื่อสารด้วย “ภาพ” 

นอกจากเรื่องราวอันทรงเสน่ห์แล้ว ส่วนผสมที่ทำให้เรื่องเล่าทวีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นไปอีกก็คือ  “รูปภาพ” 

เนื่องจากสมองมนุษย์ประมวลภาพได้เร็วกว่าตัวอักษรถึง 60,000 เท่า และ 90% ของข้อมูลที่ส่งไปยังสมองนั้นก็ยังเป็น “ภาพ” อีกด้วย

เรื่องนี้  อนันด์ ในฐานะช่างภาพแนววิทยาศาสตร์ของ National Geographic ยืนยันถึงประสิทธิภาพ และแรงดึงดูดของภาพถ่ายที่สามารถกวักมือเรียกผู้คนให้เข้ามาสู่เรื่องราวที่ต้องการสื่อได้อย่างมีพลังที่สุดอย่างหนึ่งด้วย 

เล่าเรื่องอย่างไรให้ทรงพลัง ในแบบ ‘National Geographic’

- อนันด์ วาร์มา (เครดิต: University of California, Los Angeles) -

เขาเล่าถึงความใฝ่ฝันถึงการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกันในมืออนันด์นั้นก็มักมีกล้องถ่ายภาพติดไว้เพื่อถ่ายภาพ สิ่งมีชีวิตต่างๆ และสีสันของธรรมชาติเพื่อเอามาบอกเล่าให้กับคนรู้จักฟังอยู่เสมอ 

ยิ่งจับกล้องและถ่ายไปมากเท่าไร เขายิ่งตระหนักว่า “รูปภาพ” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจยาก และซับซ้อนให้ง่ายขึ้น 

อย่างผลงานวิดีโอติดตามชีวิตผึ้งในช่วง 21 วันแรกของเขาที่ได้รับเสียงชื่นชมไปทั่วโลก ในห้วงเวลาไม่กี่นาทีนั้น เราได้เห็นวงจรชีวิตของผึ้ง เริ่มจากไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ ไปจนกลายเป็นผึ้งตัวเต็มวัย 

อนันด์เล่าว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้วงจรชีวิตสัตว์ที่ต้องสังเกตยาวนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี ถูกย่อเป็นวิดีโอในระยะเวลาไม่กี่นาที จนง่ายต่อความเข้าใจ

อีกทั้งกล้องปัจจุบันสามารถถ่ายภาพที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วที่สายตามนุษย์จับไม่ได้ ให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวช้าได้สำเร็จ เช่น การถ่ายภาพนกฮัมมิงเบิร์ดด้วยโหมดซูเปอร์สโลว์ ทำให้เห็นจังหวะการกระพือปีกอันงดงาม หรือ ในช่วงนกใช้จะงอยดูดน้ำขึ้นจากหลอดแก้ว ภาพบันทึกได้เห็นถึงหยดน้ำที่หกจากจะงอย และกระแทกกับพื้นอันน่าจดจำ

ขณะที่งานชุดล่าสุดของเขา ที่บันทึกการแหวกว่ายของแมงกระพรุน ที่ส่งแรงกระเพื่อมสู่ท้องน้ำ เมื่อสีของแมงกระพรุนตัดกับสีของน้ำ กลายเป็นความสวยงามในอีกแบบหนึ่ง

เขามองว่า นักเล่าที่ดี คือ การทำให้ผู้อ่าน ”เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลก” ในเชิงสร้างสรรค์ ยิ่งถ้าการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกนี้สามารถส่งผลถึงระดับการกระทำ ก็จะช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ดียิ่งขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคำบรรยายชวนฝัน หรือจังหวะภาพอันทรงพลัง ทุกอย่างล้วนนำพาเราไปหาความรู้ ความประทับใจ หรือกระทั่งคุณค่าที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเราจะได้สัมผัสมันในรูปแบบใดก็ตาม และยิ่งตอกย้ำถึงความมหัศจรรย์ของพลังแห่งเรื่องเล่าที่มีอยู่อย่างไม่สิ้นสุดเสมอมา