‘ที่นั่งประจำ’ สะท้อนการสร้างอาณาเขตส่วนตัวของมนุษย์ มีสมาธิ-ทำงานดีขึ้น

‘ที่นั่งประจำ’ สะท้อนการสร้างอาณาเขตส่วนตัวของมนุษย์ มีสมาธิ-ทำงานดีขึ้น

วิจัยเผย เรามักเลือก “นั่งที่เดิม” ซ้ำ ๆ เพื่อสร้างอาณาเขตส่วนตัว สำหรับสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและพฤติกรรมในการเรียน-การทำงาน ทำให้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ได้มากขึ้น

เคยสังเกตเวลา “เลือกที่นั่ง” หรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน ห้องประชุม โต๊ะในที่ทำงาน แม้แต่ลู่วิ่งในฟิตเนสก็ยังเลือกตัวเดิม ๆ แถมใครมาแย่ง “ที่ประจำ” เป็นอันต้องฟึดฟัด ออกอาการไม่พอใจไปทุกที นี่เป็นเพราะคุณรู้สึกกำลังถูกรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว

การเลือกที่นั่งเป็นหนึ่งในการแสดง “อาณาเขต” ของตนเอง ยิ่งใช้เวลาในพื้นที่นั้นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งคิดว่าตนเองเป็น “เจ้าของ” พื้นที่นั้นอยู่เสมอ

โรเบิร์ต กิฟฟอร์ด ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่จะอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ที่ตนเองใช้บ่อย และคนรอบข้างก็เห็นด้วยโดยปริยาย ทำให้เกิดเป็นอาณาเขตของพวกเขาขึ้นมา”

ดังนั้นการเลือกที่นั่งเดิม ๆ ในห้องเรียนจะช่วยให้นักเรียนสามารถควบคุมความสัมพันธ์ที่มีต่อคนในห้องเรียน และกำหนดพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้นักเรียนรู้สึกสบายใจ

ในกรณีของออฟฟิศ การมีที่นั่งประจำ หรือ "โต๊ะประจำตำแหน่ง" จะทำให้พนักงานสามารถควบคุมและสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจมากขึ้นและลดความรู้สึกเปราะบางลง 

มาร์โค คอสตา นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโบโลญญา ทำการศึกษาพฤติกรรมการเลือกที่นั่งของนักเรียน โดยใช้เวลาทำการศึกษา 4 สัปดาห์ กับคลาสเรียนที่มีนักศึกษาจำนวน 47 และ 31 คนตามลำดับ ซึ่งเป็นคลาสเรียนที่มีที่นั่งมากกว่าจำนวนนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกที่นั่งและลดแรงกดดันจากฝูงชนได้อีกด้วย รวมถึงเริ่มทำการทดลองช่วงเปิดเทอมใหม่ เพราะจะช่วยให้ทุกคนไม่ใช่ “ความสนิท” และมิตรภาพมาเป็นตัวกำหนดในการเลือกที่นั่ง

ผลการศึกษาพบว่านักเรียนส่วนใหญ่นั่งที่เดิมอยู่เสมอ พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการสร้างพื้นที่ส่วนตัวของนักเรียนขึ้นมาทีละเล็กละน้อยในบริเวณที่นั่งของพวกเขา นอกจากนี้คอสตายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า แม้ว่าจะมีคนอื่นมานั่งใกล้ ๆ จนพยายามรุกล้ำความเป็นส่วนตัว แต่นักเรียนก็ยังคงเลือกนั่งที่เดิม

คอสตาจึงสรุปว่าการนั่งที่เดิมจะช่วยให้นักเรียนสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมของตนได้ ช่วยสานสัมพันธ์กับผู้อื่นและเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยถูกรบกวนจากสิ่งเร้าอื่น ๆ น้อยที่สุด

เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการศึกษาของ กิลส์ เคลเมนท์ จากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ลียง และ แองจี้ บัคลีย์ จากมหาวิทยาลัยอวกาศนานาชาติ ที่ทำการทดสอบว่านักเรียนจะเลือกที่ประจำของตนเองได้ภายในระยะเวลาเท่าใด โดยมีรูปแบบการทดลองคล้ายกับของคอสตา

การศึกษาในครั้งนี้พบว่านักเรียนเริ่มมีนั่งที่เดิมตั้งแต่วันที่ 2 ของการเรียน และยังคงนั่งที่เดิมทุกครั้งแม้ว่าจะผ่านไปเป็นเดือนก็ตาม

ต่อมา แนซ คายา นักจิตวิทยาการศึกษาอิสระและบริจจิตต์ เบอร์เกส จากมหาวิทยาลัยเซาท์เธน มิสซิสซิปปี ทำการศึกษาประเด็นนี้แบบเจาะลึกขึ้น โดยต้องการดูว่าทั้งเพศและการออกแบบห้องเรียนส่งผลต่อการเลือกที่นั่งอย่างไร 

ผลการทดลองพบว่าผู้หญิงมักจะนั่งในที่นั่งเดิม ๆ มากกว่าผู้ชายโดยไม่คำนึงว่าที่นั่งในห้องเรียนนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าผู้หญิงมักจะมีกระเป๋าและสัมภาระอื่น ๆ นอกจากมีเพียงแค่หนังสือเรียน ทำให้ต้องการพื้นที่มากขึ้น

ราล์ฟ บี. เทย์เลอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัมเทมเปิล กล่าวว่า การสร้างอาณาเขตส่วนบุคคลจะช่วยให้ผู้คนมีสมาธิมากขึ้น และสุขภาพจิตดีขึ้น ทำให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องเสียพลังงานไปกับการรับมือกับสิ่งแวดล้อมภายนอก 

การมีที่นั่งประจำไม่ว่าจะในออฟฟิศ หรือในห้องเรียนอาจทำให้คุณพร้อมสำหรับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสมที่สุด เพราะการสร้างอาณาเขตที่ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและพฤติกรรมในห้องเรียน ทำให้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ได้มากขึ้น


ที่มา: Quartz