ถึงเวลากำราบ "กราฟฟิตี้" | วรากรณ์ สามโกเศศ

ถึงเวลากำราบ "กราฟฟิตี้" | วรากรณ์ สามโกเศศ

กำแพงอาคารก็ทาสีไว้สวยงาม   แผ่นเหล็กยึดปิดหน้าร้านก็ทาสีไว้ราบเรียบ ป้ายร้าน ป้ายจราจร ก็ดูงดงามเป็นระเบียบเเต่เหตุไฉนจึงมีคนเอาสเปรย์สีไปพ่นและเขียนตัวอักษรน่าเกลียดทับ บ้างก็เอาสีไปป้ายเขียนเป็นรูปภาพที่ดูไม่ออก 

ปรากฏการณ์ของการเอาสีไปพ่นหรือทาทับนี้   ปัจจุบันเห็นไปทั่วในถนนหลายสายของกรุงเทพฯและบางเมืองใหญ่  มันเกิดอะไรขึ้นกันนี่   ใครเป็นผู้กระทำสิ่งเลวร้ายทำลายความงดงามเป็นระเบียบของบ้านเมืองเช่นนี้และทำไปเพื่ออะไร

            การกระทำเช่นนี้ทำให้นึกถึงคำว่า graffiti (กราฟ-ฟิ-ตี้)ในภาษาอังกฤษ   ซึ่งหมายถึงการเขียนอักษร    เขียนภาพ   ทาสีทับลงไปบนพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนเห็นกันทั่ว   มันมีทั้งภาพวาดงดงามมีรายละเอียด   จนถึงตัวอักษร  ข้อความและภาพไม่เข้าท่า   

การกระทำเช่นนี้มนุษย์ทำกันมาเนิ่นนานนับเป็น     พันปี ๆ แล้วไม่ว่าสมัยอียิปต์    กรีกโบราณ ยุคโรมัน  ส่วนใหญ่ถือเป็น vandalism ซึ่งหมายถึงการทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน  ซึ่งมีโทษจำคุกเพราะเป็นการทำลายทรัพย์สินโดยทำให้มันด้อยค่าอย่างจงใจ

ในต้นทศวรรษ 1970 graffiti ชนิดผิดกฎหมายนี้แพร่ระบาดหนักมากในสถานีรถไฟใต้ดินของเมืองนิวยอร์ก และบริเวณอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา ยุโรปและแพร่ระบาดไปส่วนอื่น ๆ ของโลก    ในบ้านเราดูจะหนักมือในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

          อะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้กระทำยอมเสียเงิน   เสียเวลา  เสี่ยงต่อการติดคุกติดตรางเพื่อกระทำสิ่งที่ผู้คนสาปแช่ง?   

ถึงเวลากำราบ \"กราฟฟิตี้\" | วรากรณ์ สามโกเศศ

1.ความสนุกตื่นเต้นที่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งมิได้ทำร้ายร่างกายใคร (จิตใจนั้นอีกเรื่องหนึ่งเพราะมองไม่เห็น) โดยมีความรู้สึกท้าทายเป็นตัวผลักดัน   

2.  เป็นหนทางหนึ่งของการแสดงออกของการ “กบฏ” หรือต่อต้านอำนาจเชิงจิตวิทยา ในใจของผู้กระทำมันอาจเป็นการ “กบฏ”              พ่อแม่   อำนาจรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบางสิ่งที่ไม่พอใจ เช่น ระบอบ   สิ่งแวดล้อม  การกระทำจากผู้อื่น    ฯลฯ   ทั้งหมดเป็นการแสดงถึงความไม่พอใจสิ่งที่ดำรงอยู่

3.  เป็นวิธีหนึ่งของการแสดงออกถึงการมีตัวตน หรือการได้รับการยอมรับจากชุมชนของตนเอง   ข้อความเช่น โรงเรียนนี้เป็นพ่อโรงเรียนนั้น   โรงเรียนนี้   “ใหญ่ที่สุด”  “เจ๋งที่สุด”   โดยผู้กระทำต้องการให้กลุ่มของตนยอมรับตนเองด้วยการกล้ากระทำเช่นนั้น   

4.  แรงกดดันจากเพื่อนที่มีรสนิยมในเรื่อง graffiti ในกลุ่มวัยรุ่นกดดันให้เอาสเปรย์ไปพ่นข้อความ หรือทาสี ก็ไม่ต่างจากการต้องเป็น “คนใจถึง”    กล้าตีรันฟันแทงตามกลุ่มเพื่อน     

5.  กล้ากระทำแบบนี้เพราะไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนทำ    ความจริงข้อนี้ทำให้ผู้กระทำชอบเพราะสามารถแสดงความไม่พอใจให้ปรากฏได้อย่างเสรีอย่างไม่ต้องกลัวการถูกลงโทษ

ถึงเวลากำราบ \"กราฟฟิตี้\" | วรากรณ์ สามโกเศศ

6. สามารถใช้ graffiti ชนิดผิดกฎหมายเป็นเครื่องมือที่สะดวกในการประท้วง หรือการไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง หรือการแพร่กระจายข้อมูลเท็จตลอดจนการปลุกปั่นผู้อื่น   

7.  ผู้กระทำอาจไม่มีพื้นที่ให้แสดงความสามารถอย่างสร้างสรรค์ในด้านศิลปะ   จึงใช้เป็นเวทีในการแสดงออก   

8.  การคาดว่าอย่างไรเสียก็ไม่ถูกจับ หรือประสบชะตากรรมร้าย ผลักดันให้กล้าที่จะกระทำ   

9. ความเบื่อหน่ายไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นกระทำดึงดูด สู่ graffiti   

10. ต้องการสื่อข้อความทางการเมือง หรือความรู้สึกไม่เป็นธรรม  เช่น  ต้องการเอกราชในสมัยอาณานิคม หรือต่อต้านนโยบาย apartheid (กีดกันคนผิวสีของอาฟริกาใต้)

        สำหรับประเทศไทยที่นับวันจะมี graffiti แบบผิดกฎหมายมากขึ้นทุกวัน ซึ่งไม่สร้างความรู้สึกที่เป็นบวกแก่ผู้มาเยือนหรือเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกกระทำ 

ผมเข้าใจว่ายังไม่มีการศึกษาเรื่องแรงจูงใจและรู้จัก “หน้าตา” ของผู้กระทำ   ไม่เคยมีข่าวการจับผู้กระทำผิดหรือเป็นประเด็นขึ้นมาในสังคมไทย    ถึงแม้มันจะเป็นการทำลายทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมและของปัจเจกชนก็ตาม

ถึงเวลาที่เราควรมีการศึกษาอย่างลึกซึ้งในเรื่องแรงจูงใจของผู้กระทำเหล่านี้   สิ่งที่ศึกษาพบจะช่วยให้เราเข้าใจสังคมไทยได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเยียวยาแก้ไขแต่เนิ่น ๆ 

ถึงเวลากำราบ \"กราฟฟิตี้\" | วรากรณ์ สามโกเศศ

การเข้าใจ graffiti ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นเสมือนวิธีหนึ่งของการตรวจอาการป่วยของสังคมไทย  ในขณะที่ยังไม่เข้าใจแน่ชัดในเรื่องแรงจูงใจ  เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ควรนั่งทับมือ  ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง    จับกุมคนเหล่านี้มาลงโทษตามกฎหมาย   เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ จนกลายเป็นนิสัยของการชอบทำผิดกฎหมายและทำให้บ้านเมืองของเราเป็นตัวตลกของชาวโลก

        ในความรู้สึกของผู้เขียน ณ จุดนี้    ผู้กระทำส่วนใหญ่คือวัยรุ่นที่กระทำไปด้วยความคะนองมากกว่าจะต้องการใช้เป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือความไม่พอใจ  เนื่องจากแทบทั้งหมดมีแต่ข้อความเลอะเทอะ ๆ (ใครแน่กว่า หรือเป็นพ่ออีกโรงเรียน)  ไม่เห็นข้อความใดที่แสดงความลึกซึ้งทางความคิดเห็น   

อีกประการหนึ่งในปัจจุบันโซเชียลมีเดียคือ เครื่องมือในการแสดงความเห็นที่ชัดคมและยืดยาวกว่าโดยไม่ต้องเก็บเงินซื้อสีสเปรย์ และออกแรงอดหลับอดนอนซ้อนรถมอเตอร์ไซค์กันไปเขียน โซเชียลมีเดียมีประสิทธิภาพกว่าและสุ่มเสี่ยงน้อยกว่า

        กล้อง CCTV ที่มีอยู่มากมายเต็มไปหมดในเมืองสามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้กระทำร่วมกันกี่คน   กระทำอย่างไร   อีกทั้งเห็นเลขทะเบียนรถ   การจับกุมก็ทำได้ง่ายกว่าการจับพวกแข่งรถแว้นเป็นอันมาก   

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอาจริงในเรื่องนี้และไม่ต้องถึงขนาดจำคุก   เอาแค่บังคับให้ล้างสีและข้อความทั้งหมดที่ได้ทำไว้ไม่ว่าจะเป็นเวลากี่วันก็ตาม ก็จะทำให้เกิดความหลาบจำ (อย่าคิดว่าการล้างสีเป็นเรื่องง่าย  หากจะล้าง graffiti ให้หมด  รับรองได้ว่าต้องร่วมกันใช้เวลาหลายวันอย่างน้ำตาตก)

          จะว่าไปแล้วการสักก็คล้ายลักษณะหนึ่งของ graffiti เพียงแต่เป็นชนิดถูกกฎหมายบนพื้นที่ส่วนตัวเท่านั้น    ถ้าจะเป็นชนิดผิดกฎหมายโดยแอบสักอย่างที่ให้เจ้าของร่างไม่ยินยอมและไม่รู้สึกตัวแล้ว   แรดคงต้องเรียกพี่เป็นแน่.