ช่างคิดช่างถามมากขึ้นสักนิด ชีวิตจะง่ายขึ้น | บวร ปภัสราทร 

ช่างคิดช่างถามมากขึ้นสักนิด  ชีวิตจะง่ายขึ้น | บวร ปภัสราทร 

คนที่ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ล้วนแต่เป็นตัวอย่างที่ดีในการขยันคิดขยันถาม ถามจนกระทั่งได้ไอเดียดี ๆที่นำไปสู่ความสำเร็จ ใครก็ตามที่รำคาญกับการช่างคิดช่างถาม คนนั้นกำลังทำลายความสามารถในการสร้างความเจริญพัฒนาให้เกิดขึ้น

พ่อแม่ที่ดุว่าลูกเป็นประจำเมื่อลูกถามนั่นถามนี่  แสดงท่ารำคาญว่าถามอะไรไม่เป็นเรื่อง กำลังทำให้ลูกหมดความสามารถในการคิดเรื่องใหม่ๆ คิดได้เหมือนกับที่พ่อแม่เคยคิดเมื่อทศวรรษก่อน เลยได้ลูกที่หน้าเด็กแต่สมองเฒ่า

ในทำนองเดียวกัน ผู้บริหารที่ไม่ช่างคิดช่างถามเป็นได้ดีที่สุดแค่เป็นผู้อนุรักษ์สรรพสิ่งที่มีมาแต่เดิม ไม่ใช่ผู้นำให้เกิดการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ถ้าอยากอยู่กันแบบเดิม ๆ อย่าชวนคิด อย่าชวนถาม ถ้าอยากพัฒนา ต้องคิดต้องถามมากขึ้น

พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง  ใช้ได้กับผู้บริหารที่พูดโดยไม่คิด หรือพูดไปโดยไม่ถามว่ากำลังพูดให้ใครฟัง พูดไปแล้วมีใครอื่นได้ฟังอีกบ้างหรือไม่ เราจึงได้ยินถ้อยคำที่ฟังแล้วสะท้อนให้เห็นความไม่ปกติของผู้บริหารหลายคน

แต่การช่างคิดช่างถามนั้น คิดไป ถามไปแล้วได้ตำลึงทอง ถ้านิ่งไว้ไม่คิดไม่ถามจะไม่ได้แม้แต่เบี้ยเดียว

การที่ผู้บริหารช่างคิดช่างถามนั้นส่งเสริมให้ได้แนวทางใหม่ ๆในการนำองค์กร  ซึ่งอาจก้าวไปได้ไกลกว่าที่เคยทำมามากมายนัก  ช่างคิดช่างถามช่วยลดมโนเกี่ยวกับลูกทีม หรือคนร่วมงาน ในยามที่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดคิดไว้

ดูแต่ท่าทางพฤติกรรมแล้วไม่คิดไม่ถามกันให้ชัด ๆว่าอะไรเป็นอย่างไรที่ทำให้เขามีพฤติกรรมไปในทำนองนั้น สรุปด้วยตนเองด้วยมโน หรือสรุปไปตามที่ตนคิดตนเชื่อแต่เพียงข้างเดียว 

คนขยันอาจกลายเป็นคนขี้เกียจในสายตาของผู้บริหาร หากไม่รู้ว่าการงานเขาที่มีอยู่นั้นล้นมือมากน้อยเพียงใด ไม่ถามว่างานเยอะแค่ไหน เพียงแค่เห็นว่าตอนนี้เขาไม่ได้กำลังทำงานที่เรามอบหมาย คนนั้นก็กลายเป็นคนขี้เกียจไปแล้ว

การช่างคิดช่างถามของผู้บริหาร หากกระทำด้วยใจจริง ไม่ใช่ช่างถามเพื่อหาเรื่องเล่นงานกัน จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารกับคนทำงานดีขึ้น มีอะไรก็บอกกล่าวกันได้อย่างตรงไปรงมา มีอะไรที่ขวางหูขวางตา ผู้บริหารก็ถามกันตรง ๆ โดยก่อนถามได้คิดได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีไว้แล้ว

ถ้าอยากเป็นคนช่างคิดช่างถามอย่างสร้างสรรค์ คิดแล้วได้ประโยชน์ ถามแล้วมีประโยชน์เกิดขึ้น ให้เริ่มต้นจากการปรับลดนิสัยการด้อยค่าตนเอง มีอะไรพลาดเล็กพลาดน้อย ก็ขยายให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต

ไม่คิดไตร่ตรองว่าเหตุที่พลาดพลั้งไปนั้นมาจากอะไร  เอาแต่โทษตนเองว่าเป็นส่วนสำคัญของการพลาดพลั้งนั้น ด้อยค่าตนเองซำ้แล้วซำ้อีก จนไม่กล้าถามทั้งตนเอง ทั้งคนที่เกี่ยวข้องว่าอะไรที่เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความพลาดพลั้งนั้น

ตราบเท่าที่ยังโทษตนเองไว้ก่อนในแทบทุกครั้งที่พลาด ใจก็ไม่เหลือแล้วสำหรับการตั้งคำถาม ไม่เหลือแล้วสำหรับการคิดหาต้นเหตุแห่งความล้มเหลว ฝึกให้ตนเองคุ้นเคยไว้เสมอว่า งานเดิมทำแบบใหม่ที่ดีกว่าได้ ถ้าไม่ยึดติดกับหนทางเดิม ๆที่ทำต่อเนื่องกันมายาวนาน

ใครท้าทายว่าหนทางเดิมมีอะไรที่ปรับปรุงได้ อย่าตอบว่าที่ทำมาดีแล้วชอบแล้ว จะไปเปลี่ยนทำไมให้ยุ่งยาก ตั้งใจรับฟัง คิดตาม แล้วตั้งคำถามย้อนกลับเพื่อสอบทานให้แน่ใจว่าที่จะทำใหม่นั้นดีกว่าเก่าแน่ ๆ ไม่ใช่ไปเสี่ยงไปอย่างไม่ดูทิศดูทาง

ถามตนเองเสมอว่า มีอะไรบ้างที่ควบคุมได้ อะไรบ้างที่ปรับเปลี่ยนได้  แทนที่จะกังวลไปกับอะไรก็ตามที่ควบคุมไม่ได้ หรือเกินกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงได้ หมดเวลาไปกับการคิดวนไปวนมาว่าควบคุมเรื่องนั้นไม่ได้แล้วจะทำอะไรไม่ได้บ้าง หรือมัวแต่คิดในเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ Mission Impossible เป็นเรื่องในหนัง อย่าหมดเวลาไปกับการคิดเสาะหาความเป็นไปได้บนความเป็นไปไม่ได้

อยากช่างคิดช่างถาม ห้ามทำตัวเป็นศิลปินเดี่ยว ต้องเดินหน้าเป็นทีม ถามทีมว่าเรื่องไหนคิดอย่างไร ไม่ใช่บอกว่าเรื่องนี้ฉันคิดฉันถามได้คนเดียว

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร 

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

email. [email protected]