ย้อนรอย “ฟุตบอลโลกหญิง” จัดครั้งแรกปี 1991 พร้อมส่องเงินรางวัลได้เท่าไร?

“ฟุตบอลโลกหญิง 2023” ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 9 แล้ว ชวนย้อนรอยประวัติศาสตร์ “ฟุตบอลโลกหญิง” กว่าจะได้จัดแข่งขันครั้งแรกในปี 1991 ก็ทิ้งห่างจากทัวร์นาเมนต์ของฟุตบอลโลกชายมานานถึง 61 ปี
Key Points:
- “ฟุตบอลโลกหญิง 2023” ครั้งที่ 9 สื่อนอกรายงานว่า FIFA Women’s World Cup 2023 ครั้งนี้ ได้รับเสียงตอบรับจากแฟนบอลอย่างล้นหลามโดยมีผู้ชมมากกว่าฟุตบอลโลกชายครั้งล่าสุดที่กาตาร์ด้วยซ้ำ
- กว่า “ฟุตบอลโลกหญิง” จะได้รับการรับรองจาก FIFA ระยะเวลาก็ทิ้งห่างจากการจัดแข่งขัน “ฟุตบอลโลกชาย” มานานถึง 61 ปี แม้ว่าจะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าผู้หญิงเล่นกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19
- การแข่งขัน 8 ครั้งที่ผ่านมา ทีมชาติสหรัฐคว้าแชมป์ “ฟุตบอลโลกหญิง” ได้ถึง 4 สมัย ขณะที่การแข่งขัน “ฟุตบอลโลกหญิง 2023” มีการเพิ่มเงินรางวัลชนะเลิศสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์
เปิดม่านอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำหรับการแข่งขัน “ฟุตบอลโลกหญิง 2023” หรือ “FIFA Women’s World Cup 2023” โดยปีนี้เป็นปีที่ 9 และมีเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขัน 2 ประเทศ คือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่วนตารางการแข่งขันกันจะยิงยาวไปจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม รวมระยะเวลา 1 เดือนเต็ม
สื่อทั่วโลกต่างรายงานว่า FIFA Women’s World Cup 2023 ครั้งล่าสุดนี้ ได้รับเสียงตอบรับจากแฟนบอลอย่างล้นหลาม บรรยากาศของผู้ชมรอบๆ สนามแข่งขันเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีผู้ชมมากกว่าฟุตบอลโลกชายครั้งล่าสุดที่กาตาร์ด้วยซ้ำ
ว่าแต่..ฟุตบอลโลกหญิงเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร? แตกต่างจากฟุตบอลโลกชายอย่างไร? และนี่คือ 10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกหญิง และความน่าสนใจของการแข่งขันครั้งล่าสุดในปี 2023
1. ฟุตบอลหญิงมีมานานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 (แข่งขันอย่างไม่เป็นทางการ)
กว่า “ฟุตบอลโลกหญิง” จะได้รับการรับรองจาก FIFA เป็นครั้งแรก ระยะเวลาก็ทิ้งห่างจากการจัดแข่งขัน “ฟุตบอลโลกชาย” ครั้งแรกมานานถึง 61 ปี หากย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1970 ฟุตบอลหญิงถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในกลุ่มประเทศยุโรป โดยสหพันธ์ฟุตบอลหญิงอิสระแห่งยุโรป (FIEFF) ในเมืองตูริน ประเทศอิตาลี ได้จัดแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมา โดยมีทีมชาติเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 7 ประเทศ
ในครั้งนั้นทีมชาติเดนมาร์กเป็นผู้คว้าแชมป์มาครอง ในปีต่อมาสหพันธ์เดียวกันได้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงขึ้นอีกครั้งที่ประเทศเม็กซิโก และเดนมาร์กก็เอาชนะประเทศเจ้าภาพในรอบชิงชนะเลิศได้เป็นสมัยที่สอง ต่อมา FIEFF ก็งดจัดการแข่งขันไปในปี ค.ศ. 1972 แต่ลีกฟุตบอลหญิงยังคงดำเนินต่อไปในช่วงต้นถึงกลางทศวรรษ 1980 ต่อมาในปี ค.ศ. 1986 ก็มีการเรียกร้องไปยัง FIFA ให้มีการส่งเสริมฟุตบอลหญิงให้มากขึ้น
2. FIFA รับรอง “ฟุตบอลโลกหญิง” อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1991
ในขณะนั้น FIFA เองก็ยังไม่มั่นใจว่า “ฟุตบอลหญิง” จะได้รับความสนใจของแฟนกีฬาทั่วโลกหรือไม่ จึงขอให้มีการรวบรวมทีมนักกีฬาจากทั่วโลกให้มากกว่านี้ก่อน โดยในปี ค.ศ. 1988 มีการรวบรวมทีมแข่งขันมาได้ 12 ทีม ซึ่งมีทีมชาติฟุตบอลหญิงประเทศใหม่ๆ ให้ความสนใจ เช่น ทีมชาติจีน ทีมชาตินอร์เวย์ ทีมชาติสหรัฐ ฯลฯ
ถัดมาในปี ค.ศ. 1991 FIFA ได้รับรองและอนุมัติให้จัดงานแข่งขันฟุตบอลหญิงโลกอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1991 ซึ่งมีประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดงาน การแข่งขันครั้งนั้นได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการฟุตบอล เพราะมีแฟนบอลมาร่วมชมการแข่งขันตลอดทัวร์นาเมนต์มากกว่า 500,000 คน
โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศ ทีมชาติสหรัฐเฉือนชนะทีมชาตินอร์เวย์ตาหน้าฝูงชนกว่า 65,000 คน ที่สนามกีฬาเทียนเหอ ในเมืองกวางโจว ยิ่งตอกย้ำถึงกระแสการตอบรับฟุตบอลโลกหญิงที่ดีมากๆ ขณะที่ João Havelange ประธานฟีฟ่าในขณะนั้น ได้พูดถึงการแข่งขันดังกล่าวไว้ด้วยว่า “ตอนนี้ฟุตบอลหญิงได้รับการยอมรับอย่างดีและเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริง”
3. ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างนักฟุตบอลหญิงและชาย
หลังจากนั้นทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลหญิงก็ดำเนินการต่อเนื่องมาทุกๆ 4 ปี แต่ระหว่างทางก็มีประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างนักฟุตบอลและนักฟุตบอลชายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการต่างๆ ค่าเดินทาง ชุดเครื่องแบบกีฬา อาหาร และที่พัก ก็ได้รับการดูแลที่ไม่ดีนัก เช่น
- ค่าตัวนักฟุตบอลทีมชาติหญิงน้อยกว่านักฟุตบอลชาย
- นักฟุตบอลหญิงมักจะได้ที่พักเป็นอาคารรวม ไม่ได้พักในโรงแรมเหมือนนักฟุตบอลชาย
- ชุดเครื่องแบบกีฬาได้รับชุดมือสองมาจากทีมนักกีฬาชาย
- ฟุตบอลโลกหญิงไม่มีเงินรางวัลจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2007
จากนั้นมีการเรียกร้องให้ทีมผู้จัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลสวัสดิการนักฟุตบอลหญิงมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงมากมายตั้งแต่นั้นมา อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากสมาคมฟุตบอล (The Football Association-FA) ในปี 2022 พบว่า ค่าเฉลี่ยรายได้ของนักเตะหญิงยังห่างจากค่าเฉลี่ยนักเตะชายอยู่ถึง 14%
4. ทีมชาติสหรัฐคว้าแชมป์ “ฟุตบอลโลกหญิง” ได้ถึง 4 สมัย
ตั้งแต่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงมาแล้ว 8 ครั้ง (ตั้งแต่ปี 1991 - 2019) พบว่าประเทศที่สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกหญิงได้บ่อยที่สุด คือ ทีมชาติสหรัฐโดยคว้าแชมป์ได้ถึง 4 สมัย ย้อนกลับไปในการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงครั้งที่ 3 เมื่อปี 1999 ทีมชาติสหรัฐสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ในดินแดนบ้านเกิด โดยเอาชนะจีนไป 5-4 ประตูในการดวลจุดโทษระหว่างรอบชิงชนะเลิศ ที่สนามกีฬา Rose Bowl ในเมืองพาซาดีนา ต่อมาในการแข่งขันที่แคนาดาในปี 2015 และปี 2019 ทีมชาติสหรัฐก็คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ถึง 2 ปีติดต่อกัน
5. นักฟุตบอลหญิงชาวบราซิล เป็นผู้ยิงประตูได้มากที่สุดใน “ฟุตบอลโลก”
เห็นทีมชาติสหรัฐเป็นตัวเตงในการแข่งขัน “ฟุตบอลโลกหญิง” ที่ชนะมาได้หลายสมัยขนาดนี้ แต่รู้หรือไม่? ผู้ที่ยิงประตูได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกกลับไม่ใช่นักกีฬาทีมชาติสหรัฐฯ (และไม่ใช่นักกีฬาทีมชาติผู้ชาย) แต่เป็นนักกีฬาฟุตบอลหญิงทีมชาติบราซิลที่ชื่อ “Marta Vieira da Silva” ซึ่งเธอเป็นกองหน้าที่ทำประตูได้มากถึง 17 ประตู จากการแข่งขันฟุตบอลโลก 5 รายการระหว่างปี ค.ศ. 2007-2019
6. นักฟุตบอลหญิงชาวไนจีเรีย เป็นนักฟุตบอลระดับโลกที่อายุน้อยที่สุด
หากพูดถึงนักฟุตบอลหญิงที่อายุน้อยที่สุด คงหนีไม่พ้น “Ifeanyi Chiejine” จากทีมชาติไนจีเรีย โดยเธอเปิดตัวครั้งแรกในการแข่งขันกับเกาหลีเหนือในสนาม FIFA Women's World Cup ในปี 1999 ด้วยวัยเพียง 16 ปี ในการแข่งขันครั้งนั้นเธอจึงถูกบันทึกว่าเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง ต่อมาเธอปรากฏตัวอีกสองครั้งในฟุตบอลโลกหญิงของปี 2003 และ 2007 ก่อนจะเลิกเล่นหลังโอลิมปิกปักกิ่งในปี 2008 ต่อมาเธอเสียชีวิตขณะที่มีอายุได้ 36 ปีในเดือนสิงหาคม 2019 เนื่องจากอาการป่วย
7. นักฟุตบอลหญิงอายุมากที่สุด คือ Miraildes Maciel Mota ด้วยวัย 41 ปี
ในขณะที่นักฟุตบอลหญิงที่อายุมากที่สุด คือ Miraildes Maciel Mota ทีมชาติบราซิล หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อ Formiga เธอถูกบันทึกว่าเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง โดยเธอลงแข่งขันครั้งแรกในขณะที่มีอายุได้ 41 ปี เธอสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะนักฟุตบอลหญิงเพียงคนเดียวที่ได้เข้าร่วม FIFA World Cup รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยเริ่มจากทัวร์นาเมนต์ในปี 1995 จนถึงปี 2019 และเธอยังเป็นนักฟุตบอลหญิงคนแรกที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 7 ครั้งอีกด้วย หลังจากนั้นเธอเกษียณอายุในปี ค.ศ. 2021
8. เงินรางวัลชนะเลิศ FIFA Women’s World Cup 2023 สูงถึง 150 ล้านดอลลาร์
สำหรับทัวร์นาเมนต์ FIFA Women’s World Cup 2023 ครั้งล่าสุดนี้ มีงบประมาณมากถึง 435 ล้านดอลลาร์สำหรับการจัดการแข่งขันทั้งหมด และไม่เหมือนกับเวทีการแข่งขันครั้งก่อนๆ ที่มีงบประมาณให้ค่อนข้างน้อย ในการแข่งขันเวิลด์คัพปีนี้ นักกีฬาทีมชาติทุกประเทศจะได้เขาพักอย่างสะดวกสบายที่ค่ายพักแรมให้นักกีฬาโดยเฉพาะ ซึ่งตั้งอยู่ในในสองเมืองเจ้าภาพ ได้แก่ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ขณะที่ “เงินรางวัล” ของการแข่งขันครั้งนี้ ตั้งไว้ให้สูงถึง 150 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเงินรางวัลรวม 30 ล้านดอลลาร์ใน FIFA Women’s World Cup 2019 (แม้ว่าจะยังเป็นเพียง 1 ใน 3 ของเงินรางวัลทั้งหมดที่จัดสรรสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกชาย)
9. FIFA Women's World Cup 2023 ทำสถิติเป็นกีฬาหญิงที่มีผู้ชมมากที่สุด
มีรายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (20 ก.ค.) ระบุว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้ มีแฟนบอลมากกว่า 100,000 คน เข้าชมการแข่งขัน FIFA Women's World Cup 2023 ณ สนามกีฬาในเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย และเมืองโอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ ทำสถิติกลายเป็นแมตช์กีฬาหญิงที่มีผู้ชมมากที่สุดสำหรับทั้งสองประเทศ
สำหรับสนามกีฬาเอเดนพาร์ก เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ พบว่ามีแฟนบอลมากกว่า 42,000 คน มาชมการแข่งขันดังกล่าว ถือเป็นฝูงชนที่ร่วมชมฟุตบอลมากที่สุดในประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์ ขณะที่สนามกีฬาในเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย โดยในเกมเปิดสนามวันแรก ณ 20 ก.ค.66 มีผู้เข้าชมการแข่งขันสูงสุดถึง 75,784 คน มากกว่าจำนวนผู้เข้าชมพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลกชายในกาตาร์ (20 พ.ย.65) ที่มีผู้เข้าชมราว 67,000 คนเท่านั้น
10. เช็กตารางถ่ายทอดสด FIFA Women's World Cup 2023
ตอนนี้เกมการแข่งขันได้เริ่มไปแล้ว 6 วัน โดยจัดแข่งขันแบบสลับไขว้กลุ่ม (A, B, C, D, E, F, G, H) ไปเรื่อยๆ วันละ 3-4 คู่ ซึ่งก็จะมีเวลาถ่ายทอดสดแตกต่างกันไป สำหรับคนไทยสามารถรับชมได้ 2 ช่องทาง คือ ผ่านเว็บไซต์ plus.fifa.com และผ่านแอปพลิเคชัน FIFA ส่วนตารางการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2023 อัปเดตล่าสุด สามารถเช็กตารางได้ที่ : โปรแกรมตารางฟุตบอลโลกหญิง 2023 ทุกคู่ 32 ทีม
ทั้งนี้ หากเจาะจงเฉพาะตารางการแข่งขันนัดสำคัญของ “ฟุตบอลโลกหญิง 2023” สามารถปักหมุดวันที่จะมีการถ่ายทอดสดรอบต่างๆ ดังนี้
- รอบ 16 ทีมสุดท้าย : แข่งขันวันที่ 5-6-7-8 สิงหาคม 2566
- รอบ 8 ทีมสุดท้าย : แข่งขันวันที่ 11-12 สิงหาคม 2566
- รอบรองชนะเลิศ 4 ทีมสุดท้าย : แข่งขันวันที่ 15-16 สิงหาคม 2566
- นัดชิงชนะเลิศอันดับที่ 3 : แข่งขันวันที่ 19 สิงหาคม 2566
- นัดชิงชนะเลิศอันดับที่ 1 : แข่งขันวันที่ 20 สิงหาคม 2566
----------------------------------------------------------------
อ้างอิง : FIFA, TIME Magazine, NBC News