เปิดใจ 'นพ.วิฑูรย์' ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก กับการทำงานด้วยวินัยและใจรัก

เปิดใจ 'นพ.วิฑูรย์' ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก กับการทำงานด้วยวินัยและใจรัก

เปิดเส้นทางชีวิตและมุมคิดของ "นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล" ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ซ่อม และเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ตลอดชีวิตการทำงานในห้องผ่าตัดกว่า 30 ปี ได้มีโอกาสมอบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยที่แทบจะไม่มีโอกาสรอดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดคนไข้วิกฤติที่ถูกส่งตัวด้วยเครื่องบินครั้งแรกของเมืองไทย หรือเคสการผ่าตัดรักษากัปตันเรือเดินสมุทรที่จากบ้านมาไกล ไร้ญาติ และแทบไม่มีโอกาสรอด แต่กว่าจะผ่านเรื่องราวเหล่านี้ ต้องย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้น

เมื่อกล่าวถึงเส้นทางก่อนจะมาอยู่ที่ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เขาคือเด็กหนุ่มในชื่อ "วิฑูรย์" ซึ่งมีผลการเรียนดีอยู่ในระดับต้นๆ เสมอ เขาเริ่มต้นเส้นทางในวงการแพทย์ที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากเดิมที่สนใจจะเป็นศัลยแพทย์ แต่เมื่อเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลสมเด็จฯ ณ ศรีราชา พร้อมๆ กับต้องมาทำงานที่จุฬาฯ ด้วย ซึ่งการได้พบอาจารย์หมอหลายท่านที่เป็นเหมือนไอดอล ทำให้เขาในวันนั้นอยากเป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดสมอง

แต่ชีวิตได้นำพาให้เดินทางไปไกล ด้วยการไปใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลเปิดใหม่คือ โรงพยาบาลเสิงสาง จ.นครราชสีมา ที่ได้ชื่อว่าอยู่ในเขตพื้นที่สีแดง รองรับผู้ป่วยย่านอำเภอเสิงสาง รอยต่อของพื้นที่ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) และแม้เจ้าตัวจะอายุเพียง 20 ปีเศษๆ แต่เด็กหนุ่มแพทย์จบใหม่ป้ายแดงก็ต้องเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการในโรงพยาบาลที่เคยไร้หมอ เนื่องจากชื่อเสียงความอันตรายของพื้นที่

เปิดใจ \'นพ.วิฑูรย์\' ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก กับการทำงานด้วยวินัยและใจรัก

เมื่อทำงานได้ครบปี เขาได้ย้ายเข้ามาเป็นแพทย์ใช้ทุนประจำที่โรงพยาบาลมหาราช จ.นครราชสีมา ในแผนกศัลยกรรม ทุกอย่างดูราบรื่นดี กระทั่งเหตุการณ์ในวันหนึ่งที่ได้เขย่ามุมมองของเขาไปสิ้นเชิง เมื่อคนไข้ฉุกเฉินรายแรกที่เข้ามาอยู่ในความดูแล มีอาการอาเจียนเป็นเลือดและมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร แม้การผ่าตัดจะสำเร็จเรียบร้อย แต่ต่อมาคนไข้มีภาวะเลือดไหลไม่หยุด ทำให้เสียชีวิตในที่สุด เนื่องมาจากเทคโนโลยีการให้เลือดที่ไม่เอื้ออำนวย 

"บางวันเราผ่าตัดตั้งแต่ 10 โมงเช้า และผ่าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนไปเสร็จช่วง 8 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น คือผ่าไปทั้งหมด 10 กว่าราย ภายใน 24 ชั่วโมง เราถามตัวเองว่าทำอย่างไรถึงจะเก่งพอ ก็ต้องผ่าตัดเยอะๆ มีประสบการณ์เยอะๆ ยิ่งเจอเคสเยอะ เราก็จะยิ่งเก่ง ใช้ Hand Skills ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ" 

การได้สั่งสมประสบการณ์ทำให้มีทักษะในการผ่าตัด การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ยอดเยี่ยม ในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี เขาได้ผ่าตัดผู้ป่วยศัลยกรรมทั่วไปในช่องท้องเฉียดพันราย แต่จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อทางจังหวัดนครราชสีมา มีทุนให้แก่แพทย์ในสาขาขาดแคลนด้านการผ่าตัดหัวใจ เมื่อเห็นว่าเป็นสาขาที่ขาดแคลน เจ้าตัวจึงสมัครขอทุนดังกล่าวและเข้ามาเรียนต่อที่โรงพยาบาลศิริราช เนื่องจากเป็นที่แรกที่เปิดสอนในสาขา การผ่าตัดหัวใจ

"ศ.นพ.กัมพล ประจวบเหมาะ เป็นอาจารย์แพทย์อาวุโสที่เริ่มต้นอะไรหลายๆ อย่าง เกี่ยวกับการผ่าตัดหัวใจ อาจารย์บอกว่า วิฑูรย์ ผมรับคุณเข้าเรียนนะ แต่มีข้อแม้ 3 ข้อ ข้อที่ 1 ต้องทนอด เพราะต้องผ่าตัด 5-8 ชั่วโมง ลืมไปเลยเรื่องข้าวกลางวัน ข้อที่ 2 ต้องอดทน เพราะต้องยืนผ่าตัดนาน ข้อที่ 3 ก็บอกว่าต้องกินแกลบนะ (หัวเราะ) แต่เราก็โอเค ตอบไปว่าได้ครับ เพราะเราไม่มีความรู้สึกว่าต้องทำงานเพื่อหาเงิน จึงได้เรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านด้านการผ่าตัดหัวใจ ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งตอนนั้น ผอ. บอกผมว่า วิฑูรย์ ผ่าตัดให้น้อยกว่านี้หน่อยก็ได้ เพราะหาเงินมาให้ใช้ผ่าตัดไม่ทันแล้ว เนื่องจากคนไข้ส่วนใหญ่จะมีรายได้น้อยครับ โรงพยาบาลก็ต้องหางบประมาณมา"

กระทั่งศาสตราจารย์นายแพทย์กัมพล ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจให้ ได้เป็นหนึ่งในทีมผู้บุกเบิกเปิดศูนย์หัวใจกรุงเทพ ที่ โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงได้ชักชวนลูกศิษย์คนนี้เข้าร่วมทีมกับก้าวแรกด้วยการเป็นผู้ช่วยแพทย์ผ่าตัดหัวใจก่อน

เปิดใจ \'นพ.วิฑูรย์\' ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก กับการทำงานด้วยวินัยและใจรัก

การจะพัฒนาให้ขึ้นมายืนเป็นหมอผ่าตัดได้ ต้องสั่งสมประสบการณ์และฝีมือมากขึ้น "นพ.วิฑูรย์" จึงตัดสินใจไปเรียนรู้งานที่โรงพยาบาลในเครือเมลเบิร์น ยูนิเวอร์ซิตี้ ประเทศออสเตรเลีย หลังสมัครไปนานหลายเดือน แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จึงอาศัยความกล้า เมื่อรู้ว่าอาจารย์แพทย์ที่เมลเบิร์นเข้าร่วมเป็นวิทยากรที่งานประชุมทางวิชาการแห่งหนึ่งที่ประเทศมาเลเซีย จึงรีบบินลัดฟ้าเพื่อไปแนะนำตัว

การตีตั๋วไปมาเลเซียในครั้งนั้น พาเขาไปไกลกว่าที่คิด หลังเป็นแพทย์ผ่าตัดตามที่หวังและได้ดูแลผู้ป่วยชาวออสเตรเลีย แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อมาทำงานที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพต่อ ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างทีม แพทย์ผ่าตัดหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ทีมแรก

จากการได้ร่วมทีมผ่าตัดกับ ดร.นายแพทย์กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์ ทำให้ความเชี่ยวชาญของ นพ.วิฑูรย์ คือการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ด้วยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ต้องหยุดหัวใจ หรือการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass Grafting) ที่มีข้อดีคือ ไม่ต้องทำให้หัวใจหยุดเต้นขณะผ่าตัด ลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดแบบใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมที่ต้องทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ทั้งหมด 

เปิดใจ \'นพ.วิฑูรย์\' ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก กับการทำงานด้วยวินัยและใจรัก

การรักษาในรูปแบบดังกล่าว เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่หัวใจทำงานไม่ดี ผู้ป่วยที่ปอด ไต ทำงานได้ไม่ปกติ หรือผู้ป่วยที่อายุมาก ช่วยลดโอกาสการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และทำให้อัตราเสียชีวิตต่ำกว่า และอีกความเชี่ยวชาญคือ การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจแบบแผลเล็กโดยการใช้กล้อง 

"โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เป็นแนวหน้าการผ่าตัดบายพาสโดยที่ไม่ต้องทำให้หัวใจหยุดเต้น ผมเคยผ่าตัดในเคสที่ผู้ป่วยหัวใจบีบตัวแค่ 9% คือแทบจะไม่ขยับเลย จนตอนนี้ผู้ป่วยหายดี นอกจากนั้นเราทำงานกันเป็นทีม มีหมอผ่าตัดหัวใจ 5-6 คน ในเคสที่ยากๆ เราจะเข้ามาช่วยกัน หมอรุ่นใหม่ๆ ก็ได้ประสบการณ์ด้วย อย่างเราผ่าโรคเส้นเลือดโป่งพองปริแตกเซาะ ที่ปกติผู้ป่วย 94-95% จะเสียชีวิต ก็สามารถผ่าตัดรายหนักๆ ที่เป็นเยอะให้รอดชีวิตได้"

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ไม่ได้มีเพียงบทบาทด้านการรักษาเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในแง่มุมวิชาการในวงการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก ด้วยการให้ความรู้ด้านการผ่าตัดศัลยกรรมหัวใจแก่ทีมแพทย์โรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมจัดทำและเผยแพร่บทความวิชาการทางการแพทย์เพื่อนำเสนอในการประชุมวิชาการที่ต่างประเทศด้วย 

เปิดใจ \'นพ.วิฑูรย์\' ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก กับการทำงานด้วยวินัยและใจรัก

ทำให้ตลอดระยะเวลา 30 ปี "นพ.วิฑูรย์" ได้ส่งต่อองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ด้วยการผ่าตัด บายพาสหลอดเลือดหัวใจ แบบไม่ต้องหยุดหัวใจกว่า 1,000 ราย โดยมีคนไข้เคสหนึ่งที่ติดอยู่ในความทรงจำและเป็นความภาคภูมิใจ เมื่อคนไข้วิกฤติป่วยด้วยเส้นเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งเคสนี้เป็นอีกประวัติศาสตร์ของโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพที่ยังเล่าขานกันถึงปัจจุบัน

"สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือ ประมาณ 11 ปีให้หลัง ผู้ป่วยพาภรรยาและลูกสองคนมาหา และบอกว่ายูจำไอได้ไหม My son and my daughter want to know who is the doctor that save their father life. ลูกชายและลูกสาวของเขาอยากรู้ว่าหมอคนไหนคือคนที่ช่วยชีวิตพ่อของพวกเขา เราปลื้มใจมาก แม้จะผ่านไปเป็นสิบปีแล้ว เขาก็ยังนึกถึง"

แต่ละก้าวที่เดิน แต่ละวันที่ใช้ชีวิต จึงเป็นไปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตผู้คน ไปจนถึงการสร้างสิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่โชคช่วย แต่คือความมีวินัย มุ่งมั่น ใส่ใจ และตั้งใจจริง อันเป็นหลักคิดของนพ.วิฑูรย์

"ผมจะบอกตัวเองและน้องๆ แพทย์เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องทำให้ดีที่สุด เมื่อทำดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร สามารถบอกตัวเองได้ว่าเราทำดีที่สุดแล้ว จะไม่ต้องบอกกับตัวเองทีหลังว่า รู้อย่างนี้ทำให้มันดีกว่านี้อีกหน่อย เพราะสำหรับผู้ป่วยจะไม่มีคำว่ารู้อย่างนี้อีกแล้ว ผู้ป่วยเสียชีวิตก็คือเสียชีวิตไปแล้ว เราแก้ตัวไม่ได้ เพราะฉะนั้นทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด" นพ.วิฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย 

เปิดใจ \'นพ.วิฑูรย์\' ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก กับการทำงานด้วยวินัยและใจรัก เปิดใจ \'นพ.วิฑูรย์\' ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก กับการทำงานด้วยวินัยและใจรัก เปิดใจ \'นพ.วิฑูรย์\' ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก กับการทำงานด้วยวินัยและใจรัก