'ดีมานด์ซบ-ส่งออกทรุด' ฉุดเศรษฐกิจเวียดนาม

'ดีมานด์ซบ-ส่งออกทรุด' ฉุดเศรษฐกิจเวียดนาม

เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก ผลพวงความต้องการในตลาดโลกซบเซากระทบการส่งออก ขณะที่การจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ตลาดงานและแรงงานยังเผชิญความท้าทาย

สำนักงานสถิติเวียดนามรายงานข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) เศรษฐกิจเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตเสื้อผ้า รองเท้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ขยายตัว 3.72% ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. ลดลงจาก 6.42% ในช่วงเดียวกันของปี 2565 

แถลงการณ์จากสำนักงานสถิติระบุ “เศรษฐกิจเติบโตไม่สูงท่ามกลางบริบทแห่งความยากลำบากและความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ การจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ตลาดงานและแรงงานยังเผชิญความท้าทายและความยากลำบากต่อไป ส่วนใหญ่เป็นผลจากบริษัทห้างร้าน ไม่มีคำสั่งซื้อ”

ครึ่งแรกของปีมีการปลดคนงานไปแล้วกว่า 240,000 คน ราว 80% ทำงานในธุรกิจที่ลงทุนโดยต่างชาติ สองในสามทำงานในอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า หลายคนเปลี่ยนไปทำงานภาคบริการ “ยอมรับงานที่มั่นคงน้อยลง”

ส่วนรายได้จากการส่งออกช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่กว่า 1.64 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้การที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ดิ่งลงอย่างรุนแรงผลจากราคาที่ดินสูง, อนุมัติโครงการช้า และหาเงินลงทุนได้ยาก ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจเวียดนาม

กระทรวงก่อสร้างเผยว่า จำนวนธุรกิจที่เข้ามาทำอสังหาริมทรัพย์ช่วงครึ่งปีแรกลดลง 63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกือบหนึ่งในสามต้องเลิกกิจการ

ประเทศคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.3% จาก 8% เมื่อปี 2565 ขณะที่ทางการเวียดนามตั้งเป้าไว้ที่ 6.5% แต่สำนักงานสถิติยอมรับว่า การทำให้ถึงเป้านั้น “จะเป็นความท้าทายมหาศาลที่จำเป็นต้องใช้ความทุ่มเทและความพยายามจากการเมืองทั้งระบบ, ภาคธุรกิจ และจากประชาชนทั่วประเทศ”

ดินห์ กว่าง ฮินห์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาดและมหภาคบริษัทวีเอ็นไดเร็ค ซีเคียวริตีส์ คอร์ปอเรชัน เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี “เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยความยากลำบาก จึงไม่จำเป็นที่เวียดนามต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เติบโตเกิน 6%” ในทางกลับกันเวียดนามควรให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมการรับการพัฒนาที่จะมีขึ้นในอนาคต

ไตรมาสสองโต 4.14%

หากพิจารณาเป็นรายไตรมาส เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 4.14% ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สูงกว่าตัวเลข 3.3% ในไตรมาสหนึ่งแต่ยังคงอ่อนแรงกว่าที่เคยทำได้ เนื่องจากความต้องการสินค้าส่งออกเวียดนามแผ่วลง

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานว่า เวียดนามเป็นเขตเศรษฐกิจเติบโตเร็วสุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวปีละราว 6-7% ในปี 2565 เวียดนามฟื้นจากโควิดเติบโตถึง 8%

การที่จีดีพีชะลองตัวลงในปีนี้เป็นผลจากความต้องการสินค้าจำพวกเสื้อผ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศสะดุดลง สินค้าเหล่านี้เป็นการผลิตหลักของเวียดนาม

จีดีพีไตรมาสสองที่โต 4.14% ถือว่าต่ำสุดเป็นอันดับสองนับตั้งแต่ปี 2554 ในปี 2563 ที่โควิดเล่นงานไปทั่วโลก เวียดนามยังขยายตัวได้แม้จะแค่ 0.34%

ช่วงไตรมาสสองภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ขยายตัว 3.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างเติบโต 2.5% ภาคบริการขยายตัว 6.11%

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนมิ.ย. ทะลุราว 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นสี่เท่าจากเดือนมิ.ย.2565 แต่คิดเป็นราว 70% ของระดับก่อนโควิด

ข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดี การส่งออกเดือน มิ.ย.คาดว่าต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.4% ส่วนหนึ่งเพราะยอดขายสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในตลาดโลกลดลง นอกจากนี้ยังเกิดเหตุไฟฟ้าขาดแคลนทางภาคเหนือของประเทศ ที่ซัมซุงอิเลคโทรนิคส์และบริษัทอื่นๆ มีฐานการผลิตอยู่ที่นั่นทำให้ผลผลิตชะลอตัวลง

ข้อมูลที่ออกมาในไตรมาสสองส่อเค้าทำให้เป้าจีดีพี 6.5% ในปีนี้ของรัฐบาลเป็นไปได้ยาก นักเศรษฐศาสตร์หลายคนปรับลดคาดการณ์จีดีพีเวียดนามไปเรียบร้อยแล้ว

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่สิ้นสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน สมาชิกสภาแสดงความกังวลเรื่องที่เวียดนามอาจทำจีดีพีได้ไม่ถึงเป้า 6.5% เนื่องจากการผลิตหลายภาคส่วนและการส่งออกเติบโตติดลบ

ขณะนี้บริษัทใหญ่หลายแห่งต้องขายสินทรัพย์ในราคาถูกหรือยอมขายกิจการเพื่อแก้ปัญหาแคชโฟลว์ คงการผลิตและทำธุรกิจให้ได้ต่อไป

เหวียน จีดุ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและลงทุนกล่าวว่า จีดีพีเวียดนามไตรมาสหนึ่งโตน่าผิดหวัง 3.3% ดังนั้นถ้าจะให้ได้ตามเป้าทุกไตรมาสรวมทั้งไตรมาสสองต้องโตราว 7.5% “การบรรลุเป้าหมายถึงปีโต 6.5% จึงเป็นความท้าทายใหญ่หลวง” ดุ่งกล่าวในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อไม่กี่วันก่อน

มาตรการหนุนเศรษฐกิจในตอนนี้มีทั้งธนาคารกลางหั่นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการเติบโต ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10% เหลือ 8% เป็นเวลาหกเดือนเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภค

จัน คันห์ เฮียน หัวหน้าฝ่ายวิจัยบริษัทเอ็มบี ซีเคียวริตีส์ เผยกับนิกเคอิเอเชียว่า การส่งออกอาจฟื้นขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากปีก่อนระดับการส่งออกต่ำและความต้องการจากจีนกำลังฟื้นตัวหลังรัฐบาลปักกิ่งยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์

“อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลงานครึ่งปีแรกที่อ่อนแอกว่าคาด และเนื่องจากสภาพแวดล้อมภายนอกยังไม่แน่นอนทั่วโลก ดิฉันคิดว่าเป้าจีดีพี 6.5% ไม่น่าเป็นไปได้”

เลอ ดังด่วน นักเศรษฐศาสตร์ชาวเวียดนามเน้นย้ำถึงความจำเป็นต้องเร่งการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

"เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโต เวียดนามจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ, พัฒนาธุรกิจเอกชน, กระจายตลาดส่งออก, ส่งเสริมการทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัล, ส่งเสริมบริการ e-enterprises และ e-Government, ต้องเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่ากับพันธมิตรต่างประเทศ, สร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนเพิ่มมากขึ้น" นักวิเคราะห์รายนี้กล่าวทิ้งท้าย