ผลสำรวจชี้ 35% ของ 'Gen Z' อยากปรับลดเวลาทำงานเหลือ 6 ชม./วัน

ผลสำรวจชี้ 35% ของ 'Gen Z' อยากปรับลดเวลาทำงานเหลือ 6 ชม./วัน

“เพียงเพราะอยู่ออฟฟิศครบ 8 ชั่วโมง ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นี่คือความเห็นเจ้าของธุรกิจ Gen Z ชาวสหรัฐ วัย 26 ปี ที่เชื่อว่า “วัยทำงาน” ยุคใหม่ควรทำงานแค่ 6 ชม./วัน

Key Points: 

  • Redfield & Wilton Strategies บริษัทให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ระดับโลก รายงานผลสำรวจว่า 35% ของวัยทำงาน Gen Z สะท้อนความคิดเห็นว่า เวลาทำงานที่เหมาะสมคือ 6 ชั่วโมงต่อวัน
  • เจ้าของธุรกิจชาวสหรัฐวัย 26 ปี ให้ความเห็นว่า “วันทำงานที่สั้นลง” หมายถึงการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ ได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น มีความสุขโดยรวมมากขึ้น และอาจหมายถึงเศรษฐกิจที่คึกคักมากขึ้นด้วย
  • ซีอีโอแพลตฟอร์มจัดหางาน Otta ชี้ว่า Gen Z กำลังประเมินความสำคัญของงานต่อชีวิตพวกเขาในมุมใหม่ วาทกรรมที่ว่าการผูกชีวิตตัวเองให้กลมกลืนเข้ากับงานให้มากที่สุด เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองมีคุณค่าต่อนายจ้างนั้น ดูล้าสมัยไปแล้ว

พนักงานออฟฟิศ ที่ทำงานบริษัททั่วไปในสหรัฐอเมริกา มีกรอบเวลาเข้างานคล้ายกันคือ ตั้งแต่ 09.00 - 17.00 น. (9 AM - 5 PM) หรือที่เรียกว่า “Nine to five” รวมวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ล่าสุดมีผลสำรวจ (ณ 17 พ.ค.) จาก Redfield & Wilton Strategies บริษัทให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ระดับโลก รายงานว่า 35% ของวัยทำงาน Gen Z สะท้อนความคิดเห็นว่า เวลาทำงานที่เหมาะสมคือ 6 ชั่วโมงต่อวัน

ในขณะที่คนอเมริกันส่วนใหญ่รวมทุกเจนเนอเรชัน สะท้อนความเห็นผ่านแบบสำรวจว่า พวกเขาพร้อมมากที่จะลดวันทำงานลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์หากนายจ้างอนุญาต ส่วนทางด้านพนักงานอายุน้อยดูเหมือนจะกระตือรือร้นที่จะลดชั่วโมงทำงานลงในแต่ละวัน เมื่อถามถึงระยะเวลาทำงานกี่ชั่วโมงเหมาะสมที่สุดสำหรับพนักงานประจำ? พบว่า 

  • 46% ของพนักงานตอบว่า 8 ชั่วโมงต่อวันสมเหตุสมผลที่สุด (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Millennials, Generation X และ Boomers)
  • 20% ของพนักงานตอบว่า 6 ชั่วโมงต่อวันสมเหตุสมผลที่สุด (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Z) 

ผลสำรวจชี้ 35% ของ \'Gen Z\' อยากปรับลดเวลาทำงานเหลือ 6 ชม./วัน

 

  • เมื่อการ "ลดเวลางาน" ทำให้มีเวลาในชีวิตส่วนตัวมากขึ้น

จากผลสำรวจข้างต้น มีเจ้าของธุรกิจ Gen Z วัย 26 ปีในสหรัฐ อย่าง “อัจลา บรามา” ผู้ซึ่งมีผู้ติดตามบน TikTok กว่า 345,000 คน ออกมาแสดงความเห็นด้วยกับประเด็นนี้ว่า มนุษย์ออฟฟิศจำเป็นต้องมีชีวิตส่วนตัวที่นอกเหนือจากการทำงาน และมองว่ากรอบเวลางานออฟฟิศในปัจจุบันต้องถูกยกเครื่องเสียใหม่

“วันทำงานที่สั้นลง” หมายถึงการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น มีความสุขโดยรวมมากขึ้น และนั่นอาจหมายถึงเศรษฐกิจที่คึกคักมากขึ้นด้วย เนื่องจากผู้คนจะมีเวลามากขึ้นในการรับประทานอาหารนอกบ้าน ช้อปปิ้งนอกบ้าน หรือกิจกรรมจับจ่ายอื่นๆ 

“เพียงเพราะคนต้องทำงาน 8 ชั่วโมง ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถามใครดูก็ได้ว่า จริงๆ แล้วมนุษย์ออฟฟิศทำงานตลอดเวลาทั้ง 8 ชั่วโมงหรือไม่ หากได้คำตอบว่าพวกเขาทำงานเหล่านั้นเสร็จได้ในระยะเวลาที่สั้นลง ทำไมไม่ให้มีวันทำงานที่สั้นลงไปด้วยล่ะ?” อัจลา บรามา ตั้งข้อสงสัย

เธอยังบอกว่าอีกว่า ก่อนหน้านี้พนักงาน Gen Z เคยถูกตำหนิว่าเป็นกลุ่มมนุษย์งานที่ทำให้หัวหน้า Gen Y , Gen X “ปวดหัวหนักมาก” แถมยังถูกตราหน้าว่าเกียจคร้านอีกด้วย แต่ อัจลา บรามา ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ และเธอกลับมองว่า การขี้เกียจเป็นสิ่งที่ดี 

“ถ้าการขี้เกียจหมายถึงการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ออฟฟิศน้อยลง ฉันก็อยากจะเป็นคนขี้เกียจตลอดชีวิต รู้ไหมว่าคนเกียจคร้านมักค้นพบวิธีที่เร็วกว่าในการทำสิ่งต่างๆ ให้เสร็จ ‘บิล เกตส์’ เคยกล่าวไว้ว่า เขามักเลือกคนเกียจคร้านให้ทำงานยากๆ เพราะคนเกียจคร้านจะหาวิธีง่ายๆ ที่จะทำมัน ซึ่งฉันเห็นด้วยกับเขามากๆ ในเรื่องนี้”

ผลสำรวจชี้ 35% ของ \'Gen Z\' อยากปรับลดเวลาทำงานเหลือ 6 ชม./วัน

 

  • หากต้องการพนักงาน Gen Z มาร่วมงาน บริษัทต้องมีความยืดหยุ่นให้พวกเขา

ในทำนองเดียวกัน “แซม แฟรงคลิน” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มจัดหางาน Otta ให้ความเห็นเรื่องกรอบเวลางานผ่าน Newsweek ว่า หลังจากเกิดโรคระบาด พนักงานออฟฟิศโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หรือ Gen Z กำลังประเมินความสำคัญของงานในมุมใหม่ ในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิต วาทกรรมที่ว่ามนุษย์ออฟฟิศควรผูกชีวิตตัวเองให้กลมกลืนเข้ากับงาน เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองมีคุณค่าต่อนายจ้างนั้น มันดูล้าสมัยไปแล้ว

“บริษัทต่างๆ จะต้องมั่นใจว่าจะสามารถดึงดูดผู้คนจากทุกรุ่น ให้เข้ามาร่วมงานในบริษัทของคุณได้ หากบริษัทใดต้องการดึงดูดคนรุ่นใหม่ พวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจวิถี แนวคิด และไลฟ์สไตล์ของคุณรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งที่จำเป็นมากก็คือ ต้องนำเสนอความยืดหยุ่นและสัปดาห์การทำงานที่สั้นลงตามที่วัยทำงานกลุ่ม Gen Z ต้องการ” เขากล่าวเสริม

ขณะเดียวกัน ชาว Gen Z อีกคนอย่าง “กาเบรียล จัดจ์” วัย 26 ปี ผู้ผลิตคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียเต็มเวลาจากโคโลราโด และเป็นผู้ก่อตั้งช่อง The Anti Work Girlboss บน TikTok ที่มีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เธอสะท้อนความเห็นว่า ยุคนี้มนุษย์งานทุกคนควรพิจารณาเวลางานของตนเองว่าเหมาะสมแล้วจริงหรือไม่ 

 

  • Gen Z ตั้งคำถาม ยุคนี้ยังเหมาะกับการทำงานวันละ 8 ชั่วโมงหรือไม่?

หากย้อนกลับไปในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม จะพบว่าแนวคิดกรอบเวลาทำงาน “Nine to five” (9 AM - 5 PM) ของชาวอเมริกัน กำเนิดมาจากไอเดียของสหภาพแรงงานอเมริกันในทศวรรษ 1800 ซึ่งถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ Ford ซึ่งเป็นแบรนด์สัญลักษณ์ของอเมริกันชนในยุคนั้น แต่โลกธุรกิจในยุคนี้ กาเบรียลมองว่าการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป

เธอเล่าอีกว่า สมัยที่เธอเริ่มต้นชีวิตการทำงานใหม่ๆ เธอเคยทำงานในบริษัทที่กำหนดให้ทำงานวันละ 8-9 ชั่วโมงมาก่อน โดยเธอต้องเข้างานเวลา 8 โมงเช้า และจะกลับบ้านไม่ได้จนกว่าจะถึงเวลา 5 โมงเย็น (แม้ว่าจะทำงานเสร็จแล้ว) ดังนั้นเธอจึงต้องมองหางานอื่นๆ ทำเพื่อให้ตัวเองยุ่งเข้าไว้ และเติมเต็มเวลาที่เหลือ แต่พอทำไปทำมา เธอก็เริ่มคิดว่า มันไม่ใช่! จากนั้นจึงหันมาทำคอนเทนต์เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนเกี่ยวกับกรอบเวลาการจ้างงานแบบใหม่

“วิธีการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่เวิร์คกับโลกธุรกิจอีกต่อไป เนื่องจากยุคนี้ลูกจ้างสามารถทำงานจากระยะไกลได้ ก็เข้าใจว่าบางคนยังคงยอมทำงานแบบนั้นเพื่อหวังผลการเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือน แต่หากมองอีกมุม ในฐานะลูกจ้างทำไมเราถึงยอมให้วิธีนี้เกิดขึ้นได้ในออฟฟิศ” กาเบรียล อธิบาย

ผลสำรวจชี้ 35% ของ \'Gen Z\' อยากปรับลดเวลาทำงานเหลือ 6 ชม./วัน

 

  • ค่านิยม “Nine to five” ทำให้ชาวออฟฟิศผูกมัดคุณค่าตัวเองกับงานมากเกินไป

สื่อโซเชียลช่อง “The Anti Work Girlboss” ของกาเบรียล นำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับการลดบทบาทของกรอบเวลางานแบบ “Nine to five” ออกจากตัวตนของมนุษย์ออฟฟิศ เพื่อให้พวกเขาได้อิสรภาพทางเวลาในชีวิตมากขึ้น

โดยค่านิยมดั้งเดิมเหล่านั้น มักเห็นได้บ่อยกับบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ ที่ผู้คนมักจะผูกมัดตัวตนและคุณค่าในตัวเองเข้ากับงาน สังเกตจากการที่ผู้คนมักถามเพื่อนใหม่เสมอว่า "คุณทำงานอะไร? " การผูกมัดตัวตนเข้ากับอาชีพการงานดังกล่าว อาจนำมาซึ่งการยอมที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ยอมละทิ้งสิทธิบางอย่างของตนเอง โดยเชื่อฝังหัวว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะใครๆ ก็ทำกัน นั่นทำให้บั่นทอนเวลาในชีวิตและอำนาจของคุณลงเรื่อยๆ 

ท้ายที่สุดกาเบรียลมองว่า งาน คือ การแลกเปลี่ยนทักษะความสามารถ ความพยายาม และเวลาของเรา เพื่อแลกกับเงินและผลประโยชน์ที่เราควรได้จากนายจ้าง ดังนั้น วัยทำงานชาว Gen Z ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่า “ความสมดุล” ระหว่างโลกของการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวในแง่มุมอื่นๆ 

คน Gen Z กำลังมองหาอาชีพที่ยืดหยุ่นกับชีวิตของพวกเขา ซึ่งมอบโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่มีค่า ซึ่งสามารถทำให้พวกเขาเชี่ยวชาญมากขึ้นและสร้างรายได้ให้กับตนเองได้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องอยู่กับบริษัทเดิมๆ นานหลายสิบปีเพราะต้องภักดีต่อองค์กร 

--------------------------------------

อ้างอิง : Redfield and Wilton Strategies, Newsweek