‘Bangkok Pride’ กับเศรษฐกิจสีชมพู | กันต์ เอี่ยมอินทรา

‘Bangkok Pride’ กับเศรษฐกิจสีชมพู | กันต์ เอี่ยมอินทรา

วันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ จะมีการจัดงาน Bangkok Pride ช่วงสยาม-ถนนพระราม 1 เพื่อเฉลิมฉลองถึงความเท่าเทียมกันของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

เฉกเช่นที่นานาอารยประเทศที่ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้และก็ได้มีการเฉลิมฉลองในทำนองเดียวกันนี้ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะจัดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.

ในเมืองนอกโดยเฉพาะในยุโรปนั้น เดือน มิ.ย. ถือเป็นหน้าร้อน ซึ่งถือเป็นฤดูท่องเที่ยวของยุโรป ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวก็ต่างออกมาเฉลิมฉลอง การแต่งกายก็สดใสและน้อยชิ้นให้เข้ากับอากาศที่ร้อน มีดนตรีจังหวะสนุกสนาน ผู้คนเป็นมิตรยิ้มแย้ม เรียกได้ว่าเป็นงานรื่นเริงที่สนุกมาก ดังนั้น งานนี้จึงเป็นมิตรกับทุกคนมิใช่แต่เพียงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น

ในเชิงสัญลักษณ์และนัยสำคัญ งานนี้มีความสำคัญเพื่อให้ทุกคนระลึกและสนับสนุนให้สังคมที่อยู่นั้นมีความมีเท่าเทียมทางเพศ มีความปลอดภัย และในเชิงเศรษฐกิจ งานเฉลิมฉลองนี้ก็เป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่จัดงาน อย่างที่พิสูจน์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในต่างชาติว่า งานนี้คุ้มค่าเงินลงทุนยิ่ง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ งาน Pride ที่จัดที่กรุงลอนดอนของอังกฤษเมื่อปีก่อน ที่มีผู้เข้าร่วมงานและนักท่องเที่ยวรวมกันมากกว่า 1 ล้านคนเพื่อเฉลิมฉลอง 50 ปีของการเริ่มต้นจัดงานนี้ที่ลอนดอน

ถึงแม้ไม่มีประมาณการตัวเลขอย่างเป็นทางการถึงเม็ดเงินที่หมุนเวียนในช่วงสุดสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองนี้ แต่ก็คงเดาได้ไม่ยากว่า อย่างน้อยคนเรือนล้านนั้นก็จำเป็นต้องซื้อของกิน ซื้อน้ำดื่ม เสียค่าเดินทาง ไม่รวมชอปปิงต่าง ๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เรียกว่า เศรษฐกิจสีชมพู (Pink economy)

เคยมีตัวเลขที่เคยประมาณการถึง Pink economy อันเกิดมาจากกิจกรรมและเม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับชุมชน LGBTQ+ โดยเมืองรองอย่างไบรท์ตัน เมืองเล็ก ๆ ริมทะเลของอังกฤษ​เป็นที่นิยมของชุมชน LGBTQ+ ในการจัดปาร์ตี้เฉลิมฉลอง เพราะมีผับบาร์ บรรยากาศริมชายหาดที่ดี และการเดินทางที่สะดวกเพราะใกล้ลอนดอน

ช่วงที่มีกิจกรรม Pride นั้นทำให้เมืองไบรท์ตันมีรายได้กว่า 900 ล้านบาท ขณะเดียวกัน Pink economy ในเมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิสของสหรัฐนั้น ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนกว่า 2,600 ล้านบาท

ดังนั้น การจัดงาน Bangkok Pride จึงสมควรน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง ทั้งในเชิงของสัญลักษณ์ความหมาย และในเชิงเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าถ้าประคบประหงมงานนี้ให้ดี มีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง งานนี้อาจจะนำรายได้มหาศาลมาสู่ระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายฤดูร้อนต้นฤดูฝน ซึ่งจะมาเติมเต็มจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดน้อยลงในช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยวไทย

ไทยเรานั้นพึ่งพารายได้อย่างมหาศาลจากการท่องเที่ยวนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในพระเอกของเราที่นำรายได้มาสู่ประเทศกว่า 3 ล้านล้านบาท 

นอกจากนี้ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ต่างชาติอยากมาเยือนมากที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายนั้นถูกคุ้มค่าเงิน อาหารอร่อย คนเป็นมิตร แต่นักท่องเที่ยวจำนวนมากเหล่านั้นใช้เงินเฉลี่ยในประเทศของเราเพียง 40,000-50,000 บาทต่อหัว ซึ่งถือว่าไม่มากเลยหากเทียบกับประเทศที่มีรายได้เป็นกอบกำจากการท่องเที่ยวอื่น ๆ อาทิ อังกฤษ​ และญี่ปุ่น

ดังนั้น ความพยายามเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่มีอิสระเสรี ภายใต้แคมเปญ Go Thai, Be Free ของ ททท. เพื่อดึงดูดเงินจากกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ที่เรียกว่า เงินสีชมพู (Pink money) นั้นเรียกได้ว่า มาถูกทางและน่าเอาใจช่วยอย่างยิ่ง เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีกำลังซื้อที่สูง เฉลี่ยแล้วสูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป

หาก ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก และซานฟรานซิสโก คือเมืองหลวงของ LGBTQ+ ของซีกโลกตะวันตก และไทเป (ไต้หวัน) คือเมืองหลวงของซีกโลกตะวันออกสำหรับงาน Pride นี้แล้ว “กรุงเทพมหานคร” ก็น่าจะสามารถเป็นเมืองหลวงของนางฟ้าเทวดาได้เช่นเดียวกัน ซึ่งก็เท่ากับความหมายโดยแท้ตรงกับชื่อเมืองหลวงของเรา