ดรามา “กีฬาพื้นบ้าน” กลยุทธ์ “เจ้าเหรียญทอง” กับคำถามว่า ยังควรมีต่อไปไหม?

ดรามา “กีฬาพื้นบ้าน” กลยุทธ์ “เจ้าเหรียญทอง” กับคำถามว่า ยังควรมีต่อไปไหม?

ส่อง “กีฬาพื้นบ้าน” ที่ใช้ในการแข่งขัน “ซีเกมส์ 2023” นอกจาก “กุนขแมร์” แล้ว ยังมีกีฬาชนิดอื่นอีกที่ “กัมพูชา” ในฐานะเจ้าภาพใส่เพิ่ม, ตัดออก รวมถึงปรับกติกา จนถูกมองว่า เพื่อหวังเป็น “เจ้าเหรียญทอง” 

เปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ “ซีเกมส์ 2023” หรือ “กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32” โดยครั้งนี้ “กัมพูชา” เป็นเจ้าภาพ ซึ่งแข่งขันกันตั้งแต่วันที่ 5-17 พ.ค. 2566 โดยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการแข่งขันซีเกมส์ที่มีการชิงชัยเหรียญทองมากที่สุดถึง 604 เหรียญ จากกีฬาทั้งหมด 36 ชนิด ซึ่งมีหลายชนิดกีฬาที่เป็น “กีฬาพื้นบ้าน” ที่ถูกบรรจุเข้ามาในการแข่งขันครั้งนี้

 

  • กุนขแมร์ 

ก่อนหน้าที่ซีเกมส์ 2023 จะเปิดฉากได้มีดราม่ากรณีที่เจ้าภาพยืนยันว่าจะไม่มีการบรรจุกีฬา “มวย” ไว้ในการแข่งขัน แต่จะบรรจุโดยใช้ชื่อ "กุนขแมร์" (Kun Khmer) ซึ่งเป็นศิลปะการการต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธมีอยู่ในกัมพูชาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 แทน ทำให้หลายฝ่ายเกิดความไม่พอใจ

เริ่มจาก สหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (IFMA) ประกาศยืนยันชัดเจนว่า กีฬามวยไทยและคิกบ็อกซิ่งในซีเกมส์จะต้องใช้ชื่อ "มวย" เท่านั้น พร้อมประกาศย้ำด้วยว่า หากชาติใดส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันรายการดังกล่าวก็จะถูกแบนจากการแข่งขันที่ อีฟม่า รับรอง ส่วนไทยก็ไม่ส่งนักกีฬาลงแข่งขันในกีฬาประเภทนี้ เพราะที่ผ่านมาในซีเกมส์มีการตกลงกันไว้แล้วว่าให้ใช้ชื่อมวยเท่านั้น 

แต่จนแล้วจนรอดการแข่งขันกุนขแมร์ก็ยังคงบรรจุในซีเกมส์ครั้งนี้ เนื่องจากมี 7 ประเทศส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ คือ กัมพูชา (เจ้าภาพ), อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, เมียนมา, ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม ซึ่งมีการชิงชัยกันถึง 19 เหรียญทอง

รูปแบบการแข่งขัน กุนขแมร์ ในปัจจุบัน กำหนดการชก 5 ยก ยกละ 3 นาที และจะมีการพักระหว่าง 1.30-2 นาที โดยให้การใช้ศิลปะการต่อสู้ หมัด เท้า เข่า ศอก และห้ามชกเมื่อคู่ต่อสู้ล้มลงกับพื้น ห้ามกัด ไม่อนุญาตให้ทำร้ายด้านหลังของฝ่ายตรงข้าม ห้ามจับเชือกหรือเกี่ยวเชือก ห้ามต่อยที่จุดยุทธศาสตร์ของนักมวย 

ขณะที่ การน็อกเอาต์เกิดขึ้นเมื่อนักมวยล้มลงกับพื้นและไม่สามารถชกต่อไปได้ หลังจากกรรมการนับ 1-10 หรือ กรรมการสามารถยุติการชกได้ทันที หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถสู้ได้ สุดท้ายหากสู้กันครบ 5 ยกจะตัดสินด้วยคะแนน 

ดังนั้นกุนขแมร์ มีกติกาที่แทบจะเหมือนกับ มวยไทย ทุกอย่าง ต่างกันที่ลักษณะการต่อสู้ของนักมวยแต่ละคนเท่านั้น

นอกจากนี้ ซีเกมส์ 2023 ยังเพิ่มกีฬาศิลปะการต่อสู้ประเภทอื่น ๆ อีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น “อาร์นิส” ศิลปะการต่อสู้ของฟิลิปปินส์เน้นการใช้อาวุธสั้นเป็นหลัก “ยิวยิตสู” ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น “คิกบ็อกซิง” กีฬาต่อสู้ที่มีรูปแบบการต่อยและเตะเป็นหลัก และ “โววีนัม” ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวจากเวียดนาม รวมถึง โบกาตอร์ อีกหนึ่งดรามาในโลกโซเชียล เพราะถูกอ้างว่าเป็นต้นกำเนิดของมวยไทยนั่นเอง 

  • หมากรุกเขมร

นอกจาก กุนขแมร์แล้ว กัมพูชายังบรรจุกีฬา “หมากรุกเขมร” หรือ Ouk Chatrang เข้ามาแทนกีฬา “หมากรุกสากล” โดยมีการแข่งขันชิงเหรียญทองกันถึง 6 รายการ ซึ่งหมากรุกเขมรนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากหมากรุกสากล คือ ตัวเบี้ยจะอยู่ในแถวที่สาม และรูปแบบตัวเบี้ยที่มีการเปลี่ยนไปเล็กน้อย

แน่นอนว่าหมากรุกเขมรไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทำให้หลายประเทศอาจจะยังไม่ได้เข้าใจในกติกาการแข่งขันทั้งหมด แม้ว่าประธานสมาคมหมากรุกเขมรประกาศว่าได้ส่งคู่มือกฎกติกาการแข่งขันไปกับทุกชาติที่ลงแข่งไประยะหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหากับทัพนักกีฬาไทย เพราะสามารถคว้าเหรียญรางวัลจากกีฬาหมากรุกเขมรได้ 2 เหรียญทอง และ 2 เหรียญทองแดง

 

  • ตัดกีฬา เพิ่มประเภท

ไม่เพียงแต่จะเพิ่มกีฬาเข้ามาในซีเกมส์ 2023 เท่านั้น แต่การแข่งขันครั้งนี้ยังตัดกีฬา “เพาะกาย” ออกไปด้วย เพราะก่อนหน้าสหพันธ์กีฬานานาชาติตัดสิทธิ์นักกีฬานักเพาะกายชาวกัมพูชา 2 คน เนื่องจากพบว่าทั้งคู่ใช้สารสเตียรอยด์ ทำให้กัมพูชาขาดนักกีฬาประเภทนี้ จึงตัดสินใจยกเลิกการแข่งขันกีฬานี้ไป

ส่วน “แบดมินตัน” เพิ่มการชิงชัยประเภททีมผสมเข้ามาเป็นครั้งแรกในกีฬาซีเกมส์ แต่ไม่ใช่ทุกชาติจะได้ส่งนักกีฬาลงในการแข่งขันนี้ เพราะกัมพูชาใช้สิทธิ์ความเป็นเจ้าภาพห้ามไม่ให้ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และสิงคโปร์ เข้าร่วมแข่งขัน โดยให้เหตุผลว่าทั้ง 5 ชาตินี้มีนักแบดมินตันที่มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก จึงต้องการให้ชาติรองลงมาได้มีโอกาสชนะ

ขณะที่ “อีสปอร์ต” กีฬาที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบันที่ปรกติมักใช้ Fifa Online เกมฟุตบอลออนไลน์ และ ROV เกมแนวโมบาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ในซีเกมส์ครั้งนี้ถอดทั้ง 2 เกมนี้ออก แล้วใช้เกม Valorant ที่ได้รับความนิยมในกัมพูชาจนมีทีมนักกีฬาพร้อมแข่งขันแทน

 

  • ชงเลิกเน้นกีฬาพื้นบ้าน

ปัญหาการบรรจุกีฬาพื้นบ้านในซีเกมส์ เพื่อ “เอื้อประโยชน์” ให้แก่เจ้าภาพมีมาอย่างยาวนาน จนทำให้หลายประเทศสมาชิกไม่ค่อยพอใจและไม่อยากส่งนักกีฬาเข้ารวมการแข่งขัน

ทำให้เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะประธานสหพันธ์มนตรีซีเกมส์ ได้เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการฝ่ายกฎและระเบียบว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ในการแก้ไขชนิดกีฬาที่ถูกบรรจุในซีเกมส์ครั้งต่อไป โดยจะเน้นไปในกีฬาที่มีในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก, เอเชียนเกมส์, เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตสเกมส์ และลดกีฬาพื้นบ้านเหลือเพียง 4 ชนิดกีฬาเท่านั้น เพิ่มกีฬาสาธิตเป็น 3 ชนิดกีฬา เพื่อให้โอกาสกีฬาอื่น ๆ อย่าง จานร่อน, ชักเย่อ เข้าสู่การแข่งขันซีเกมส์ โดยจะเริ่มกฎนี้ตั้งแต่ซีเกมส์ครั้งหน้าที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซีเกมส์ครั้งที่ 33 จะมีขึ้นที่ จังหวัด กรุงเทพมหานคร , จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสงขลา  ระหว่างวันที่ 9 – 20 ธ.ค. 2568

สำหรับ กีฬาซีเกมส์ 2023 แฟนกีฬาสามารถรับชมการถ่ายทอดสดผ่านช่อง 5 TV5HD, ช่อง 9 MCOT หมายเลข 30, ช่อง NBT2HD, True ID และ T-Sport กดหมายเลข 7 ซึ่งจะสลับกันถ่ายทอดสดในแต่ละวัน


ที่มา: MatichonNaewna