'อากาศร้อน' vs ร้อนชื้น คนเราทน 'ร้อน' ได้ที่อุณหภูมิกี่องศาฯ ?

'อากาศร้อน' vs ร้อนชื้น คนเราทน 'ร้อน' ได้ที่อุณหภูมิกี่องศาฯ ?

คนเราทน "ร้อน" ในร่างกายได้สูงสุดกี่องศาฯ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีภูมิอากาศ "ร้อนชื้น" ยิ่งทำให้รู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิอากาศภายนอก จริงหรือไม่? หาคำตอบที่นี่!

Key Points:

  • ช่วงนี้ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ของไทยอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 40-42 องศาเซลเซียส ไม่แนะนำให้อยู่กลางแจ้งนานๆ เพราะอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดนำ้ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเสี่ยงเป็น “ฮีทสโตรก” ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต
  • ความสามารถในการทนต่อความร้อนของร่างกายมนุษย์นั้นหากในกรณี อุณหภูมิความร้อนในร่างกาย คนเราทนได้ไม่เกิน 41 ℃
  • ส่วนกรณี อุณหภูมิความร้อนในสภาพแวดล้อมภายนอก คนเราทนได้อยู่ที่ประมาณ 50-60 ℃ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่ความชื้นต่ำ ร่างกายต้องระบายเหงื่อได้ดีด้วย

เมืองไทย "หน้าร้อน" ปีนี้เป็นไปตามที่คาดไว้ อากาศร้อนแรงดั่งเพลิงแผดเผา จากการพยากรณ์อากาศของ “กรมอุตุนิยมวิทยา” ล่าสุด (3 เม.ย. 66) ระบุว่า ช่วงนี้ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ของไทยอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียส และภายในวันที่ 6 เม.ย. นี้ อุณภูมิในไทยร้อนจัดจนแตะถึง 42 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

ดังนั้นในช่วงนี้ไม่ว่าใครก็ไม่อยากอยู่กลางแจ้งนานๆ (และไม่แนะนำให้อยู่กลางแจ้ง) เพราะอาจทำให้ร่างกายร้อนจัด จนเกิดภาวะขาดนำ้ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเสี่ยงเป็นลมแดดหรือ “ฮีทสโตรก” ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

แม้ว่าไทยที่ว่าร้อนนักหนา แต่เมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่น เมืองนูไวซีบ ประเทศคูเวต (ในปี 2021) พบว่า ทำสถิติอุณหภูมิที่สูงที่สุดในโลก อยู่ที่ 53.2 ℃ ซึ่งร้อนกว่าเมืองไทยมาก แต่ทำไมพวกเขาจึงสามารถทนร้อนได้ขนาดนั้น? จริงๆ แล้วคนเราสามารถทนความร้อนได้แค่ไหนกันแน่ ? 

\'อากาศร้อน\' vs ร้อนชื้น คนเราทน \'ร้อน\' ได้ที่อุณหภูมิกี่องศาฯ ?

 

  • ความร้อนในร่างกาย คนเราทนได้ไม่เกิน 41 ℃

เรื่องนี้มีคำอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า ความสามารถในการทนต่อความร้อนของร่างกายมนุษย์นั้นแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ 1) ทนความร้อนจากอุณหภูมิภายในร่างกาย 2) ทนความร้อนจากสภาพอากาศภายนอก

หากพูดถึงกรณีแรก ความสามารถในการทน “ความร้อนภายในร่างกาย” มีรายงานจาก BBC ระบุว่า คนเราสามารถทนอุณหภูมิร้อนในร่างกายได้เพียง 40-41℃ เท่านั้น ตามปกติแล้วอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายคนเราอยู่ที่ 37-38 ℃ แต่เมื่อไหร่ที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนแตะ 39-40 ℃ อาจเกิดจากร่างกายติดเชื้อ หรือ เกิดภาวะ “ฮีทสโตรก” สมองจะสั่งให้กล้ามเนื้อทำงานช้าลง หัวใจเต้นเร็ว หายใจแรง ร่างกายเหนื่อยล้า

ต่อมาหากร่างกายร้อนขึ้นอีกจนแตะที่ 40-41℃ ร่างกายจะอ่อนเพลียจากความร้อนมากขึ้น ร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อออกได้เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปยังผิวหนังหยุดลง และหากอุณหภูมิภายร่างกายสูงกว่า 41℃ ขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มปิดการทำงาน ทำให้ช็อกหรือเป็นลมหมดสติไป เซลล์ภายในร่างกายเสื่อมลง และมีความเสี่ยงที่อวัยวะหลายส่วนจะล้มเหลว จนอาจเสียชีวิตได้

\'อากาศร้อน\' vs ร้อนชื้น คนเราทน \'ร้อน\' ได้ที่อุณหภูมิกี่องศาฯ ?

 

  • ความร้อนจากสภาพอากาศภายนอก คนเราทนได้ 50-60 ℃

ส่วนกรณีที่สอง ความสามารถในการทน “ความร้อนจากสภาพอากาศภายนอก” พบว่า คนเราสามารถทนอุณหภูมิความร้อนในสภาพแวดล้อมได้สูงถึง 50-60 ℃ แต่นั่นต้องมาพร้อมกับความชื้นในอากาศต่ำ และร่างกายต้องสามารถระบายเหงื่อได้อย่างปกติ แม้อุณหภูมิอากาศจะร้อนมาก แต่ถ้าดื่มน้ำในปริมาณเพียงพอ และร่างกายระบายเหงื่อได้ดี ก็จะทำให้คนเราสามารถปรับตัวอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้

แต่มีข้อควรระวัง คือ หากอากาศร้อนภายนอกมาพร้อม “ความชื้นสูง” จะทำให้ร่างกายระบายเหงื่อได้น้อยลง เกิดความร้อนสะสมในร่างกาย จึงยิ่งทำให้คนเรารู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิอากาศจริง ยกตัวอย่างเช่น

- ถ้าอุณหภูมิอากาศ 30 ℃ ประกอบกับมีค่าความชื้นสัมพัทธ์ 55% ระดับความร้อนที่ร่างกายรู้สึกจริงจะเท่ากับ 32 ℃ ถือเป็นผลกระทบความร้อนระดับ “แจ้งเตือน” ส่งผลให้ประชาชนมีอาการเหนื่อยล้าจากความร้อนได้

- ถ้าอุณหภูมิอากาศ 38 ℃ ประกอบกับมีความชื้นสัมพัทธ์ 45% ระดับความร้อนที่ร่างกายรู้สึกจริงจะเท่ากับ 46 ℃ ถือเป็นผลกระทบความร้อนระดับ “อันตราย” ส่งผลให้ประชาชนมีอาการเหนื่อยล้า เพลียแดด เป็นตะคริวแดด และ/หรือ เป็นลมแดด (ฮีทสโตรก) ได้

\'อากาศร้อน\' vs ร้อนชื้น คนเราทน \'ร้อน\' ได้ที่อุณหภูมิกี่องศาฯ ?

 

  • ทำไมยิ่งความชื้นในอากาศสูง ก็ยิ่งรู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิจริง?

“ความชื้นสัมพัทธ์” (Humidity) มีบทบาทสำคัญต่อการระบายความร้อนในร่างกายมนุษย์ผ่านทางเหงื่อ หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน แต่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ ประมาณ 40-45% ร่างกายจะขับเหงื่อให้ระเหยออกมาได้ดี เมื่อมีลมพัดปะทะตัวก็จะรู้สึกเย็นสบายอีกด้วย

แต่หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีมากถึง 80-90% ขึ้นไป ความชื้นที่หนาแน่นระดับนี้ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายเหงื่อออกได้เป็นปกติ แต่กลับทำให้เหงื่อออกเป็นหยดจนเปียกชื้นไปตามตัว อุณหภูมิในร่างกายก็ไม่ลดลง แถมร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้นอีกต่างหาก

มีข้อมูลจาก George Havenith ศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาสิ่งแวดล้อมและการยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Loughborough สหราชอาณาจักร กล่าวผ่าน BBC ว่า ในประเทศแถบร้อนชื้น มีปริมาณความชื้นในอากาศสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถขับเหงื่อของมนุษย์ ถ้าความชื้นสูง ความสามารถในการขับเหงื่อของเราจะลดลงและทำให้เรารู้สึกไม่สบาย ไข้ขึ้นสูง กระสับกระส่าย เหนื่อย อ่อนเพลีย

แต่ถ้าในแถบประเทศที่มีอากาศร้อนและแห้ง เช่น กาตาร์, คูเวต, บาห์เรน แม้อากาศภายนอกจะร้อนมาก แต่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ การที่เหงื่อระบายออกได้ดีจึงช่วยได้ เนื่องจากคนเราสามารถระเหยความชื้นออกจากผิวหนังได้เป็นจำนวนมากนั่นเอง

-----------------------------------------------

อ้างอิง : BBC, QuoraCDC.gov, ThematterScimath.org