หางานใหม่! กูรูแนะ ถ้าอยากได้เงินเดือนขึ้น แบบชนะเงินเฟ้อ ให้ย้ายงานทุก 2 ปี

หางานใหม่! กูรูแนะ ถ้าอยากได้เงินเดือนขึ้น แบบชนะเงินเฟ้อ ให้ย้ายงานทุก 2 ปี

อยากได้เงินเดือนขึ้นแบบทันใจ ทันเงินเฟ้อ  “Job Hopper” เป็นคำตอบ! เฟดแอตแลนตา ชี้คนที่เปลี่ยนงานปีที่แล้ว ได้เงินเดือนเหมาะสมกับ “อัตราเงินเฟ้อ” มากกว่าพนักงานที่อยู่มานาน ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ ควรคุยเรื่องปรับเงินเดือนทุก 6 เดือน และหางานใหม่ทุก 2 ปี เพื่ออัปเงินเดือน แต่! อย่าใจร้อน ให้รองานที่ใช่ รายได้ที่ชอบ เจอแล้วค่อยย้าย

Keypoints:

  • การวิเคราะห์ข้อมูลของเฟดแอตแลนตา เผย พนักงานที่ย้ายงานในปีที่แล้วได้รับเงินเดือนที่เหมาะสมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกว่าพนักงานเก่า
  • การลาออกครั้งใหญ่ ส่งผลให้ แรงงานมีอำนาจเหนือกว่านายจ้าง เนื่องจากนายจ้างต้องให้เงินเดือนสูงขึ้นเพื่อดึงดูดแรงงานมาทำงานด้วย
  • ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้หางานใหม่ทุก 2 ปี เพื่อปรับฐานเงินเดือน

 

ในปีนี้ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากแรงงานจะต้องพยายามรักษาตำแหน่งงานของตนเอาไว้ แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะ ยังต้องเป็นห่วงเรื่อง “ค่าแรง” หรือ “เงินเดือน” ที่ได้รับในแต่ละเดือนด้วยว่า สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสูงหรือไม่ เพราะในขณะที่ข้าวของมีแต่แพงขึ้น ถ้าเงินเดือนขึ้นตามไม่ทัน ย่อมเกิดปัญหาแน่ โดยเฉพาะกับใครที่ “เงินเข้า” กับ “เงินออก” แทบจะพอดีกัน เรียกว่าพร้อมจะติดลบได้ทันทีที่สินค้าขึ้นราคา

 

  • ค่าจ้างของ Job Hopper มากกว่า พนักงานเก่า

อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในรอบ 40% ของสหรัฐฉุดให้ค่าครองชีพขึ้นตามไปด้วย ทำให้ “ค่าจ้างที่แท้จริง” (real wages) หรือรายได้หักลบด้วยอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ของเหล่าแรงงานในปีที่แล้วลดลง 

จากงานวิเคราะห์ชิ้นล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐแห่งแอตแลนตา (Federal Reserve Bank of Atlanta) ด้วยการติดตามการเปลี่ยนแปลงค่ามัธยฐานในการจ่ายรายชั่วโมงแบบปีต่อปี พบว่า 49% พนักงานที่ย้ายงานใหม่เมื่อปีที่แล้ว ได้รับเงินเดือนที่เหมาะสมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่พนักงานที่ทำงานที่เดิมได้รับเงินเดือนที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อเพียง 42% 

นั่นหมายความว่า เหล่าพนักงานที่เปลี่ยนงานบ่อย ๆ หรือ Job Hopper และพนักงานรุ่นใหม่มีโอกาสได้เงินเดือนที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อมากกว่าพนักงานที่อยู่ในบริษัทมานาน

แม้ว่าในปี 2565 “ค่าจ้างที่แท้จริง” ของพนักงานที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้น 38% แต่ก็ยังน้อยกว่าในปี 2562 ถึง 15% ขณะที่พนักงานเจน Z (อายุ 16-24 ปี) ราว 60% ได้รับการปรับขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในปีที่แล้ว

ข้อมูลชุดนี้ไปในทิศทางเดียวกันกับรายงานการวิเคราะห์เงินเดือนของชาวสหรัฐ จัดทำโดย ADP บริษัทให้บริการการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ประจำเดือนก.ย. 2565 พบว่า เงินเดือนโดยเฉลี่ยของพนักงานที่เปลี่ยนงานเมื่อปีที่แล้วเพิ่มถึง 16.1% ซึ่งสูงกว่าเกือบสองเท่าของเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นของพนักงานเก่าที่อยู่กับบริษัทมานาน

การลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation) ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีที่แล้ว เป็นปัจจัยที่ทำให้เหล่าแรงงานที่หางานใหม่ “ถือไพ่เหนือกว่า” เหล่านายจ้าง เมื่อบริษัทขาดแรงงาน ทำให้นายจ้างไม่มีทางเลือก ต้องเสนอเงินเดือนที่สูงเพื่อดึงดูดให้เหล่าแรงงานมาทำงานด้วย (ขณะที่พนักงานเก่าได้ค่าจ้างเท่าเดิม หรือปรับขึ้นเล็กน้อย) 

การเพิ่มเงินเดือนของพนักงานใหม่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น บริษัทต้องปรับราคาสินค้าและบริการทั้งหลาย กระทบไปถึงอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นตลอดทั้งปีที่ผ่านมา 

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจะเริ่มลดลง เป็นผลมาจากเทรนด์การลาออกครั้งใหญ่ในสหรัฐเริ่มจะซาลง แต่เงินเฟ้อยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากผู้คนจำนวนมากยังคงได้งานที่มีรายได้ดีอยู่

เลล เบรนาร์ด ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับสูงของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่ผ่านมา ขณะที่เธอยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานเฟดว่า “ค่าจ้างดูเหมือนจะไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนอัตราเงินเฟ้อ แบบ wage–price spiral ที่เกิดขึ้นในปี 1970 เพราะการเติบโตของค่าจ้างอยู่ในระดับปานกลาง”

สำหรับ wage–price spiral คือ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายความสัมพันธ์ของการเพิ่มค่าแรงและราคาสินค้าที่สูงขึ้น  ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น แรงงานต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น เมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้นต้นทุนก็สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นอีก ทำให้ต้องเพิ่มค่าแรงอีก โดยจะเป็นไปในลักษณะวนเวียนไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด จนนำไปสู่ปัญหาเรื้อรังของเงินเฟ้อที่ยากจะแก้ไข

 

  • ย้ายงาน อย่าใจร้อน! ให้รองานที่ใช่ รายได้ที่ชอบ

อย่างไรก็ตาม แม้แรงงานที่เปลี่ยนงานจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมของพนักงานที่ได้ค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นในปี 2565 ต่ำกว่าปี 2562 ถึง 12% แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อเงินเดือนของพนักงานทั้งตลาดแรงงานสหรัฐ

ดังนั้นสำหรับคนที่กำลังหางานอยู่ ก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ เพราะข้อมูลดังกล่าวชี้ชัดว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะย้ายงานแล้วได้ค่าจ้างที่ดีกว่า หรือแซงหน้าเงินเฟ้อได้เสมอไป  ผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือนว่าอย่างรีบเลือกงานเพียงเพราะมีข้อเสนอที่ “พอรับได้” แต่ควรหางานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจองานที่รักและมีข้อเสนอที่ดี

อลิสัน กรีน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพ เปิดเผยกับสำนักข่าว Fortune ถึงปรากฏการณ์ Job Hopper ในปีที่แล้วว่า “ในตอนนี้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะลาออกจากงานเพราะบริษัทจัดการกับโควิด-19 ได้ไม่ดี หรือ ไม่ยอมปรับตัวกับการทำงานระยะไกล และนายจ้างเริ่มไม่สนใจระยะการทำงานในแต่ละที่ของพนักงาน ทำให้ตอนนี้แรงงานมีอำนาจเหนือกว่านายจ้างแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำให้พูดคุยกับนายจ้างเรื่องปรับขึ้นเงินเดือนทุก 6 เดือน ซึ่งจะทำให้โอกาสการขึ้นเงินเดือนนั้นเป็นไปได้มากขึ้น

วิเวียน ตู นักเทรดหุ้นและเจ้าของช่อง TikTok ชื่อ “Your Rich BFF” กล่าวว่า การหางานใหม่อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเงินที่ฉลาดที่สุดในปีนี้

“คุณควรจะเปลี่ยนงานทุก 2 ปี เพื่อให้ได้ค่าจ้างเพิ่ม 25% หรืออาจจะมากถึง 10,000 ดอลลาร์ มันง่ายกว่าการเก็บหอมรอมริบ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีเงินจำนวนนั้นมาก คุณจะมีชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อคุณมีงานที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าและเหมาะสมกับความสามารถของคุณ”

เพราะฉะนั้น แรงงานควรใช้โอกาสที่ตนเองกำลังได้เปรียบนี้ เพื่อยื่นข้อเสนอขอปรับเงินเดือนให้เป็นไปตามที่ต้องการ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบของความเป็นไปได้และความสามารถของตน และที่สำคัญคือ.. อย่าใจร้อน!


ที่มา: Fortune, Yahoo