ฮาวทูรับมือภาวะ "เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย" เป็นที่ปรึกษาอย่างไรให้ใจไม่พัง?

ฮาวทูรับมือภาวะ "เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย" เป็นที่ปรึกษาอย่างไรให้ใจไม่พัง?

เห็นใจคนอื่นน่ะดี แต่บางทีก็เหนื่อย! ฮาวทูรับมือภาวะ "เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย" ทำอย่างไร? เมื่อการเป็น "ที่ปรึกษา" ทำให้เหนื่อยล้าจากการเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้จริง! โดยภาวะดังกล่าวเรียกว่า "Compassion Fatigue"

Key Point:

  • การเป็นที่ปรึกษาในทางวิชาชีพ เช่น จิตแพทย์ นักบำบัด หรือการเป็นผู้นำในระดับองค์กรที่ต้องแก้ปัญหาและให้คำปรึกษาผู้อื่นเป็นประจำ เช่น ผู้จัดการ หัวหน้างาน มีความเสี่ยงที่จะประสบภาวะ "Compassion Fatigue" หรือ "เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย
  • อาการที่บ่งชี้ถึงภาวะ “เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย” ได้แก่ มีความเหนื่อยล้าสะสมทั้งทางร่างกายและจิตใจ, มีอารมณ์ด้านลบ, เครียด, นอนไม่หลับ, ขาดความเป็นส่วนตัว, รู้สึกโดดเดี่ยว, ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ
  • วิธีรับมือและป้องกันคือ เมื่อผู้อื่นแบ่งปันความเจ็บปวดและปัญหากับคุณ ให้มุ่งเน้นที่การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างจริงจังเพื่อทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้น โดยตัดเรื่องอารมณ์ออกไป ก็จะช่วยป้องกันผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุภาพจิตใจได้

หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ, ผู้จัดการ, หัวหน้างาน อาจเคยรู้สึกว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” ของคุณเริ่มลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คุณเคยมีพลังที่จะสนับสนุนทีม ช่วยรับฟังปัญหาของแต่ละคน และทำให้พวกเขาก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคในการทำงานไปได้ แต่แล้ววันหนึ่ง.. พลังงานที่ดีเหล่านั้นกลับค่อยๆ หมดไป ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

จริงๆ แล้วการช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังเจ็บปวด หรือให้คำปรึกษาคนอื่น ถือเป็นการตอบสนองที่ดีทางสังคม แต่หากต้องทำเป็นระยะเวลานานๆ ต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ให้คำปรึกษาได้ ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “Compassion Fatigue” หรือ ภาวะ “เหนื่อยล้าจากการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นคนคอยให้คำปรึกษาผู้อื่น เช่น แพทย์, นักบำบัด, ผู้ดูแลผู้ป่วย, ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ฯลฯ

ฮาวทูรับมือภาวะ \"เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย\" เป็นที่ปรึกษาอย่างไรให้ใจไม่พัง?

สำหรับอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะ “เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย” ได้แก่ มีความเหนื่อยล้าสะสมทั้งทางร่างกายและจิตใจ, มีอารมณ์ด้านลบ, สูญเสียความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น, เครียด, นอนไม่หลับ, ขาดความเป็นส่วนตัว, รู้สึกว่าไม่เท่าเทียมกับผู้อื่นในแง่ความสัมพันธ์, ความพึงพอใจในการทำงานลดลง, ความสามารถทางสติปัญญาลดลง, การตัดสินใจบกพร่อง, รู้สึกโดดเดี่ยว, สูญเสียขวัญกำลังใจ, ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

Heidi Allespach นักจิตวิทยา จาก Miller School of Medicine แห่งมหาวิทยาลัยไมอามี อธิบายว่า ผู้ที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาคนอื่น บางครั้งสามารถรู้สึกมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นมากเกินไป จนเมื่อแบกรับภาระทางอารมณ์ไม่ไหว ก็จะพบว่าตนเองเริ่มมึนงงกับความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย

โดยเฉพาะในช่วงโควิดระบาดหนัก 2-3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าภาวะเห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ กับแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักบำบัดเท่านั้น แต่พบว่าเกิดขึ้นบ่อยในสังคมการทำงานของ "พนักงานออฟฟิศ" ทั่วไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น

1. พนักงานขอให้ผู้นำเพิ่มความเห็นอกเห็นใจเป็น 2 เท่า

เพื่อสนับสนุนสมาชิกในทีมให้ฟื้นตัวจากความเศร้าโศก ความสูญเสีย และสุขภาพจิตที่ตกต่ำในช่วงโควิด (บางคนสูญเสียพ่อแม่/ญาติ/เพื่อน จากโควิด-19) โดยพวกเขามักจะถูกขอร้องให้มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น และแบกรับภาวะทางอารมณ์รูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน (เช่น ลูกน้องขอลางานเพื่อทำใจเรื่องการสูญเสีย)

ในขณะเดียวกัน ผู้นำก็ต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของธุรกิจในยุคโควิดที่มีความผันผวนมากเป็นพิเศษ ต้องมีภาระงานที่มากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง เหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจของหัวหน้างาน 

ฮาวทูรับมือภาวะ \"เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย\" เป็นที่ปรึกษาอย่างไรให้ใจไม่พัง?

 

2. พนักงานคาดหวังต่อผู้นำสูง

แม้ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดโควิดได้บรรเทาเบาบางลงแล้ว แต่พนักงานก็ยังมีความคาดหวังสูงกับผู้นำว่าจะสามารถเข้าใจและดูแลความต้องการของพวกเขาได้  เช่น พวกเขาคาดหวังให้ผู้จัดการที่มีความเห็นอกเห็นใจ และสนับสนุนให้สถานที่ทำงานเอื้อต่อสุขภาพจิตดีและยั่งยืน และพร้อมที่จะลาออกเมื่อความคาดหวังเหล่านี้ไม่ได้รับการเติมเต็ม

ฮาวทูรับมือภาวะ \"เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย\" เป็นที่ปรึกษาอย่างไรให้ใจไม่พัง?

อย่างไรก็ตาม หากองค์กรและผู้นำสามารถตอบโจทย์ความต้องการของวัยทำงานหรือมนุษย์ออฟฟิศได้ เรื่องภาวะเห็นใจจนเหนื่อยก็คงไม่เป็นปัญหาในระยะยาว แต่ถ้ารู้สึกว่ามีการเรียกร้องให้เห็นใจที่มากเกินไป จนเกินกว่าที่ผู้นำอย่างคุณจะรับไหว ก็มีวิธีรับมือและป้องกันไม่ให้ภาวะ Compassion Fatigue เกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยมีคำแนะนำดังนี้

1. ดูแลตนเองให้สมดุล เริ่มต้นจากการ “นอนหลับ” ให้เพียงพอ

การดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เช่น เปลี่ยนเวลานอนเร็วขึ้น อาจปิดไฟเร็วขึ้น 15 นาที หรือย้ายโทรศัพท์จากโต๊ะข้างเตียงไปไว้ไกลๆ เป็นการหยุดตัวเองไม่ให้เผลอเล่นมือถือยาวๆ จนดึกดื่น เพื่อให้นอนหลับพักผ่อนได้มากขึ้น นอกจากนี้ก็ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

2. พักผ่อนด้วยการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่งาน

ใช้เวลากับคนที่คุณห่วงใย เช่น ไปทานอาหารกับครอบครัว ไปแฮงเอาท์กับเพื่อนสนิท ทำงานอดิเรกที่คุณชื่นชอบ และการไปเที่ยวพักผ่อนบ้างเป็นครั้งคราว

3. พักผ่อนระหว่างวันทำงานก็เป็นสิ่งที่ทำได้!

มีวิธีเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณสามารถดูแลตัวเองได้แม้ในวันทำงานที่ยุ่งที่สุด เช่น แบ่งเวลาออกไปเดินเล่นข้างนอกในมื้อเที่ยง หรือการพัก 10 นาที ระหว่างประชุมยาวๆ การแบ่งเวลาพักผ่อนสั้นๆ เหล่านี้ สามารถช่วยเติมพลังระหว่างวันและจัดการความเครียดให้ลดลงได้ คล้ายกับการฝากเงินในบัญชีธนาคาร การดูแลตนเองก็สามารถค่อยๆ เติมได้อย่างยืดหยุ่นเช่นกัน

ฮาวทูรับมือภาวะ \"เห็นใจคนอื่นจนเหนื่อย\" เป็นที่ปรึกษาอย่างไรให้ใจไม่พัง?

4. ฝึกความเห็นอกเห็นใจตนเอง

ความเห็นอกเห็นใจตนเองเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อคุณพบกับความพ่ายแพ้หรือความท้าทาย นี่เป็นทักษะง่ายๆ แต่กลับทำยากสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะมักเข้าใจผิดไปว่าการเห็นใจตัวเอง เป็นเรื่องของความเอาแต่ใจ ทำให้อ่อนแอ และบั่นทอนความสำเร็จของตน

แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า มันไม่เป็นเช่นนั้น! ในทางกลับกันความเห็นอกเห็นใจตนเองทำให้คุณเป็นผู้นำที่ดีขึ้น มีความฉลาดทางอารมณ์ที่สูงขึ้น และสามารถสงบสติอารมณ์ภายใต้ความกดดันได้ดี ลดความเครียด ลดความเสี่ยงซึมเศร้า อีกทั้งยังช่วยให้คุณรับมือกับข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นของการเป็นผู้นำในยุคปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น

5. ต้องปกป้องอารมณ์และจิตใจของตนเอง

แม้ว่าการเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้ และการที่จะไม่แสดงความเห็นใจขณะที่พวกเขาเจ็บปวดเป็นเรื่องทำได้ยาก แต่ก็มีแนวโน้มที่คุณจะซึมซับเอาอารมณ์ด้านลบของพวกเขาเข้ามาด้วย ยืนยันจากงานวิจัยเรื่อง “การปฏิบัติของผู้นำเพื่อตอบโต้การระบายในที่ทำงาน” ที่เผยแพร่ใน Personnel Psychology ระบุว่า

“การฟังคนอื่นระบายในที่ทำงาน ไม่เพียงแต่นำไปสู่อารมณ์ด้านลบในตัวผู้นำที่เป็นฝ่ายรับเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะปฏิบัติต่อผู้อื่นในทางที่ผิดในภายหลังด้วย”

ดังนั้น คำแนะนำคือ เมื่อผู้อื่นแบ่งปันความเจ็บปวดและปัญหากับคุณ ให้มุ่งเน้นที่การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างจริงจังเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยตัดเรื่องอารมณ์ออกไป การตอบสนองแบบนี้ จะช่วยป้องกันคุณจากผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุภาพจิตใจได้ เพราะมันนำไปสู่การรับรู้ความเห็นอกเห็นใจในเชิงเหตุผล มากกว่าการมีอารมณ์ร่วมไปกับพวกเขาด้วยนั่นเอง

-------------------------------------

อ้างอิง : Harvard Business reviewHarvard Business review2Personnel PsychologyApa.org