“ภาษาเกาหลี” ขึ้นแท่นภาษาเติบโตเร็วที่สุด คนแห่เรียน รับกระแส “เกาหลีฟีเวอร์” แพร่ทั่วโลก

“ภาษาเกาหลี” ขึ้นแท่นภาษาเติบโตเร็วที่สุด คนแห่เรียน รับกระแส “เกาหลีฟีเวอร์” แพร่ทั่วโลก

พลังแห่ง “K-POP” หรือ “Korean Wave” ดันให้ “ภาษาเกาหลี” ขึ้นแท่นหนึ่งในภาษาที่มีคนเรียนและเติบโตรวดเร็วมากที่สุดในโลก แซงหน้า “ภาษาจีน” ที่เคยได้รับความนิยมและจะเป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุด

จากการรายงานประจำปี 2565 ของ Duolingo แอปพลิเคชันเรียนภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก ระบุว่า “ภาษาเกาหลี” มีจำนวนคนเรียนมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของแอป และมีคนเรียนมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย อินโดนีเซีย และปากีสถาน โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ที่มีคนเรียนภาษาเกาหลีผ่านแอปมากที่สุดเป็นอันดับ 1

ขณะที่ “ภาษาจีน” ที่เคยถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นภาษากลางในการดำเนินธุรกิจ และเป็นภาษาที่มีคนพูดมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชากรจีนมีจำนวนมาก) กลับอยู่ในอันดับที่ 8 ของภาษาที่มีคนเรียนมากที่สุดผ่านแอปพลิเคชัน Duolingo ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าภาษาเกาหลี

ทำให้ภาษาเกาหลีกลายเป็นภาษาเอเชียที่มีคนเรียนผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจาก “ภาษาญี่ปุ่น” เท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการเติบโตของภาษาเกาหลีนั้นเกิดขึ้นจาก เป็นเพราะ การแพร่หลายทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ที่เรียกว่า "ฮันรยู" (Hallyu) หรือ Korean Wave ผ่านผลงานต่าง ๆ ในสื่อบันเทิงทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์ และเพลง “K-POP” ที่ได้รับความนิยมระดับสากลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มให้ความสำคัญและส่งออกวัฒนธรรมมาตั้งแต่ช่วงยุค 2000 ตั้งแต่ สื่อบันเทิง K-POP ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ความงาม แฟชั่น และอาหาร ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ ระดับแนวหน้าของโลก และได้รับความนิยมจนในปี 2564 พจนานุกรมภาษาอังกฤษของ อ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) ต้องบรรจุคำศัพท์ภาษาเกาหลีมากกว่า 20 คำลงในพจนานุกรม ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารที่ได้รับความนิยม อย่าง “บุลโกกิ” (bulgogi) “คิมบับ” (kimbab) “จับแช” (japchae)  ตลอดจนคำศัพท์ที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ ในวัฒนธรรมเกาหลี  เช่น “ฮันบก” (hanbok) ชุดประจำชาติของเกาหลี “มันฮวา” การ์ตูนเป็นเล่มของเกาหลี “เทควันโด” (taekwondo) ศิลปะการต่อสู้ของเกาหลี 

ตลอดจนคำศัพท์ในชีวิตประจำวันที่พบเห็นได้ตามซีรีส์เกาหลี อาทิ “อปป้า” (oppa) ใช้เรียกพี่ชาย  “ออนนิ” (unni) ใช้เรียกพี่สาว และ “นูนา” (noona) เรียกน้องสาว และคำศัพท์ที่ใช้ในวงการ K-POP ทั้ง “ม็อกบัง” (mukbang) การไลฟ์กินอาหาร “แอ็คโย” (aegyo) การทำท่าทางน่ารัก หรือแอ๊บแบ๊ว “ไฟต์ติ้ง” (fighting) การพูดให้กำลังใจ และ “สกินชิพ” การสัมผัสร่างกายกันอย่างใกล้ชิด 

สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หรือ OUP (Oxford University Press) ผู้จัดทำพจนานุกรมดังกล่าวระบุในแถลงการณ์ว่า “ในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในจุดสูงสุดของกระแสความนิยมของวัฒนธรรมเกาหลี”

ซอ จูวอน ผู้อำนวยการโครงการภาษาเกาหลีแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า “การรับรู้ของเกาหลีในฐานะชาติหนึ่ง วัฒนธรรมและสังคมเกาหลี และภาษาเกาหลีได้เปลี่ยนไปในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่าทันสมัย ล้ำหน้า และเป็นที่ต้องการของตลาด”

  • จำนวนคนเรียนเพิ่มขึ้น

เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่การเรียนภาษาเอเชียตะวันออกในต่างประเทศมีเพียงภาษาจีนกลางและภาษาญี่ปุ่นเท่านั้นที่ได้รับความนิยม แต่แล้วช่วงเวลาที่แสนยาวนั้นก็ได้เปลี่ยนไป เมื่อวงการ K-POP สามารถตีตลาดต่างประเทศแตก ตั้งแต่ความสำเร็จของเพลง “Gangnam Style” ของ Psy ในปี 2555 ที่เป็นเหมือนการเปิดประตูบานแรกให้คนทั่วทั้งโลกหันมาสนใจ K-POP 

ก่อนจะตามมาด้วย กระแสความนิยมของ “BTS” ที่ขึ้นแท่นเป็นบอยแบนด์อันดับ 1 ของโลก ผู้สร้างสถิติมากมายนับไม่ถ้วน แบบที่ไม่มีใครฉุดได้ และยิ่งทำให้กระแสเกาหลีฟีเวอร์ทั่วโลกแรงยิ่งขึ้นเมื่อภาพยนตร์ “Parasite” (2562) สามารถคว้ารางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมได้สำเร็จ ส่วน “Squid Game” (2564) ซีรีส์ที่โด่งดังเป็นพลุแตก จนกลายเป็นซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดของ Netflix สานต่อกระแสวัฒนธรรมเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี ทำให้วัฒนธรรมการละเล่นและอาหารเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

เมื่อได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ความต้องการเรียนและเข้าใจในภาษาเกาหลีก็มากขึ้นตามไปด้วย จากการวิเคราะห์ของสมาคมภาษาสมัยใหม่ (Modern Language Association) พบว่า จำนวนนักเรียนระดับอุดมศึกษาที่เข้าเรียนในชั้นเรียนภาษาเกาหลีในสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 5,211 คนในปี 2545 เป็นเกือบ 14,000 คนในปี 2559 ทั้งที่ภาษาเกาหลีนั้นถูกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ จัดให้เป็น “ภาษาที่ยากเป็นพิเศษ” สำหรับผู้พูดภาษาอังกฤษ และต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ย 88 สัปดาห์การเรียนเพื่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จูวอน กล่าวว่า ความสนใจในภาษาเกาหลีนั้นเพิ่มขึ้นครั้งแรกช่วงปี 2558 แต่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรภาษาเกาหลีในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเพิ่มขึ้น 50% จากปีการศึกษา 2561-2564

แตกต่างจากภาษาจีนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี 2545 ถึง 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมากและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ความนิยมเรียนภาษาจีนเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2559 ตามรายงานของสมาคมภาษาสมัยใหม่ เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่กับสหรัฐ ตลอดจนภาพลักษณ์ของจีนนั้นไม่ค่อยดีในสายตาชาติตะวันตก ซึ่งภาพลักษณ์ของแต่ละประเทศนั้นมีผลต่อการเลือกเรียนภาษาของประเทศนั้น ๆ ของนักเรียนในสหรัฐ

รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่เพียงแต่ต้องการส่งออกแค่วัฒนธรรมเท่านั้น แต่ภาษาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่รัฐบาลผลักดัน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีได้ส่งครูไปต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทย เพื่อสอนภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษา ผ่านการทำ MOU ระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้ก่อตั้งสถาบันภาษาเกาหลีเซจง (King Sejong) ได้เปิดให้บริการแล้ว 244 แห่งทั่วโลก

ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของรัฐและกระทรวงศึกษาธิการที่จะรักษาความสนใจของภาษาเกาหลีในต่างประเทศ ซึ่งได้รับความนิยมไปทั่วโลกจาก ฮันรยู ซึ่งในระยะยาวหลักสูตรเหล่านี้จะช่วยสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเกาหลีในพื้นที่ต่าง ๆ และยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

 

  • จากความชอบสู่การทำอาชีพ

นักเรียนแต่ละคนมีเหตุผลในการเลือกเรียนภาษาเกาหลีที่แตกต่างกัน สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางชาติพันธุ์หรือทางภูมิศาสตร์ มักจะเริ่มเรียนภาษาเกาหลีเพราะการติดตามวงการ K-POP เพื่อต้องการสื่อสารกับศิลปินหรือรับชมสื่อบันเทิงให้ได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับนักเรียนที่มีเชื้อสายเกาหลี จะเลือกเรียนภาษาเกาหลีในเชิงบูรณาการและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ต้องการใช้ชีวิตในเกาหลีใต้ เพื่อเชื่อมต่อกับชุมชนและครอบครัวให้ดีขึ้น หรือเพื่อสำรวจอัตลักษณ์เกาหลีของตนเอง

อี จียอง ผู้ช่วยอาจารย์ประจำภาควิชาเอเชียตะวันออกศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ระบุว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้ง Instagram และ TikTok เป็นเครื่องมือชั้นดีที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ และเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากที่ทำให้จำนวนภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จียองตั้งข้อสังเกตว่านักเรียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เรียนภาษาเกาหลีเพื่อหางานทำในเกาหลีใต้ หรือที่บริษัทเกาหลีที่มาเปิดบริษัทในประเทศของตน ตัวอย่างเช่น SM Entertainment บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้กำลังขยายธุรกิจสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่สิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน GS25 ร้านสะดวกซื้อของเกาหลี ได้เปิดกิจการที่เวียดนามมากกว่า 180 แห่ง และเตรียมเปิดตัวในมาเลเซียภายในปีนี้

จากรายงานของ Carnegie Endowment for International Peace คลังความคิดระหว่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด พบว่า นักเรียนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คิดเป็นจำนวนนักเรียนต่างชาติมากกว่า 40% ในเกาหลีใต้ และคิดเป็น 30% ของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้

เจฟฟรีย์ ฮอลลิเดย์ ผู้สอนภาษาเกาหลีด้วยภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) ในกรุงโซล กล่าวว่า นักเรียนประมาณ 40% ในคลาสเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เป็นแฟน K-POP โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับชั้นปริญญาตรีชาวสหรัฐ ซึ่งจะอยู่ในโซลเพียงไม่กี่ภาคการศึกษาเท่านั้น ต่างจาก นักศึกษาต่างชาติระดับบัณฑิตศึกษาของเขา ที่ส่วนใหญ่มาจากจีนและเวียดนาม ซึ่งจะเรียนที่เกาหลีจนจบการศึกษาและตั้งใจจะหางานทำที่เกาหลีใต้

“สมัยที่ผมเรียนไม่มีใครเลือกเรียนภาษาเกาหลีเลย มีผมคนเดียวที่ไม่มีเชื้อสายเกาหลีที่เลือกเรียนภาษาเกาหลี มันเลยเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ตอนนี้คนหันมาให้ความสนใจเรียนกันมากขึ้น และพวกเขาจริงจังกับการเรียนมาก เขามาที่นี่เพื่อเรียนภาษาเกาหลีจริง ๆ” ฮอลลิเดย์กล่าว

อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลียังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเพลงของ “NewJeans” วงเกิร์ลกรุ๊ปเจน 4 ที่มีติดชาร์ตทั่วโลก อีกทั้งซีรีส์เกาหลียังสามารถเข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะมีผู้ให้สตรีมมิงวิดีโอหลายรายซื้อลิขสิทธิ์ รวมถึงผลิตออกมาเป็นออริจินัล คอนเทนต์ ดังนั้นภาษาเกาหลียังคงมีศักยภาพให้เติบโตขึ้นได้อีก นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์” ของประเทศตนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล


ที่มา: CNNYNA