รู้จัก “Mask Fishing” รู้สึกดีเมื่อ "ใส่หน้ากาก" แต่กลับไม่มั่นใจในยุคโควิด

รู้จัก “Mask Fishing” รู้สึกดีเมื่อ "ใส่หน้ากาก" แต่กลับไม่มั่นใจในยุคโควิด

การสวม “แมสก์” หรือ “หน้ากากอนามัย” ช่วยเพิ่มเสน่ห์บนใบหน้าให้กับใครหลายคนได้ดีทีเดียว ในขณะเดียวกันก็อาจสะท้อนถึงความไม่มั่นใจของพวกเขาด้วย ชวนเจาะลึกเทรนด์ฮิต Mask Fishing ทำไมการสวมหน้ากากอนามัยช่วยให้หนุ่มสาวบางคนตกเหยื่อได้เพียบ!

โควิด-19 คือตัวการร้ายกาจอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้คนต้องยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อการเลือกซื้อไอเท็มจำเป็น อย่าง “หน้ากากอนามัย (Mask)” ของใช้ชิ้นนี้ได้ยึดครองพื้นที่ครึ่งล่างของใบหน้าเราไว้ แม้จะรู้สึกอึดอัด หายใจไม่ค่อยสะดวกในช่วงแรกๆ ที่ได้สวมใส่ แต่ในทางกลับกันใครบางคนกลับรู้สึกดีมากขึ้นที่ได้ปกปิดหน้าตาบางส่วนของพวกเขาเอาไว้ จนเกิดเป็นเทรนด์สุดฮิตใน Tiktok ที่เรียกกันว่า  “Mask Fishing”  


 

  • ปรากฏการณ์ “Mask Fishing” ที่พ่วงมาด้วยความดูดี

สำหรับวลี “Mask Fishing” หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ผู้คนรู้สึกว่าพวกเขานั้นดูดีขึ้น เมื่อสวมหน้ากากอนามัย ทั้งยังถูกใช้ในบริบทที่ว่า ความดูดีเหล่านั้นสามารถ “Fishing (ตกเหยื่อ)” ได้อีกด้วย กล่าวคือ ทำให้คนสนใจพวกเขามากขึ้นได้ หรืออาจถึงขั้นชื่นชอบและพากันไปออกเดทเลยทีเดียว เทรนด์นี้เป็นกระแสมาจากชาว Tiktok ซึ่งให้ความสนใจกับคำถามที่ว่า “ฉันเข้าข่าย Mask Fishing หรือเปล่านะ” 

และแน่นอนว่าในโลกโซเชียลมักจะมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย จึงสะท้อนให้เราเห็นมุมมองที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ ประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกัน
 

  •  Mask Fishing ที่เผยให้เห็นความไม่มั่นใจ

ในบางครั้งผู้คนรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเมื่อได้สวมแมสก์ แต่ในทางกลับกันบางครั้งอาจรู้สึกแย่ด้วยเช่นเดียวกัน ในบางสถานการณ์ที่จำเป็นต้องถอดแมสก์ออก เช่น ต้องทานอาหารกลางวันร่วมโต๊ะกับเพื่อนๆที่ทำงาน  เมื่อเจาะลึกลงไปถึงเหตุผลว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงมั่นใจมากขึ้นเมื่อสวมแมสก์พบว่า พวกเขาเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองอาจเพราะรู้สึกกังวลต่อสายตาที่มองมา และความคาดหวังจากคนอื่นๆ ว่าพวกเขาต้องมีหน้าตาดูดี ทำให้พวกเขากังวลจนรู้สึกกลัวที่จะถอดแมสก์ออก

เรื่องนี้ถูกเปิดเผยจากบทสัมภาษณ์ของ Nytimes ที่สะท้อนจากนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยพวกเขาหลายๆ คนตั้งข้อสงสัยว่า “Mask Fishing ไม่ใช่เพียงเรื่องตลกในโลกโซเชียลเท่านั้น” 

Tanushri Sundaram หนึ่งในตัวแทนนักเรียน กล่าวว่า “ฉันค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับการถอดหน้ากาก เพราะถ้าคนเห็นฉันในเวอร์ชั่นที่ต่างออกไปจะเป็นยังไง ฉันเครียดมากเเละกลัวที่จะถูกมองว่าสวยน้อยลงจากที่เคยเป็น” บทสัมภาษณ์สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่มั่นใจกับการเผยให้เห็นใบหน้าที่แท้จริงภายใต้หน้ากากนั้น

ในอีกมุมหนึ่งคือ ความไม่มั่นใจที่จะเผยหน้าตาตัวเองนั้นอาจถูกผูกโยงไปถึงประเด็น “Low self esteem” ที่ผู้คนมักจะมีความวิตกกังวลและหดหู่ เนื่องจากพวกเขารู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง บางรายอาจถึงขั้นขาดการนับถือตัวเอง และมองว่าตัวเองไม่มีคุณค่าอะไรเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่ใช่น้อย  

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในลักษณะดังกล่าว หากมองในภาพรวมจะพบว่า ไม่ว่าคุณจะสวมแมสก์หรือไม่สวมแมสก์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญเลยสักนิด เพราะทุกคนก็ยังเป็นคนเดิมอยู่เมื่อถอดแมสก์ออก 

  • ประโยชน์ด้านสุขภาพที่มากกว่าความมั่นใจ

แต่สำหรับบางคนแล้วพวกเขาแคร์เรื่องสุขภาพมากกว่า ไม่ได้เกี่ยวกับ “Low self esteem” หรือ “Mask Fishing” เลยสักนิด เพราะแม้ว่าสถานการณ์โควิด จะดีขึ้นมากแล้วในทุกวันนี้ แต่ผู้คนก็ยังคงเคยชินกับการสวมหน้ากากอนามัยไว้อยู่ พวกเขามองเห็นประโยชน์และยังสวมมันไว้เหมือนเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่ง  เพราะมันช่วยป้องกันมลพิษและเชื้อโรคทั้งจากสิ่งแวดล้อมภายนอก รวมถึงเชื้อโรคที่แพร่กระจายจากคนอื่นๆ อีกด้วย

ลองสังเกตง่ายๆ เวลาคุณขึ้นรถเมล์แบบพัดลม (ที่เปิดหน้าต่างตลอดทั้งคัน) ไปทำงาน และได้ที่นั่งริมหน้าต่าง ไม่อยากจะนึกภาพว่า ควันสีดำๆ บนท้องถนนจะส่งผลร้ายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกายขนาดไหน และรู้หรือไม่ว่า สำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพ พวกเขามองว่าแมสก์สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ถึง 80% ซึ่งการสวมใส่แมสก์ทุกวันเมื่อออกนอกบ้านนั้น ย่อมดีกว่าการไม่สวมแน่ๆ แต่ถึงอย่างนั้นแล้วใช่ว่ามันจะมีแต่ข้อดีเท่านั้น

  • ข้อจำกัดที่ควรรู้เกี่ยวกับแมสก์

แม้ว่าหน้ากากอนามัยจะถูกมองว่ามีประโยชน์สุดๆ ในยุคที่โควิดระบาดอยู่นานหลายปีมาจนถึงในตอนนี้ แต่หน้ากากสี่เหลี่ยมหลากสีเหล่านี้ ก็มีข้อจำกัดของมันอยู่ อาทิ

1.ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้เต็ม 100%

หน้ากากอนามัยสามารถป้องกันเชื้อโรคได้มากถึง 80 % ก็จริง แต่อย่างไรก็ตามเชื้อโรคก็ยังแพร่กระจายได้ เราควรเลือกป้องกันด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย

2.เชื้อโรคทุกชนิดไม่ได้กลัวหน้ากากอนามัย

ถึงแม้ว่าหน้ากากอนามัยสามารถป้องกันเชื้อไวรัส และเชื้อโรคได้ในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ใส่หน้ากากอนามัยแล้วจะไม่ป่วยแน่นอน เพราะบางคนใส่หน้ากากอยู่ตลอดก็ยังติดโควิดได้เลย

3.ใช้แล้วทิ้ง สิ้นเปลืองทรัพยากร

ยิ่งไปกว่านั้นหน้ากากอนามัยเป็นของใช้ประเภทที่ใช้แล้วทิ้งเลย จึงมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ใช้ทรัพยากรโดยสิ้นเปลืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

สุดท้ายนี้ หนุ่มสาวชาวออฟฟิศลองสำรวจตัวเองดูสักนิด ว่าเข้าข่าย “Mask Fishing” หรือเปล่า? แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ความมั่นใจในตัวเองก็เป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี เพราะมันมีประโยชน์มากกว่าที่คิด คุณอาจจะมีความสุขมากขึ้น สามารถพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานได้อย่างสบายใจมากขึ้น 

 

 

 

 

 

อ้างอิง ; ThesciencesurveyNationalworldnytimesbcgavel

https://www.psychologytoday.com/us/blog/shift-mind/201307/low-self-esteem-missed-diagnosis