"ปีใหม่" ไม่เอา "ควันบุหรี่" กลับเข้าบ้าน

"ปีใหม่" ไม่เอา "ควันบุหรี่" กลับเข้าบ้าน

"ควันบุหรี่มือสอง" มัจจุราชในบ้าน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกมากถึงปีละ 65,000 คน ปีใหม่นี้ชวนทุกบ้านตั้งปณิธาน "เลิกบุหรี่" เป็นของขวัญแทนความห่วงใยให้ตัวเองและครอบครัว

ผลสำรวจจากองค์การอนามัยโลกปี 2562 พบทั่วโลกมีเด็ก 65,000 คน เสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี มีสาเหตุจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากการได้รับ ควันบุหรี่มือสอง ขณะที่ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ยังสูบบุหรี่ในบ้าน 23.7% ในจำนวนนี้ 67.5% มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ในบ้านทุกวัน นอกจากนี้ ในทุก 10 ครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะมี 5 ครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ ในจำนวนนี้มี 3 ครัวเรือนมีการสูบในบ้าน

มัจจุราชในบ้าน

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนา "กลับบ้านปีใหม่ ไร้ควันบุหรี่" จัดโดยสมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ เครือข่ายครอบครัวปลอดบุหรี่ เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม (Media Move) และ สสส. ว่า จากการขับเคลื่อนลดผู้ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ให้ความสำคัญการส่งเสริมให้บ้านปลอดบุหรี่ เพราะช่วยลดความเสี่ยงจากการรับควันบุหรี่มือสอง หรือควันบุหรี่มือสามของสมาชิกในบ้าน และมีส่วนทำให้สมาชิกในบ้านที่ สูบบุหรี่ สามารถลดและเลิกบุหรี่สำเร็จ ที่สำคัญยังเป็นการปกป้องเยาวชนไม่ให้ทดลองสูบบุหรี่ เพราะคนในครอบครัวที่ไม่สูบบุหรี่จะเป็นต้นแบบในการรักสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด 

"เนื่องในโอกาสเทศกาลวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง สสส. ขอเชิญชวนผู้ที่สูบบุหรี่ให้ใช้ช่วงเวลาปีใหม่ปีนี้ ตั้งปณิธานในการ เลิกบุหรี่ เพื่อเป็นของขวัญแทนความห่วงใยให้ตัวเองและครอบครัวที่คุณรัก ทั้งนี้หากผู้ที่สูบบุหรี่ต้องการความช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ สามารถโทรขอคำปรึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สายเลิกบุหรี่ 1600" รุ่งอรุณ กล่าว

\"ปีใหม่\" ไม่เอา \"ควันบุหรี่\" กลับเข้าบ้าน

รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวคิดส่งเสริมให้บ้านปลอดบุหรี่ เป็นกิจกรรมที่ สสส. และภาคี ดำเนินงานมาสักระยะแล้ว โดยมีการทดลองทำงานในชุมชนเป้าหมายตัวอย่างให้มารับฟังข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ และกลุ่มที่สองที่ทำงานด้วยก็คือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะมองว่าควรมีการประกาศหรือมีมาตรการร่วมกันที่จะให้ครอบครัวปลอดบุหรี่ ส่วนอีกกลุ่มคือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จะให้มีการสื่อสารเชิงบวกเพื่อถ่ายทอดไปสู่ผู้ปกครอง

สื่อสารเชิงบวก

ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม ร่วมเล่าประสบการณ์การทำงานครอบครัวปลอดบุหรี่ โดยการสร้างการเรียนรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว พบผู้เข้าร่วมกิจกรรม 208 คน มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่คือ ไม่สูบบุหรี่ในบ้านและบริเวณบ้าน 171 คน ในจำนวนนี้ ลดปริมาณการสูบได้ 135 คน และเลิกสูบบุหรี่ได้ 24 คน หนึ่งในสาเหตุที่ต้องการเลิกบุหรี่คือ อยากให้ลูกภูมิใจ  และตระหนักถึงผลกระทบต่อคนในครอบครัว 

"ยอมรับว่า การทำกิจกรรมนี้ยากจริง จากการทำงานกับครอบครัวหลายบ้าน พบว่า อารมณ์เป็นสิ่งสำคัญที่จะมีผลต่อการเลิกหรือลดบุหรี่ เราควรสื่อสารด้วยความปรารถนาดี หวังดี บอกความรู้สึก แต่ไม่ใช่การแช่ง บ่น เปรียบเทียบ ลดการตำหนิ จริงๆ แล้วมันมีคำพูดที่เกิดจากความเป็นห่วง แต่พอพูดออกมากลับทำร้ายจิตใจ เช่น เลิกไม่ได้ก็ไปตายซะ อะไรแบบนี้ ดังนั้น สิ่งที่อยากฝากครอบครัวคือ ลดความคาดหวัง เข้าใจ ให้เวลา และให้กำลังใจทั้งด้วยคำพูดและการกระทำในการช่วยลด ละ เลิก" ฐาณิชชา กล่าว

\"ปีใหม่\" ไม่เอา \"ควันบุหรี่\" กลับเข้าบ้าน

เข้าถึง ติดง่าย ฝังลึกถึงยีนและโครโมโซม

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า พ่อแม่ที่ สูบบุหรี่ แม้จะสูบนอกบ้านแต่กลับบ้านต้องรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะเมื่อเราอุ้มหรือสัมผัสลูกหลานก็มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบสุขภาพ เช่น อาการภูมิแพ้ ไวต่อสิ่งเร้า ปัจจุบันเรากำลังเจอปัญหาผู้ได้รับควันบุหรี่ที่ไม่ใช่แค่มือสอง ซึ่งคนที่ได้รับบุหรี่มือสอง นิโคติน ที่อยู่ในบุหรี่จะเข้าสู่กระแสเลือดแม้ไม่ได้เป็นผู้สูบเองก็ตาม เช่นเดียวกับทารกในครรภ์ นิโคตินสามารถเข้าสู่กระแสเลือดเด็กได้ง่าย ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า นิโคตินจะส่งผลต่อยีนโน้มนำในต่อมเพศในครรภ์มารดา เมื่อแต่งงานมีลูก ลูกก็จะมียีนโน้มนำในการเสพติด ทำให้เสพติดได้ง่าย ยีนโน้มนำส่งผลทางพันธุกรรมสืบทอดไปยังรุ่นต่อรุ่นเหมือนกรณีโรคเบาหวาน และมีความเสี่ยงเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีนิโคตินติดอยู่ 

"นิโคตินที่อยู่ในอนุภาคขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน มันสามารถผ่านหลอดลมและทางเดินหายใจระดับล่าง ส่งผลให้ป่วยเป็นปอดบวม เยื่อหุ้มปอด ถุงลมโป่งพอง และสิบวินาทีขึ้นสู่สมองได้ ฉะนั้น แม่ที่กำลังตั้งท้องและได้รับควันหรือสัมผัสกับเชื้อที่ติดตามเสื้อผ้าของสมาชิกที่สูบในบ้าน เช่น สามี ตา จะผ่านเข้าสู่รกและกระแสเลือดในทารก มันเข้าถึง ติดง่าย ฝังลึกถึงยีนและโครโมโซม เพราะฉะนั้น บ้านต้องปลอดบุหรี่จริงๆ เพื่อไม่ให้เกิดควันบุหรี่มือสองคือแม่ และไม่ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่นไปถึงเหลน" รศ.นพ.สุริยเดล กล่าว

\"ปีใหม่\" ไม่เอา \"ควันบุหรี่\" กลับเข้าบ้าน

รศ.นพ.สุริยเดล กล่าวต่อว่า การ เลิกบุหรี่ ได้ยากนั้น มีที่มา เนื่องจากนิโคตินทำให้สารโดปามีนมีแรงเหวี่ยงขึ้นสูง เมื่อเลิกหรือหยุดสูบจึงมีอาการลงแดง เช่น เลิก 6 เดือนแรก แรงเหวี่ยงสูงมีโอกาสกลับมาติด แต่เลิกนานสามปีแล้วโอกาสเลิกเด็ดขาดมีสูงมาก ทางออกที่หมอแนะนำคือ การให้ข้อมูลว่า นิโคตินมีผลกระทบต่อสุขภาพและทำร้ายร่างกาย แต่เมื่อเสพติดนิโคตินไปแล้วหัวใจสำคัญต้องถอย เรามีบุคลากรด้านการแพทย์ต้องช่วยในการเลิก ส่วนในบ้านเองก็ต้องให้ความเข้าใจและส่งเสริมให้กำลังใจกัน เป็นมิตรแทนการสร้างความเครียดเพิ่ม และต้องจัดหากิจกรรมจัดการความเครียดมาชดเชยทดแทนการสูบบุหรี่ อาทิ การทำกิจกรรมจิตอาสาที่ทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า แต่สิ่งสำคัญต้องตั้งปณิธานปกป้องผู้รับควันบุหรี่มือสาม มือสี่ ด้วยการไม่นำบุหรี่เข้าบ้าน

อัญญมณี บุญชื่อ หัวหน้าโครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงบุหรี่และสุรา (โครงการอาสา) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า เด็กเล็กมีโอกาสเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยตรงจากภัยจากบุหรี่ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เมื่อรับสารพิษจากบุหรี่มือสอง คือควันบุหรี่ และบุหรี่มือสาม คือเถ้าบุหรี่ จะส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กกลุ่มนี้อยู่ในบ้านและในรถถึง 85% ของแต่ละวัน 

\"ปีใหม่\" ไม่เอา \"ควันบุหรี่\" กลับเข้าบ้าน

จากการทำงานในพื้นที่นำร่องหลากหลาย พ่อแม่ต้องการแรงจูงใจนั่นก็คือลูกตัวเอง ซึ่งได้ผลอย่างมากในการเลิกบุหรี่ นำมาสู่กิจกรรมที่ออกแบบเพื่อให้ทั้งความรู้ การเปลี่ยนทัศนคติ และวิธีการดูแลตัวเอง ผ่าน 5 กิจกรรม สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า การป้องกันการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่ยังไม่เคยตระหนักหรือมีนิสัยนี้มาก่อน โครงการฯ จึงได้ออกแบบกิจกรรมให้เด็กรับมือจากภัยของบุหรี่ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ละครสร้างการตระหนักถึงภัย 2. กิจกรรมวินิจฉัยความเป็นกลุ่มเสี่ยงผ่านดรามาเกม 3. กิจกรรมการจัดการความเครียดด้วยตนเองแทนการใช้บุหรี่ 4. กิจกรรมการดูแลตนอย่างสร้างสรรค์ และ 5.กิจกรรมสร้างไอดอลเด็ก เพื่อให้เด็กเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ปกครองเกิดการได้คิดจากผลของบุหรี่ที่มีต่อคนในครอบครัว โดยมีครูเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างบ้านและโรงเรียนในการดูแลเด็กๆ  

เปลี่ยนได้ด้วยพลังความรัก 

ด.ญ.ปัญจรัตน์ กุลมา อายุ 10 ขวบ กล่าวว่า ส่วนตัวมีอาการโรคหอบ เมื่อได้กลิ่นบุหรี่หรือสัมผัสจะไอและคันตามตัว เวลาพ่อสูบบุหรี่เสร็จก็จะกลับเข้าบ้านพร้อมกลิ่นติดตัว เสื้อผ้า หรือที่นั่งบนโซฟา สิ่งที่ทุกคนได้รับตามมาคือ สุขภาพของคนในบ้าน ทำให้มึนหัวและเป็นภูมิแพ้ตลอด

"วันหนึ่ง หนูตัดสินใจเดินไปบอก ขอให้พ่อเลิกสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพของหนูและแม่ หนูไม่อยากให้พ่อเป็นมะเร็ง พ่อจึงตัดสินใจเลิกบุหรี่ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนสู้กับตัวเอง ค่อยๆ ลดจนเลิกได้สำเร็จ ทำให้บ้านของเราไม่มีกลิ่นบุหรี่ พ่อก็ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีกลิ่นปาก ไม่มีกลิ่นตัว สุขภาพของพ่อเริ่มดีขึ้น และไม่ทะเลาะกันเรื่องกลิ่นบุหรี่อีกแล้ว" ด.ญ.ปัญจรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

\"ปีใหม่\" ไม่เอา \"ควันบุหรี่\" กลับเข้าบ้าน \"ปีใหม่\" ไม่เอา \"ควันบุหรี่\" กลับเข้าบ้าน \"ปีใหม่\" ไม่เอา \"ควันบุหรี่\" กลับเข้าบ้าน \"ปีใหม่\" ไม่เอา \"ควันบุหรี่\" กลับเข้าบ้าน