"การเลียนแบบ คือ "เรื่องตลก" ถอดความหมาย Parody ที่อยู่คู่ความ "บันเทิงไทย"

"การเลียนแบบ คือ "เรื่องตลก" ถอดความหมาย Parody ที่อยู่คู่ความ "บันเทิงไทย"

ทำไม"การเลียนแบบ" จึงเป็นแนวทางการสร้างคอนเทนท์ที่ยังได้รับความนิยมในหมู่คนดู? ถอดความหมายของกลวิธีการเลียนแบบ (Parody) ในความบันเทิงไทยแบบฉบับคนไทยที่ยืนยงและแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ถ้าใครได้ลองสไลด์โทรศัพท์ เสพวีดีโอคอนเทนท์ในโซเชียล เช่นใน TikTok, Facebook, Instagram เชื่อเถอะว่าหนึ่งในเนื้อหาที่จะพบได้ คือ คอนเทนท์สายตลก โดยที่วิธีการเรียกเสียงหัวเราะที่ไม่น้อยไปกว่าวิธีไหนคือ “การเลียนแบบคนดัง”

ที่มาแรงในช่วงสิ้นปี หนีไม่พ้นการเต้น Cover ท่าสตาร์ทรถของ “โตโน่” ศิลปินชื่อดังในการแสดงบนเวทีแห่งหนึ่ง ซึ่งจากนั้น ได้มีผู้ทำคลิปเลียนแบบนับสิบนับร้อย ยิ่งเฉพาะในรายการ โจ๊กเกอร์แฟมิลี่ ซึ่งมี “แจ๊สชวนชื่น” รับบทเป็น “โตโย่” ซึ่งกลายเป็นคลิปที่ถูกแชร์เป็นจำนวนมาก ไม่ต่างอะไรจากคลิปเลียนแบบคนดังในข่าวก่อนหน้าที่รายการนี้นำเอามานำเสนอ และมักสร้างความตลกขบขันได้ในทุกๆครั้ง

ทำไม “การเลียนแบบ” ถึงอยู่คู่ความตลก? นั่นก็อธิบายได้ง่ายๆว่า คนดังที่ถูกเลียนแบบเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับผู้คน ขณะที่คาแรกเตอร์ของพวกเขาคือภาพจำ สามารถเชื่อมโยงกับผู้คนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อนำเอาคาแรกเตอร์มาสื่อสารได้อย่างถูกที่ถูกเวลาได้ จึงทำให้ การเลียนแบบ-ล้อเลียน เป็นคอนเทนท์ที่ใครๆก็อยากติดตาม เช่น รายการสภาโจ๊ก (เลียนแบบประชุมรัฐสภา) การเล่นเป็นเงาเสียงนักร้องดัง (เสียงเหมือน), การเล่นเป็นก๊อปปี้โชว์ (เลียนแบบการแสดง)

\"การเลียนแบบ คือ \"เรื่องตลก\" ถอดความหมาย Parody ที่อยู่คู่ความ \"บันเทิงไทย\"

ภาพตัวแสดงเลียนแบบ ส.ส. จากรายการสภาโจ๊ก (ภาพวิกิพีเดีย)

\"การเลียนแบบ คือ \"เรื่องตลก\" ถอดความหมาย Parody ที่อยู่คู่ความ \"บันเทิงไทย\" ท่าเต้นสตาร์ทรถ ที่แจ๊สชวนชื่นในนาม "โตโย่" ลอกเลียนจาก "โตโน่" จนโด่งดังเป็นไวรัล

 

พี่ตูน บอดี้สแลม, เสก โลโซ, น้าหมู พงษ์เทพ, แอ๊ด คาราบาว, คุณชูวิทย์, นายกรัฐมนตรี, นักการเมือง และอีก ฯลฯ คนดัง ล้วนเคยถูกเลียนแบบมาแล้วแทบทั้งสิ้น ทั้งในรูปแบบพาณิชย์ในวงการบันเทิง หรือการเป็นมุขตลกเฉพาะในหมู่เพื่อนฝูง ทั้งนี้ที่แพร่หลายไปมากนั่นก็เพราะการล้อเลียนอยู่ในอารมณ์ขันของผู้คน ขณะที่ใจความสำคัญของการ Parody ซึ่งก็คือการสร้างผลงานเพื่อเลียนแบบ หรืออาจหมายความถึงการหยิบยืมเค้าโครง แนวคิด หรือเอกลักษณ์บางอย่างของงานสร้างสรรค์ชิ้นต้นแบบมาดัดแปลง ทำซ้ำในเชิงเสียดสี ยียวน ก็ล้วนเป็นหลักการที่ใครๆก็เข้าถึงได้

หากมองอย่างผิวเผิน การล้อเลียนหรือการParody อาจถูกปักป้ายให้ไปอยู่ในด้านลบมากกว่าด้านบวก แต่เมื่อลองพิจารณา จะพบว่าการล้อเลียนเป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมากในงานสร้างสรรค์และงานศิลปะ โดยเฉพาะกับ “โลกศิลปะ” ซึ่งกล่าวกันว่า วรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี หรืองานศิลปะชิ้นใดก็ตาม จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขอให้ดูจากงานที่สร้างขึ้นมาล้อเลียน โดยหากมีงานชิ้นใดถูกล้อเลียนก็ขอให้เชื่อได้เลยว่า งานชิ้นนี้ได้เข้าไปอยู่ในใจของมหาชนเป็นที่เรียบร้อย…และแน่นอนว่าท่าเต้นสตาร์ทรถของโตโน่ในปี 2565 ก็อยู่ในใจคนไปแล้วเช่นกัน

ในสังคมไทย การล้อเลียนเป็นมากกว่าอารมณ์ขัน โดยเฉพาะการแสดงแบบ ”ก๊อบปี้โชว์” ที่บูมมากในหมู่นักจัดงานต่างๆ เช่นในโอกาสงานปีใหม่ สงกรานต์ งานวัด ฯลฯ

รายงานข่าวระบุว่า ในเทศกาลสำคัญต่างๆ เมื่อนักร้องมีค่าจ้างที่สูง งานที่เจ้าภาพไม่สามารถจ้างนักร้องดังๆ ตัวจริงมาแสดงได้ ก็จะมีก๊อปปี้โชว์มาเป็นทางเลือก และบางความเห็นถึงขนาดบอกว่า หากนักร้องดังๆ คิวแน่น แต่เจ้าภาพยังยืนยันจะอยากได้ศิลปินท่านนั้น กลุ่ม “ก๊อบปี้โชว์” จะเป็นทางเลือก ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้กับผู้จัดงานได้ นั่นเพราะเวลาแสดงนักร้องก๊อปปี้โชว์ก็จะแต่งตัวเหมือนกับศิลปินตัวจริง และเมื่อคนดูได้ฟังเพลง ได้เต้นกับท่าทางที่ชอบอย่างสนุกสนาน ความสำคัญของการเห็นตัวจริงหรือตัวปลอมก็ค่อยๆลดลง และผู้จัดงานก็จะแฮปปี้ไปตามๆกัน

\"การเลียนแบบ คือ \"เรื่องตลก\" ถอดความหมาย Parody ที่อยู่คู่ความ \"บันเทิงไทย\" นักแสดงก๊อปปี้โชว์ในงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ (ภาพจากเฟสบุ๊ค รับงาน ก๊อปปี้โชว์ The star copy show เงาเสียง) 

 

การล้อเลียนเสียดสี จึงอยู่มาทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ในความตลกในเวทีงานวัด จนไปถึงโลกออนไลน์ที่คลิปวีดีโอสั้นๆ ถูกเสพกัน แต่ถึงเช่นนั้นความตลกที่ถูกนำเสนอก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นความตั้งใของผู้ผลิตเนื้อหา การฝึกซ้อมของนักแสดง เพราะถ้า “ไม่เหมือน” ก็จะไม่มีใครตลก

มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อย ศึกษาว่า ความตลกเป็นเรื่องบริบทของแต่ละพื้นที่ เพราะประเทศหนึ่งอาจขำในมุขตลกอย่างหนึ่งแต่กับอีกประเทศอาจไม่เข้าใจ

สังคมไทย มุขตลกที่ถูกรวบรวมและเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้คนหัวเราะ ส่วนใหญ่ประกอบด้วย

  • การล้อเลียนและเสียดสี
  • การสร้างความเหนือกว่าและต่ำกว่า
  • การพูดหรือแสดงความเห็นที่น่าหัวเราะ
  • บุคลิกตัวละครที่ผิดแปลกไปจากรูปแบบที่ควรจะเป็น
  • การสร้างความเอะอะโครมคราม
  • การใช้ภาษาชาวบ้านหรือการบ่นด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง

ที่ขาดไม่ได้คือ อารมณ์ขันที่ทำให้คนไทยหัวเราะต้อง “ง่าย” และ “ไม่คิดมาก” เพื่อให้ผู้ชมสามารถตลกได้ในทันที เช่น การตีหัวด้วยถาดแล้วมีเสียงดัง การซูมภาพเข้าไปใกล้แล้วเห็นความผิดปกติต่างจากคนอื่นๆ ซึ่งผู้ชมไทยจะเกิดอารมณ์ขันกับการเจ็บตัวและความผิดปกติดังกล่าวในทันที โดยที่ลักษณะดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่ผู้คนต่างมีความเครียดและมีความเร่งรีบในการใช้ชีวิต

 

ความต้องการความบันเทิงแบบง่าย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก จึงเป็นสิ่งที่สร้างเสียงหัวเราะได้อยู่เสมอ

 

 

อ้างอิง: วิกิพีเดีย, “ศิลปินก๊อบปี้โชว์งานเข้าโดนข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์” เว็ปไซต์คมชัดลึก , บทความ “การสื่อสารอารมณ์ขันที่สะท้อนการเลือกปฏิบัติในสังคมไทย” สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65