ง่ายกว่าการยัดเยียด ‘วิชาประวัติศาสตร์’ คือให้เด็กใช้สกิล เอ๊ะ!

ง่ายกว่าการยัดเยียด ‘วิชาประวัติศาสตร์’  คือให้เด็กใช้สกิล เอ๊ะ!

ศธ. ประกาศจะแยกวิชา “ประวัติศาสตร์” ออกมาเป็นวิชาเฉพาะ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน วิทยากรนักเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ มองว่าสิ่งสำคัญคือการสร้างห้องเรียนให้เกิดการถกเถียง วิเคราะห์ ของประวัติศาสตร์นั้นๆ เพื่อให้เด็กไทยหันมาสนใจวิชาประวัติศาสตร์

หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เห็นชอบการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชาอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป เพื่อต้องการให้เด็กไทยได้เรียนประวัติศาสตร์อย่างหลากหลาย โดยย้ำว่า ‘ไม่ได้เป็นการบังคับให้เด็กรักชาติ แต่ต้องการปรับการเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กให้มีความทันสมัยและน่าสนใจเท่านั้น’ 

เพียงไม่นาน ประเด็นนี้ก็เกิดข้อถกเถียงจำนวนมากถึงแก่นหลักของ “วิชาประวัติศาสตร์” และภาระงานของครูที่เพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้วิชาประวัติศาสตร์ เคยติดเป็น 1 ใน 5 ของวิชาที่ควรถูกยกเลิกมากที่สุด รองจากวิชาลูกเสือ พระพุทธศาสนา พลศึกษา และกระบี่กระบอง นอกจากนี้ในมุมหนึ่งยังถูกมองว่าหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ยังมีเนื้อหาที่ไม่ครบรอบด้าน เน้นมุมมองด้านเดียวที่ ศธ. ต้องการให้นักเรียนรับรู้ 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปคุยกับ ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน วิทยากรนักเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจโลก ในงานเสวนา ‘สอนวิชาประวัติศาสตร์อย่างไร ในวันที่เราบอกเด็กไทยให้มองไปข้างหน้า’ ร่วมกับ ตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อตอบคำถามว่าทำอย่างไรให้วิชาประวัติศาสตร์น่าสนใจสำหรับเด็กไทย? 

 

ง่ายกว่าการยัดเยียด ‘วิชาประวัติศาสตร์’  คือให้เด็กใช้สกิล เอ๊ะ!


 

  • เราเรียน “วิชาประวัติศาสตร์” ไปทำไม? 

“ถามเพื่อนที่อังกฤษว่าเขาเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไหม เขาก็บอกว่าเรียน เมื่อถามเพื่อนชาวอเมริกันว่าได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ไหมเขาก็ตอบเหมือนกันว่าได้เรียนเช่นกัน สรุปแล้วเราเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันเกือบทุกคน” 

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน กล่าวถึงประสบการณ์ร่วมในวิชาประวัติศาสตร์กับเพื่อนชาติอื่นๆ พร้อมเล่าต่อว่า การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่การท่องจำ แต่คือการเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วร้อยเรียงทั้งโลกให้เป็นเรื่องเดียวกัน ส่วนสำคัญคือวิชาประวัติศาสตร์ทำให้เรียนรู้อดีต เพื่อทำให้ปัจจุบันมันดีขึ้น 

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะก็เรียนรู้ข้อผิดพลาดจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลมีการติดตั้งอุปกรณ์ตัดความร้อนเพื่อป้องกันสารพิษรั่วไหล สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้มาจากประวัติศาสตร์ครั้งก่อนทั้งสิ้น และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทุกเรื่องๆ ก็ทำให้เราปรับปรุงปัจจุบันให้ดีขึ้น”


 

  • ประวัติศาสตร์ไทยถูกแยกไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของโลก

หากพูดว่าวิชาประวัติศาสตร์ไม่มีประโยชน์ก็คงจะไม่จริง แต่หนึ่งในปัญหาการเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้เด็กไม่สนุก คือ เด็กไม่เห็นความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลก หากเด็กเห็นประเทศไทยอยู่ในบริบทโลกการเรียนรู้ก็จะสนุกยิ่งขึ้น 

“เราเรียนประวัติศาสตร์เป็น พ.ศ. ในขณะที่ทั่วโลกเรียน ค.ศ. ดังนั้นการเรียนบางครั้งมันทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและน่าเบื่อ ถ้าเราปรับและลองเทียบว่าช่วงพระนารายณ์ตรงกับยุคสมัยใด หรือแม้แต่เงินถุงแดงช่วงรัชกาลที่ 3 เป็นเงินสกุลอะไร เพราะอะไรทำให้เป็นเงินสกุลนั้น เรื่องเหล่านี้ถ้าเราเชื่อมโยงให้เข้ากับประวัติศาสตร์โลกจะทำให้เรื่องมันเชื่อมโยงมากขึ้น และสนุกมากขึ้น”

 

  • สกิลเอ๊ะ! สกิลเด็กยุคใหม่ที่ต้องดึงมาใช้วิชาประวัติศาสตร์ 

ต้องยอมรับว่าประวัติศาสตร์อาจมีการผสมปนเปกันระหว่างความจริงและเรื่องเล่า ดร. วิทย์ กล่าว

“มันคือธรรมชาติว่าประวัติศาสตร์มักจะถูกเขียนด้วยผู้ที่ชนะ เป็นทุกชนชาติที่เคยอ่านมา ยกเว้นเยอรมนีที่เขียนประวัติศาสตร์ด่าประเทศตัวเองว่าครั้งหนึ่งเคยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังนั้นแล้วสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในวิชาประวัติคือการวิเคราะห์”

เด็กบางส่วนรู้สึกว่าเป็นเรื่องล้าหลัง แต่หนึ่งในทักษะสำคัญที่เด็กจะได้ฝึกฝน และเรียนรู้จากวิชานี้เพื่อวิเคราะห์แยกแยะว่า ควรจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร ก็คือ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 และยังเป็นหนึ่งในสมรรถนะของเด็กยุคใหม่อีกด้วย ดร. วิทย์ มองว่า นี่เป็นทักษะที่โดดเด่นของเด็กยุคนี้อยู่แล้ว

 

  • วิชาประวัติศาสตร์ กับการ Active Learning

ดร.วิทย์ ยังบอกอีกว่า การสอนประวัติศาสตร์ในยุคนี้ อาจไม่ได้มีเป้าหมายให้เด็กจดจำข้อมูลทุกอย่างได้ตามหนังสือเรียน แต่เป็นการสอนเพื่อจุดประกายให้เด็กอยากรู้ แล้วไปหาคำตอบเพิ่มเติมด้วยตนเองมากกว่า ครูต้องทำให้เด็กเห็นว่า สิ่งที่เรียนมันเจ๋งแค่ไหน ถ้าเด็กสนุก เขาจะไปหาคำตอบด้วยตนเอง เมื่อเด็กมีแรงบันดาลใจที่จะค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เขาจะสร้างทักษะในการดำรงชีวิตจากกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการหาหลักฐาน การพิสูจน์ความจริง ได้คิดไตร่ตรอง

หนังสือเรียนประวัติศาสตร์เหมือนสารตั้งต้นในการพูดคุยกัน แต่คนที่จะให้ชีวิตกับประวัติศาสตร์ คือ นักเรียน ที่จะต้องตั้งคำถาม และครู ที่คอยช่วยไกด์ เพราะประวัติศาสตร์เป็นมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ ขึ้นอยู่กับเราจะเรียนอะไร เรียนอย่างไร เรียนแล้วได้อะไร และจะต่อยอดอย่างไร ฉะนั้น การเรียนประวัติศาสตร์ก็เพื่อไม่ทำผิดซ้ำ

ประวัติศาสตร์ก็เหมือนตึก ถึงจะวิวัฒนาการไปขนาดไหน แต่ฐานรากมันเหมือนเดิม คือ มีความเชย เป็นคอนกรีตแท่งซีเมนต์ แต่ถ้าไม่มีตึกก็อยู่ไม่ได้ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพ แต่มันเป็นระบบคิด” ดร.วิทย์ กล่าวทิ้งท้าย