ถอดสูตรชัยชนะของ "ทีมชาติญี่ปุ่น" เหตุผลที่ทำให้ล้มแชมป์โลกได้ 2 ทีมติด!

ถอดสูตรชัยชนะของ "ทีมชาติญี่ปุ่น" เหตุผลที่ทำให้ล้มแชมป์โลกได้ 2 ทีมติด!

หากจะคิดถึงทีมในฟุตบอลโลกที่น่าประทับใจที่สุด ดูเหมือนทีม “ซามูไรบลู” ญี่ปุ่นจะเป็นทีมนั้นในความคิด หรืออาจไปไกลกว่าถึงขั้นเป็นทีมในดวงใจของใครหลายคนไปแล้ว

เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเพราะทีมชาติญี่ปุ่นในศึกฟุตบอลโลกหนนี้สุดยอดอย่างแท้จริง เพราะสามารถล้มทีมระดับแชมป์โลกได้ถึง 2 ทีมอย่างเยอรมนี และสเปน ซึ่งจัดเป็นมหาอำนาจของวงการฟุตบอล และเป็นการชนะในรูปแบบที่น่าประทับใจด้วย

เพราะเริ่มจากการโดนยิงประตูนำไปก่อน แต่ฮึดสู้และสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาคว้าชัยชนะได้ราวกับอ่านมังงะ หรือดูอนิเมะฟุตบอลสนุกๆเรื่องนึงเลยทีเดียว

แต่ในความสำเร็จที่เหมือนมังงะหรือการ์ตูนนี้ของทีมชาติญี่ปุ่น มีอะไรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังบ้าง?

  • ทำการบ้านมาดี

โนบิตะนายทำการบ้านหรือยัง! คือประโยคจำในการ์ตูนขวัญใจเด็กๆทั่วโลกตลอดกาลอย่างโดราเอมอน ซึ่งถึงโนบิตะจะไม่ค่อยชอบทำการบ้านและต้องคอยให้เจ้าแมวสีฟ้าจากโลกอนาคตช่วยเหลือเสมอ แต่สำหรับทีมชาติญี่ปุ่นครั้งนี้แล้วพวกเขาทำการบ้านมาเป็นอย่างดี

เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้กับฮาจิเมะ โมริยาสุ โค้ชคนปัจจุบันซึ่งก้าวจากการเป็นมือขวามารับงานต่อจากอากิระ นิชิโนะ ที่ได้คุมทีมระยะสั้นในช่วงฟุตบอลโลกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เมื่อได้โอกาสในการทำงานโมริยาสุก็สานต่อได้อย่างน่าประทับใจ เรียกได้ว่าอาจจะดีกว่านิชิโนะซังด้วยซ้ำไป

เพราะโจทย์ครั้งนี้ยากสุดๆเนื่องจากอยู่ในกลุ่มเดียวกับสเปน เยอรมนี และคอสตาริกาที่ไม่สามารถประมาทได้สักทีมโดยเฉพาะ 2 ทีมแรก ซึ่งใครดูแต่ชื่อก็คิดว่าคงยากที่ญี่ปุ่นจะต้านทานเอาไว้ได้

แต่โมริยาสุทำได้อย่างยอดเยี่ยมในการวางแผนให้ญี่ปุ่นสามารถสู้กับทั้งสเปนหรือเยอรมนีได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยเกมรับที่รัดกุม ไม่คิดที่จะครองบอลสู้ แต่ก็ไม่ปล่อยให้คู่แข่งเล่นได้ง่ายๆ เล่นอย่างอดทนเพื่อรอคอยโอกาสที่จะมาถึง

ถอดสูตรชัยชนะของ "ทีมชาติญี่ปุ่น" เหตุผลที่ทำให้ล้มแชมป์โลกได้ 2 ทีมติด!
- นักเตะทีมชาติญี่ปุ่นกอดฉลองกัน หลังทีมผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ (ภาพ: AFP) -

สุดท้ายมันนำไปสู่การพลิกสถานการณ์เอาชนะยักษ์ใหญ่ของโลกได้อย่างน่าประทับใจ ถึงจะมีเสียรังวัดไปนิดหน่อยเพราะพ่ายคอสตาริกาในเกมที่ทุกคนเชื่อว่าจะชนะ (ซึ่งก็เป็นอีกบทเรียนสำหรับญี่ปุ่นที่ต้องเริ่มหัดเล่นแบบ “เป็นต่อ” กับบางทีมได้แล้ว) แต่เพราะทำการบ้านกันมาเป็นอย่างดีนี่แหละถึงทำผลงานได้ยอดเยี่ยม

  • นักเตะที่ใช่ มากกว่านักเตะที่ชอบ

นอกจากเรื่องของแท็คติกการเล่นที่ยอดเยี่ยมแล้ว อีกสิ่งที่ต้องให้เครดิตกับโค้ชอย่างฮาจิเมะ โมริยาสุ คือเรื่องของการจัดทีม

ฟุตบอลโลกหนนี้โมริยาสุแสดงให้เห็นถึงความหมายของคำว่า “ทีม” อย่างแท้จริง เพราะจัดทีมลงเล่นตามแท็คติกเพื่อรับมือและเล่นงานคู่แข่งโดยไม่สนในเรื่องของชื่อเสียงเรียงนามอะไร ใครซ้อมดี ใครฟอร์มดี ใครเหมาะสมที่จะลงสนาม โค้ชซามูไรเลือกตามเหตุและผลไม่มีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก

ดังนั้นดาวดังอย่างทาคุมิ มินามิโนะ, ทาเคฟุสะ คุโบะ หรือแม้แต่ฮีโร่ของทีมอย่างริตสึ โดอัน กับทาคุมะ อาซาโนะ หากรู้สึกว่าต้องนั่งสำรองก็ต้องนั่งสำรอง ไม่มีคำว่าเกรงใจ และบางทีก็ตั้งใจที่จะเก็บ “อาวุธลับ” ไว้รอใช้งานในยามคับขันด้วย

เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก การจะทำแบบนี้ได้แปลว่าโค้ชได้รับความเชื่อใจจากนักเตะทุกคนในทีมว่าทุกคน “เท่ากัน”​ และมีหน้าที่เหมือนกันคือทำเพื่อทีม ไม่มีการทำเพื่อตัวเองใดๆทั้งนั้น

นี่คือเหตุผลที่ในชัยชนะ 2 นัดแบบช็อกโลกที่ล้มเยอรมนีและสเปนได้ ญี่ปุ่นจึงมีนักเตะที่สลับกันขึ้นมาเป็นฮีโร่

  • หัวใจไม่แพ้

Mentality คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเกมกีฬา ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก ใครก็พูดได้ว่า “ต้องกระหายชัยชนะ” หรือ “ไม่ยอมแพ้” แต่ไม่ใช่ทุกคนและไม่ใช่ทุกทีมที่จะทำได้

แต่สำหรับญี่ปุ่นดูเหมือนครั้งนี้พวกเขาจะก้าวผ่าน “กำแพง” บางอย่างทางใจได้สำเร็จ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับทีมระดับยักษ์ใหญ่ของวงการ ซึ่งเคยเป็นลูกไล่มาก่อน แต่คราวนี้ยักษ์ใหญ่พวกนี้ก็เจอ “ลูกไล่” ต้อนจนเข้ามุมเหมือนกัน

จริงอยู่ที่ในเกมการแข่งขันญี่ปุ่นจะรับเสียเป็นส่วนมาก แต่ในการตั้งรับนั้นเป็นอย่างที่บอกคือมีการทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ไม่เปิดโอกาสง่ายๆ และต่อให้ผิดพลั้งอยู่ในสถานการณ์จวนตัวขนาดไหนพวกเขาก็พร้อมจะช่วยกันให้ผ่านพ้นช่วงเวลานั้นได้

สปิริตนักสู้แบบญี่ปุ่นที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมก้มหัวให้ใครจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาน่ายกย่องอย่างยิ่ง

  • ปลูกต้นไม้ดีกว่าทำหลังคา

“เราจะไปบอลโลก” คือเป้าหมายสำหรับวงการฟุตบอลประเทศไทยที่พูดกันมาหลายสิบปี แต่ดูเหมือนเวลานี้ทุกอย่างจะถอยหลังลงคลอง

ในขณะที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้พยายามวางรากฐานจัดทำแผนงานระยะยาว ซึ่งก็ให้เครดิตในความพยายาม แต่ไม่รู้ทำไมความพยายามมันจึงดูเป็นความพยายามที่สูญเปล่า มากกว่าความรู้สึกว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำคือการที่รู้สึกเผาเวลาไปแบบเปล่าประโยชน์

เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่เราควรศึกษาจากญี่ปุ่นอย่างจริงจังเกี่ยวกับการวางแผนและความตั้งใจในการพัฒนาวงการฟุตบอลของประเทศ ซึ่งไม่ได้โฟกัสอยู่แค่เรื่องของยอดของพีระมิด แต่ใส่ใจลงลึกลงมาถึงฐานของพีระมิดเลยทีเดียว

ญี่ปุ่นเดิมไม่ได้เป็นชาติมหาอำนาจของวงการฟุตบอลเอเชีย พวกเขาเคยเป็นลูกไล่ทีมชาติไทยเสียด้วยซ้ำ แต่เพราะความตั้งใจจริงโดยเฉพาะการวางรากฐานระบบฟุตบอลอาชีพอย่าง “เจลีก” ที่เริ่มมาในปี 1992 ตอนนี้ผ่านมา 30 ปี ต้นไม้ต้นเล็กๆที่ปลูกในวันนั้นสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านใบปกคลุม

นักฟุตบอลญี่ปุ่นในเวลานี้อยู่เต็มลีกยุโรปไปหมด ซึ่งอาจจะมีอยู่กับทีมระดับท็อปไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับอดีตที่รุ่นพี่ๆอย่างคาซูโยชิ มิอุระ, ฮิเดโตชิ นากาตะ, ชุนสุเกะ นากามูระ หรือเคสุเกะ ฮอนดะ แผ้วทางไว้ให้ ก็ต้องบอกว่าวงการฟุตบอลญี่ปุ่นมาไกลมากแล้ว

เป้าหมายในระยะยาวตอนนี้ของพวกเขาอยู่ที่โปรเจ็คต์ “DREAM” หรือ “ความฝัน

ความฝันที่จะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งอย่าได้ประมาทชนชาติช่างฝันอย่างญี่ปุ่นเชียว

  • แรงบันดาลใจจากลายเส้น

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวมาถึงจุดนี้ได้คือ “ซอฟต์พาวเวอร์” อย่างมังงะ หรือการ์ตูนที่เราคุ้นเคยกัน

เรื่องราวเหล่านี้เหมือนจะเป็นเรื่องแค่อ่านสนุกๆ แต่ลึกๆแล้วมันคือการปลูกฝังคนญี่ปุ่นในเรื่องของความฝัน ความพยายาม ที่สักวันหนึ่งหากเราพยายามมากและดีพอมันจะเป็นวันของเรา พวกลูกยิงสุดโอเวอร์ เรื่องราวเพ้อฝันในวันวาน มันจึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีสำหรับพลังงานความฝันของวันนี้

จากเรื่อง “Captain Tsubasa” หรือ “Shoot!” (ยิงประตูสู่ฝัน) ที่เป็นเชื้อไฟให้แก่คน Gen Y ที่ปัจจุบันกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ยังมีไฟฝันในการช่วยผลักดันวงการฟุตบอลในแนวทางของตัวเอง สู่ยุคของ “Blue Lock” กับเรื่องราวที่เข้มข้นขึ้นของชาวญี่ปุ่นที่อยากหาทางพาตัวเองไปให้ไกลกว่ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ทีมชาติญี่ปุ่นจะไปได้ไกล และยิ่งพวกเขาประสบความสำเร็จมากเท่าไร ผู้คนก็จะยิ่งหวนกลับมาคิดถึงกองฟืนและเชื้อไฟอย่างมังงะหรืออนิเมะเหล่านี้เสมอ

เหมือนที่ทาคุมะ อาซาโนะยิงประตูใส่เยอรมนี ที่เหมือนโอโซระ ซึบาสะยิงลูก “ไดรฟ์ชู้ต” ผ่านมือของดีเตอร์ มุลเลอร์ ในเกมนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนโลก

หรือประตูของอาโอ ทานากะ ที่ทำให้ทุกคนคิดถึงโทชิฮิโกะ ทานากะ ตัวเอกจากเรื่อง Shoot! โดยคนที่ผ่านบอลมาให้คือคาโอรุ มิโตมะ เพื่อนรักที่เล่นฟุตบอลด้วยกันมาตั้งแต่เด็กๆ

เรื่องเพ้อฝันที่กลายเป็นความจริงในวันนี้ และเป็นความจริงที่น่าประทับใจที่สุดในฟุตบอลโลกครั้งนี้ด้วย