‘ซอนต้ากรุงเทพ 1’ รวมพลังยุติ ‘ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี’

‘ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี’ เกิดมากขึ้นในสังคม ‘ซอนต้ากรุงเทพ 1’ มีพันธกิจปรับปรุงสถานภาพสตรีจึงไม่อาจนิ่งเฉย รวมพลังส่งเสียงให้ทุกคนในสังคม ป้องกันปัญหานี้ให้มากขึ้น
ซอนต้ากรุงเทพ 1 จัดงาน Stop Violence Against Woman and Girls รวมพลังคนไทยทั่วประเทศ ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
ดร.อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ นายกสโมสรซอนต้า กรุงเทพ 1 กล่าวว่า วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็น วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล
"ในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนเป็น เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สอดคล้องกับอุดมการณ์ซอนต้าสากล ปัจจุบันมีสมาชิก 67 ประเทศทั่วโลก
จัดกิจกรรม Zonta Stop Says No ทุกปี วันนี้เรามารวมตัวกัน สานต่อกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรง วิสัยทัศน์และพันธกิจของสโมสรซอนต้า 1 มุ่งเน้นปรับปรุงสถานภาพสตรี ในทางกฎหมาย, เศรษฐกิจ, การศึกษา, อนามัย และอาชีพ
ตลอดจนการช่วยเหลือสตรีในหลายด้าน มุ่งหวังให้สังคมตระหนักและร่วมกันป้องกันปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อเด็กและสตรีในสังคมทุกรูปแบบ
ปัจจุบันแม้จะมีหน่วยงานหลากหลายมารณรงค์เรื่องนี้แต่ก็ยังมีสถิติความรุนแรง จากข้อมูลกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมายังมีถึง 11,631 รายด้วยกัน
แล้วยังมีเคสที่เราไม่ได้รับอีก พวกเราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจแสดงพลังรณรงค์ยุติการกระทำรุนแรงต่อเด็ก สตรี และคนชรา ในทุกมิติ"
ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารีย์ Past International Director Zonta International กล่าวว่า ซอนต้าสากลเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลก ที่ไม่แสวงผลกำไร
"ก่อตั้งในปี ค.ศ.1919 หรือ 103 ปีที่ผ่านมา โดย แมเรียน เดอ ฟอเรสต์ (Marian De Forest) นักแต่งบทละครและนักวิจารณ์
ในประเทศไทยก่อตั้งโดย ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นเวลา 53 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิก 27,000 คนทั่วโลก ใน 67 ประเทศ
พันธกิจของซอนต้าสากล คือส่งเสริมสถานภาพสตรี ในทุกส่วน อาทิ การศึกษา, สุขภาพ, อนามัย, กฎหมาย, สังคม, สิทธิเท่าเทียม
กิจกรรมหลักคือ ยุติการกระทำรุนแรงต่อสตรีและเด็ก, การบังคับการแต่งงานในเด็กผู้หญิง, การป้องกันการท้องไม่พร้อม
ซอนต้าสากลได้กำหนดวัน 16 วันช่วงรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กคือช่วง 25 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม ของทุกปี ปีนี้เรามี 20 สโมสร ทำไปแล้ว 40 กิจกรรม
เราต้องการให้ทุก ๆ คนตระหนักว่า ในโลกนี้จะไม่มีผู้หญิงหรือเด็กคนใด ต้องหวาดกลัว เผชิญกับความรุนแรง ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กต้องหมดไป
จากสถิติกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่าประเทศไทยติด Top Ten ของโลก ที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด และผู้ถูกระทำก็เป็นเพศหญิง 81 เปอร์เซนต์
สถานที่เกิดเหตุคือในครอบครัว ในบ้าน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีผู้ถูกกระทำความรุนเรงเพิ่มมากขึ้น ในช่วงโควิดระยะ 2-3 ไม่เฉพาะในประเทศไทย ในทั่วโลกเพิ่ม 30 เปอร์เซนต์
เราได้เซ็น MOU เมื่อสองปีที่แล้ว กับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560
มีแนวทางส่งเสริมสถานภาพ ความเสมอภาค ขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ยุติความุรนแรงต่อสตรีและเด็กทุกรูปแบบ
อยากให้เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในใจของทุกคนว่า ต้องช่วยส่งเสริม โดยเฉพาะคนใกล้ตัว, ครอบครัว เพื่อน ๆ เพื่อให้พลังนี้มากขึ้น ขยายออกไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ"
- พม.รวมกับซอนต้า
จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานเปิดงาน กล่าวว่า
"คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐประสานการดำเนินงานดังกล่าว โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์จัดกิจกรรมรณรงค์ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
ให้เห็นความสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในปีนี้ กระทรวง พม. ได้ร่วมกับสโมสรซอนต้า กรุงเทพ 1 จัดงาน Stop Violence Against Women and Girls
เพื่อแสดงพลัง เชิญชวนทุกคนให้ความสำคัญกับครอบครัว ด้วยความรัก การให้อภัย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
สตรีทั้งโลกมี 4,000 ล้านคน สตรีไทยมี 35 ล้านคน ซอนต้าไปไหนเราไปด้วย ความรุนแรงเกิดมาจากจิตที่ไม่นิ่ง คนที่จิตไม่นิ่งควรกินยาวันละ 4 เม็ด
เม็ดเช้าคือ เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา (พรหทมวิหาร4)
เม็ดกลางวันคือ สัจจะ, ทมะ, ขันติ, จาคะ (ฆราวาสธรรม)
เม็ดตอนเย็นคือ ทาน, ปิยวาจา, อัตถจริยา, สมานัตตตา (สังคหวัตถุ4)
เม็ดก่อนนอนคือ ฉันทะ, วิริยะ, จิตตะ, วิมังสา (อิทธิบาท4)
ถ้าทุกคนกินยา 4 เม็ดนี้แล้วก็จะดี คนที่เกิดมาแล้วมีคนช่วยเหลือ ถือว่าเป็นคนมีบุญ แต่คนที่เกิดมาแล้วมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่นถือว่ามีบุญกว่า
คนไทยเกิดมาแล้วต้องใช้สกุลเงินบาท แต่ถ้าจะไปชาติหน้าต้องใช้เงินสกุลบุญ ขอให้สะสมเงินสกุลบุญ ไปชาติหน้าด้วยนะครับ"
ธีรภัทร์ สัจจกุล นักแสดงและนักร้อง ที่มาร่วมงาน กล่าวในฐานะคุณพ่อที่มีลูกสาวว่า
"ทุกครั้งที่เห็นข่าวทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็ก จะรู้สึกหดหู่ใจ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก แม้จะมีหลายหน่วยงานออกมาร่วมรณรงค์ แต่ก็ยังเห็นข่าวเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายและจิตใจอยู่เสมอ
อยากเชิญชวนให้หันมาสนใจปัญหานี้ ให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจที่กว้างขึ้น ผู้อ่อนแอกว่าก็จะมีกำลังใจ ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกใบนี้ ยังมีกฎหมาย มีหน่วยงานที่พร้อมรับฟัง แก้ปัญหา ไม่ให้พบเหตุการณ์เลวร้ายตลอดไป"
- ทุกคนช่วยได้ กระเป๋าก็ช่วยได้
มลลิกา เรืองกฤติยา เจ้าของและดีไซเนอร์ แบรนด์ Kloset กล่าวว่า ไม่ลังเลเลย ตอนได้รับการติดต่อมา
"เรามีความสามารถในการดีไซน์และทำแบรนด์มา 20 ปี น่าจะรณรงค์ให้มีรายได้มาช่วยให้มูลนิธิได้ ทำไมถึงเป็นกระเป๋า
จากประสบการณ์และตัวเลขที่เราขายของมา นี่คือสินค้าเบสท์เซลเลอร์ หนึ่ง.ในเรื่องฟังก์ชั่น ใช้ง่าย สาวออฟฟิศหรือใครก็สามารถใช้ได้ ใส่มือถือ, กระเป๋าสตางค์ไปกินข้าวเที่ยง
เด็ก ๆ ก็ใส่ขนม เราศึกษามาแล้วว่า นี่คือสิ่งที่ซื้อง่าย ราคาน่ารัก เป็นมิตรภาพ ส่วน สีส้มเป็นสีที่มีพลัง
ลายก็ออกแบบให้เห็นว่ามันคือความรักกัน, จับมือกัน, กอดกัน มีหัวใจ, มีหอมกัน เห็นแล้วให้พลังบวก
แล้วก็ใส่แมสเสจลงไป บอกต่อคนรอบข้างเรา หรือถ้าเขาไม่ซื้อตามเรา แมสเสจที่ผ่านตาก็ซึมซับเข้าไปในความคิดของเขาบ้าง
กระเป๋าใบนี้ที่ด้านหนึ่งไม่มีเวิร์ดดิ้งเป็นเรียบ ๆ แต่อีกด้านหนึ่งคุณเป็นพลังสำคัญ เป็นเสียงสำหรับผู้หญิงและเด็ก ๆ ในสังคม
ดร. อุษณีย์ กล่าวว่า กระเป๋าคอลเล็คชั่นพิเศษที่ออกแบบโดย Kloset ผลิตเพียง 500 ชิ้น วางจำหน่ายที่ร้านโดนัท คริสปี้ ครีมทุกสาขา
รายได้จากการจำหน่ายจะมอบให้กับสโมสรซอนต้ากรุงเทพ 1 เพื่อใช้ในกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี