‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ ประเทศไทยจะมี ‘การุณยฆาต’ เมื่อไร?

‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ ประเทศไทยจะมี ‘การุณยฆาต’ เมื่อไร?

'การุณยฆาต' คือสิ่งที่คนพิการต้องการ ในเมื่อ ‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ เพราะรัฐไทยไม่เคยเหลียวแลและจัดหาสวัสดิการจำเป็นให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียม

‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ เป็นเสวนาว่าด้วยความตายของคนพิการ โดย อดิศักดิ์ พาพรชัย, นลัทพร ไกรฤกษ์, นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย ดำเนินรายการโดย พรเพ็ญ เธียรไพศาล

จัดโดย ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณทล, Thisable.me สมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ และ Die Kommune เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ความพิการเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ ในเมื่อเป็นคนพิการแล้ว เหตุใดจึงไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมอย่างที่ทุกคนมี

‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ ประเทศไทยจะมี ‘การุณยฆาต’ เมื่อไร?

  • ความพิการที่เลือกไม่ได้

นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการสื่อออนไลน์เพจ ThisAble.me กล่าวถึงสาเหตุความพิการของตัวเองว่า เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Spinal Muscular Atrophy (SMA) มาตั้งแต่กำเนิด

"ทำให้ต้องนั่งวีลแชร์มาตลอด ซึ่งโรคนี้ในไทยและทั่วโลกยังไม่มีวิธีรักษา มีแต่ประคับประคอง ครั้งแรกที่ได้เจอกับคนที่เป็นโรคนี้เหมือนกัน 3 คน ตอนมัธยมปลาย ทำให้เราดีใจมาก เลยทำเพจเกี่ยวกับโรคนี้ขึ้นมา 

มีผู้ปกครองที่มีลูกเล็กเป็นโรคนี้มาปรึกษาว่าลูกอาการไม่ดีเลย ทำไมเราถึงโตเป็นผู้ใหญ่ได้ ซึ่งแต่ละคนจะเป็นมากน้อยไม่เท่ากัน

เราคุยกับเขาอยู่สองอาทิตย์ ลูกเขาก็เสียชีวิต ทำให้เราไม่อยากทำเพจต่อแล้ว ถ้าทำต่อไปก็จะเจอกับความตายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

มีน้อง ๆ ที่มีอาการหนักกว่าเรา มาปรึกษาว่าอยากให้ช่วยเขาจบชีวิตตัวเองจะทำยังไงได้บ้าง เขาคิดเรื่องนี้มานานแล้ว ทำงานเก็บตังค์มา 2-3 ปีเพื่อจะไปทำสิ่งนี้

เราคิดว่ามันไม่แฟร์ ที่คน ๆ หนึ่งอยากตายไปโดยที่เราไม่มีสวัสดิการ ที่ทำให้เขาคิดได้ว่าเขามีศักยภาพในตัวเองแค่ไหนหรือสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม

ถ้าคน ๆ นั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปทำงานได้ มีรายได้เท่าเทียมกับคนอื่น เลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงครอบครัว

เราพบว่า โดยเฉลี่ยแต่ละปี คนเป็นโรคนี้ที่เข้ามาในเพจพูดคุยกัน 3-4 คนจะตายหายไป ด้วยโรค หรือด้วยสภาพแวดล้อม หรือเขาตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง

ในเรื่องของความพิการ คนที่เพิ่งพิการจะเคยเห็นตัวเองเมื่อก่อนว่าทำอะไรได้บ้าง มีชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบันยังไง

แต่เราพิการตั้งแต่เกิด ไม่เคยมีภาพนั้นเกิดขึ้น ไม่เคยได้ออกจากครอบครัวอย่างจริงๆ จังๆ ไม่เคยได้ใช้ชีวิตตัวเอง ไม่รู้ว่าลิมิตชีวิตตัวเองมันคือแค่ไหน

และคนที่เป็นโรคนี้ เมื่ออายุมากขึ้น ก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ ในตอนนี้เรามีงานทำ ออกจากบ้านไปไหนมาไหนได้

แต่ลึก ๆ ก็คิดว่า ถ้าวันหนึ่งเราไม่สามารถทำอะไรได้ เราก็อยากใช้ชีวิตแค่นี้ในตอนที่รู้สึกมีความสุขกับตัวเอง"

‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ ประเทศไทยจะมี ‘การุณยฆาต’ เมื่อไร?

  • ความไม่คาดคิด ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น

อดิศักดิ์ พาพรชัย ประสบอุบัติเหตุในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ทำให้ร่างกายตั้งแต่ระดับคอลงไปไม่มีความรู้สึก ขยับไม่ได้ กล่าวว่า อยากให้มีการุณยฆาต

"มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ ก่อนพิการชีวิตเราเป็นยังไง หลังพิการชีวิตเราเป็นยังไง เราไม่เคยแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น

ไม่เคยบอกใครว่าเราต้องเจออะไรบ้าง เราอดทนอย่างเดียว เพราะไม่อยากให้คนใกล้ตัวรู้สึกว่าเราแย่

วันหนึ่งถ้าแม่หรือคนในครอบครัวไม่อยู่ เราจะอยู่แบบไหน เราขอไปก่อนเลยได้ไหม จะได้ไม่ต้องทรมานกับร่างกายนี้

14 ปีมาแล้วที่เราใส่สายสวนฉี่อยู่ตลอดเวลา บางทีติดเชื้อ ร่างกายก็แย่ลง หายใจก็เหนื่อย ลำบาก หนาวสั่น ทรมาน

แม่ต้องอยู่กับผม 24 ชั่วโมง วันหนึ่งถ้าไม่มีผม แม่ก็เสียใจอยู่แล้ว แต่เขาจะได้ไปใช้ชีวิตในแบบของเขาได้ ทุกวันนี้เขาทำอะไรไม่ได้เลย

คนพิการจำนวนมาก คิดถึงเรื่องการุณยฆาต โดยไม่รู้ว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้อีก บางคนไม่ได้พิการรุนแรง แต่ไม่มีหนทาง ไม่มีความรู้ ไม่รู้ว่ามีสวัสดิการอะไร

เขาควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ ถ้าเขารู้ การฆ่าตัวตายหรืออยากการุณยฆาตก็จะลดน้อยลง

ที่ประเทศญี่ปุ่น, สิงคโปร์ เขามีแนวคิดดูแลคนพิการอย่างทั่วถึง ถนนหนทาง ฟุตบาท รถเมล์ รถไฟ เขาให้ความสำคัญทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

ที่ญี่ปุ่นถ้าพิการรุนแรงเขามี PA ให้ 24 ชั่วโมง ส่วนในไทยตอนกลางคืน ผมหายใจไม่ออก โทรไป 1669 เขาตอบกลับมาว่า ไม่มีรถออกฉุกเฉิน"

‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ ประเทศไทยจะมี ‘การุณยฆาต’ เมื่อไร?

  • ในเมืองไทยมีการุณยฆาตหรือยัง

นายแพทย์ภิญโญ ศรีวีระชัย กล่าวว่า การุณยฆาตเกิดขึ้นจากการมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่เขาไม่อยากอยู่แล้ว ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

"เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ยังมีอยู่ และเริ่มรู้สึกว่าการฆ่าตัวตายมันน่ากลัว อยากให้การจากไปมันสบายมากขึ้นจึงไปปรึกษาแพทย์

วงการแพทย์ไม่เห็นด้วย แต่ก็มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่รักษาไม่หายจริง ๆ ต้องให้เลือกจากไปอย่างสงบ จึงเริ่มมีเรื่องการุณยฆาตเข้ามา

จากการศึกษาเก็บข้อมูลการุณยฆาตประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าในปี 2002 มี 2000 ราย สิบปีต่อมา 2012 มี 4000 ราย ปี 2016 มี 6000 ราย

ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย และผู้สูงอายุที่ขอการุณยฆาต ให้เหตุผลว่าอายุเยอะ ทำอะไรไม่ได้แล้ว รอวันจากไป ทุกข์ทรมานไม่มีความหมายในชีวิต

และมีบางส่วนถูกกดดันจากครอบครัวและสังคมให้เขามาทำ ทำให้เนเธอร์แลนด์คิดว่าเขามาเร็วไปและไกลเกินไป หรือประเทศเขาดูแลผู้สูงอายุไม่ดีพอ

หมอคิดว่า ถ้าใครคนหนึ่งตัดสินใจว่าจะจากไป ก็อยากให้ตัดสินใจตายอย่างสมศักดิ์ศรี ที่ได้รับทุกอย่างแล้ว แต่มันยังไม่โอเค.กับชีวิต

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐจัดสวัสดิการให้กับคนในสังคมเพียงพอแล้วหรือยัง แค่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ผมดูแลอยู่

ยังไม่สามารถให้บริการทางการแพทย์และเรื่องอื่น ๆ ให้เขาได้อย่างเต็มที่เลย ถ้าผมเป็นคนพิการจะยิ่งเข้าใจเลยว่า เรื่องเหล่านี้ยังเข้าไม่ถึงจริง ๆ

ณ ปัจจุบันนี้เรื่อง ‘การุณยฆาต’ ยังไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะเราต้องทำสวัสดิการด้านอื่นให้เข้าถึงได้ก่อน เช่น ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็ต้องให้การดูแลแบบประคับประคอง หรือเข้าถึงผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดก่อน"

‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ ประเทศไทยจะมี ‘การุณยฆาต’ เมื่อไร?

  • สวัสดิการของรัฐ ที่ควรจะมี

นลัทพร กล่าวว่า ทุกวันนี้เธอเดินทางไปทำงานด้วยตัวเองได้ด้วยรถไฟฟ้า แต่ไปแบบต้องร้องขอทุกคนว่า ช่วยเปิดให้หน่อยนะคะ ช่วยยกนิดหนึ่งนะคะ

"วันหนึ่งประมาณ 15 รอบ มันบั่นทอนการใช้ชีวิตมาก เรารู้สึกว่าเราไม่มีศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากับคนอื่น ๆ

เราไม่มีความเป็นส่วนตัว เมื่อไปถึงรถไฟฟ้าเขาจะตะโกนตั้งแต่คนแรกว่า วีลแชร์หญิงจะไปไหน ไม่ใช่เรื่องที่เราสบายใจ ไม่ใช่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพที่ควรจะเป็น

การใช้อย่างสบายใจ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่ได้ต่างจากคนอื่น เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ ประเทศไทยควรคำนึงถึงเรื่องนี้

ตอนเรียน ตึกเรียนที่ขึ้นได้ก็มีน้อย ขณะที่เพื่อน ๆ เดินขึ้นหน้าตึก แต่เราต้องไปเช้ามากเพื่อเผื่อเวลาไปอ้อมขึ้นด้านหลังตึก ตรงห้องเก็บขยะ ห้องเก็บของ

ซึ่งคนพิการที่ออกมาใช้ชีวิตไม่ได้ก็เลเวลหนึ่ง แล้วคนที่ออกมาได้ก็ใช้ชีวิตอีกเลเวลหนึ่ง

เราทำงานมาทั้งวันไม่เหนื่อยเท่าวิ่งไปบอก รปภ.ให้มาเปิดลิฟท์ที่ BTS เลย เราอยากเป็นคนพิการเหวี่ยง ๆ กลับบ้าน แต่ทำแบบนั้นใครจะมาเปิดลิฟท์ไห้

สุดท้ายเราต้องเป็นคนพิการที่น่ารักพูดคะขาให้เขาทำอะไรให้เราใช้ชีวิตได้ เคยคุยกับเพื่อน เราไม่มาทำงานแล้วได้ไหม ขี้เกียจบอก รปภ.

ถ้าเราพูด ค่ะ คำเดียวตอนเขาถามว่าจะใช้ลิฟท์ไหม เขาก็ไม่พอใจ ทำให้เราต้องพูดกับเขาดี ๆ แล้วก็ซื้อของไปฝาก เพื่อจะได้บริการขั้นพื้นฐานกลับมา

ซึ่งจริงๆ มันควรเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้เอง เราก็อยากเฟรนด์ลี่กับคนอื่นๆ เพราะอยากทำจริง ๆ ไม่ได้ทำเพราะอยากได้สิ่งตอบแทน"

‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ ประเทศไทยจะมี ‘การุณยฆาต’ เมื่อไร?

  • ทุกคนควรมีสิทธิตัดสินชีวิตตัวเอง

นลัทพร กล่าวว่า ตอนเป็นเด็กเข้าใจว่า คนตายส่วนใหญ่ต้องเป็นคนแก่ เด็กไม่สามารถตายได้ แต่เด็กสามารถหายไปได้ เพราะโดนจับไป

"ความรู้สึกครั้งแรกที่เราอยากหายไป เกิดขึ้นช่วงตอนเด็กอายุ 4-5 ขวบ เราอยู่บนบ้านชั้นสอง แล้วน้องก็วิ่งลงไปได้ แต่เราลงไม่ได้

ก็ตะโกนสุดเสียงเป็นชั่วโมงเลยเพื่อให้แม่มาพาลง แต่แม่หายไปไหนไม่รู้ เป็นแวบแรกที่มีความรู้สึกอยากหายไปจากโลกนี้ ไม่อยากอยู่แล้ว เพราะเราทำอะไรเองไม่ได้เลย

เราเกิดมาในครอบครัวที่เขาสามารถซัพพอร์ทได้ ซึ่งมันไม่ใช้ภาพสะท้อนของคนพิการส่วนใหญ่ที่เขาไม่มีโอกาส

เพื่อนๆ หลายคนแม้แต่ออกไปหน้าบ้านของตัวเองยังไปไม่ได้เลย มันไม่ใช่ชีวิตที่ใครก็ตามในโลกนี้ต้องการ มันโคตรทรมานเลยนะ ที่ต้องนอนอยู่บนเตียง 10-20 ปี

สิทธิในการเลือกจากไป เลือกจบชีวิตตัวเองมันควรเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ โดยที่ไม่ต้องไปฆ่าตัวตาย

ตัวเลขการุณยฆาตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนว่า ประเทศนั้นมีสวัสดิการดูแลคนได้ดีเพียงพอให้คนมีชีวิตที่ดีได้อย่างมีคุณค่าหรือเปล่า

คนพิการหลายคนที่เรารู้จักอยากจบชีวิตด้วยตัวเอง แต่รัฐไทยกลับพรากชีวิตเขาไปก่อน เราเสียคนที่รักและรู้จักไปหลายคนมาก ๆ จากไฟดับ แค่ 2 นาที

ขณะที่แม่ลงไปกินข้าวแล้วไฟดับ กลับขึ้นมาเขาก็หายไปจากโลกนี้แล้ว เพราะเขาใช้เครื่องหายใจที่ใช้ไฟฟ้า 24 ชั่วโมง ตอนที่รู้ข่าว เรารู้สึกโกรธและเฮงซวยมากที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

หลายคนชอบพูดว่า ดูสิ นั่งวีลแชร์เขายังทำอันนั้นอันนี้ได้เลย เรามีขาสองข้าง เดินได้ ทำไมเราทำไม่ได้ ประโยคแบบนี้ฟังแรก ๆ เหมือนจะชมเราว่าเราเก่ง

แต่จริง ๆ แล้วเขาประเมินคุณค่าเราในแบบที่คิดว่าไม่สามารถเป็นได้เท่าเขา เมื่อได้ฟังเยอะ ๆ ก็เจ็บปวด

ซึ่งไม่ควรมีใครใช้หรือเอาอีกคนมาทำให้ตัวเองสูงขึ้นหรือรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นหรือตัวเองเก่งขึ้น"

‘เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายได้ไหม’ ประเทศไทยจะมี ‘การุณยฆาต’ เมื่อไร? Cr. Thisable.me

  • หลากหลายความเห็นจากผู้พิการ

"คนในสังคมนี้โหดร้ายและเลือดเย็น ปล่อยให้เราอยู่ด้วยความทุกข์ทรมานในสภาพแวดล้อมสังคมแบบนี้ มีแต่คนพูดดีแต่ไม่เคยทำให้เกิดสวัสดิการดี ๆ ขึ้นมาได้จริงในปัจจุบัน มันยุติธรรมไหม เราจะเลือกตายบ้างได้ไหม เพราะมันอยู่ไม่ได้ การเลือกตายเองได้ ก็ควรเป็นส่วนหนึ่งของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในสังคมของเราเหมือนกัน"

"ถ้าประเทศไทยเรา มีสวัสดิการที่ดี ที่เอื้อกับคนทุกคน ไม่มีใครอยากตายหรอก รัฐไทยควรเปิดเรื่องการุณยฆาตให้มากขึ้น เพราะว่า เศรษฐกิจ และโครงสร้างสังคมมีความเหลื่อมล้ำมาก ทำให้คนไม่อยากอยู่เกิดขึ้น"

"อยากให้เอา ‘การุณยฆาต’ มาทำเป็นจริงเป็นจังได้แล้ว ในเมื่อไม่มีสวัสดิการ เราไม่อยากฆ่าตัวตาย เป็นตำนานหลอนของห้องเช่า ไม่อยากเป็นภาระของเจ้าของห้องเช่า หรือคนอื่นที่ต้องมาทำโน่นทำนี่ให้ ในเมื่อเลือกเกิดไม่ได้ก็ขอเลือกตายได้ไหม"