“Alamat” บอยแบนด์ฟิลิปปินส์ กับงานดนตรีสะท้อนการถูกกดขี่ในยุคล่าอาณานิคม

“Alamat” บอยแบนด์ฟิลิปปินส์ กับงานดนตรีสะท้อนการถูกกดขี่ในยุคล่าอาณานิคม

เมื่อเรื่องราวของการถูกล่าอาณานิคม การถูกกดขี่ และวัฒนธรรมพื้นบ้าน ถูกนำมาหลอมรวมเพื่อถ่ายทอดผ่านเสียงเพลงของวง “Alamat” บอยแบนด์ยุคใหม่จากเกาะฟิลิปปินส์

การบอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมและสังคมผ่านบทเพลงหรือมิวสิกวิดีโอของศิลปิน เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปไม่ว่าในยุคสมัยไหนหรือชนชาติใด แน่นอนว่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นเรื่องราวแห่งคุณงามความดี การยกย่องเชิดชูในตัวบุคคลหรือวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้กลับมาศึกษาเรียนรู้อีกครั้ง แต่ก็มีศิลปินไม่น้อยที่เลือกจะเล่าเรื่องราวความเลวร้ายและความเจ็บปวดในอดีตที่ชนชาติของตนเคยเผชิญ เพื่อตอกย้ำว่ากว่าจะมีวันนี้ได้บรรพบุรุษต้องอดทนและเสียสละอะไรบ้าง

หนึ่งในนั้นก็คือบอยแบนด์รุ่นใหม่ไฟแรงจากประเทศฟิลิปปินส์ “Alamat” เด็กหนุ่มทั้งแปดคน ที่มาพร้อมการบอกเล่าเรื่องราวในสมัยที่ประเทศของพวกเขาถูกล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก สะท้อนภาพที่ชาวฟิลิปปินส์ในตอนนั้นถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไม่ใยดี และที่น่าสนใจคือการนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นไปพร้อมกันโดยการใช้ภาษาถิ่นถึง 7 ภาษาด้วยกัน

  • บอยแบนด์หน้าใหม่กับการเสนอคอนเทนต์สะท้อนสังคม

Alamat เป็นการรวมตัวกันของเด็กหนุ่มในฟิลิปปินส์ในปี 2020 และเดบิวต์เป็นวงบอยแบนด์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 8 คน มาจากทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ Taneo, Mo, Jao, Tomas, R-Ji, Valfer, Gami และ Alas ซึ่งสิ่งที่ทำให้วง Alamat โดดเด่นกว่าวงอื่นๆ ก็คือการนำภาษาท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ 7 ภาษา จากทั้งหมดประมาณ 178 ภาษา มาใช้ในการขับร้อง เพื่อแสดงออกถึงความโดดเด่นของภาษาที่มาจากหลากหลายภูมิภาคทั่วประเทศ

นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ Alamat กลายเป็นกระแสโด่งดังและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางคือ การฉายภาพของยุคสมัยการล่าอาณานิคมที่ฟิลิปปินส์เคยตกเป็นหนึ่งในเมืองขึ้นของอาณาจักรสเปนยาวนานถึง 327 ปี ก่อนจะมีการประกาศเอกราชในที่สุด แต่ช่วงที่ตกเป็นเมืองขึ้นนั้นชาวฟิลิปปินส์เองก็ต้องต่อสู้สู่กับการถูกกดขี่ข่มเหง และเอารัดเอาเปรียบจากชาติตะวันตก เรื่องราวเหล่านั้นแม้จะยังอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศฟิลิปปินส์

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่อาจให้ความสนใจน้อยลง ดังนั้นการที่เรื่องราวดังกล่าวถูกผลิตซ้ำอีกครั้งในรูปแบบของมิวสิกวิดีโอจากวงบอยแบนด์วัยรุ่น จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่าการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากน้อยเพียงใด

โดยเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ Alamat หยิบยกมานำเสนอผ่านมิวสิกวิดีโอ “kasmala” เป็นเรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมือง อ้างอิงจากชนเผ่าที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ชื่อว่า “Igorot” ซึ่งนอกจากพวกเขาจะถูกกดขี่ให้กลายเป็นชนชั้นแรงงานแล้ว บางส่วนยังถูกนำตัวไปที่สหรัฐอเมริกาและบังคับให้ทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อแสดงโชว์ในลักษณะของ “สวนสัตว์มนุษย์” หรือ Human Zoo ใน Coney Island เมื่อปี 1904 นอกจากนี้ยังตอกย้ำในเรื่องสิทธิเสรีภาพของชนชั้นแรงงาน ซึ่งมีหลักฐานพบว่ากฎหมายอเมริกาในช่วงนั้นระบุว่าการฆ่าชาวฟิลิปปินส์ไม่มีความผิด รวมถึงการชำระล้างเด็กแรกเกิดชาวฟิลิปปินส์เนื่องจากความเชื่อที่ว่าชาวเอเชียนั้นสกปรกและแตกต่างกับคนขาว

นี่เป็นเรื่องราวในอดีตเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่ชาวฟิลิปปินส์ต้องพบเจอและต่อสู้กับความเจ็บปวดจากการถูกกดขี่และริดรอนความเป็นมนุษย์มานานกว่า 300 ปี จึงเป็นเรื่องยากที่จะลืมเลือนและควรเป็นสิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่ควรระลึกถึง นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แล้ว Alamat ยังแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านภาษาพื้นเมืองอีกด้วย

  • เมื่อภาษาพื้นเมือง ถ่ายทอดเรื่องราวได้มากกว่าการสื่อสาร

แม้ว่าประเทศฟิลิปปินส์จะใช้ “ภาษาตากาล็อก” และ “ภาษาอังกฤษ” เป็นภาษาราชการ แต่ความจริงแล้วภาษาของฟิลิปปินส์นั้นสามารถแบ่งออกได้หลากหลายมากกว่าร้อยภาษา แต่ภาษาที่ Alamat หยิบยกมาใช้ในบทเพลงต่างๆ มีอยู่ 7 ภาษา ได้แก่ ภาษาตากาล็อก, อีโลกาโน, กาปัมปางัน, วิซายัน, ฮีลีไกโนน, บิกอลลาโน และ วาไร แต่ละภาษามีความสำคัญดังนี้

- ภาษาตากาล็อก หนึ่งในภาษาหลักของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ อยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน มีความสัมพันธ์กับภาษาอินโดนีเซีย ภาษามลายู ภาษาฟิจิ และตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนในไต้หวัน โดยตากาล็อกเป็นภาษาประจำชาติและภาษาราชการคู่กับภาษาอังกฤษ มีผู้พูดประมาณ 85 ล้านคน มีรากฐานมาจาก taga-ilog โดย taga หมายถึงท้องถิ่น และ ilog หมายถึงแม่น้ำ มีความหมายโดยรวมคือ “ผู้อาศัยอยู่กับแม่น้ำ”

- ภาษาอีโลกาโน เป็นภาษาของชาติพันธุ์อีโลกาโน มีผู้ใช้มากเป็นลำดับสามของประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่ใช้ในภูมิภาคทางเหนือ เช่น ลูซอนเหนือ ลูซอนกลางเขตโซกซาร์เจนบางส่วน และเป็นภาษาทางการของจังหวัดลาอูนยอน

- ภาษากาปัมปางัน หรือ ภาษาปัม เป็นภาษาที่มีผู้ใช้เป็นอันดับ 7 ในฟิลิปปินส์ ถือเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยที่ได้รับรองจากทางการ ส่วนมากใช้ในเขตกิตนางลูโซน เช่น จังหวัดปัมปังกาทั้งหมด และ จังหวัดตาร์ลักตอนใต้ เป็นต้น

- กลุ่มภาษาวิซายัน (มีมากกว่า 30 ภาษา) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภาษาฟิลิปปินส์กลาง ส่วนใหญ่ใช้กันในแถบวิซายา แต่ก็พบได้ในบริเวณบิกอล (โดยเฉพาะซอร์ซอกอนและมัสบาเต) หมู่เกาะทางใต้ของลูซอน ทางเหนือและทางตะวันตกของมินดาเนา และในจังหวัดซูลูที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมินดาเนา ผู้อยู่ในเมโทรมะนิลาบางส่วนพูดภาษาในกลุ่มนี้ด้วย

- ภาษาฮีลีไกโนน เป็นภาษาตระกูลออสโตรนีเซียใช้พูดในแถบวิซายาตะวันตก ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดอีโลอีโลและเนโกรส และจังหวัดอื่น ๆ ในเกาะปาไน

- ภาษาบิกอล หรือ บิกอลลาโน เป็นกลุ่มภาษากลางของฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่ใช้ในบิกอล คาบสมุทรในเกาะลูซอน ในจังหวัดใกล้เคียงเกาะ Catanduanes และเกาะ Burias

- ภาษาวาไร หรือ ภาษาซามาร์-เลเต (ซามาร์) มักใช้ในจังหวัดซามาร์, นอร์เทิร์นซามาร์, อีสเทิร์นซามาร์, เลเต และบีลีรันในฟิลิปปินส์ อยู่ในภาษาตระกูลวิซายัน มีความเกี่ยวข้องกับภาษาเซบูและใกล้เคียงกับภาษาฮีลีไกโนน เป็นภาษาที่มาจากชาติพันธุ์วาไร

นี่เป็นเพียงบางส่วนของการส่งออกวัฒนธรรมและการกระตุ้นให้ชาวฟิลิปปินส์ระลึกถึงความโหดร้ายที่บรรพบุรุษเคยเผชิญในอดีตเท่านั้น และการนำเสนอผลงานของ “Alamat” ในครั้งนี้ ก็ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จเพราะมิวสิกวิดีโอเพลง kasmala และเพลงอื่นๆ มียอดผู้ชมมากกว่าหนึ่งล้านครั้ง ส่งให้บอยแบนด์วงนี้ได้ไปแสดงสดในหลายเวที และขึ้นมาเป็นวงบอยแบนด์อันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่ยาก

อ้างอิงข้อมูล : ฐานข้อมูลสังคม-วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Hmong และ Viva Entertainment