4 เมืองใหญ่ของโลก กับเรื่องราวถนนที่เป็นมิตรกับคนเดินและคนปั่นจักรยาน

4 เมืองใหญ่ของโลก กับเรื่องราวถนนที่เป็นมิตรกับคนเดินและคนปั่นจักรยาน

โลกยุคใหม่ ไม่ได้มองกันแค่ความเจริญ แต่มองเรื่องการใช้ชีวิต และนี่คือ 4 เมืองใหญ่ของโลก กับเรื่องราวถนนที่เป็นมิตรกับคนเดินและคนขี่จักรยาน ในเมืองมิลาน อิตาลี มีเขตปลอดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด

หลายๆ เมืองพลิกวิกฤตของการระบาดของโรคโควิด-19 ให้เป็นโอกาส อาศัยจังหวะที่คนต้องล็อคดาวน์อยู่กับบ้านเป็นเวลานานและมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยถ้าต้องออกมานอกบ้าน หันมาริเริ่มโครงการสร้างความเป็นมิตรให้คนเดินถนนและผลักดันให้มีพื้นที่ปลอดรถยนต์มากขึ้น

หลายเมืองมีการกำหนดถนนคนเดินและเลนสำหรับจักรยานหรือไบค์เลนเพิ่มมากขึ้น เปลี่ยนลานจอดรถให้เป็นร้านอาหารป๊อบอัพหรือให้บริการชั่วคราว เปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยรถยนต์ให้กลายเป็นถนนคนเดินและปั่นจักรยาน 

แม้ว่าตอนนี้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติเหมือนยุคก่อนโควิดแล้ว แต่เมืองหลวงของบางประเทศก็ยังคงสานต่อความคิดริเริ่มเหล่านั้น เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้คนออกมาใช้ชีวิตด้วยการเดินบนท้องถนนให้มากที่สุด 

 

1.ถนนคนเดินในปารีส ฝรั่งเศส 

ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ปารีสริเริ่มไอเดียสร้างเมืองให้เป็นมิตรให้กับคนเดินถนน เพราะพยายามจะลดจำนวนการใช้รถยนต์ โดยในปลายปีค.ศ. 2016 ทางเดินเลียบแม่น้ำแซน กลายเป็นถนนคนเดินอย่างสมบูรณ์แบบและกลายเป็นโครงการถาวรในอีก 2 ปีต่อมา 

ในปีค.ศ.2020 แอนน์ ฮีดัลโก นายกเทศมนตรีปารีสได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชูนโยบายเปลี่ยนมหานครปารีสให้เป็น “เมือง 15 นาที”

ซึ่งเป็นแนวคิดการวางผังเมืองแบบใหม่ ที่จะทำให้คนสามารถเข้าถึงความจำเป็นทุกสิ่งอย่างในชีวิตประจำวันตั้งแต่การชอปปิง การเรียน ไปจนถึงการทำงาน ภายในระยะเวลา 15 นาทีไม่ว่าจะเดินหรือปั่นจักรยาน 

4 เมืองใหญ่ของโลก กับเรื่องราวถนนที่เป็นมิตรกับคนเดินและคนปั่นจักรยาน คนออกมาขี่จักรยานบนถนนฌ็องเซลิเซ่หลังจากปารีสผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 (ภาพเอเอฟพี)

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 กอรปกับการประท้วงหยุดงานของพนักงานขนส่งสาธารณะหลายครั้งก่อนการปิดเมือง ยิ่งทำให้โครงการริเริ่มดังกล่าวที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยมมากขึ้น 

แคธลีน เพดดิคอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัท Live and Invest Overseas ซึ่งให้คำแนะนำเรื่องที่อยู่อาศัย การเกษียณและการลงทุนในต่างประเทศบอกว่า ความงดงามของการเดินในปารีสนั้น กลายเป็นไฮไลท์ตั้งแต่เกิดโควิด-19

การเดินทางด้วยรถสาธารณะไม่สะดวกและยังอึดอัดด้วย เพราะต้องสวมหน้ากาก ดังนั้นผู้คนจำนวนมากจึงเริ่มไปไหนมาไหนด้วยการเดินมากขึ้น 

ปารีสมีการเพิ่มจำนวนทางจักรยาน เพื่อช่วยลดการจราจรทางรถยนต์ และยังมีแผนจะเพิ่มไบค์เลนยาว 180 กิโลเมตรและที่จอดรถจักรยานอีก 180,000 จุดภายในปีค.ศ. 2026 

ถนนหลักกลางกรุงปารีสอย่างริโวลี่ ก็ถูกลดเหลือแค่เลนเดียวและนำอีก 3 เลนไปขยายเป็นทางสำหรับคนขี่จักรยาน ทางเมืองยังมีแผนปลูกต้นไม้ 170,000 ต้นภายในปีค.ศ. 2026 เพื่อจะลดอุณหภูมิในปารีสให้เย็นลงเพื่อให้คนเดินถนนรู้สึกสบายมากขึ้น

และในโอกาสที่ปารีสจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีค.ศ. 2024 สะพานระหว่างหอไอเฟลและจัตุรัสทรอคาเดโรก็จะกลายเป็นถนนคนเดินทั้งหมดเช่นกัน 

โดยรวมแล้ว ชาวปารีสต่างชื่นชมการเปลี่ยนแปลงเมืองครั้งนี้และหวังว่าจะดีได้มากกว่านี้ 

“ชาวปารีสถูกใจสิ่งนี้ รถยนต์น้อยลงและผู้คนก็ดูจะผ่อนคลายขึ้น” รูเบนส์ ฟิลส์ ชาวปารีสซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ของBeen Around the Globeกล่าว 

4 เมืองใหญ่ของโลก กับเรื่องราวถนนที่เป็นมิตรกับคนเดินและคนปั่นจักรยาน ถนนคนปั่นในโบโกต้า (ภาพwikimedia.org)

2.เส้นทางจักรยานโบโกต้า โคลอมเบีย 

ในขณะที่โบโกต้า เมืองหลวงของโคลอมเบียมีวัฒนธรรมการใช้จักรยานอย่างแพร่หลายมาตลอด โดยที่การปั่นจักรยานเป็นกีฬาประจำชาติของประเทศ

การระบาดของโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องถนนปลอดรถยนต์ในปีค.ศ. 2020 คลอเดีย โลเปซ นายกเทศมนตรีโบโกต้าได้กำหนดเลนชั่วคราวสำหรับจักรยานเพิ่มเติม 84 กิโลเมตรจากเส้นทางที่มีอยู่เดิมของเมือง 550 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกเส้นหนึ่งและกลายเป็นเส้นทางจักรยานถาวรด้วย 

โบโกต้าเป็นหนึ่งในเมืองแรกๆ ของโลกที่เพิ่มเลนจักรยานป๊อปอัพหรือเปิดชั่วคราวในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ซึ่งชาวเมืองต่างก็ชื่นชอบ 

“โบโกต้าได้เริ่มพัฒนาเมืองให้มีบรรยากาศแบบกรุงอัมสเตอร์ดัมและโคเปนเฮเกนอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นจักรยานจำนวนมากบนถนนตลอดทั้งวัน มันช่วยสร้างแรงบันดาลใจมาก” อเล็กซ์ กิลลาร์ด ผู้ก่อตั้งบล็อก Nomad Nature Travelและอาศัยอยู่ในโบโกต้าในช่วงการระบาด กล่าว 

ในทุกวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รถยนต์จะถูกห้ามเข้าบนถนนบางเส้นทางโดยเด็ดขาดภายใต้โครงการ “ซิโคลเวีย” หรือการปิดถนนปั่นจักรยานซึ่งสามารถดึงนักปั่นจักรยาน คนเดิน และนักวิ่งมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อสัปดาห์ให้มาร่วมกิจกรรมได้ 

คนท้องถิ่นบอกว่ารถเมล์ใหม่ของเมืองซึ่งใช้ไฟฟ้าและก๊าซก็ช่วยปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างมีนัยสำคัญ 

“บรรยากาศของโบโกต้าเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้การเดินทางในเมืองง่ายขึ้น ไม่วุ่นวายและปลอดภัยขึ้น” โจเซฟีน เรโม่ บล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวกล่าว 

4 เมืองใหญ่ของโลก กับเรื่องราวถนนที่เป็นมิตรกับคนเดินและคนปั่นจักรยาน จักรยานไบค์แชร์ริ่งในมิลาน (ภาพmomentummag.com)

3.เขตปลอดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของมิลาน 

อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมืองต่างๆ ของประเทศต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อหาทางเลือกของระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งปกติมีคนใช้บริการหนาแน่นอยู่แล้ว

ในช่วงฤดูร้อนปีค.ศ. 2020 มิลานริเริ่มแผนขยายทางเท้าและเลนจักรยานยาว 35 กิโลเมตรบนถนนเส้นที่เคยเป็นถนนสัญจรของรถยนต์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เปลี่ยนโฉมหน้าของเมือง โดยมีร้านอาหารและตลาดกลางแจ้งและสวนในเมืองเพิ่มมากขึ้น 

“นี่ไม่ใช่เมืองมิลานที่ฉันเคยรู้จักเมื่อ 10 ปีที่แล้วตอนเรียนมหาวิทยาลัย ฉันชอบแนวคิดเมือง 15 นาที (แผนที่มิลานกำลังคิดจะทำ) ที่ให้ความสำคัญกับคนเดินถนนมากกว่ารถยนต์" ลุยซ่า ฟาวาเรตโต ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Strategistico ซึ่งให้ข้อมูลท่องเที่ยวต่างประเทศ กล่าว 

เธอได้เห็นการเติบโตของสิ่งที่เธอเรียกว่าบรรยากาศของชุมชน “โลกเก่า” เพราะมันมีเหตุผลมากขึ้นที่คนจะออกมาข้างนอกและพบปะกันในที่สาธารณะ 

ย่านซิตี้ไลฟ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจและชอปปิงไม่ได้เป็นเพียงเขตปลอดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของมิลานแต่ยังเป็นเขตปลอดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปอีกด้วย 

"ย่านนี้เต็มไปด้วยพื้นที่สาธารณะสีเขียวพร้อมกับเลนจักรยานมากมาย และทำให้มองเห็นอนาคตของความยั่งยืนของมิลานด้วย” ฟาวาเรตโตกล่าว 

นักท่องเที่ยวไม่ต้องกังวลว่าจะหาจักรยานไม่ได้ เพราะบริการให้เช่าจักรยานของ BikeMI มีสถานี 300 แห่งทั่วเมืองและมีบริการทั้งจักรยานธรรมดาและไฟฟ้า 

4 เมืองใหญ่ของโลก กับเรื่องราวถนนที่เป็นมิตรกับคนเดินและคนปั่นจักรยาน โครงการ “สโลว์ สตรีทส์” ในซานฟรานซิสโก (ภาพsfmta.com)

4.สโลว์ สตรีทส์ ซานฟรานซิสโก 

เมืองทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียแห่งนี้ มีการขยับตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด โดยเปิดตัวโครงการ “สโลว์ สตรีทส์” ที่ใช้ป้ายและเครื่องกีดขวางมาจำกัดจำนวนรถยนต์และความเร็วบนถนน 30 เส้น ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำถนนให้เป็นมิตรกับคนเดินถนนและคนขี่จักรยาน

จากข้อมูลที่เมืองรวบรวมมาพบว่า โครงการนี้ช่วยลดความคับคั่งของจราจรลงร้อยละ 50 มีคนเดินเท้าในวันธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และมีคนใช้จักรยานในวันธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 

แม้ว่าตอนนี้ถนนหลายสายจะกลับคืนสู่ภาวะปกติเหมือนยุคก่อนเกิดโรคระบาด ชาวซานฟรานซิสโกยังพยายามผลักดันให้โครงการดังกล่าวบังคับใช้เป็นการถาวร

ซึ่งคณะกรรมการบริหารของสโลว์ สตรีทส์ได้ลงมติให้ถนน 4 เส้นคือ ถนนโกลเด้นเกทถนนเลค ถนนซานเชซ และถนนชอตเวลล์ยังคงเป็นถนนปลอดรถยนต์ต่อไป 

“มันเป็นเรื่องดีมากที่คนเดินถนนและนักปั่นจักรยานสามารถแบ่งปันการใช้ถนนกันได้ คุณได้เห็นครอบครัวออกมาเดินเล่น เห็นเด็กๆ กำลังเล่นกัน มันช่างเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปมาก” ลีธ สตีล คนที่อาศัยอยู่บนถนนเส้นที่ยังคงปิดอยู่กล่าว 

เธอยังตั้งข้อสังเกตว่า เมืองมีการใช้เงินและความพยายามในการสร้างทางจักรยานที่ดีกว่าเดิมทั่วทั้งเมือง และเห็นได้ชัดเจนกว่าเมื่อก่อนมาก เธอแนะนำให้เดินสำรวจแต่ละย่านในซานฟรานซิสโก เพราะแต่ละย่านมีบรรยากาศและบุคลิกเป็นของตัวเอง 

แม้ว่าจะยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อเปลี่ยนซานฟรานซิสโกให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนเดินถนนอย่างแท้จริง แต่ประวัติศาสตร์ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามันสามารถทำได้

อย่างย่านเอ็มบาร์คาเดโร ซึ่งอยู่เลียบอ่าวซาน ฟรานซิสโกตอนนี้เป็นพื้นที่ที่คนสามารถเดินได้มากที่สุดของเมือง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเคยเป็นทางด่วนที่ไม่มีการจำกัดความเร็วจนกระทั่งเกิดแผ่นดินไหวในปีค.ศ. 1989 ทำให้ถนนไม่สามารถรองรับการสัญจรของรถยนต์ได้ 

..............

ที่มา เว็บไซต์บีบีซี