ไปเที่ยวที่นี่ ต้องลง MRT สถานีไหน ทำไมชื่อไม่ตรงกับสถานที่?

ไปเที่ยวที่นี่ ต้องลง MRT สถานีไหน ทำไมชื่อไม่ตรงกับสถานที่?

รวมไว้ให้แล้ว! สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ที่ต้องลงที่สถานีรถไฟฟ้า MRT แต่ละแห่ง พร้อมเปิดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้าทำไมถึงชื่อไม่ตรงกับสถานที่ จนนักเดินทางมึนงบไปตาม ๆ กัน

กลายเป็นไวรัลทั้งในทวิตเตอร์และติ๊กต็อกขึ้นมาทันที เมื่อมีผู้ใช้งานแชร์ทริคการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดิน หรือรถไฟฟ้ามหานคร หรือที่รู้จักกันในชื่อ MRT (Metropolitan Rapid Transit) เพื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโดยที่จะไม่หลง และต้องเสียเวลาเปลี่ยนขบวน เช่น จะไปตลาดนัดจตุจักร ต้องลงสถานีกำแพงเพชร ไปเซ็นทรัลลาดพร้าว ต้องลงสถานีพหลโยธิน ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สร้างความสับสนให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้รถไฟฟ้า

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงได้รวบรวมสถานที่รอบ ๆ สถานี MRT พร้อมทางออก เพื่อจะได้เดินทางได้อย่างรวดเร็วและลงไม่ผิดสถานี แต่ก่อนอื่นต้องไปดูหลักเกณฑ์การตั้งชื่อสถานีกันก่อนว่า มีข้อกำหนดอะไรบ้าง และใช้อะไรเป็นเกณฑ์

กรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยหลักการตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะไว้ด้วยกัน 6 ข้อคือ

1. ชื่อสถานีรถไฟฟ้าจะต้องเป็นชื่อที่ง่าย สามารถทำให้ประชาชนจดจำได้ง่าย

2. ชื่อสถานีจะต้องเอื้อให้ผู้เดินทางสามารถระบุตำแหน่ง หรือบริเวณที่ตั้งของสถานีได้อย่างชัดเจน และมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ตั้งสถานี

3. ชื่อสถานีรถไฟฟ้าควรเป็นชื่อที่สั้น กระชับ ได้ใจความ โดยชื่อภาษาไทยควรมีความยาวไม่เกิน 5 พยางค์ และชื่อภาษาอังกฤษควรใช้ตัวอักษรไม่เกิน 15 ตัวอักษร

4. ชื่อสถานีรถไฟฟ้าต้องมีความเฉพาะเจาะจง ไม่ซ้ำกันหรือสร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้บริการ

5. ชื่อสถานีควรใช้ได้ตลอดระยะเวลาที่สถานียังคงเปิดให้บริการอยู่

6. ชื่อสถานีจะต้องสร้างความเชื่อมโยงในการวางแผนสำหรับเดินทางได้ โดยเฉพาะสถานีเชื่อมต่อควรใช้ชื่อเดียวกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และควรระบุความแตกต่างของเส้นทางด้วยรหัสของสถานี

นอกจากนี้ การตั้งชื่อสถานีส่วนใหญ่ มักจะนำชื่อถนน ซอย แยก หรือสถานที่สำคัญใกล้เคียงมาตั้งเป็นชื่อสถานี เช่น ลาดพร้าว สีลม อารีย์ ศาลาแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 

รวมไปถึงตั้งตามชื่อเรียกย่าน พื้นที่ แขวงหรือตำบลที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว เช่น บางหว้า บางจาก สนามเป้า บางรักน้อย-ท่าอิฐ หากเป็นกรณีที่ไม่สามารถหาชื่อที่เข้าข่ายด้านบนได้ ก็มักจะนำชื่อสถานที่ราชการมาใช้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ราชการนนทบุรี เป็นต้น โดยมักจะไม่นำชื่อสถานที่ของเอกชนมาใช้เป็นชื่อสถานี เนื่องจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชน อีกทั้งเอกชนสามารถเปลี่ยนชื่อสถานีได้ง่ายกว่าหน่วยงานของรัฐซึ่งจะสร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้บริการได้ 

ก่อนหน้านี้ในปี 2558 มีข่าวว่าจะเปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟฟ้า BTS พร้อมพงษ์ เป็น “สถานีเอ็ม ดิสทริค” ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ในละแวกนั้น แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เปลี่ยนเพราะหลายฝ่ายไม่ยินยอม เช่นเดียวกับ BTS สถานี “บางบัว” ซึ่งเดิมนั้นตั้งว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ตั้งใจจะให้ชื่อว่า “สถานีศรีปทุม” แต่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างคัดค้าน เนื่องจากสถานีตั้งอยู่ในชุมชนบางบัว​ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว อีกทั้งการใช้ชื่อศรีปทุมอาจเป็นการโปรโมตมหาวิทยาลัยของเอกชน ซึ่งแตกต่างจากสถานีเกษตรศาสตร์ ที่ตั้งชื่อตามมหาวิทยาลัยของรัฐ

ขณะที่ สถานีรถไฟฟ้าของไทยจะสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะกับสถานีเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสาธารณะประเภทอื่นนั้น มีชื่อแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น MRT สถานีสุขุมวิท กับ BTS สถานีอโศก ขณะที่ MRT สถานีเพชรบุรีเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) สถานีมักกะสัน รวมไปถึงอดีตสถานีปลายทาง BTS หมอชิต กับ MRT สถานีจตุจักร เช่นเดียวกับ MRT สถานีสีลม ที่เชื่อมกับ BTS ศาลาแดง

ในตอนนี้มีเพียง BTS สถานีพญาไท กับ ARL สถานีพญาไทเท่านั้นที่เป็นสถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าคนละประเภทและใช้ชื่อเดียวกัน

เนื่องด้วยหลักเกณฑ์การตั้งชื่อของสถานีมักใช้ชื่อของพื้นที่หรือสถานที่หน่วยงานราชการใกล้กับตัวสถานี จึงทำให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่อยู่บริเวณนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นชื่อสถานี และหลายคนก็ไม่รู้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้สามารถเดินทางไปง่าย ๆ ด้วย MRT ซึ่งถ้าเรียงตามสถานีจะมีดังนี้

 

รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน)

สถานีฝั่งธนบุรี

  • ท่าพระ 
  • จรัญฯ 13
  • ไฟฉาย
  • บางขุนนนท์ : สามารถเดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลศิริราช
  • บางยี่ขัน : เดินทางต่อไปยัง เซ็นทรัลปิ่นเกล้า พาต้า ปิ่นเกล้า
  • สิรินธร 
  • บางพลัด : สามารถเดินทางต่อไปยังห้างตั้งฮั่วเส็ง, สะพานซังฮี้
  • บางอ้อ
  • อิสรภาพ 
  • บางไผ่ : (ทางออก 1) วัดนวลวรดิศ
  • บางหว้า : เชื่อมต่อกับ BTS บางหว้า
  • เพชรเกษม 48
  • ภาษีเจริญ : (ทางออก 2) ซีคอนบางแค
  • บางแค : (ทางออก 1) โลตัส บางแค
  • หลักสอง : (ทางออก 4) เดอะมอลล์ บางแค

 

สถานีฝั่งพระนคร

  • บางโพ : (ทางออก 2A) วัดสร้อยทอง. ศูนย์การค้าเกทเวย์ แอท บางซื่อ
  • เตาปูน : สถานีร่วมกับสายสีน้ำเงิน
  • บางซื่อ : สถานีกลางบางซื่อ (สถานีกาลางกรุงเทพอภิวัฒน์)
  • กำแพงเพชร : (ทางออก 2) ตลาดนัดจตุจักร (ทางออก 3) ตลาดอตก.
  • สวนจตุจักร : (ทางออก 2) สวนจตุจักร
  • พหลโยธิน : (ทางออก 3) เซ็นทรัลลาดพร้าว (ทางออก 5) ยูเนียนมอลล์
  • ลาดพร้าว :
  • รัชดาภิเษก
  • สุทธิสาร
  • ห้วยขวาง
  • ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย : (ทางออก 1) ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ทางออก 3) เอสพลานาด รัชดาภิเษก, สำนักงานใหญ่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ทางออก 4) เดอะสตรีท รัชดา
  • พระราม 9 : (ทางออก 1) ฟอร์จูนทาวน์ (ทางออก 2) เซ็นทรัลพระราม 9
  • เพชรบุรี : (ทางออก 1) ARL สถานีมักกะสัน (ทางออก 2) ท่าเรืออโศก, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • สุขุมวิท : (ทางออก 3) BTS อโศก, เทอร์มินัล 21 อโศก สามารถเดินทางต่อไปยัง โคเรียทาวน์ (สุขุมวิท พลาซ่า)
  • ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ : (ทางออก 1,2) ตลาดคลองเตย (ทางออก 3) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, สวนเบญจกิติ
  • คลองเตย
  • ลุมพินี : (ทางออก 3) ถนนวิทยุ, สวนลุมพินี 
  • สีลม : (ทางออก 1) หน้าสวนลุมพินี, (ทางออก 2) BTS ศาลาแดง, โรงพยาบาลจุฬาฯ, ถนนสีลม, สีลม คอมเพล็กซ์
  • สามย่าน: (ทางออก 1) วัดหัวลำโพง (ทางออก 2) จามจุรีสแควร์ สามย่านมิตรทาวน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • หัวลำโพง: (ทางออก 1) วัดไตรมิตร, วงเวียนโอเดียน (ทางออก 2) สถานีรถไฟกรุงเทพ
  • วัดมังกร: (ทางออก 1) ถนนเยาวราช (ทางออก 3) วัดมังกรกมลาวาส, โรงพยาบาลกลาง
  • สามยอด: (ทางออก 1) สวนรมณีนาถ, เมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก, ศูนย์การค้าไชน่าเวิลด์ (ทางออก 3) ดิโอลด์สยามพลาซ่า, ห้างไนติงเกล, วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร
  • สนามไชย: (ทางออก 1) มิวเซียม สยาม, พระบรมมหาราชวัง, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดโพธิ์ (ทางออก 4) ปากคลองตลาด

 

รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง)

สถานีในกรุงเทพฯ

  • เตาปูน : สถานีร่วมกับสายสีน้ำเงิน
  • บางซ่อน 
  • วงศ์สว่าง

 

สถานีในจังหวัดนนทบุรี

  • แยกติวานนท์ : (ทางออก 1) บิ๊กซี สาขาติวานนท์
  • กระทรวงสาธารณสุข : (ทางออก 2) กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลศรีธัญญา
  • ศูนย์ราชการนนทบุรี : (ทางออก 1) ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี, อุทยานมกุฏรมยสราญ, ศาลหลักเมืองจังหวัดนนทบุรี, เอสพลานาด สาขางามวงศ์วาน–แคราย, โลตัส สาขารัตนาธิเบศร์
  • บางกระสอ : (ทางออก 2 บิ๊กซี) สาขา รัตนาธิเบศร์
  • แยกนนทบุรี 1 : (ทางออก 4) เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์
  • สะพานพระนั่งเกล้า
  • ไทรม้า
  • บางรักน้อยท่าอิฐ
  • บางรักใหญ่
  • บางพลู: (ทางออก 2) ตลาดบางบัวทอง
  • สามแยกบางใหญ่
  • ตลาดบางใหญ่ : (ทางออก 5) เซ็นทรัลเวสต์เกต
  • คลองบางไผ่

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณโดยรอบของ MRT ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันเท่านั้น ในอนาคตยังมีสายอื่น ๆ ที่เตรียมจะเปิดให้บริการภายในปี 2570 อีกทั้ง สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม และสายสีม่วงส่วนที่เหลือ ซึ่งน่าจะมีสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เกิดขึ้นและอยู่ใกล้ MRT อีกมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนเดินทางทุกครั้งควรจะวางแผนการเดินทางก่อนเสมอ เช็กข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด และจะได้ไม่เสียเวลาในการเดินทาง