23 กันยายน "วันศารทวิษุวัต" ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ครั้งที่ 2 ของปี

23 กันยายน "วันศารทวิษุวัต" ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ครั้งที่ 2 ของปี

ลองนับชั่วโมงกันดูไหม? รู้จัก "วันศารทวิษุวัต" ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. 65 นี้ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้

วันศารทวิษุวัต เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ในวันนี้ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน หากเทียบเวลา ณ กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์จะขึ้นประมาณ 06.07 น. และตกลับขอบฟ้าประมาณ 18.13 น.

เหตุที่ทำให้ในวันนี้มีช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนั้น  เนื่องจากในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้

เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี

อีกทั้งวันนี้ยังถือเป็น "วันเปลี่ยนฤดูกาล" ของทั้งสองซีกโลก กล่าวคือประเทศทางซีกโลกเหนือจะเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศในซีกโลกใต้จะเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิ

23 กันยายน \"วันศารทวิษุวัต\" ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ครั้งที่ 2 ของปี

แล้วทำไมวันศารทวิษุวัตจึงเกี่ยวข้องกับการเกิดฤดูกาล? 

นั่นก็เนื่องมาจากโดยปกติแล้วแกนโลกของเราจะเอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวัน - กลางคืนก็ต่างกันด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง

จะสังเกตได้ว่าใน “ฤดูร้อน” ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน แตกต่างกับ “ฤดูหนาว” ที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน

สำหรับ วันศารทวิษุวัตในวันที่ 23 ก.ย. 65 นี้ ถือได้ว่าเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันครั้งที่ 2 ของปี โดยก่อนหน้านี้จะเป็น “วันวสันตวิษุวัต” คือช่วง วันที่ 21 มีนาคม ของทุกๆ ปี หลังจากวันนี้ องศาระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ก็จะเปลี่ยนขึ้นไปทางทิศเหนือ 

23 กันยายน \"วันศารทวิษุวัต\" ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ครั้งที่ 2 ของปี

เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ก็จะคือวัน “วันครีษมายัน” ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน ที่เป็นช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี

หลังจากนั้นองศาของดวงอาทิตย์ก็จะเปลี่ยนทิศกลับลงมาทางทิศใต้ ตามระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เมื่อเปลี่ยนองศาไปทางทิศใต้เรื่อยๆ จนไปถึงจุดที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด นั่นก็จะเป็น “วันเหมายัน” ที่ตรงกับ 22 ธันวาคม เป็นวันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้จะกลับกัน คือ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

ทั้งนี้ ความหมายของวันนี้กันสักนิด คำว่า “วันศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) หรือในภาษาอังกฤษ คือ Autumnal Equinox ซึ่งคำว่า “Equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน ส่วนคำว่า “Nox” แปลว่า กลางคืน จึงหมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน และตรงกับคำว่า “วิษุวัต” ที่แปลว่า จุดราตรีเสมอภาค

---------------------------------

อ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)