ดราม่าโฆษณา "เสียดสีสังคม" อาจไม่ตลกเสมอไป เช็กผลแง่ลบในเชิง "จิตวิทยา"

ดราม่าโฆษณา "เสียดสีสังคม" อาจไม่ตลกเสมอไป เช็กผลแง่ลบในเชิง "จิตวิทยา"

คอนเทนต์แนวล้อเลียน "เสียดสีสังคม" อาจไม่ตลกหรือคูลเสมอไป ชวนรู้ผลลัพธ์เชิงลบของการเสียดสี (Sarcasm) ในทาง "จิตวิทยา" ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจคนดูมากกว่าที่คิด!

ร้อนแรงเขย่าทวิตเตอร์ชั่วข้ามคืน! กับดราม่าโฆษณาไทยชิ้นหนึ่งที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียอย่างดุเดือด ชาวเน็ตหลายคนชี้ว่าคอนเทนต์แนว "เสียดสีสังคม" อาจไม่ได้คูลเสมอไป โดยมีคอมเมนต์ของชาวเน็ตหลายข้อความในบางช่วงบางตอน ระบุว่า

“..เป็นคอนเทนต์ที่ใจร้ายมากเลย ไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบการเสริมแรงทางลบนะ อย่างการล้อเลียนและตำหนิ ลองทำคอนเทนต์ในทางบวก  ลองเปลี่ยนความคิดตั้งแต่คนเขียนบทนะ..”

“..มันก็เป็นเรื่องจริงในชีวิตของใครหลายคน แต่สิ่งที่สื่อออกมาคือยังไง อาจจะคิดว่าการพูดตรงๆ เป็นความหวังดี แต่คนเรามีการรับมือกับผลกระทบไม่เหมือนกัน ให้คนอื่นๆ เห็นโฆษณานี้แบบไม่มีคำเตือน มันไม่ใจร้ายไปเหรอ..”

“..ดูจนจบก็ยังไม่เข้าใจเลยว่าจะสื่ออะไร ขนาดตัวเองรีเลทกับเนื้อหาบางอย่างในคลิป แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าคลิปนี้มันจะช่วยผลักดันไปทางไหนได้เลย เหมือนตอกย้ำเฉยๆ..”

ดราม่าโฆษณา \"เสียดสีสังคม\" อาจไม่ตลกเสมอไป เช็กผลแง่ลบในเชิง \"จิตวิทยา\"

โดยเนื้อหาในโฆษณาชิ้นนี้เป็นเรื่องราวการเสียดสีสังคมและพฤติกรรมคนยุคใหม่ ผ่านการล้อเลียนรายการออกกำลังกาย ที่นำเสนอท่าบริหารร่างกายให้แก่หนุ่มสาวชาวโซเชียล แต่เมื่อมีคอมเมนต์บอกว่าท่ายากเกินไป ก็มีการล้อเลียนเสียดสีว่าให้เปลี่ยนมาเป็นท่ากอดเข่าก้มหน้าร้องไห้ หรือทำท่านอนคว่ำแล้วหยิบมือถือมาไถฟีดเพื่อช้อปปิ้งออนไลน์แทน

โดยตลอดความยาว 3 นาทีกว่าๆ ของภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ ยังสอดแทรกประเด็นเสียดสีพฤติกรรมคนไทยในแง่มุมอื่นๆ ด้วย ซึ่งมีเนื้อหาจี้จุดคนดูอย่างตรงไปตรงมาสุดๆ จนทำเอาหลายคนเป็นต้องสะอึก นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลทำนองว่า เป็นคอนเทนต์ที่อาจไม่ได้ให้อะไรคนดู นอกจากบั่นทอนจิตใจ หรือเป็นเพียงเทรนด์คอนเทนต์สนุกๆ มากกว่าจะช่วยให้ผู้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

ดราม่าโฆษณา \"เสียดสีสังคม\" อาจไม่ตลกเสมอไป เช็กผลแง่ลบในเชิง \"จิตวิทยา\"

ทั้งนี้ โฆษณาชิ้นนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาในสังคมไทยมีคอนเทนต์ลักษณะเสียดสีสังคมมานานแล้ว บ้างก็ให้ผลไปในทางที่ดี บ้างก็เรียกเสียงหัวเราะ บ้างก็เกิดกระแสดราม่าในทางลบ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญน่าจะขึ้นอยู่กับ “ความพอดี” ในการใส่มุกเสียดสีประชดประชันลงไปในคอนเทนต์ เพราะคนดูหลายคนเมื่อดูคอนเทนต์ลักษณะนี้แล้ว อาจไม่ได้รู้สึกว่ามันตลกเสมอไป!

ยืนยันจากข้อคิดเห็นของ Dr.Clifford N. Lazarus นักจิตวิทยาบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันจิตวิทยาบำบัดลาซารัส สหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า “การเสียดสี คือ ความเกลียดชังที่ปลอมตัวเป็นอารมณ์ขัน”

โดยคำว่า “Sarcasm” (การเสียดสีประชดประชัน) มาจากคำภาษากรีกที่ว่า “Sarkazein” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ฉีกทึ้งหรือการฉีกขาดของนื้อหนัง” ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การเสียดสีมักทำให้คนฟังรู้สึกเจ็บปวด

ขณะที่ Sarah Swenson นักจิตอายุรเวท และที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่มีใบอนุญาตรับรอง (LMHC) ในเมืองซีแอตเทิล วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ก็ได้ให้นิยามคนที่มีพฤติกรรมของการเสียดสีไว้ว่า มันคือ Passive-Aggressive ชนิดหนึ่ง ซึ่งคนที่มีพฤติกรรมประชดประชันเหล่านี้ มักจะพูดหรือสื่อสารต่อผู้อื่นด้วยท่าทีที่เป็นกลาง ดูผิวเผินแล้วก็เหมือนไม่มีอะไร แต่สิ่งที่อยู่ข้างใต้คำพูดนั้น มักแฝงความหมายชั้นที่สองที่แฝงความก้าวร้าวเอาไว้ 

แม้ว่าบางคน (หรือคอนเทนต์บางอย่าง) จะอ้างว่าการที่พูดหรือนำเสนอเรื่องราวในเชิงประชดประชันนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตลก ความสนุกสนาน แต่รู้หรือไม่? ในมุมของผู้รับสารกลับทำให้รู้สึกหดหู่ รู้สึกกำลังโดนถากถาง และทำให้ดูเป็นคนงี่เง่า

ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากการกระทำเป็นตัวกำหนดความคิดและความรู้สึก เมื่อบุคคลหรือคอนเทนต์ใดๆ แสดงท่าทีหรือถ่ายทอดเรื่องราวที่ใส่ความประชดประชันอย่างต่อเนื่อง การกระทำดังกล่าวก็จะยิ่งเพิ่มความเกลียดชังให้แผ่ขยายออกมามากขึ้น และท้ายที่สุดมันก็จะนำไปสู่การกลั่นแกล้งอีกรูปแบบหนึ่ง (Bully) ที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อผู้อื่นได้

ดราม่าโฆษณา \"เสียดสีสังคม\" อาจไม่ตลกเสมอไป เช็กผลแง่ลบในเชิง \"จิตวิทยา\"

ในทางกลับกัน เมื่อคนๆ หนึ่ง หรือคอนเทนต์ใดๆ หยุดการถ่ายทอดเรื่องราวในเชิงเสียดสีประชดประชัน แต่ใช้วิธีอื่นๆ ในการสื่อสารแทน ก็จะช่วยให้คนฟังหรือผู้รับสารรู้สึกมีความสุขได้มากกว่า และช่วยเสริมพลังในด้านบวกได้มากขึ้น

ทั้งนี้ Dr.Clifford บอกอีกว่าเขาไม่ได้หมายความว่าการ “พูดเสียดสี” ทั้งหมดนั้นไม่ดี แต่มันอาจจะดีกว่าถ้าใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ใช้มากจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น การใช้ไหวพริบในเชิงประชดประชันเป็นครั้งคราวสามารถเติมสีสันและเพิ่มอารมณ์ขันให้การพูดคุยสื่อสารได้  แต่การเสียดสีที่ดูจริงจังให้มากเกินพอดี มักจะครอบงำอารมณ์ของการสื่อสารทั้งหมดและอาจทำให้ผู้รับสารรู้สึกขมขื่นในจิตใจ

ทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ การลดทอนการเสียดสีให้น้อยลง แล้วใช้ไหวพริบอันชาญฉลาดมาสื่อสารแทน ซึ่งการสื่อสารที่ชาญฉลาดนั้นมักเป็นการสื่อสารปราศจากความเป็นปรปักษ์ ทำให้ผู้รับสารรู้สึกชื่นชมมากขึ้น

โดยพื้นฐานแล้ว การเสียดสีนั้นทำได้ง่าย (เช่นเดียวกับการแสดงความโกรธ การวิจารณ์ และความหยาบคาย) ในขณะที่ความเฉลียวฉลาดที่แท้จริงและไม่เป็นอันตรายนั้น ต้องใช้พรสวรรค์ในการสร้างสรรค์!

ดังนั้น หากดูเหตุผลในทางจิตวิทยาดังข้างต้นคงพอสรุปได้ว่า การสร้างคอนเทนต์สุดคูลให้ผู้คนจดจำ ไม่จำเป็นต้องใส่การเสียดสีประชดประชันลงไปในเนื้อหาเสมอไป แต่หัวใจหลักของการสื่อสารน่าจะอยู่ที่การมีเจตคติที่ดี มุ่งให้ประโยชน์​และสาระแก่คนดูด้วยการเลือกใช้คำพูดที่มีไหวพริบ สร้างอารมณ์ขันอย่างเปิดเผย ด้วยเจตนาไม่เป็นอันตรายต่อทุกคนในสังคม

---------------------------------------

อ้างอิง : psychologytodaygoodtherapy.org