“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง”

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง”

เปิดใจ “นภันต์ เสวิกุล” อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง” ผ่านมาหลายสิบปีจวบจน “วันแม่” ปีนี้ ทุกภาพมีความทรงจำ ทุกภาพมีเรื่องราวของพระราชกรณียกิจ ทุกภาพมีจริยวัตรอันงดงาม

หนึ่งภาพแทนหมื่นล้านคำ สำหรับพระบรมฉายาลักษณ์ทุกใบที่ นภันต์ เสวิกุล เคยตามเสด็จถ่ายในหลวงรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อกดชัตเตอร์บันทึกช่วงเวลาต่างๆ ไม่น้อยกว่า 7 ปี คือความทรงจำที่เขาไม่มีวันลืม

ทุกย่างพระบาทที่ พระพันปีหลวง เสด็จไปทรงงาน มีเรื่องราวที่ “นภันต์ เสวิกุล” ประทับใจ นอกจากเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ หน้าที่ของ ช่างภาพตามเสด็จ อย่างเขาทำให้ได้เห็นแง่มุมที่หลายคนไม่มีทางได้เห็น ความรู้สึกที่หลายคนไม่มีทางได้รู้สึก และเขาตั้งใจนำภาพ “แม่ของแผ่นดิน” ออกมาเล่าให้ทุกคนได้รู้ว่าที่ผ่านมาตลอด 70 ปีที่ทรงงาน “พระพันปีหลวง” ไม่เพียงตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 เท่านั้น แต่ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรไทยเช่นกัน

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง”

จุดเริ่มต้น “ช่างภาพตามเสด็จ”

ผมเข้าไปทำงานถวายสมเด็จพระพันปีหลวง ในสองฐานะ ครั้งแรกผมตามถ่ายในฐานะคนทำงานของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ปีแรกเราทำ Multi vision สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติบอกว่าเราจะทำสองเรื่อง เรื่องแรกคือพระปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ รัชกาลที่ 1 และเรื่องที่สองคือในหลวงของเรา

เรื่องที่หนึ่งไม่ยาก รูปต่างๆ เรารู้ เราเป็นนักประวัติศาสตร์ เรารู้ว่าเราจะไปถ่ายรูปที่ไหน จะแปลบทต่างๆ ให้เปลี่ยนเป็นภาพได้อย่างไร รัชกาลที่ 9 จาก ก็ต้องตามเสด็จ

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง” โดย นภันต์ เสวิกุล

ตามเสด็จนี่เหนื่อยมากเลยนะ เพราะเราต้องอยู่นอกขบวน ประมาณรถคันที่ 40 น่ะ ต่อมาก็ทำเสร็จ หนังเรื่องในหลวงของเราฉายด้วยเครื่องฉายทั้งหมด 12 เครื่อง 6 จอ ก็ฉายตามที่ต่างๆ ฉายที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ฉายที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า ผู้คนโจษจันกันทั้งเมือง เพราะเป็นของแปลกใหม่

วันดีคืนดีผมไปเล่นกอล์ฟอยู่ที่สนามกอล์ฟบางพระ มีรถในวังไปที่สนามกอล์ฟบางพระ บอกว่าโปรดให้เข้าเฝ้า นำสไลด์เรื่องในหลวงของเราไปฉายถวายทอดพระเนตร เราตกใจ ตกใจมาก ก็กลับมาเตรียมตัว มาปรึกษาว่าต้องทำอะไรต่างๆ สุดท้ายก็ไปเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน ก็ขนเครื่องมือไปด้วย สมเด็จพระพันปีหลวงท่านมีพระประสงค์จะทอดพระเนตร ก็ไปตั้งจอฉายถวายที่ไกลกังวล พระองค์ท่านก็มาทอดพระเนตร ตื่นเต้นมาก แล้วท่านก็มาคุยถาม ทำอะไร อย่างไร ก็เล่าถวายไป ท่านก็ถามว่าท่านกำลังทำละครเรื่องหนึ่ง อยากทำให้เห็นสมเด็จพระศรีสุริโยไทขาดคอช้าง ทำได้ไหม ก็ตอบว่าได้ไว้ก่อน โดยที่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ก็ไปทำ แล้วเราก็ใช้เทคนิคแอนิเมชันง่ายๆ เลยนะ เพื่อกลับไปกลับมา ให้เห็นเป็นพระสุริโยไทขาดคอช้าง ผลงานก็ออกมาดี

เมื่อท่านแปรพระราชฐานไปพระตำหนักต่างๆ ท่านก็ขอไปฉายด้วย ไปนราธิวาส ไปสกลนคร ก็เอาละครไปเล่น แล้วเอา Presentation ไปฉาย ท่านก็บอกว่าไปตามเสด็จสิ ไปถ่ายรูป ก็เลยไปตามเสด็จ

คราวนี้เป็นสองชั้นแล้ว ชั้นหนึ่งคือในฐานะกรรมการเอกลักษณ์ฯ รถคันที่ 40 กับในฐานะที่เป็นช่างภาพตามเสด็จ รถเหลือคันที่ 3 เอง เพราะฉะนั้นก็เริ่มเข้าไปทำงานถวายพระองค์ท่าน แต่เราก็จะมาอยู่รถคันที่ 3 แล้ว ทำให้ใกล้ชิด ได้ติดตาม ได้เฝ้าสังเกต เป็นอย่างนี้ 7 ปี

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง” โดย นภันต์ เสวิกุล

 

สามพระบรมฉายลักษณ์ประทับใจ

สามภาพ...ยาก ผมฉายพระรูปท่านเยอะมาก เยอะที่สุดในชีวิต แต่พระรูปของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ผมประทับใจ รูปหนึ่งคือรูปที่ท่านจอดรถรับหญิงชราที่ป่วย ท้องเบ้อเริ่มเลย รูปนี้เพราะเราอยู่ในเหตุการณ์ที่ท่านให้คนหยุดรถ แล้วบังเอิญวันนั้นผมอยู่ในรถพระที่นั่ง ผมนั่งอยู่แถวหลังของรถพระที่นั่ง ผมจึงลงมาถ่าย ขบวนเสด็จเคลื่อนที่แล้ว ไปแล้ว มองไปถนนข้างๆ ทาง ก็มีรถเข็นที่เขาเข็นมาวิ่งแข่งมา แล้วท่านก็บอกให้จอด มีคนป่วย ท่านก็วิ่งลงไป ไปรับคนป่วย รูปนี้ประทับใจ

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง” โดย นภันต์ เสวิกุล

รูปหนึ่งกับชาวบ้านที่เอาแตงโมมาถวาย แล้วท่านก็ยิ้ม ท่านก็ถาม ท่านซักคนที่เอามา แตงโมนี้ปลูกได้เยอะไหมจ๊ะ ชาวบ้านบอกได้มา 300 ลูก จริงๆ แล้วท่านก็รู้แล้วว่าเขามีกินไหม ท่านก็จะมีสูตรคำนวณเช่นถ้าเขาได้เท่านี้ก็จะไม่ต้องช่วยเหลืออะไรมาก เพราะแตงโมไม่ได้ปลุกเป็นอาชีพนะ ไม่ได้ปลูกเป็นพืชหลักของครอบครัว ต้องหลังหน้านา เก็บเกี่ยวหมดแล้ว นี่จึงเป็นของแถมของผลผลิต

อีกรูปหนึ่งที่ชอบมาก ชาวบ้านเอาลูกค่างมาถวาย ตัวเล็กนิดเดียว ขนยังเป็นสีทอง ท่านก็อุ้มด้วยความรัก เรามองเห็นเลยว่าท่านเอ็นดู สุดท้ายรูปนี้ IUCN ขอไปเป็นปกหนังสือ

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง” โดย นภันต์ เสวิกุล

อีกรูปหนึ่งจริงๆ ชาวบ้านเอานกเงือกมาถวาย รูปนั้นก็ชอบ ชาวบ้านเอานกเงือกมาถวาย บอกว่า ถ้าเป็นราชินีของมาเลเซียก็ต้องใส่หมวกที่ทำด้วยขนนก เพราฉะนั้นเอานกมาให้เพื่อที่จะได้เอานกเงือกซึ่งเป็นนกชั้นสูง เอาขนจากตัวนี้ไปทำหมวก ท่านก็รับสั่งว่า ฉันอยากเห็นเขาเป็นๆ และไม่อยู่ในกรงมากกว่า สำหรับนักอนุรักษ์อย่างเรา ประโยคเดียวจบ อย่างนี้เป็นต้น

การแต่งฉลองพระองค์ที่หลายคนมองว่าทรงสิริโฉมงดงามเสมอ แม้จะไปถิ่นทุรกันดาร

ท่านก็ใส่เสื้อซ้ำนะ คืออย่างนี้ ช่างภาพตามเสด็จกันมั่วไปหมดเลย จำไม่ได้หรอกว่าวันไหนเสด็จไปไหน และไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะจำว่าท่านเสด็จไปไหน แต่เราจำได้ว่าไปที่ไหนแล้วฉลองพระองค์ชุดไหน การที่จำแบบนี้ทำให้เรารู้ว่าท่านก็ใส่เสื้อซ้ำ แต่ถ้าจะแต่งตัวสวย ก็คนสวย ก็ต้องแต่งตัวสวยสิ และท่านก็ไม่ได้ไปซื้อคอลเลคชันฝรั่งมา ท่านใช้ผ้าไทยตลอด ผ้านท่านเองด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะใส่เสื้อผ้าที่เป็นของเราเอง จ้างคนทอ เป็นเจ้าของร้านผ้าเอง ก็ไม่แปลก

ท่านรับสั่งเสมอเลยว่า ท่านเป็นพระราชินี คนเดินทางไกล บางคนข้ามเขามา บางคนมาค้าง เขาก็อยากเห็นฉันสวย ฉันก็ต้องสวยให้เขาเห็น ผู้หญิงก็ต้องอยากสวย แล้วยิ่งท่านเป็นพระราชินีก็ต้องการให้ประชาชนประทับใจ เป็นเรื่องธรรมดา คุณจะไปงาน แล้วจะแต่งตัวซอมซ่อไปหรือเปล่า นี่คืองานของท่าน และท่านก็ไม่ได้ใส่ฉลองพระองค์ที่พิสดาร ก็เป็นเสื้อผ้าไหมธรรมดา ยิ่งหลังๆ ช่วงท้ายๆ ที่ผมทำงาน จะต่างจากช่วงปีแรกๆ ที่รองเท้าฉลองพระบาทส้นสูง ก็เป็นฉลองพระบาทลำลอง เป็นรองเท้าวอร์มธรรมดาที่มีขายในท้องตลาด อาจจะมียี่ห้อบ้าง ไม่ใช่นันยางแบบพระเจ้าอยู่หัว

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง” โดย นภันต์ เสวิกุล

 

ความยากของช่างภาพตามเสด็จ

สมัยนู้น ช่างภาพตามเสด็จน้อยมาก เอาช่างภาพตามเสด็จนะ ไม่ใช่งานพิธีนะ หกคน เราจะไม่เข้าไปถ่ายรูปขวางกัน เช่นผมจะถ่ายตรงนี้ ข้างหลังพระองค์ท่านจะไม่มีช่างภาพด้วยกัน เราจะรู้ว่าต้องไม่ยืนตรงนี้ ช่างภาพส่วนพระองค์จะเข้าที่ไหน เรื่องของเขา เพราะเป็นหน้าที่ประจำของเขา เราเป็นผู้ที่เข้ามาเติมในฐานะประชาชนและหน่วยงานของประชาชน เราก็จะต้องตามหลังเขา เละเราไม่ขวางกัน

แต่เราก็ต้องระมัดระวังถวายพระองค์ท่านด้วยเช่นกัน บางครั้งที่เป็นส่วนพระองค์ แล้วมีคนพยายามจะมาเป็นช่างภาพถ่ายรูปนั้น เราก็ไม่ยอม

เส้นทางลำบากแค่ไหน พระพันปีหลวงก็ตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9

ไม่ห่างหรอก แล้วลองคิดดู ที่ผมเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่าผมบ่อน้ำตาตื้นกับเจ้านาย ผมคิดถึงทั้งสองพระองค์ ท่านอยู่ด้วยกันทุกวัน 70 ปี เมื่อท่านต้องเสด็จพระองค์เดียว ก็เป็นเรื่องยากลำบากที่จะทำใจ

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง” โดย นภันต์ เสวิกุล

 

บางคนเชื่อว่าถ่ายพระองค์ทรงงานคือการ Set up

เมื่อสมัยก่อนอาชีพผมคือถ่ายภาพเพื่อความสวยงาม ซึ่งผมก็ไม่เคยเซ็ตถ่ายอยู่แล้ว พอมาตามเสด็จการถ่ายรูปผมเปลี่ยนหมดเลย ผมต้องสแนป ผมต้องสแนปให้ได้ ผมต้องจับสายตาว่าเมื่อทุกสายตามองมาที่พระองค์ท่าน หรือท่านแย้มพระโอษฐ์คุยกับราษฎร ผมต้องรัวกระหน่ำ สมัยนู้นผมใช้ฟิล์มเปลืองที่สุดในประเทศไทย ตามเสด็จครั้งหนึ่ง ครั้งละประมาณเดือนหนึ่ง ผมใช้ฟิล์ม 100 – 200 ม้วน

บอกเสมอว่า “เสียดายที่เผยแพร่พระราชกรณียกิจน้อยไป”

เมื่อก่อนผมสู้กับคอมมิวนิสต์มานะ ยาวนานหลายปี สู้กับคนจริงๆ เลย สู้กับที่เขาจะมาเอาแผ่นดินเรา ชนะนะ แต่พอเจอคนสมัยนี้ ไม่ชนะ ไม่ชนะ เขามีความฝังหัวที่ผมไม่เข้าใจ แล้วผมไม่สามารถสื่อสารกับเขาได้ ผมเพียงแต่มั่นใจสิ่งหนึ่งว่า อย่าเกลียดเขา ต้องดึงเข้ามากอด แล้วเล่าให้เขาฟัง เขาเชื่อไม่เชื่อเรื่องของเขา ทุกวันนี้ที่ยังทู่ซี้อยู่ในเฟซบุ๊ก ก็อยากจะเขียน อยากจะเล่าให้ฟังตลอดเวลา แต่ต่อมาก็รู้สึกว่ามันเยอะไปหรือเปล่า ผมหาความพอดีไม่ได้

จริงๆ อยากเขียนนะ มีเรื่องอีกร้อยเรื่องพันเรื่องที่อยากจะเขียนอยากจะเล่า รูปแต่ละรูปมีเรื่องทั้งนั้นแหละ แต่ไม่แน่ใจว่าคนอ่านจะเต็มใจอ่านอยู่หรือเปล่า จะมีคนตามมาอ่าน ตามมาดู แต่เป็นคนรุ่นก่อน ส่วนรุ่นเด็กที่เราอยากเข้าไปถึงเขา น้อยมาก แทบไม่มีเลย แต่ไม่ท้อนะ ไม่ท้อ ล้าบ้างแต่ไม่ท้อ นี่ก็ปรับชีวิตใหม่ ไปเป็นชาวสวน จะออกจากบ้านแล้วไปเป็นชาวสวน ทีนี้เวลาเหลือเยอะ เดี๋ยวจะนับหนึ่งใหม่ งานชาวสวนมันว่างตามเวลา ก็จะเอาเครื่องสแกนไป เอาระบบอินเทอร์เน็ตไป แล้วก็จะกลับไปเขียนใหม่

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง” โดย นภันต์ เสวิกุล

 

ได้ถวายงานแบบนี้คงได้เห็นแง่มุมที่หลายคนไม่เคยเห็นของ “พระพันปีหลวง”

ความที่พระองค์ท่านเป็นแม่ของแผ่นดิน ตอนค่ำเวลาท่านเสวยก็จะมีทหารองครักษ์ของพระองค์ท่าน ท่านก็จะหาหนังมาฉายให้ดู ที่ฉายบ่อยมาคือ ด็อกเตอร์ชิวาโก แล้วท่านก็จะเล่าว่ารัสเซียรบอย่างไร แพ้อย่างไร ชนะอย่างไร ตอนที่ไปอเมริกาท่านก็พาทหารไปด้วยจำนวนหนึ่ง ท่านก็พาไปเที่ยว ท่านเล่าให้ฟังว่าพวกเขาไม่เคยเห็นหิมะ ตอนอยู่ที่อเมริกาที่เดนเวอร์ ท่านก็ปาหิมะเล่นใส่ทหาร คือท่านก็พยายามให้ เปิดโลกให้พวกเขาเหล่านั้น ที่เขาเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อประเทศ นี่เป็นสิ่งที่อาจจะไม่เคยมีใครเล่า อาจจะไม่เคยมีใครเห็น แต่เราเห็น แล้วเราประทับใจ ว่าท่านเป็นผู้ให้ ให้เหมือนอย่างที่เหรียญ Ceres เขียน “To Give Without Discrimination - ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง” (เหรียญ Ceres คือเหรียญที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติในฐานะทรงเป็นสตรีดีเด่น ที่อุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาสตรีและประชาชนในชนบทให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2522)

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง”

ผมว่าทั้งแผ่นดิน คุณไม่ต้องไปหาใครที่เป็นอย่างนี้ ชั่วชีวิตคุณไม่มีวันหาเจอ ไม่มีวันหาใครที่เหมือนอย่างท่าน คุณคิดดูนะว่าท่านแต่งงานตอนอายุ 17 แล้วตลอด 70 ปีเต็มๆ ที่ท่านทรงแต่งาน ท่านเคยไปเมืองนอกกี่หน นับได้เลย ท่านไปอยู่นิวยอร์ค 10 วัน ผมก็อยู่กับท่าน ท่านเสด็จออกนอกโรงแรมวันเดียวที่เป็นการส่วนพระองค์ ไปร้านหนังสือชั่วโมงหนึ่ง ไปซื้อหนังสือ

ไปอยู่วอชิงตันท่านก็พาไปกินเครป เราเกิดมาไม่เคยกินเครป ไม่รู้จัก ทหารก็ไม่รู้จัก แป้งบางนิดเดียว ท่านก็บอกใส่ไส้นู่นสิ ใส่ไส้นี่สิ คือเป็นความเป็นกันเองที่พระราชทานให้ ผมตอบไม่ถูก แต่ผมไม่แปลกใจถ้าทหารเสือราชินีทั้งหลายทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อถวายพระองค์ท่านได้ ผมก็ทำงานถวายชีวิตได้ ท่านรับสั่งอะไรมา ยากเย็นแสนเข็ญแค่ไหน ผมทำหมด

“นภันต์ เสวิกุล” ภาพประทับ (ใน) ใจ อดีตช่างภาพตามเสด็จ “พระพันปีหลวง” โดย นภันต์ เสวิกุล

พระราชจริยวัตรที่น่าชื่นชม

หมดเลย อะไรที่เป็นพระองค์ท่าน เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าเราจะได้เห็นภาพอย่างนี้สำหรับคนที่เป็นพระราชินี คุณจะไม่เชื่อเลยว่ามีจังหวะของการยกย่องในวัยวุฒิเมื่อท่านพูดกับคนแก่ โดยที่ท่านไม่ได้ถือพระองค์ว่าท่านเป็นราชินี อะไรอย่างนี้มันเป็นเรื่องเปราะบาง แต่ถ้าเราช่างสังเกตก็เป็นเรื่องที่เราแสนจะประทับใจ

อย่างที่สังเกตว่า ท่านไม่เคยยืนเหนือราษฎร ท่านไม่ก้มพูดกับราษฎร แค่นี้ก็ประทับใจจะแย่แล้ว จนอีกหลายปีต่อมาถึงได้ฟังในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าไม่ให้ยืนค้ำศีรษะราษฎร เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าการวางพระองค์ในฐานะพระราชินี ท่านวางพระองค์ในฐานะที่เราถอดออกมาเป็นคำพูดสั้นๆ ได้ว่า “ท่านเป็นแม่ของแผ่นดินโดยแท้” เพราะฉะนั้นพระราชจริยวัตรหรือการวางพระองค์ ไม่ว่าในแง่มุมไหน ล้วนงามไปหมด แล้ววิธีเอาความจากราษฎร บางทีเราไปสัมภาษณ์คนพูดไม่รู้เรื่อง แต่ท่านจะตะล่อมถามจนได้ข้อมูลครบ เป็นเรื่องที่คนเป็นครูเท่านั้นแหละที่จะทำอย่างนั้นได้ เป็นเรื่องที่เราไม่เคยเห็น ปฏิภาณไหวพริบ ต่างๆ นานา เป็นสิ่งที่บรรยายอย่างไรก็ไม่จบไม่สิ้น