"นางสาวแนนซี่" ของ "แมงปอ ชลธิชา" เพลงสนับสนุน "LGBTQIA+" ตั้งแต่ยุค 2000

"นางสาวแนนซี่" ของ "แมงปอ ชลธิชา" เพลงสนับสนุน "LGBTQIA+" ตั้งแต่ยุค 2000

ชาวเน็ตไทย ขุดเพลง “นางสาวแนนซี่” ของ “แมงปอ ชลธิชา” มาเล่นเป็นมีมอีกครั้ง หลัง “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางถึงไต้หวัน ซึ่งแท้จริงแล้วเพลงนี้มีเนื้อหาสนับสนุน “LGBTQIA+” สุดพลัง

คืนวันที่ 2 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางเยือนไต้หวันเป็นครั้งแรก โดยไม่ฟังคำเตือนของรัฐบาลจีน ทำให้ทั่วโลกจับตาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และ จีน ที่ตึงเครียดขึ้นไปอีกขั้น 

ขณะเดียวกัน ชาวเน็ตไทยก็ทำให้เพลง “นางสาวแนนซี่” เพลงฮิตของ “แมงปอ ชลธิดา” ตั้งแต่ปี 2547 กลายเป็นมีมโด่งดังในโลกโซเชียล เนื่องจากมีชื่อเพลงที่ตรงกับชื่อของ เพโลซี ซึ่งสร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้พบเห็น และพอจะคลายความตึงเครียดของสถานการณ์ดังกล่าวไปได้บ้าง โดยเพลงนางสาวแนนซี่นี้จะเป็นเพลง จังหวะสนุก ชวนเต้น และมีท่อนฮุคที่ติดหู แต่ถ้าฟังเนื้อหาดูดี ๆ แล้วเพลงนี้สนับสนุนกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ “LGBTQIA+” อย่างมาก โดยเฉพาะสิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ

 

“..ถึงคำนำหน้าเป็นนาย
ฉันก็เต็มใจ เรียกนางสาวแนนซี่..”

เนื้อเพลง นางสาวแนนซี่ เล่าถึง “บุญแม้น” ซึ่งเป็น LGBTQIA+ ที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย ซึ่งเป็นที่รักของกลุ่มเพื่อน โดยบุญแม้นได้ไปเปลี่ยนชื่อเป็น แนนซี่ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเพื่อน ๆ ก็ยอมรับและเต็มใจเรียกว่าแนนซี่กันทุกคน แต่สิ่งเดียวที่ขวางการเปลี่ยนแปลงให้แนนซี่เป็นผู้หญิงได้อย่างเต็มตัว นั่นคือคำนำหน้าชื่อที่ยังเป็น “นาย” ไม่ใช่ “นางสาว” เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อให้แก่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มีเพียงนาย นาง และ นางสาว ที่ใช้ตามเพศกำเนิดเท่านั้น

 

“..เปลี่ยนเป็นชื่อนี้แล้วที่อำเภอ ในบัตรประชาชนเธอ
นั้นยังต้องเจอ กับคำว่านาย
ชื่อกิ๊บ เก๋ เท่เข้าท่า แต่คำนำหน้าเธอว่าบาดใจ
บุญแม้นเปลี่ยนเป็นแนนซี่ได้ ไม่อาจเปลี่ยนนาย ให้เป็นนางสาว..”

ฉัตร สินสืบผล ได้แต่งเพลงนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2547 ผ่านมาแล้ว 18 ปี ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่สามารถเลือกคำนำหน้าชื่อของตนเองได้ แม้จะผ่านกระบวนการผ่าตัดแปลงเพศโดยสมบูรณ์แล้วก็ตาม

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 มิ.ย. 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ในประเด็นการอนุญาตให้เพศที่ 3 สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 63.49 % เห็นด้วยกับการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ โดยมี 57.62 % เห็นว่าควรให้ทุกกลุ่มสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ ขณะที่ 42.38 % เห็นว่าให้เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเฉพาะผู้ที่แปลงเพศแล้วเท่านั้น 

จากผลสำรวจของนิด้าโพลสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับในกลุ่ม LGBTQIA+ มากขึ้นและเห็นสมควรที่จะยอมให้เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อให้ตรงกับเพศสภาพในปัจจุบันได้ แต่ในทางกฎหมายก็ยังไม่ได้รับรองอยู่ดี

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ภาคีเครือข่าย LGBTQ+ ประกอบด้วย สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย สมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เปิดตัว “ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. ….” โดยมีสาระสำคัญคือ การเปิดให้บุคคลอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถยื่นความประสงค์ขอเปลี่ยนคำนำหน้าและชื่อ ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ตามความจำนงได้กับนายทะเบียน เพื่อแก้ไขในเอกสารทางกฎหมาย อาทิ สูติบัตร ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน พาสปอร์ต หรือเอกสารอื่นที่กฎหมายกำหนด

 

สามารถอ่านร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. ได้ที่นี่

“ร่างกฎหมายนี้ได้นำหลักการในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่ไทยได้ร่วมเป็นรัฐภาคีมาใส่ไว้ รวมกับคอนเซ็ปต์ของคณะกรรมการจัดทำร่างฯ ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ฉะนั้นจะถือเป็นร่างกฎหมายที่ดีที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ และได้ทำให้ข้อถกเถียงต่าง ๆ เป็นอดีตไปหมดแล้ว” กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ กล่าวกับ มติชน พร้อมระบุว่า นี่คือฉันทามติของกลุ่ม LGBTQIA+

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ จะต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อระดมความคิดเห็นจากประชาชนทั้งประเทศนำมาปรับปรุงร่างกฎหมาย คาดว่าจะเริ่มเดือน ส.ค. 65 หลังจากนั้นจะล่ารายชื่อประชาชน เข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อประธานรัฐสภา ซึ่งคาดว่าจะเสนอต่อรัฐบาลใหม่ได้ในปี 2566

เพลงนางสาวแนนซี่ จึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงสร้างการยอมรับและการต่อสู้ของคนทั่วไปเพื่อให้ LGBTQIA+ ได้สิทธิขั้นพื้นฐานที่สมควรจะได้รับ ตั้งแต่สมัยยุค 2000 ที่ยังไม่ได้มีการยอมรับกลุ่ม LGBTQIA+ มากเท่าทุกวันนี้ และในตอนนั้น LGBTQIA+ ยังเป็นเพียงแค่ตัวตลกและถูกล้อเลียนอยู่เสมอในสื่อบันเทิง เห็นได้จากยุคเดียวกันนั้นยังมีเพลง “ประเทือง” ที่กดทับ LGBTQIA+ อยู่ หรือถ้าหากเป็นตัวละครในละครและภาพยนตร์ก็จะต้องจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ไม่ตายก็เป็นบ้า

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. จึงเป็นเหมือนความหวังครั้งใหม่ของใครหลาย ๆ คน รวมถึงแนนซี่ด้วย ที่จะได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

และหวังว่าคงใช้เวลาอีกไม่นาน ที่แนนซี่จะได้เป็นนางสาวตามที่ต้องการ

 

“..ขอบอกแนนซี่ เธอคือพวกเรา
จึงมากู่ก้องร้องป่าว ว่าเพื่อนรักเรา
ชื่อนางสาวแนนซี่..”


ที่มา: Matichon, Nida Poll