"ถ้วยอนามัย"ทางเลือกที่ผู้หญิงเอธิโอเปียมีโอกาสได้ใช้เวลามี"รอบเดือน"

"ถ้วยอนามัย"ทางเลือกที่ผู้หญิงเอธิโอเปียมีโอกาสได้ใช้เวลามี"รอบเดือน"

ก่อนหน้านี้ผู้หญิง"เอธิโอเปีย"เวลามีรอบเดือนจะใช้ของบางอย่างที่ไม่เหมาะสม "ซาร่า เอ็กลุนด์" จึงนำ "ถ้วยอนามัย"หรือ"ถ้วยรองประจำเดือน"เข้ามา เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีให้พวกเธอ

ซาร่า เอ็กลุนด์ ถึงกับส่ายหัวเมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรคิดว่า ผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งที่เธอกำลังนำเข้ามาจำหน่ายที่เอธิโอเปียคือชิ้นส่วนรถยนต์

“พวกเขาไม่รู้ว่ามันคืออะไร พวกเขาเลยเดาเอาเอง”

ย้อนไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน เอ็กลุนด์ต้องพบกับอุปสรรคมากมายในการนำเข้าถ้วยอนามัยหรือถ้วยรองประจำเดือนภายใต้แบรนด์ Noble Cup มาจำหน่ายเป็นครั้งแรกที่เอธิโอเปีย แต่เธอไม่คาดคิดมาก่อนว่า จะต้องมานั่งอธิบายให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งทำหน้าฉงนงงงวยไม่รู้ว่า ถ้วยซิลิโคนสีชมพูขนาดเล็กเป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับอะไร  

ถ้วยรองประจำเดือน

ในที่สุดเธอก็ได้รับไฟเขียวให้นำถ้วยอนามัย 200 ถ้วยแรกเข้าประเทศ แต่ก็ต้องถูกยึดไว้โดยหน่วยงานสรรพากรและศุลกากรแห่งเอธิโอเปียหรือ Erca  เนื่องจากปัญหาด้านเอกสาร แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ  

“ฉันคิดแค่ว่า ถ้าจะทําอะไร ก็ทําให้เต็มที่ไปหรือไม่งั้นก็กลับบ้านไปเถอะ” เธอกล่าว และในการนำเข้าถ้วยครั้งที่ 2 เธอจึงจัดไป 5,000 ถ้วย  

แต่เธอก็เจออุปสรรคใหม่ เพราะ Erca จัดถ้วยรองประจำเดือนอยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย และเรียกเก็บภาษีร้อยละ  69

\"ถ้วยอนามัย\"ทางเลือกที่ผู้หญิงเอธิโอเปียมีโอกาสได้ใช้เวลามี\"รอบเดือน\" ซาร่า เอ็กลุนด์ ผู้อยู่เบื้องหลัง Noble Cup (ภาพโดย Malin Fezehai / Noble Cup)  

“จะบ้าไปกันใหญ่แล้ว ระบบถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้คนโมโหและหงุดหงิด” เอ็กลุนด์ กล่าว 

ด้วยความมุ่งมั่นของสาวลูกครึ่งเชื้อสายเอธิโอเปียน-อเมริกัน หลังจากที่เปิดตัว Noble Cup ถ้วยประจำเดือนยี่ห้อแรกของเอธิโอเปียในปี 2018 ตอนนี้อุปกรณ์ชิ้นนี้มีวางจำหน่ายในร้านค้ามากกว่า 30 แห่งทั่วแอดดิสอาบาบา เมืองหลวง และมีแผนที่จะขยายจุดจำหน่ายอีก  

ด้วยสนนราคาถ้วยละประมาณ 150 บาทถือว่าแพงมากสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ในเอธิโอเปีย ตามรายงานระบุว่าเอธิโอเปียเป็นประเทศที่ผู้หญิงเพียงร้อยละ 28 มี “ทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการ” ในการจัดการเมื่อช่วงรอบเดือนมาถึง

และร้อยละ 25 ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์อนามัยใดๆ แต่พึ่งพาสิ่งที่พวกเขาสามารถหาได้ เช่น ผ้าขี้ริ้ว หนังสือพิมพ์ และแม้แต่ผ้าที่เต็มไปด้วยขี้เถ้า 

เอ็กลุนด์หวังว่า การส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์ของเธอจะช่วยหนุนให้มีการสนทนาที่เปิดกว้างมากขึ้น และลดการถูกตีตราหรือความน่าอับอายเกี่ยวกับการมีประจำเดือน  

“นี่คือสิ่งที่ผู้หญิงโสดทุกคนต้องเผชิญทุกเดือน” เธอกล่าว 

ความน่าอายของการมีรอบเดือน 

แต่ในมุมของนักรณรงค์ของ WaterAid Ethiopia อย่างเม็กดิม ไฮลู เธอมองว่า ความน่าอับอายของการมีประจำเดือนได้ฝังรากลึกไปแล้ว  

“เภสัชกรยังคงห่อผ้าอนามัยด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์และใส่ถุงพลาสติกก่อนส่งให้ลูกค้า แม้แต่วัยรุ่นในเขตเมือง ฉันกับเพื่อนๆ ยังคงใช้รหัสเมื่อพูดถึงประจำเดือน” ไฮลู กล่าว 

ไฮลูยอมรับว่า ถ้วยรองประจำเดือน เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่เธอคิดว่าแม้แต่คนมีเงินที่สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้และสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ เพราะต้องล้างทำความสะอาดถ้วย ก็อาจจะไม่ใช้ถ้วยเหล่านั้นด้วยเหตุผลด้านวัฒนธรรม 

“เราต้องการให้เด็กสาวและผู้หญิงมีทางเลือกมากๆ แต่หลายๆ อย่างเป็นแนวคิดจากคนภายนอกประเทศที่ให้นำผลิตภัณฑ์ใส่เข้าไปในช่องคลอดของคุณ แม้แต่ผ้าอนามัยแบบสอดก็ไม่มีการใช้ที่นี่ ดังนั้นจึงมีหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อให้คนตระหนักหรือรับรู้ถึงถ้วยอนามัยนี้” ไฮลูกล่าว 

\"ถ้วยอนามัย\"ทางเลือกที่ผู้หญิงเอธิโอเปียมีโอกาสได้ใช้เวลามี\"รอบเดือน\" เด็กผู้หญิงชาวเอธิโอเปียนร่วมทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับระบบเจริญพันธุ์ (ภาพโดย Malin Fezehai / Malala Fund) 

ถ้วยทางเลือกผู้หญิงเอธิโอเปีย

ถ้วยรองประจำเดือน (Menstrual cup) ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ แท้จริงแล้วมีการใช้กันตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930  โดยการคิดค้นขึ้นของ ลีโอโนร่า ชาลเมอรส์ นักแสดงหญิงชาวอเมริกันเพื่อใช้เป็นทางเลือกแทนการใช้อุปกรณ์ที่เทอะทะอย่างเข็มขัดรัดรอบเอว จนในที่สุดถ้วยประจำเดือนก็มีวางขายในร้านขายยาใหญ่ๆ  

เมื่อปี 2019 วารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงอย่าง The Lancet ได้ออกรายงานรับรองประสิทธิภาพของถ้วยอนามัยเป็นครั้งแรกของโลก 

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะระบุถึง ภาชนะที่ทำจากซิลิโคนหรือยางชนิดนิ่มและมีลักษณะเหมือนถ้วยทรงกรวย และไม่ค่อยกล้าอธิบายถึงวิธีการใช้หรืออธิบายว่ามันทำงานอย่างไร

จริงๆ แล้ว ถ้วยดังกล่าวถูกออกแบบมาให้ใส่เข้าไปในช่องคลอด เพื่อรองรับประจำเดือนและสามารถล้าง แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้ สามารถสวมใส่ได้นานถึง 12 ชั่วโมงต่อครั้งในช่วงมีประจำเดือน และยังสามารถใช้ซ้ำได้นานถึง 5 ปีด้วย 

\"ถ้วยอนามัย\"ทางเลือกที่ผู้หญิงเอธิโอเปียมีโอกาสได้ใช้เวลามี\"รอบเดือน\"

ป้ายโฆษณา Noble Cup ในแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงเอธิโอเปีย (ภาพจาก Noble Cup) 

เส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ 

เอ็กลุนด์เกิดในเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เธอมีแม่เป็นชาวเอธิโอเปียนและพ่อเป็นชาวอเมริกัน เธออาศัยอยู่ในแอฟริกาตะวันออกจนถึงอายุ 18 ปี ในตอนนั้นยังไม่มีผ้าอนามัยแบบสอดขายในร้านค้าในเอธิโอเปียเลย

ซึ่งเธอชี้ว่าการที่ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยแบบสอดไม่ได้ เพราะมีรากฐานมาจากแนวคิดที่ว่า “ผู้หญิงไม่ควรจะใส่อะไรเข้าในช่องคลอดของพวกเขา” 

ตอนเดินทางไปสหรัฐอเมริกาหลายครั้ง เธอจึงซื้อผ้าอนามัยแบบสอดตุนไว้ จนกระทั่งตอนอายุย่าง 20 ปีและกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เธอก็ได้ยินเกี่ยวกับถ้วยประจำเดือนจากเพื่อนๆ และได้ทดลองใช้  

“คุณต้องเรียนรู้วิธีใช้ (ถ้วยประจำเดือน) มันมีเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ (พัฒนาการหรือความเร็วช้าในการเรียนรู้ทักษะใหม่) คุณต้องรู้สึกสบายใจที่จะทำ” เอ็กลุนด์กล่าว 

เธอได้รับแรงบันดาลใจให้เริ่มต้นทำธุรกิจหลังจากที่ค้นพบถ้วยอนามัยดังกล่าว ตอนแรกเธอคิดจะก่อตั้งองค์กรการกุศลเพื่อบริจาคถ้วยฟรี แต่แม่ของเธอซึ่งเป็นนักธุรกิจตีตกไอเดียนั้น โดยบอกกับลูกสาวว่า

\"ถ้วยอนามัย\"ทางเลือกที่ผู้หญิงเอธิโอเปียมีโอกาสได้ใช้เวลามี\"รอบเดือน\" Noble Cup ถ้วยรองประจำเดือนยี่ห้อแรกในเอธิโอเปีย (ภาพจาก Noble Cup) 

“ถ้ามันจะเป็นอะไรซักอย่าง มันต้องทำเป็นธุรกิจ แนวคิดที่ว่าชาวแอฟริกันต้องการของฟรี เป็นความคิดที่ผิด” 

“เธอพูดถูก” เอ็กลุนด์กล่าว “ฉันไม่คิดว่าการบริจาคถ้วยกับการขายจะให้อำนาจหรือพลังแบบเดียวกัน เมื่อผู้หญิงเลือกที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ พวกเขาจะให้เวลาหรือสนใจมันมากขึ้น พวกเขาจะแบ่งปันเรื่องราวให้คนอื่น และนั่นหมายความว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเกิดขึ้นแล้ว” 

ทีมงานของเอ็กลุนด์มีการจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับชีววิทยาขั้นพื้นฐานในโรงเรียน โดยแนะนำให้เด็กๆ รู้จักกับผลิตภัณฑ์อนามัยต่างๆ ที่ใช้ในช่วงมีประจำเดือน ทีมงานยังรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างคึกคัก 

เจ้าของ Noble Cup กล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มีการพูดถึงประจำเดือนมากขึ้นในยุคที่โซเชียลมีเดียก็เติบโตขึ้น เธออ้างถึงผู้หญิงจากเมืองฮาวาสซ่าคนหนึ่งที่ติดต่อมาที่ทีมหลังจากดูวิดีโอแนะนำในติ๊กต็อก  

“เราส่งถ้วยจำนวนหนึ่งไปให้เธอลองใช้แล้ว และตอนนี้เธอกลายเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่ไม่เป็นทางการของเราไปแล้ว” เอ็กลุนด์กล่าว 

ที่มา :เว็บไซต์เดอะการ์เดียน  www.vogue.com   และ www.globalcitizen.org 

.................