เหตุเกิดที่เชียงของ : เมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไม่เอื้อกับคนค้าขายชายแดน

เหตุเกิดที่เชียงของ : เมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไม่เอื้อกับคนค้าขายชายแดน

ทำไมระบบผ่านด่านสากล "สะพานมิตรภาพไทย-ลาว"ไม่ตอบสนองต่อการค้าชายแดนปกติที่พ่อค้าชาวเชียงของ-บ่อแก้วทำกันมานาน ลองอ่านบทวิเคราะห์เรื่องนี้

ผู้เขียนเพิ่งข้ามด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เชียงของ แบบไป-กลับ จาก สปป.ลาว มีประเด็นอยากนำมาเล่าสู่ หากมีการปรับปรุงแก้ไขก็จะเป็นผลดีต่อประชาชนทั้งสองฟากฝั่ง

ด่านสะพานแห่งนี้เพิ่งเปิดใช้จริงจังกันเมื่อไม่นานหลังจากโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักไปร่วมสองปี เหตุโรคระบาดทำให้การค้าขายข้ามไปมาหาสู่แบบที่เคยเป็นมาต้องเปลี่ยนไปหมด

เพราะเดิมพรมแดนเชียงของ-บ่อแก้ว มีจุดผ่านแดนชั่วคราวและด่านทางเรือเป็นช่องทางสำคัญของผู้คน ซึ่งประกอบด้วย ท่าเรือเชียงของ ท่าเรือบั๊ค รวมไปถึงจุดผ่อนปรนตามแนวลำน้ำไปตลอดจนถึงอ.เวียงแก่น เช่น จุดผ่อนปรนแจมป๋อง และที่บ้านหาดบ้าย

ระบบด่านสากล สะพานมิตรภาพ

แต่ตอนที่จุดผ่านแดนและจุดผ่อนปรนที่ว่าทั้งหมดยังไม่เปิด  ก็มีเพียงด่านถาวรสะพานมิตรภาพนี่แหละที่เป็นช่องทางหลักช่องเดียว

ดังนั้นด่านแห่งนี้จึงคึกคักมากสนองการปล่อยผี(โควิด) จึงมีทั้งรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ รถยนต์ทั่วไป นักท่องเที่ยวไทยเทศ และชาวบ้านร้านถิ่นธรรมดา โดยเฉพาะพี่น้องลาวที่ติดค้างอยู่ฝั่งนี้นานได้กลับไปเยี่ยมบ้าน

ระบบของด่านสะพานมิตรภาพเป็นระบบด่านสากล ออกแบบเพื่อการขนส่งการค้า และการผ่านแดนโดยพาสปอร์ตไปนานๆ  การค้าที่ผ่านสะพานเป็นการค้าระหว่างประเทศ มีระบบชิปปิ้ง รถหัวลาก ตู้คอนเทนเนอร์ ฯลฯ

เหตุเกิดที่เชียงของ : เมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไม่เอื้อกับคนค้าขายชายแดน (สะพานมิตรภาพไทยลาว-ภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

ปกติเวลารถบรรทุกพวกนี้ผ่าน จะมีเจ้าหน้าที่บริษัทจัดการเอกสารผ่านแดนต่างๆให้ ซึ่งก็นั่นล่ะว่า กิจการของจีนและสินค้าทั้งจากและส่งไปจีนเป็นลูกค้าใหญ่ของด่านการค้าแห่งนี้  ซึ่งก็ตรงตามวัตถุประสงค์ของการผลักดันให้เกิดสะพานแต่เดิม สะพานนี้รัฐบาลไทยออกเงินครึ่งหนึ่ง ส่วนทางลาวจีนผลักดันโดยให้รัฐบาลลาวยืมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาร่วมสร้าง 

ชื่อเต็มๆ ของสะพานจึงควรจะมีจีนอยู่ในวงเล็บต่อท้าย สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ด้วยซ้ำไป!

แต่ด่านการค้าสากล มันเป็นคนละเรื่องกับด่านการค้าชายแดน !!

ระบบของด่านแห่งนี้จึงไม่เอื้อ และไม่ตอบสนองต่อการค้าชายแดนปกติที่พ่อค้าชาวเชียงของ-บ่อแก้วเขาทำกันมายาวนาน เมืองเชียงของนั้นเป็นอำเภอใหญ่ดั้งเดิมและเจริญรุ่งเรืองมาก่อน หลังนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าน นับแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา

ความยุ่งยากในการข้ามด่านชายแดน

ตลาดเชียงของเป็นศูนย์กลางค้าขายส่งสินค้าขายส่งไปยัง สปป.ลาว มากมายผ่านระบบการค้าชายแดน  จนบัดนี้แม้จะไม่คึกคักเท่าเก่า แต่ระบบการค้าขนาดย่อมของตลาดเชียงของยังมีอยู่จนมาหยุดชะงักลงตอนโควิด และจนบัดนี้ยังไม่ฟื้น

นั่นเพราะยังไม่มีการเปิดท่าเรือขนส่งสำหรับชาวบ้านและการค้าขนาดย่อม

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเจรจาระหว่างจังหวัดเชียงรายกับแขวงบ่อแก้วเพื่อจะเปิดจุดผ่อนปรนและด่านการค้าทางเรือ ที่ด่านท่าเรือบั๊ก และท่าขนส่งสินค้าหาดบ้าย(ท่าผาถ่าน) ตามที่เคยเป็นมา  ตามข่าวบอกว่าสามารถเปิดได้เลยตั้งแต่มิถุนายน แต่ไม่ทราบว่าติดขัดในขั้นตอนไหน  ซึ่งที่สุดก็มีแค่ด่านสะพานมิตรภาพเท่านั้นที่เป็นช่องทางที่เปิด

เรื่องของเรื่องก็คือ ระบบของสะพานมิตรภาพนี่ เขาออกแบบมาเพื่อเป็นด่านสากล  และการค้าระหว่างประเทศ ไม่ได้เอื้อต่อการขนส่งสินค้าล็อตเล็ก รวมทั้งการเข้าออกของผู้คนชายแดนที่ไปมาหาสู่ระหว่างกันด้วยบอร์เดอร์พาส สองสามวันกลับ

สมมติให้เห็นภาพ หากท่านมาจากกรุงเทพฯ จะข้ามไปยัง สปป. ลาว แล้วโดยสารรถประจำทางที่บ่อแก้วไปยังเมืองอื่นๆ ในประเทศเขา มันก็ต้องเริ่มจากต้องนั่งรถทัวร์ไปยังตัวตลาดอำเภอเชียงของ

แล้วว่าจ้างรถโดยสารไปยังด่านสะพานมิตรภาพที่ห่างออกไปราว 7 ก.ม. ยื่นพาสปอร์ต ผ่านต.ม.ไทยแล้ว จากนั้นท่านต้องถูกบังคับให้นั่ง shuttle bus ที่ บขส. ได้สิทธิ์กิจการนี้ โดยต้องซื้อตั๋ว 20 บาทในการข้ามสะพานไปยังด่านต.ม.ลาว (นอกเวลา 25 บาท)

จากนั้นเมื่อข้ามสะพานแล้ว ก็ต้องไปทำเรื่องผ่านด่านลาว ยื่นพาสฟอร์ตและใบรับรองวัคซีนโควิด  ออกมาคือด่านนอกเมืองบ่อแก้วนะครับ ยังต้องโดยสารรถประจำทางลาวจากด่านเข้าในเมืองบ่อแก้ว เพื่อต่อรถอีกทอด

กินเวลาหลายชั่วโมง และซับซ้อน ยุ่งยาก !  

สังเกตเห็นแม่ลูกลาวคู่หนึ่งตั้งแต่ด่านไทยแล้ว เธอหอบลูกมามีกระเป๋าเสื้อผ้าและยังมีกระเป๋าใบโตพลาสติกสีรุ้งหนักมากขนาดต้องลากมาด้วย  เธอต้องลากสมบัติทั้งหมดผ่านขั้นตอนจากไทยขึ้นรถบัสไทยไปแล้ว ยังต้องลากแบบเดียวกันนี้ไปขึ้นรถโดยสารลาว เพื่อจะไปยังตลาดบ่อแก้ว

เหตุเกิดที่เชียงของ : เมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไม่เอื้อกับคนค้าขายชายแดน

ทำไมระบบผ่านแดน ไม่ส่งเสริมการค้า

จากตลาดเชียงของไปยังท่ารถบ่อแก้ว ลากสมบัติขึ้นลงรถ 4 เที่ยวนะครับ  ซึ่งก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มด้วย เทียบจากแบบเดิมที่เธอสามารถลงเรือข้ามฟากจากเชียงของไปยังท่าเรือบ่อแก้วแค่ต่อเดียว

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้เขียนยังพบว่า บขส. ซึ่งได้รับเหมาสิทธิ์รับส่ง shuttle bus ยังเก็บเงินค่าสัมภาระเพิ่มจากค่ารถอีก เรื่องนี้อยากให้ผู้บริหาร บขส. และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยตรวจสอบด้วยเพราะมันทะแม่งผิดสังเกตมาก

สอบถามจากพรรคพวกที่เคยผ่าน เขาบอกว่า บขส.เรียกเก็บค่าสัมภาระตามใจชอบ แล้วแต่ขนาดใหญ่เล็ก บางคนถูกเรียก 200 บาท ทั้งๆ ที่ค่ารถแค่ 20 บาทเท่านั้น เมื่อเดินไปดูที่เคาท์เตอร์เพื่อจะให้กระจ่าง กลับไม่มีป้ายบอกใดๆ ว่า ต้องจ่ายค่าสัมภาระ

มีแค่ป้ายเขียนว่า อัตราค่าโดยสารรถข้ามพรมแดน 20 บาท:1 คนในเวลาทำการ และ 25 บาท:1 คนนอกเวลาทำการ

การไม่มีป้ายใดๆ บอกไว้ว่าผู้โดยสารต้องจ่ายค่าสัมภาระด้วยมันไม่ถูกต้อง ซึ่งก็น่าสงสัยว่าเป็นการเก็บเงินกันเองนอกระเบียบหรือไม่ ?  และต่อให้มีระเบียบสามารถเก็บค่าสัมภาระได้ ก็สมควรที่จะเขียนบอกไว้ให้ชัดเจน สัมภาระขนาดไหน หนักเท่าไหร่ ต้องเสียค่าระวางกี่บาท

คนเขาโอดโอยบ่นเรื่องความยุ่งยากและเสียเงินเบี้ยบ้ายหลายขั้นตอน ทั้งเสียแบบทางการและแบบไม่มีป้ายบอกบอกฝากมาว่า ระบบผ่านแดนแบบที่กำลังทำกันนั้นมันไม่ได้ส่งเสริมการค้าและชุมชนท้องถิ่นเลย การค้าชายแดนแบบเดิมที่ทำกันเขาข้ามมาซื้อหมากไม้ข้าวปลาอาหารเครื่องใช้แล้วลงเรือข้ามไป หากจะหอบสินค้าที่ว่าขึ้นลงรถ 4 ทอด ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มทุกทอด เขาไม่ทำกัน และแน่นอน ตลาดดั้งเดิมชุมชนดั้งเดิมก็จะเหี่ยวเฉาลงเรื่อยๆ

ก็อย่างที่บอกล่ะครับ การค้าระหว่างประเทศ กับการค้าชายแดนมันต่างกันในรายละเอียด สะพานมิตรภาพเชียงของ-บ่อแก้ว สร้างขึ้นได้เพราะแรงผลักดันจากจีนให้เงินลาวมาร่วมสร้าง เพราะจีนได้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่ง R3A แต่ด่านระหว่างประเทศที่ว่า มันไม่ตอบสนองการค้าชายแดนแบบเดิม ทางออกที่ตอบสนองคนเล็กคนน้อยชุมชนและท้องถิ่นได้ดีที่สุดคือเร่งเปิดด่านทางเรือปกติ และช่วยสอดส่องดูการเก็บเงินเบี้ยบ้ายเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกบังคับให้ควักเพิ่ม ตกลง 

นี่ยังคาใจนะครับ บขส.ได้สัมปทาน shuttle bus ขนคน หรือสินค้าสัมภาระ ? ต้องตอบให้ได้ เพราะปกติคนที่เดินทางต่างประเทศก็ต้องมีกระเป๋าใบใหญ่ติดตัวอยู่แล้ว  ขนาดทางเครื่องบินยังอนุญาตให้หนัก 20-30 ก.ก.ได้เลย แล้วนี่ทางบกตกลงจะให้เขาสามารถขนติดตัวได้กี่กิโลกรัม ตกลงเก็บเงินหรือไม่เก็บ ?

ถ้าไม่เก็บค่าสัมภาระ ก็แสดงว่ามีการแอบเก็บกันเอง เงินเข้ากระเป๋าใครผู้บริหารลองตรวจสอบดู

หรือถ้าสามารถเก็บค่าสัมภาระได้ ก็สมควรแสดงป้ายบอกให้ชัดเจนว่าอัตราค่าระวางขนาดกว้างยาวกี่บาท ไม่ใช่ปล่อยให้คำนวณเรียกกันเองตามอัธยาศัย ถ้าได้หัวละ 100 วันละ 500 คน ก็ตกวันละ 50000 แล้วนะครับเจ้ารายได้ที่ว่า .