ทบทวนความจำ: ที่มาของชื่อ"ถนนสายสำคัญ"ยุคแรก

ทบทวนความจำ: ที่มาของชื่อ"ถนนสายสำคัญ"ยุคแรก

บทความนี้ขอทบทวนรื้อฟื้น"การพัฒนาเส้นทางถนน"ในยุคแรกๆ และส่องดูสถานะล่าสุดในปัจจุบัน อันเป็นยุคที่รัฐกำลังพัฒนาเส้นทางรางให้กลับฟื้นคืนอีกคำรบ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงพ.ศ. 2500 ประเทศไทยมีการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะ ถนน สะพาน อย่างขนานใหญ่เป็นครั้งสำคัญของสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านนี้ จนถึงปี 2493 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สร้างถนนสายต่างๆ เปิดสัญจรได้ทั่วประเทศรวม 6,470 กิโลเมตร จากจำนวนที่วางแผนสร้างไว้ 13,400 กิโลเมตร (ไม่รวมทางหลวงจังหวัดและทางหลวงชนบท)

จึงมีการนำชื่อของบุคคลที่มีบทบาทตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ นัยว่า เป็นการแสดงความยกย่องแบบเดียวกับสากลที่นิยมนำชื่อนามบุคคลสำคัญมาให้เกียรติ ซึ่งส่วนใหญ่ยังตกทอดเรียกใช้กัน บางเส้นไม่เรียกใช้ หรือเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นแล้ว

นับจากครั้งนั้นเป็นต้นมาประเทศไทยได้พัฒนาเส้นทางถนนเป็นการจราจรสายหลักครอบคลุมทั่วประเทศแทนที่เส้นทางรถไฟที่เคยเป็นเส้นทางสัญจรหลัก

บทความนี้ขอทบทวนรื้อฟื้นการพัฒนาเส้นทางถนนในยุคแรกๆ และส่องดูสถานะล่าสุดในปัจจุบัน อันเป็นยุคที่รัฐกำลังพัฒนาเส้นทางรางให้กลับฟื้นคืนอีกคำรบ

ชื่อทางหลวงแผ่นดิน

•ถนนสุขุมวิท

ที่เราท่านรู้จักดีว่าเป็นถนนเชื่อมกรุงเทพฯกับภาคตะวันออก ตั้งขึ้นเป็นเกียรติแก่พระพิศาลสุขุมวิทย์ (ประสบ สุขุม) อดีตอธิบดีกรมทางหลวงที่บุกเบิกสร้างถนนสายนี้ เดิมนั้นเขียนว่า “ถนนสุขุมวิทย์” แต่มาเปลี่ยนเป็น สุขุมวิท ในภายหลัง

•ถนนพหลโยธิน 

คงเดาไม่ยากว่าถนนเส้นที่ตัดจากกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือได้ชื่อมาจาก “พระยาพหลพลพยุหเสนา” อดีตนายกรัฐมนตรี

แต่ที่ลึกไปกว่านั้น เดิมถนนเส้นนี้ชื่อว่า ถนนประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นชื่อจอมพล ป. เองนั่นล่ะตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2483 เพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนมาปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่พอมาถึงปี 2493 ตอนนั้นมีพรรคประชาธิปัตย์กำเนิดขึ้นแล้ว คงไม่อยากซ้ำ เลยเปลี่ยนใหม่เป็นเกียรติแก่หัวหน้าคณะราษฎรเสียเลย

•ถนนเพชรเกษม 

นี่ก็ทางหลวงตัดจากกรุงเทพฯลงปักษ์ใต้ไปถึงหาดใหญ่ ตั้งเป็นเกียรติแก่อธิบดีกรมทางหลวงในสมัยตั้งชื่อถนนเมื่อ 2493 คือ หลวงเพ็ชร์เกษมวิถีสวัสดิ์ (แถม เพ็ชร์เกษม) เดิมชื่อถนนเขียนว่า เพ็ชร์เกษม มาเปลี่ยนเป็นแบบปัจจุบันในภายหลัง

•ถนนสุดบรรทัด 

เป็นถนนสายอีสานเริ่มจาก สระบุรี-ปากช่อง-โคราช เป็นเกียรติแก่ พันโท ประเสริฐ สุดบรรทัด รองประธานสภาผู้แทนราษฎร สมัยพ.ศ.2491 ปัจจุบันถนนเส้นไปถึงโคราชนี้ถูกถนนมิตรภาพกลืนทับไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือส่วนต้นเส้นทางในเขตเมืองสระบุรีอยู่ เพื่อรำลึกว่า สมัยก่อนถนนจากสระบุรี จะไปโคราช เริ่ม ณ จุดตรงนั้น

•ถนนสุขสวัสดิ์

 ถนนเส้นนี้ยังอยู่ในกรุงเทพฯ ไปถึงป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ ยังเป็นถนนสำคัญไปถึงพระประแดง ตั้งชื่อเป็นเกียรติให้ ม.จ.ธัญญลักษณ์ สุขสวัสดิ์ นายช่างหัวหน้ากองก่อสร้าง กรมทาง

•ถนนสุวรรณศร 

ทางหลวงเชื่อมพรมแดนตะวันออก บ้านภาชี-หินกอง-นครนายก-อรัญประเทศ เป็นเกียรติให้นาย ธะทรง สุวรรณศร อดีตนายช่างกำกับการเขตการทางกรุงเทพฯ ปัจจุบันถนนเส้นนี้ยังเป็นเส้นสำคัญ ทางหลวงหมายเลข 33 เชื่อมไปถึงพรมแดนสระแก้วแล้ว ยังต่อเชื่อมกับถนนหมายเลข 5 หมายเลข 6 ของกัมพูชาไปต่อทั่วประเทศ

•ถนนสุวินทวงศ์ 

ทางหลวงเชื่อมกรุงเทพฯ ออกมีนบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ปัจจุบันยังเป็นเส้นหลักสำคัญ ทางหลวงหมายเลข 304 ออกปราจีนฯแล้วยังทำต่อเชื่อมไปถึงนครราชสีมา ตั้งชื่อให้เกียรติ นายเกษม สุวินทวงศ์ นายช่างกำกับการเขตการทางปราจีนบุรี ที่ได้กำกับการก่อสร้างในชั้นต้น

•ถนนศรีรับสุข 

เป็นทางหลวงแผ่นดินเชื่อมหลักสี่ กับ ดอนเมือง ปัจจุบันไม่มีแล้ว ถูกผนวกรวมกับถนนวิภาวดีรังสิต เหลือแต่ชื่อหมู่บ้านศรีรับสุขอยู่ใกล้ๆ ท่าอากาศยานดอนเมืองพอยังเป็นที่ระลึกถึงชื่อเดิม ถนนเส้นนี้ตั้งชื่อเป็นเกียรติให้ ร.ต.วงศ์ ศรีรับสุข นายช่างกำกับแขวงการทางกรุงเทพที่ 2 เป็นถนนสายสั้นๆ นอกกรุง ในยุคที่กรุงเทพยังไม่ขยายใหญ่เช่นปัจจุบัน

•ถนนชูศักดิ์ 

เส้นทางจาก อ.บางแพ ราชบุรี ไปยังสมุทรสงคราม ตั้งชื่อให้เกียรติ นาย ชูศักดิ์ คชเสนีย์ นายช่างแขวงการทาง ปัจจุบันไม่มีชื่อนี้แล้ว เหลือแค่ชื่อ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 325 โดยชื่อที่ประชาชนเรียกติดปาก เรียกว่า ถนนสายสมุทรสงคราม-บางแพ

•ถนนติวานนท์ เชื่อม นนทบุรี-ปากเกร็ด-ปทุมธานี

ถนนเส้นนี้ยังเป็นเส้นทางหลักสายสำคัญของปริมณฑลกรุงเทพฯ ตั้งชื่อให้เกียรติแก่ ขุนชิดชาญตรวจ (เชี่ยวชาญ ต.ติวานนท์) อดีตนายช่างกำกับการแขวงการทางกรุงเทพ

•ถนนแจ้งวัฒนะ 

จากอนุสาวรีย์ ไปหลักสี่ ปากเกร็ด ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ นายชลอ แจ้งวัฒนะ นายช่างกำกับการแขวงการทางกรุงเทพ2

•ถนนงามวงศ์วาน 

เดิมสะกดว่า งามวงษ์วาน เป็นเกียรติแก่ นายดำรง งามวงษ์วาน นายช่างกำกับหมวดการทางนนทบุรี

จะเห็นได้ว่าชุดถนนทางหลวงแผ่นดินที่ปัจจุบันกลายเป็นถนนชื่อคุ้นหูสายสำคัญของกรุงเทพมหานคร ในยุคโน้นก็คือทางหลวงนอกกรุงฯ ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นหลังสงครามโลก กรุงเทพฯในยุคโน้นพ้นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็เป็นเขตนอกพระนครแล้ว ยิ่งลาดพร้าว หลักสี่ ดอนเมือง ยิ่งเป็นทุ่งนาชนบท

ถนนชุดต่อไปที่กล่าวถึงคือทางหลวงแผ่นดินต่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งได้รับการพัฒนาสร้างขึ้นยุคแรกๆ ของประวัติศาสตร์ถนนหนทางยุคใหม่ของไทย

ทบทวนความจำ: ที่มาของชื่อ\"ถนนสายสำคัญ\"ยุคแรก •ถนนแสงชูโต 

เป็นถนนจากแยกดอนกระเบื้อง-กาญจบุรี-ปิล็อก เชื่อมชายแดนตะวันตก เป็นเกียรติแก่หลวงอุปกรณ์รัฐวิถี (สระ แสงชูโต) อดีตนายช่างใหญ่กรมทาง ปัจจุบันเส้นนี้ยังเป็นทางเส้นหลักสายเอเชีย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323 ออกไปถึงด่านเจดีย์สามองค์

•ถนนโรจนะ สายวังน้อย-อยุธยา

เป็นเกียรติแก่นายวิธี โรจนะ นายช่างกำกับแขวงการทางหินกอง แม้เป็นถนนสายสั้นๆ แต่ก็เป็นสายสำคัญของคนในพื้นที่ และใช้ชื่อถนนนี้เรื่อยมา

•ถนนอุดมสรยุทธ์ สาย คลองหนึ่ง-บางปะอิน

เป็นเกียรติแก่ พ.อ.ขุนอุดมสรยุทธ์ (หาญ อุดมสรยุทธ์) อดีตเจ้ากรมยุทธโยธา เช่นเดียวกับโรจนะ แม้จะเป็นสายสั้นๆ แต่ก็เป็นสาธารณูปโภคสำคัญในในยุคนั้นและใช้ชื่อนี้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

•ถนนมาลัยแมน 

เส้นทางสายนครปฐม-สุพรรณบุรี ปัจจุบันยังใช้ชื่อถนนนี้อยู่ เป็นถนนสายสำคัญทางหลวงหมายเลข 321 สำหรับเดินทางเลี่ยงกรุงเทพฯ ระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่นายปุย มาลัยแมน หัวหน้ากองคลัง กรมทาง

•ถนนศุขประยูร 

ทางหลวงเชื่อม ฉะเชิงเทรา พนัสนิคม ชลบุรี ตั้งชื่อเป็นเกียรติหลวงสัมฤทธิวิศวกรรม (โกศล ศุขประยูร) นายช่างควบคุมก่อสร้างทาง ปัจจุบัน คือทางหลวงหมายเลข 315 เป็นเส้นทางหลักของจังหวัดฉะเชิงเทราอีกเส้นหนึ่ง

•ถนนสุขยางค์ 

ทางหลวงแผ่นดินสายยะลา-เบตง ถนนนี้ยากลำบากมากในยุคโน้นเพราะต้องผ่านป่าเขาดิบและทางคดเคี้ยวมาก แต่จำเป็นต้องสร้างเพื่อไปถึงเบตงที่เป็นสุดเขตแดน เพราะก่อนจะมีถนนสายนี้การเดินทางโดยรถยนต์ต้องอ้อมประเทศมาเลเซียเข้าไป ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สารศาสตร์ ศิริลักษณ์ สุขยางค์) อดีตนายช่างทางเอก

ปัจจุบันชื่อนี้ยังใช้อยู่แต่จำกัดในเขตเทศบาลนครยะลาเป็นสำคัญ ถนนนี้ถูกผนวกรวมกับถนนสิโรรสจากปัตตานี เรียกรวมกันเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410

•ถนนสิโรรส 

เป็นทางหลวงสายปัตตานี-ยะลา ที่พัฒนาขึ้นเชื่อมพื้นที่ชายแดนภาคใต้รุ่นเดียวกับถนนสุขยางค์ ปัจจุบันถูกผนวกรวมเป็นเส้นเดียวกันทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 จากปัตตานีไปถึงพรมแดนเบตง ชื่อนี้เป็นเกียรติให้กับ นายสุบิน สิโรรส นายช่างแขวง ปัจจุบันชื่อนี้ยังเหลือเรียกเพียงช่วงสั้นๆ ช่วงเดียวในเขตเทศบาลนครยะลา ส่วนที่ปัตตานีไม่ใช้เรียกแล้ว

•ถนนกาญจนวนิช 

สงขลา-หาดใหญ่-สะเดา เดิมเขียน กาญจนวณิชย์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระยาประกิตย์กลศาสตร์ (ประกิต รณชิต กาญจนวณิชย์) อดีตนายช่างด้านสงขลา ปัจจุบันยังใช้ชื่อนี้เป็นถนนสายสำคัญทางเศรษฐกิจของสงขลาเชื่อมเส้นทางไทย-มาเลเซีย

•ถนนเสถียรฐาปนกิจ 

จากภูเก็ต ถึง ท่าฉัตร์ชัย (สะกดแบบเดิม) เป็นเกียรติแก่ พระยาเสถียรฐาปนกิจ (ดวง บุนนาค) ปัจจุบันไม่ใช้ชื่อถนนนี้แล้ว การไม่ปรากฏชื่อนี้ในสมัยหลังมีเรื่องต้องสืบค้นเพิ่ม เพราะปัจจุบันถนนเส้นหลักเชื่อมระหว่างเมืองภูเก็ตกับท่าฉัตรไชยคือถนนเทพกระษัตรี ซึ่งมีหลักฐานได้รับพระราชทานชื่อจากรัชกาลที่ 6 มาก่อนแล้ว

ทบทวนความจำ: ที่มาของชื่อ\"ถนนสายสำคัญ\"ยุคแรก •ถนนรามโกมุท 

สายปัตตานี-นราธิวาส เป็นเกียรติแก่หลวงปริญญาโยควิบูลย์ (ชม-อุบล รามโกมุท) นายช่างควบคุมการสร้าง ปัจจุบันชื่อถนนรามโกมุท ยังมีใช้ในแค่ส่วนที่อยู่ในตัวเมืองปัตตานีเท่านั้น ทางหลวงแผ่นดินตอนที่เชื่อมไปถึงนราธิวาสในปัจจุบันทับซ้อนและมีสร้างใหม่เพิ่ม

•ถนนยนตรการกำธร 

สายควนเนียง-สตูล ถนนเส้นนี้แยกขวาจากทางหลวงสายเพชรเกษม หมายเลข 4 ก่อนเข้าหาดใหญ่ เป็นเส้นทางเดียวที่ไปถึงสตูลในยุคแรกๆ ปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 406 ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงยนตรการกำธร (มล รณะนันท์) นายช่างผู้สร้าง ซึ่งเป็นคนพื้นเพปักษ์ใต้ชาวยะลา ปัจจุบันยังใช้ชื่อนี้เรียกขาน

•ถนนสุนอนันต์ 

สายนครศรีธรรมราช ปากพนัง ในยุคโน้นปากพนังเป็นเมืองท่าสำคัญถนนสายสั้นๆ เส้นนี้คือเส้นประตูเข้าสู่นครศรีธรรมราช ตั้งเป็นเกียรติแก่ นายอำพน สุนอนันต์ นายช่างแขวง ปัจจุบัน คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4094 เรียกว่าถนนนครศรีธรรมราช-ปากพนัง ไม่ใช้ชื่อสุนอนันต์แล้ว แต่ก็ยังปรากฏชื่อซอยแยกจากถนนเส้นนี้ก่อนเข้าตัวเมืองปากพนังเรียกว่า ซอยสุนอนันต์ ยังเป็นร่องรอยปรากฏอยู่

•ถนนจรดวิถีถ่อง 

เส้นทาง สวรรคโลก-สุโขทัย-ตาก เป็นเกียรติแก่ ขุนจรดวิถีถ่อง นายช่างก่อสร้าง ปัจจุบันยังเป็นถนนที่ใช้งานจากสวรรคโลกไปยังสุโขทัย แต่ระหว่างสุโขทัยไปตาก ไม่ใช้ชื่อถนนนี้แล้ว

•ถนนสิงหวัฒน์ 

จากพิษณุโลกถึงสุโขทัย เป็นเกียรติแก่ ขุนสมศรีสิงห์วัฒน์ (ประสมศรี สิงหวัฒนะ) อดีตแขวง ปัจจุบันคือถนนหมายเลข 12 ยังมีชื่อถนนนี้จากทั้งสุโขทัย และพิษณุโลก ในช่วงตัวเมือง แต่ระหว่างเส้นทางไม่นิยมใช้ชื่อนี้แล้ว

•ถนนวังซ้าย 

จากร้องกวาง (แพร่) ถึง งาว (ลำปาง) เป็นถนนสายเก่าที่ยังมีชื่อนี้ปรากฏ เป็นเกียรติแก่ นายตุ่น วังซ้าย นายช่างกำกับแขวงการทางแพร่ ปัจจุบันเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 103 เชื่อมระหว่างท้องถิ่น ไม่ได้เป็นเส้นทางสายหลักระหว่างจังหวัด

•ถนนยันตรกิจโกศล 

จากเด่นชัย-แพร่-น่าน เป็นถนนสำคัญเชื่อมล้านนาฝั่งตะวันออกเพราะยุคโน้นมีสถานีรถไฟหยุดแค่สถานีเด่นชัยเท่านั้น ตั้งขึ้นเป็นเกียรติให้ หลวงยันตรกิจโกศล (วารี ยันตรกิจโกศล) นายช่างกำกับแขวงการทางแพร่ ปัจจุบันเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ถนนเส้นนี้ถือเป็นถนนสายหลักของทั้งจังหวัดแพร่ และน่าน

•ถนนโชตนา 

จากเชียงใหม่ไป เชียงดาว ฝาง เป็นเกียรติให้นายทิม โชตนา นายช่างกำกับเขตการทางเชียงใหม่ ปัจจุบันยังใช้ชื่อนี้เรียกชื่อถนนในช่วงตัวเมืองเชียงใหม่ และตัวเมืองฝาง ระหว่างทางเมื่อเลยอำเภอแม่ริมไปแล้ว นิยมเรียกชื่อว่า เชียงใหม่-ฝาง

•ถนนคชเสนีย์ 

สายไชยบาดาล เพชรบูรณ์ หล่มสัก เป็นเกียรติให้นายปฐม คชเสนี อดีตอธิบดีกรมทาง ปัจจุบันยังใช้ชื่อนี้อยู่ เดิมสะกดว่า คชเสนี

ทบทวนความจำ: ที่มาของชื่อ\"ถนนสายสำคัญ\"ยุคแรก •ถนนสืบสิริ 

จากนครราชสีมา ไป กบินทร์บุรี เป็นเกียรติให้ นายจำรัส สืบสิริ นายช่างกำกับเขตการทางนครราชสีมา ปัจจุบันมีใช้ชื่อนี้บางช่วงในเขตเมืองนครราชสีมา

•ถนนเจนจบทิศ 

เป็นถนนสายสำคัญของภาคอีสาน จากนครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย เป็นเกียรติแก่ ขุนเจนจบทิศ (ชื้น ยงใจยุทธ) ปัจจุบันไม่มีชื่อนี้ใช้แล้ว แนวถนนถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนมิตรภาพ

 •ถนนมลิวรรณ 

สายขอนแก่น เลย เชียงคาน เป็นเกียรติให้นายกมล มลิวรรณ นายช่างกำกับแขวงการทางขอนแก่น ป้ายในเขตเมืองขอนแก่นเคยเขียนว่า ถนนมะลิวัลย์จนมีการทักท้วงและเพิ่งแก้ไขใหม่ให้เป็นแบบเดิม ถนนเส้นนี้ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 12 และ 201

•ถนนนิตโย 

สายอุดรธานี นครพนม เป็นเกียรติให้นายโสภณ นิตตะโย นายช่างกำกับแขงการทางชุมแพ เดิมสะกด นิตตะโย ปัจจุบันเขียนเป็น ถนนนิตโยแนวถนนเดิมเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข22

•ถนนบุญยาหาร 

สายอุดรธานี-วังสะพุง เป็นเกียรติให้ นายสง่า บุณยาหาร อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางอุดร เดิมสะกด บุณยาหาร สังเกตว่าทางภาคอีสานชื่อเดิมที่เคยตั้งไว้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามความนิยมในหลายเส้นทาง

•ถนนแจ้งสนิท 

สายชนบท-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด เป็นเกียรติให้นายวินิจ แจ้งสนิท นายช่างกำกับแขวงการทางบ้านไผ่ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 เป็นถนนสายใหญ่ของอุบลราชธานี

ทบทวนความจำ: ที่มาของชื่อ\"ถนนสายสำคัญ\"ยุคแรก •ถนนถีนานนท์ 

สายมหาสารคาม-กาฬสินธุ์-สกลนคร เป็นเกียรติให้นายไสว ถีนานนท์ นายช่างกำกับแขวงการทางมหาสารคาม ปัจจุบันใช้ชื่อเดิม และเป็นถนนเส้นหลักเส้นหนึ่งของมหาสารคาม

•ถนนมัธยมจันทร์ 

สายสกลนคร-นาแก-พระธาตุพนม เป็นเกียรติแก่ นายประจวบ มัธยมจันทร์ นายช่างกำกับแขวงการทางสกลนคร

•ถนนชยางกูร 

สายอุบล-มุกดาหาร-นครพนม เป็นเกียรติแก่ ม.จ.วิเศษศักดิ์ ชยางกูร นายช่างกำกับแขวงการทางอำนาจเจริญ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 ชื่อถนนยังคงใช้ชื่อนี้ตลอดทั้งสาย

•ถนนสถิตนิมานการ

เอกสารเดิมเขียนว่า สถิตย์นิมานการ สายวารินทร์-พิบูล-ช่องเมฆ (ช่องเม็ก) เป็นถนนสายพรมแดนตะวันออก เป็นเกียรติให้ หลวงสถิตย์นิมานการ อดีตนายช่างกำกับก่อสร้าง เป็นอีกเส้นที่มีการเปลี่ยนตัวสะกดตามความนิยมใหม่

•ถนนสถลมารค 

สายอุบลราชธานี-เดชอุดม เป็นเกียรติแก่หลวงสถลมารคมานิตย์ (สถลมารค สุวรรณเนตร) อดีตนายช่างกำกับแขวง ยังมีชื่อนี้ใช้งาน

•ถนนปัทมานนท์ 

สายร้อยเอ็ด-สุรินทร์ เป็นเกียรติให้นายวีรพล ปัทมานนท์ นายช่างกำกับหมวดการทางสุรินทร์ ยังเป็นถนนเส้นใหญ่สายสำคัญของทั้งสองจังหวัด

•ถนนอรุณประเสริฐ 

สายยโสธร-อำนาจเจริญ- เขมราฐ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายจำปี อรุณประเสริฐ อดีตนายช่างกำกับแขวง

•ถนนนิเวศรัตน์ 

สายชัยภูมิ-บัวใหญ่-ตลาดไทร ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ นายสิทธิ์ นิเวศรัตน์ นายช่างกำกับแขวงการทางนครราชสีมาที่ 1 ปัจจุบันยังใช้ชื่อนี้

ทั้งหมดที่บรรยายมา เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์การคมนาคมของไทย ในยุคนั้นทางถนนเพิ่งจะเริ่มพัฒนามีเส้นทางใหม่รวมกันไม่ถึง 7 พันกิโลเมตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากของการสัญจรทางบก

เพราะเอาเข้าจริงลำพังถนนทางหลวงแผ่นดินที่กล่าวมา ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของทั้งประเทศเลย มีแค่ถนนเชื่อมจังหวัดสำคัญๆ ระหว่างกันเท่านั้น และเมื่อเทียบกับระยะทางถนนในปัจจุบัน (2565) ที่มีมากกว่า 5 หมื่นกิโลเมตร จะยิ่งเห็นความแตกต่าง

ชื่อถนนหนทางที่ตั้งขึ้นเป็นเกียรติให้กับบุคคล เป็นสมัยนิยมในยุคนั้น ที่เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนในยุคใหม่ก็ลืมเลือนไปแล้วว่ามันมีความเป็นมาอย่างไร ... เป็นเรื่องราวที่สมควรจะบันทึกไว้ 

.................

ที่มา / ราชกิจจานุเบกษา เรื่องตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2493/D/067/6377.PDF