"โคลนนิ่ง"สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ “ที่สวนสัตว์แช่แข็ง ซานดิเอโก้“

"โคลนนิ่ง"สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ “ที่สวนสัตว์แช่แข็ง ซานดิเอโก้“

การ"โคลนนิ่งแกะดอลลี่" ก็ใช้สารพันธุกรรมจาก"สวนสัตว์แช่แข็ง" ซึ่งเป็นอีกความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เป็นทางเลือกสำคัญและจำเป็น เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์สัตว์บนโลกนี้

ตอนที่ เคิร์ธ เบเนียสกี้ เริ่มเก็บรวบรวมตัวอย่างผิวหนังของสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ในปี 1972 เขาเองก็ยังไม่มีแผนแน่ชัดว่า จะเอาตัวอย่างพวกนั้นไปทำอะไร

แต่ในฐานะที่เขาเป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก เขาเชื่อว่า สักวันหนึ่ง น่าจะมีการพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยอนุรักษ์สัตว์หายากเหล่านั้น

ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เขาย้ายตัวอย่างที่รวบรวมไว้เหล่านั้นทั้งหมดไปไว้ที่ สวนสัตว์ซานดิเอโกและให้ชื่อว่า สวนสัตว์แช่แข็ง

 

โอลิเวอร์ ไรเดอร์ นักพันธุศาสตร์ของสวนสัตว์ซานดิเอโก ผู้ร่วมงานรุ่นแรกๆ ของเบเนียสกี้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็นว่า มีโปสเตอร์ซึ่งเรารู้จักกันดี แขวนไว้ที่สวนสัตว์แช่แข็ง ในโปสเตอร์มีข้อความว่า

“คุณต้องรวบรวมสิ่งของไว้ด้วยเหตุผลที่คุณอาจจะยังไม่เข้าใจ พวกเรารู้สึกว่า เราเป็นผู้ดูแลการรวบรวมตัวอย่างพวกนี้ที่มีมากขึ้นทุกวัน ตัวอย่างนี้จะมีคุณค่าในอนาคตที่เราอาจจะไม่สามารถประเมินคุณค่าได้ก็ได้”

ปัจจุบันไรเดอร์ เป็นผู้อำนวยการด้านอนุรักษ์พันธุศาสตร์ขององค์กรพันธมิตรด้านสัตว์ป่าของสวนสัตว์ซานดิเอโกด้วย

\"โคลนนิ่ง\"สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ “ที่สวนสัตว์แช่แข็ง ซานดิเอโก้“ (เอลิซาเบธ แอนน์ เฟอร์เร็ตเท้าดำที่เกิดจากการโคลนนิ่ง)

 

\"โคลนนิ่ง\"สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ “ที่สวนสัตว์แช่แข็ง ซานดิเอโก้“  (ปัจจุบัน ดอลลี่ถูกสต๊าฟไว้และนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสก็อตแลนด์ )

สวนสัตว์แช่แข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เบเนียสกี้ เสียชีวิตเมื่อปี 2018 แต่ความพยายามของเขายังคงอยู่และดำเนินต่อไป ปัจจุบัน สวนสัตว์แช่แข็ง เป็นที่เก็บเนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆ ในสภาวะการแช่แข็งลึกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีตัวอย่างจากสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ มากกว่า 10,500 ชนิดจาก 1,220 สายพันธุ์

ก่อนหน้านี้ สวนสัตว์แช่แข็งนี้เป็นโครงการเดียวที่ศึกษาและเก็บรวบรวมตัวอย่าง แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็มีโครงการทำนองเดียวกันเกิดขึ้นทั่วโลก และมีการพัฒนาเครื่องมือที่ไม่มีในช่วงที่เบเนียสกี้ยังมีชีวิตอยู่ ในขณะเดียวกันพันธุ์สัตว์ต่างๆ จำนวนมากมายก็ต้องประสบกับความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์มากขึ้นทุกที

รายงานของ WWF Living Planet 2020 รายงานว่า ตั้งแต่ปี 1970 จำนวนประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลานและปลาลดลงโดยเฉลี่ย 68%

นอกจากนี้มีรายงานอีกว่า สัตว์และพืชกว่า 1 ล้านสายพันธุ์กำลังประสบปัญหาและมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในทศวรรษและศตวรรษอันใกล้นี้ อันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ที่อยู่อาศัยของพวกสัตว์หายไป

\"โคลนนิ่ง\"สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ “ที่สวนสัตว์แช่แข็ง ซานดิเอโก้“ (เคิร์ธ เบเนียสกี้ )

\"โคลนนิ่ง\"สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ “ที่สวนสัตว์แช่แข็ง ซานดิเอโก้“

(ภายในสวนสัตว์แช่แข็ง ณ สวนสัตว์ซานดิเอโก) 

เก็บรักษาสายพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ด้วยการสูญเสียความหลากหลายชีวภาพในอัตราเช่นในปัจจุบัน การเก็บรักษาตัวอย่างของสายพันธุ์สัตว์และพืชที่อาจจะหายไปในอนาคตไว้ ไม่ใช่เรื่องของวิสัยทัศน์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องรีบทำ

ไรเดอร์กล่าวว่า ในขณะนี้ที่ความพยายามกำลังก่อตัวขึ้น เราตระหนักดีว่า เรากำลังรวบรวมตัวอย่างของสัตว์ที่หายากและไม่สามารถทดแทนได้ เพราะเรามีเซลล์ของพวกมันในสวนสัตว์แช่แข็ง

ตอนนี้เราสามารถนำเทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มความเข้าใจของเรา และเพื่อเรียนรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้มากขึ้น

ไรเดอร์กล่าวต่อว่า ตั้งแต่มีการก่อตั้งสวนสัตว์แช่แข็ง ก็มีความก้าวหน้ามากมายในด้านของพันธุกรรม

\"โคลนนิ่ง\"สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ “ที่สวนสัตว์แช่แข็ง ซานดิเอโก้“ (แกะดอลลี่ )

ประโยชน์การโคลนนิ่ง

โดยเริ่มจากการโคลนนิ่งสัตว์ชนิดแรกในปี 1996 คือ แกะที่ได้รับการตั้งชื่อว่า ดอลลี่ นับตั้งแต่ปี 2001 มีการโคลนนิ่งสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิดโดยใช้วัตถุทางพันธุกรรมจากสวนสัตว์แช่แข็ง ซึ่งก็คือ กระทิง (Indian gaur), วัวแดง (Javan bangteng), ม้าชาวัลสกี (Przewalski's horse ซึ่งเคยมีมากในมองโกเลียและสูญพันธุ์จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้)

และเฟอร์เร็ตเท้าดำ (ซึ่งเคยเชื่อกันว่า สูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่งกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งเมื่อปี 1981 แต่ก็เกือบจะสูญพันธุ์อีกไป เพราะโรคระบาด)

ถึงแม้การโคลนนิ่งจะไม่สมบูรณ์ เพราะโนอาห์ กระทิงอินเดียที่เกิดจากการโคลนนิ่งมีชีวิตอยู่แค่ 48 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยรักษาสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์

เพราะเป็นการเพิ่มความหลากหลายของพันธุกรรม เมื่อจำนวนประชากรของสัตว์ชนิดต่างๆ ลดลง สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ก็ถูกบังคับให้ผสมพันธุ์ในสายพันธุ์เดียวกันหรือใกล้กัน ซึ่งมีผลต่อการอยู่รอด

แต่สำหรับเฟอร์เร็ตเท้าดำที่เกิดเมื่อปี 2020 จากการโคลนนิ่งจากตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อปี 1988 (ที่ได้รับการตั้งชื่อว่า เอลิซาเบธ แอนน์) นั่นหมายความว่า ข้อมูลทางพันธุกรรมของพวกมันหลากหลายกว่าประชากรในปัจจุบัน

เว็บไซต์ livescience รายงานว่า หลังจากมีการโคลนนิ่งแกะดอลลีแล้ว มีการโคลนนิ่งสัตว์อีกหลายชนิดเช่น หมู (5 ตัวที่ได้ชื่อว่า มิลลี คริสตา แคเรล ด็อทคอมและอเล็กซิส), แมว (ซีซี), กวาง (ดิวอี้), และหมาป่าเม็กซิกันสีเทา (สนูวูล์ฟและสนูวูล์ฟฟี่)

\"โคลนนิ่ง\"สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ “ที่สวนสัตว์แช่แข็ง ซานดิเอโก้“

(ดิวอี้ กวางน้อย ผลลัพธ์ของการโคลนนิ่ง )

เซลล์สัตว์หายากที่สวนสัตว์แช่แข็ง

สวนสัตว์แช่แข็งแห่งซานติอาโกไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่เป็นเก็บรักษาสายพันธุ์ของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ Nature’s Safe ซึ่งก่อตั้งโดย ทูลลิส แม็ทสัน ก็รวบรวมเซลล์ของสัตว์หายากเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน

แม็ทสัน กล่าวว่า ภารกิจที่เขากำลังทำอยู่นี้ใหญ่มาก ไม่มีใครสามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียวโดยไม่ได้รับความร่วมมือ

“มีสายพันธุ์เป็นล้านที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ เราต้องการตัวอย่างพันธุกรรม 50 ตัวอย่างจากสัตว์แต่ละชนิด นั่นหมายความว่า จะมี 50 ล้านตัวอย่าง และสำหรับแต่ละตัวอย่าง เราต้องใช้ขวด 5 ขวดสำหรับเก็บตัวอย่าง ซึ่งทำให้มีตัวอย่างร้อยล้านชนิดต้องได้รับการเก็บรักษา”

มาร์ลี่ส์ ฮอคค์ ภัณฑารักษ์ของสวนสัตว์แช่แข็ง กล่าวว่า การปกป้องสวนสัตว์แช่แข็งนี้ให้อยู่ต่อไปได้ในอนาคต เป็นการท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่ง

“เราต้องการทำการรวบรวมตัวอย่างต่อไป ในขณะที่ต้องแน่ใจว่า ตัวอย่างที่เราได้มาแล้วนั้นยังสามารถอยู่ได้ต่อไปเกินอายุขัยของพวกเรา”

ฮอคค์ ได้ทำงานเพื่ออนุรักษ์แรดขาวเหนือไม่ให้สูญพันธุ์ และวางแผนที่จะใช้แรดขาวใต้เป็นตัวอุ้มบุญ ถึงแม้ว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก

แต่ฮอคค์กล่าวว่า นักวิจัยเชื่อว่า ลูกแรดขาวเหนือจะสามารถถือกำเนิดขึ้นมาได้ภายใน 10-20 ปีนี้

\"โคลนนิ่ง\"สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ “ที่สวนสัตว์แช่แข็ง ซานดิเอโก้“ (สนัปปี้ สุนัขซึ่งเกิดจากการโคลนนิ่ง )

สายพันธุ์แช่แข็งเพื่อการอนุรักษ์

แม็ทสันกล่าวว่า วิกฤติการณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ระบบนิเวศน์อยู่ใต้ความกดดันมากขึ้น และทำให้การเก็บรวบรวมแบบแช่แข็งนี้สำคัญยิ่งขึ้น

“ผมเห็นว่า การเก็บรักษาสายพันธุ์แบบแช่แข็งนี้เป็นพื้นฐานของการอนุรักษ์ เรากำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งใหม่ เราจำเป็นต้องหาทางให้คนรุ่นต่อไปมีทางที่จะทำให้สายพันธุ์ต่างๆ กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่ง คือ การหาเงินทุนมาสนับสนุนโครงการเหล่านี้ที่เป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้ทั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจำนวนมาก

.............

รูปและเรื่อง : ซีเอ็นเอ็น science alert, Texas A&M University, Woo Suk Hwang et al., Seoul National University, the Scientist Magazine, Scott Stine/Revive & Restore

(ภาพลีด : (เคิร์ธ ม้าชาวัลสกี ที่เกิดจากการโคลนนิ่งยืนอยู่กับแม่ม้าอุ้มบุญ  )