เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วัดเทรนด์เลือกตั้งทั่วไป

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วัดเทรนด์เลือกตั้งทั่วไป

กรุงเทพธุรกิจสำรวจความคิดเห็น 100 ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เหตุผลเบื้องหลังที่เหล่าซีอีโอจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.นั้นนับว่าน่าสนใจ ปัญหาของกรุงเทพฯ ที่เหล่าซีอีโอต้องการให้แก้ไขหนีไม่พ้นเรื่องรถติด น้ำท่วม ระบบขนส่งสาธารณะ และฝุ่น

เมื่อมีการเลือกตั้งย่อมมีการสำรวจความคิดเห็นประชาชน (โพล) เป็นเงาตามตัว ที่ช่วยให้ผู้สมัคร ทีมงาน และกองเชียร์รับทราบว่าในแต่ละช่วงเวลาผู้สมัครคนไหนกำลังเป็นที่นิยมในสายตาประชาชน คนที่เรทติ้งตามหลังยังมีเวลาปรับกลยุทธ์หาเสียงสร้างการสื่อสารกับประชาชนในเขตเลือกตั้ง แปรความนิยมเป็นคะแนนเสียง เพราะการชนะเลือกตั้งได้ต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งคุณสมบัติส่วนตัว นโยบาย การสังกัดพรรคการเมืองหรือสมัครอิสระ ฯลฯ การทำโพลตามระเบียบวิธีวิจัย สอบถามกลุ่มตัวอย่างได้อย่างถูกต้องมีความเป็นตัวแทนของประชากรได้จริงย่อมเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนกรุงเทพฯ 82.83% ยืนยันไปใช้สิทธิในวันที่ 22 พ.ค.นี้แน่นอน ส่วนจะเลือกใครนั้นต้องดูที่นโยบายดีเป็นอันดับแรก ตามด้วยคนขยัน ตั้งใจทำงาน และคนที่ทำงานได้ทันที น่าสังเกตว่าผู้สมัครอิสระได้รับความนิยมมากกว่าผู้สมัครที่สังกัดพรรคกว่าครึ่ง การที่ผู้สมัครร่วมดีเบตแสดงความคิดเห็นทางช่องทางสื่อต่าง ๆ ค่อนข้างมีผลต่อการตัดสินใจ 41.95% ส่วนผู้สมัครที่คนกรุงเทพฯ ชื่นชอบมากที่สุดสามลำดับแรกตามสวนดุสิตโพลได้แก่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ อัศวิน ขวัญเมือง ที่ยังไม่ตัดสินใจ 10.56% คนที่ตัดสินใจไปแล้ว 91.67% ยืนยันว่าไม่เปลี่ยนใจ 8.33% บอกว่าเปลี่ยนใจ เพราะฉะนั้นผู้สมัครทุกคนยังมีโอกาสกับคนกลุ่มนี้

กรุงเทพธุรกิจเอง ก็สำรวจ ความคิดเห็น 100 ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก และไอทีดิจิทัล ถึง “ผู้ว่าฯ กทม.ในฝันที่อยากเห็น” ผลที่ได้ไม่แตกต่างมากนัก แต่เหตุผลเบื้องหลังที่เหล่าซีอีโอจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.นั้นนับว่าน่าสนใจ เช่น ต้องการคนเป็นมืออาชีพ คิดนอกกรอบ สร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นนักพัฒนา มีวิธีคิดทันสมัย ส่วนเรื่องนโยบายดีเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้ว ปัญหาของกรุงเทพฯ ที่เหล่าซีอีโอต้องการให้แก้ไขหนีไม่พ้นเรื่องรถติด น้ำท่วม ระบบขนส่งสาธารณะ และฝุ่น

ประเด็นเหล่านี้จะว่าไปไม่ใช่แค่ปัญหาของ กทม.อย่างเดียว การกระจายความเจริญออกจากศูนย์กลางทำให้ต่างจังหวัดก็มีปัญหาแบบเดียวกันนี้แม้ดีกรียังไม่เท่ากรุงเทพฯ แต่ควรดูไว้เป็นตัวอย่าง และนั่นคือผลสำรวจความคิดเห็น ของจริงต้องดูกันวันเลือกตั้ง แม้กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ผลที่ออกมาน่าจะพอบอกเทรนด์ให้ทราบได้บ้างว่าประชาชนต้องการคนแบบไหน จึงเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองจะได้เตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่ต้องมาแน่ๆ ไม่ช้าก็เร็ว ประชาชนก็ต้องเตรียมตัวเหมือนกันอยากได้คนแบบไหนควรคิดเสียตั้งแต่ตอนนี้