เปิดโลก ‘ความตาย’ ที่ซ่อนอยู่ในแอนิเมชัน ‘ดิสนีย์’

เปิดโลก ‘ความตาย’ ที่ซ่อนอยู่ในแอนิเมชัน ‘ดิสนีย์’

สำรวจสถิติ “ความตาย” จากภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ และทำความเข้าใจ “ความตาย” ที่อยู่คู่กับดิสนีย์มาอย่างยาวนาน โดยความตายเหล่านั้น สร้างความหมายและมีอิทธิพลทางจิตใจต่อเด็ก ๆ ที่ได้รับชม

แม้แต่ในโลกของการ์ตูน “ความตาย” ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่อง ดิสนีย์เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ด้วยลิสต์ภาพยนตร์แอนิเมชันที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความตายมากกว่าครึ่ง โดยมีผลการศึกษายืนยันว่าตัวละครดิสนีย์ตายกันเก่งจริง! แถมมีการตายแตกต่างกันในแต่ละยุค ที่สำคัญฉากเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อเด็กในแง่ความเข้าใจและการรับมือ ชวนทุกคนอ่านความตายกับภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ 

คำเตือน! หากใครยังตามเก็บภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ อาจต้องระมัดระวังในการอ่าน เพราะบทความนี้สปอยล์แหลก 

“พ่อ พ่อลุกขึ้น” เสียงใส ๆ ของลูกสิงโตซิมบ้าร้องเรียกพ่อสิงโตมูฟาซาบนร่างอันแน่นิ่ง หลังจาก ถูกสการ์สิงโตที่มีสถานะเป็นตัวร้ายวางแผนฆ่า จนสิงโตมูฟาซาตกหน้าผาลงมาและโดนฝูงกระทิงเหยียบ ฉาก "ความตาย" ในแอนิเมชันเรื่อง “The Lion King” เรียกว่าเป็นตำนานของภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์เลยทีเดียว

เปิดโลก ‘ความตาย’ ที่ซ่อนอยู่ในแอนิเมชัน ‘ดิสนีย์’ ฉาก "มูฟาซา" ตกหน้าผาตายในเรื่อง "The Lion King"

"ความตาย" ที่ถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ไม่ได้มีแค่เรื่อง “The Lion King” เท่านั้น ดิสนีย์นำเอาความตายเข้ามาอยู่บนจอหลายต่อหลายเรื่อง อาทิ Bambi แม่ของกวางตัวน้อยที่ถูกยิงตายกลางหิมะ หรือ Frozen พ่อแม่ของเอลซ่าและอันนาที่จมน้ำตายหลังเรือล่ม ยังไม่นับรวมถึง Coco ที่เล่าถึงชีวิตหลังความตายของครอบครัวชาวเม็กซิโก


 

  • พบแอนิเมชันดิสนีย์ “เกือบครึ่ง” มีฉากตาย

จากสถิติที่กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ได้รวบรวม พบว่า จากภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ จำนวน 92 เรื่อง ตั้งแต่ปี 2480 ถึงปี 2564 พบฉากที่นำเสนอเกี่ยวกับ "ความตาย" ถึง 40 เรื่อง โดยแบ่งดังนี้

5 ฉาก คือ Tarzan 

4 ฉาก คือ Mulan, Coco 

3 ฉาก คือ The Incredibles 

2 ฉาก คือ Alice in Wonderland, The Lion King, The Hunchback of Notre Dame, Atlantis: The Lost Empire, Treasure Planet, Finding Nemo, Brother Bear, Ratatouille, Up, The Princess and the Frog

และ 1 ฉาก คือ Snow White and the Seven Dwarfs, Pinocchio, Bambi, Cinderella, Peter Pan, Lady and the Tramp, Sleeping Beauty, The Rescuers, The Little Mermaid, Beauty and the Beast, Aladdin, Pocahontas, A Bug"s Life, Fantasia, Lilo & Stitch, Tangled, Wreck-It Ralph, Frozen 1, Big Hero 6, Inside Out, The Good Dinosaur, Moana, Incredibles 2, Onward, Soul และ Encanto

จากสถิติดังกล่าว อาจนับได้ว่า “ความตาย” กลายเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของแอนิเมชันดิสนีย์

เปิดโลก ‘ความตาย’ ที่ซ่อนอยู่ในแอนิเมชัน ‘ดิสนีย์’

อินโฟกราฟิกเปิดโลก 'ความตาย' ที่ซ่อนอยู่ในแอนิเมชันดิสนีย์

  • ตายแล้วไปไหน…..(ไม่รู้) แต่ที่รู้ ๆ มีอิทธิพลกับเด็ก

ขึ้นชื่อว่าแอนิเมชัน ผู้ชมกลุ่มก้อนใหญ่ ๆ ที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ "เด็ก" ดังนั้นแอนิเมชันที่มีฉากตัวละครตาย เด็ก ๆ ก็ต้องเห็นภาพนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่อาจเป็นคำถามที่ทุกคนสงสัย แล้วเด็กเหล่านั้นมีท่าทีหรือเข้าใจเรื่องนี้ว่าอย่างไร?

เด็กในแต่ละวัยมีความเข้าใจเรื่องความตายแตกต่างกัน ข้อมูลจาก peacefuldeath อธิบายเบื้องต้นว่า ความคิดของเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี การตายคือ การหายไปหรือถูกทอดทิ้ง ซึ่งแตกต่างกับเด็กวัย 2-6 ปี ที่มองว่า ความตายเป็นเหมือนสิ่งของที่หายไปชั่วคราว แล้วไม่นานก็จะกลับมา ขณะที่เด็กวัย 7-12 ปี เริ่มเข้าใจแล้วว่า ความตายคือไม่กลับมาอีกแล้ว และค่อย ๆ พัฒนาความเข้าใจว่าสักวันหนึ่ง ทุกสิ่งบนโลกต้องตายรวมถึงตัวเขาด้วย

นอกจากนี้จากงานศึกษา อิทธิพลภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ต่อแนวคิดของเด็กในเรื่องความตาย (Death In Disney Films: Implications For Children’s Understanding Of Death) ที่วิเคราะห์เนื้อหาใน 23 ฉาก จาก 10 เรื่อง ได้แก่ Snow White and the Seven Dwarfs, Bambi, Sleeping Beauty, The Little Mermaid , Beauty and the Beast, The Lion King, The Hunchback of Notre Dame, Hercules, Mulan, and Tarzan ผ่าน 5 หัวข้อ คือ สถานะตัวละคร การนำเสนอภาพความตาย สถานะการตาย การตอบสนองเชิงอารมณ์ และสาเหตุการตาย

ผลการศึกษาระบุว่า ก่อนหน้านี้เด็กหลายคน มักไม่พูดถึงความตายกับเพื่อนหรือว่าพ่อแม่ด้วยหลาย ๆ เหตุผล แต่เมื่อพวกเขาได้รับชมภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ "ความตาย" ก็ถูกหยิบยกนำมาโต้เถียงกับเพื่อน ๆ และพ่อแม่ อาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์มีอิทธิพลและเป็นตัวเร่งให้เด็ก ๆ ทำความเข้าใจความตาย แม้ยังไม่พบเจอกับเหตุการณ์จริงในชีวิต 

ทั้งในประเด็นความตายสามารถพรากทุกคนให้จากไปไม่ว่าเขาจะดีหรือเลวแค่ไหน โดยภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ที่นำมาศึกษานั้น มีฉากตายระหว่างตัวละครเอกกับตัวละครร้ายเกือบจะเท่า ๆ กัน หรือแม้แต่การเห็นอารมณ์ของตัวละครที่ยังร่ำไห้หรือเสียใจเมื่อคนรักจากไป เด็ก ๆ จะทำความเข้าใจว่าสิ่งนี้ทำได้แม้จะเป็นอารมณ์เชิงลบ เป็นต้น

  • ตายกันเก่ง! ตั้งแต่ยุคคลาสสิค - ปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี มีผลการศึกษาต่อยอดจากประเด็นก่อนหน้านี้ โดยจุดประสงค์ของงานศึกษานี้เพื่อสำรวจการนำเสนอภาพความตายในภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นการศึกษานี้ช่วยยืนยันว่าดิสนีย์ยังนำเสนอความตายอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสำรวจกลไกการรับมือความตายกับภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ 

ผลการศึกษาดังกล่าววิเคราะห์เนื้อหาจากงานศึกษาในปี 2548 ที่ถูกนำมาทดลองความเป็นไปได้ในอิทธิพลภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ต่อแนวคิดของเด็กในเรื่องความตาย อิงจากฉากการตายของภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ 23 ฉาก ใน 10 เรื่อง ตั้งแต่ปี 2480 ถึง 2546 และ 10 ฉากการตายของภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2559 ทั้งหมด 8 เรื่อง ได้แก่ Finding Nemo, The Incredibles, Up, The Princess and the Frog, Tangled, Frozen, Big Hero 6 และ Moana ใช้ 5 หัวข้อที่ศึกษาความตายเช่นเดิม แต่ขยายการศึกษาเพิ่มเติมด้วยหลักจิตวิทยา คือ กลไกการรับมือความตาย ตลอดจนเปรียบเทียบภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ในสองยุคด้วย

ผลการศึกษาระบุว่า การนำเสนอความตายของภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์นั้น มุ่งไปสู่การตายที่มีชั้นเชิง คุ้นเคย และดูสมจริง มากกว่าภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์สมัยก่อน ตัวละครหลายตัวเสียชีวิต เพราะการเจ็บป่วย ความชราภาพ สงคราม หรืออุบัติเหตุอันน่าเศร้า เช่น เรืออับปาง ไฟไหม้ตึกร้าง เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นจริง หรือได้ยินมาในช่วงชีวิตของเด็ก ๆ และสำคัญที่เน้นถึงการเสียชีวิตที่หมายถึงจากไปอย่างไม่มีวันกลับมา ช่วยให้เด็ก ๆ เทียบเคียงเมื่อเขาต้องเผชิญกับชีวิตจริง 

เปิดโลก ‘ความตาย’ ที่ซ่อนอยู่ในแอนิเมชัน ‘ดิสนีย์’

ฉาก "ดาร์ล่า" เขย่าปลาที่ได้จากลุง ฟิลิป เชอร์แมน จนปลาหงายท้อง เรื่อง "Finding nemo"

  • "ช่วยหนูด้วย กับ อยากอยู่คนเดียว" กลไกรับมือความตายจากดิสนีย์

การขยายการศึกษาให้มีประเด็นเกี่ยวกับกลไกการรับมือความตายจะช่วยให้เห็นการเรียนรู้วิธีจัดการกับความตายของเด็ก โดยในภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์ มักนำเสนอกลไกการรับมือความตายอยู่ 2 แบบ ได้แก่

1. การหลบหนี ซึ่งอาจสัมพันธ์กับผู้รับชมวัยหนุ่มสาวมากกว่า ดังนั้น การนำเสนอกลไกการรับมือความตายนี้ ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะเด็ก ๆ สามารถใช้ตัวละครเป็นแบบอย่าง เมื่อเจอเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความตายในวัยเด็ก เขาอาจจะหลีกหนีทั้ง ๆ ที่ต้องการใครสักคนเพื่อเยียวยาจิตใจ

2. การขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือครอบครัว ข้อนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการรับมือกับความตาย ภาพยนตร์แอนิเมชันดิสนีย์นำเสนอให้ผู้ที่ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นมีสุขภาพที่ดีขึ้น อาจสร้างอิทธิพลให้เด็ก ๆ ขอความช่วยเหลือในชีวิตจริงเมื่อต้องเผชิญกับความตายของคนที่รัก 

ล่าสุด เดือน ก.พ. 2565 ดิสนีย์เพิ่งปล่อยแอนิเมชัน Turning Red ออกมา ซึ่งอาจจะไม่ได้มีฉากให้เห็นถึงความตาย แต่สามารถตั้งสมมติฐานที่มีความตายเข้ามาเชื่อมโยงได้อยู่ฉากหนึ่ง จากเนื้อเรื่องตอนต้น แม่ของเหม่ยลิน ลี เล่าให้ฟังถึงต้นตระกูลที่เกิดแพนด้าแดง เพราะมีสงครามใหญ่และสงครามต้องมีคนบาดเจ็บหรือล้มตาย แม้ไม่ได้กล่าวถึงอย่างชัดเจนก็ตาม

เปิดโลก ‘ความตาย’ ที่ซ่อนอยู่ในแอนิเมชัน ‘ดิสนีย์’ ฉาก "ซุนหยี" กำลังแปลงร่างเป็นแพนด้าแดงเพื่อไปสู้รบ เรื่อง "Turning Red"

ขณะที่กลางปีนี้ ดิสนีย์มีแผนจะปล่อย Lightyear ตัวละคร Buzz ที่มีประโยคคุ้นหู “สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น” จากภาพยนตร์แอนิเมชัน Toy Story ก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่า ในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ ดิสนีย์จะยังนำเสนอ “ความตาย” เข้ามาสอดแทรกในการเล่าเรื่องด้วยอยู่หรือไม่?

อ้างอิง: wikipediaualbertapeacefuldeathresearchgate